นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สมาคมวิชาการและชาตินิยมทางวัฒนธรรม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

สมาคมวิชาการและชาตินิยมทางวัฒนธรรม (1)

ผมใช้เวลาอยู่นานก่อนจะตัดสินใจควักเงินซื้อหนังสือเรื่อง Mapping Cultural Nationalism : The Scholars of the Burma Research Society, 1910-1935. ของ Carol Ann Boshier ผมสนใจพม่าก็จริง แต่ไม่คิดจะลงลึกละเอียดถึงเบื้องหลังวารสารวิชาการเล่มสำคัญเกี่ยวกับพม่าศึกษา พลิกดูสารบัญแล้ว ก็ยังไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับเรื่องของชาตินิยมทางวัฒนธรรมที่ผมสนใจมากสักแค่ไหน

แต่ในที่สุดก็ยอมตัดใจซื้อ อย่างน้อยก็อ่านเพื่อเป็นที่ระลึกแก่บทความที่เคยอ่านสมัยเรียนหนังสือ รวมทั้งลักลอบก๊อปมาหลายบทความด้วย

ปรากฏว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง ซ้ำมีนัยยะสัมพันธ์เชิงเปรียบเทียบได้กับการเกิดสำนึกชาตินิยมทางวัฒนธรรมในสยามและอินโดจีนของฝรั่งเศสได้อย่างดีอีกด้วย ทั้งนี้ โดยผ่านผลงานทางวิชาการของนักวิชาการที่ปรากฏในวารสารของสถาบันหรือองค์กรทางวิชาการสามแห่งคือ สมาคมวิจัยพม่า ผลิตวารสารของสมาคม (เรียก JBRS ตั้งแต่บัดนี้) เช่นเดียวกับสยามสมาคม และวิทยาลัยฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (เรียก JSS และ BEFEO ตั้งแต่บัดนี้)

คุณ Boshier ไม่ใช่คนแรกที่มองเห็นบทบาทของสถาบันทางวิชาการเหล่านี้ในการ “ประพันธ์” วัฒนธรรมของดินแดนอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมขึ้น ซึ่งนักชาตินิยมได้นำบางส่วนไปใช้เพื่อสร้างวัฒนธรรม “แห่งชาติ” ของตนขึ้นในภายหลัง แต่มีบทความสั้นๆ ของคนอื่นเคยเขียนเปรียบเทียบบทบาททางการเมืองของวารสารวิชาการในภูมิภาคอุษาคเนย์สมัยอาณานิคมไว้แล้ว แต่ไม่มีใครศึกษาลงลึกเกี่ยวกับสถาบันวิชาการเหล่านี้อย่างละเอียดสักแห่งเดียว จนถึงสมาคมวิจัยพม่าของคุณ Boshier เล่มนี้

ดังนั้น การเปรียบเทียบ JBRS, JSS และ BEFEO ของผมในที่นี้จึงวางอยู่บนข้อมูลที่หยาบและอาจผิดพลาดมาก

สมาคมวิจัยพม่าตั้งขึ้นด้วยเจตนาจะ “ข้ามเส้น” ของอำนาจอาณานิคมในพม่าหลายอย่าง เช่น เปิดรับให้คนพม่าและคนอังกฤษทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาค ใน ค.ศ.1910 ที่ก่อตั้งสมาคมขึ้นนั้น การคบหาสมาคมกับคน “พื้นเมือง” ใกล้ชิดเกินไป เป็นสิ่งที่รัฐบาลอาณานิคมไม่ชอบ ไม่เป็นโทษทางอาญาก็จริง แต่เป็นโทษทางสังคมและการบริหาร

ยิ่งกว่านี้ ผู้ก่อตั้งสมาคมแต่ละคนล้วนคิดว่า ความทันสมัยที่ระบอบอาณานิคมนำเข้ามาสู่พม่า ทำให้สังคมแตกแยกและอ่อนแอลง ดังนั้น จึงต้องศึกษาและเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีเลิศของพม่า (ผ่านประวัติศาสตร์, โบราณคดี, ภาษา, วรรณคดี ฯลฯ) เพื่อเป็นแกนกลางทางวัฒนธรรมของพม่าซึ่งวันหนึ่งก็คงจะเป็นเอกราช และสามารถตัดสินใจเองในการเผชิญกับโลกสมัยใหม่ได้อย่างแข็งแรงมั่นคง แน่นอนนี่ไม่ใช่ความคิดของรัฐบาลอาณานิคมแน่ ดังนั้น สมาคมก็ตั้งใจจะ “ข้ามเส้น” ในจินตนากรรมเกี่ยวกับอนาคตของพม่าด้วย

แต่ผู้ก่อตั้งสมาคมยอมรับ “เส้น” ของระบอบอาณานิคมด้วยว่า ถึงอย่างไรพม่าในขณะนั้นก็ยังไม่พร้อมจะเป็นเอกราช และการใช้ความวุ่นวายขับเคลื่อนทางการเมือง (political agitation) ไม่เป็นผลดีแก่พม่า สมาคมอยากขอจดทะเบียนจัดตั้งในชื่อ “สมาคมพม่า” แต่รัฐบาลไม่อนุญาต ขอให้เติมคำว่า “วิจัย” ลงไป พร้อมทั้งกำชับมิให้สมาคมศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเมืองหรือเศรษฐกิจ เพราะอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยได้

สมาคมก็ยอมรับแต่โดยดี

ผู้บริหารแกนกลางของสมาคมเชื่อว่า พม่าที่จะก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ได้อย่างปลอดภัย ต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรม และวัฒนธรรมดังกล่าวนั้นคือวัฒนธรรมของชาวมรัมมะหรือกลุ่มชาติพันธุ์พม่า ซึ่งมีอาณาจักรพุกามเป็นแบบอย่างของความรุ่งเรืองสูงสุดของวัฒนธรรมดังกล่าว ผลงานวิชาการที่เด่นมากของสมาคมคือการศึกษาจารึก, โบราณสถาน, เอกสารใบลาน ฯลฯ โดยเฉพาะที่ผลิตขึ้นในสมัยพุกามหรือเกี่ยวกับพุกาม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาและรวบรวมเอกสารชั้นต้นในภาษาพม่าอีกมาก ทั้งที่ได้แปลออกเป็นภาษาอังกฤษและที่พิมพ์ฉบับไว้ไม่ให้สูญหายโดยไม่ได้แปล

อาจกล่าวได้ว่า สมาคมได้วางรากฐานที่แข็งแกร่งแก่การศึกษาประวัติศาสตร์และอารยธรรมพม่า ตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งสมาคม ที่จะอาศัยวัฒนธรรม (หลวง) ของพม่า ในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมพม่าซึ่งกำลังแตกแยกกันอย่างหนักภายใต้ระบอบอาณานิคม

แต่ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พม่าประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาที่หลากหลายมาก การสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติที่ตั้งอยู่บนฐานของกลุ่มชาติพันธุ์เดียว แม้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด จึงเป็นไปได้ยาก นักวิชาการของสมาคมแทบจะไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในวัฒนธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวเลย มรดกทางวิชาการของสมาคมในเรื่องนี้ที่ตกทอดมาถึงพม่าซึ่งกลายเป็น “ชาติ” เอกราชแล้ว เป็นอย่างไร ก็ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ไม่เฉพาะแต่กับชาวโรฮิงญาเท่านั้น แต่รวมถึงชาน, กะเหรี่ยง, กะฉิ่น, ปะหล่อง ฯลฯ ด้วย

อิทธิพลของสมาคมต่อวงการทางสติปัญญาในพม่ามีมากเฉพาะในช่วงสิบกว่าปีแรก เมื่อตกมาถึงทศวรรษ 1920 การเกิดและแพร่หลายของวัฒนธรรมป๊อปในพม่า เป็นผลให้ความสนใจต่อ “วัฒนธรรม” ของสมาคมลดลง ในขณะที่สมาคมเองก็ต่อต้านการดัดแปลงวัฒนธรรมราชสำนักให้มีลักษณะดึงดูดประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ การตั้งมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในช่วงนี้ ยังทำให้กิจกรรมทางการเมืองของคนที่มีสำนึกทางการเมืองหันออกไปสู่กิจกรรมของนักศึกษามากกว่านักวิชาการของสมาคม

เพราะกิจกรรมของนักศึกษาตอบสนองความมุ่งหวังทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมามากกว่า

เมื่อเปรียบเทียบกับสยามสมาคมและวิทยาลัยฝรั่งเศสฯ มีอะไรบางอย่างที่คล้ายและต่างกัน

วิทยาลัยฝรั่งเศสฯ ก็มีเป้าหมายทางการเมืองแฝงอยู่เช่นกัน ฝรั่งเศสต้องการตัดขาดมรดกทางปัญญาของเวียดนามออกจากจีน และแน่นอนแทนที่ด้วยภูมิปัญญาของฝรั่งเศสเอง ดังนั้น วิทยาลัยฝรั่งเศสฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอาณานิคมมาแต่ต้น ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอาณานิคมและปารีส นักวิชาการที่ประจำอยู่ในวิทยาลัยจึงเป็นนักวิชาการที่ถูกฝึกปรือมาในระดับสูง (แม้ว่าเรียนมาทางด้านภารตวิทยาหรือจีนศึกษา เพราะยังไม่มีหลักสูตรศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในมหาวิทยาลัยยุโรปขณะนั้น) วารสารของวิทยาลัยจัดเป็นวารสารคุณภาพชั้นเลิศที่เปรียบได้กับวารสารวิชาการชั้นเลิศของภูมิภาคอื่นๆ เป็นมรดกทางวิชาการที่สำคัญให้แก่โลก

แต่เฉพาะในเวียดนาม ภูมิปัญญาฝรั่งเศสเข้ามาแทนที่จีนได้ไม่มากอย่างที่รัฐบาลอาณานิคมตั้งความหวังไว้ มีบ้างที่ปัญญาชนและบัณฑิตขงจื๊อบางคนหันมายอมรับว่า เวียดนามจำเป็นต้องรับอารยธรรมแผนใหม่จากผ่านฝรั่งเศสเสียก่อน จึงจะเป็นรัฐเอกราชในโลกสมัยใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง อันเป็นจุดยืนที่ไม่ต่างจากนักวิชาการซึ่งก่อตั้งสมาคมวิจัยพม่านัก แต่ก็มีปัญญาชนและบัณฑิตของจื๊ออีกมากที่ยังยึดมั่นกับตำรับตำราจีน ทั้งกลุ่มที่หวังจะยกจักรพรรดิขิ้นมาเป็นศูนย์กลางต่อสู้กับระบอบอาณานิคมฝรั่งเศส และกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากพัฒนาการของนักคิดจีนรุ่นหลัง เช่น นักคิดในการปฏิรูปร้อยวันของราชวงศ์ชิง มาจนถึงซุนยัตเซนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในกัมพูชาและลาว นโยบายทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศสคือเข้ามาขจัดอิทธิพลทางวัฒนธรรมของสยามออกไป แต่วิทยาลัยไม่ได้ถูกใช้เพื่อการนี้โดยตรงนัก การขุดค้นศึกษาเรื่องและยุคสมัยเมืองพระนครใน BEFEO และสิ่งพิมพ์อื่นของวิทยาลัยแสดงให้เห็นจักรวรรดินิยมอันบริสุทธิ์ของฝรั่งเศส (คือไม่แปดเปื้อนด้วยผลประโยชน์ทางการค้าและการเมือง) แก่โลก เพราะทุนที่ลงไปไม่ได้อะไรคืนมามากไปกว่าความรู้

แต่ผลข้างเคียงเกิดแก่กัมพูชาเป็นอันมาก เช่น ทำให้ชาวกัมพูชาภาคภูมิใจในความเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ไพศาลแห่งหนึ่งของภูมิภาค มาตรฐานและบรรทัดฐานของวัฒนธรรมหลวงที่ราชสำนักกัมพูชาต้องคอยจับตาดูสยาม แท้จริงแล้วกลับมีแหล่งกำเนิดในกัมพูชาเอง และเป็น “ของ” กัมพูชาเสียยิ่งกว่าใครอื่น ทำให้ชาตินิยมทางวัฒนธรรมที่จะเกิดในภายหน้าเป็นสมบัติของชาติกัมพูชาโดยไม่ต้องหยิบยืมจากสยาม ฉะนั้น ในแง่นี้ วิทยาลัยกลับให้ผลต่อนโยบายทางวัฒนธรรมของระบอบอาณานิคมฝรั่งเศสมากกว่าในเวียดนามโดยไม่เจตนา

การอธิบายแรงจูงใจทางการเมืองของการเกิดสยามสมาคมอาจจะยากกว่าสถาบันวิชาการอื่นๆ (แก่คนที่ไม่ได้ลงไปค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดเช่นผม) ใน ค.ศ.1905 หรือปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เนื้อหาของชาตินิยมทางวัฒนธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามดูเหมือนจะลงตัวไปแล้ว และจะลงตัวมากขึ้นด้วยผลงานของนักวิชาการไทยซึ่งทำงานนอกสมาคมด้วย

สยามสมาคมได้รับความอุปถัมภ์จากราชสำนักและเจ้านายชั้นสูงมาแต่แรก ฉะนั้นถึงแม้ว่าสยามสมาคมมิได้เป็นหน่วยงานของรัฐอย่างวิทยาลัยฝรั่งเศสฯ แต่ก็ต่างจากสมาคมวิจัยพม่า เพราะได้รับอุดหนุนจากรัฐอย่างมาก สมาชิกก่อตั้งซึ่งแม้เป็นชาวต่างชาติ แต่จำนวนมากก็เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามจ้างไว้ (ในแง่นี้คล้ายกับสมาคมวิจัยพม่า) และสยามสมาคมเป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดมา

และเช่นเดียวกันกับสถาบันวิชาการอื่นๆ ของอาณานิคมเพื่อนบ้าน สยามสมาคมใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสารกันระหว่างสมาชิกและในวารสาร JSS สืบมาจนทุกวันนี้ (BEFEO ใช้ภาษาฝรั่งเศสสืบมาจนทุกวันนี้เช่นกัน เพราะวิทยาลัยเป็นหน่วยงานของรัฐฝรั่งเศส ส่วนสมาคมวิจัยพม่าหันมาใช้ภาษาพม่าร่วมกับภาษาอังกฤษหลังจากได้รับเอกราชแล้ว แต่ในที่สุดสมาคมก็ถูกยกเลิกไปในสมัยเนวิน)

ผมคิดว่าภาษาอังกฤษนอกจากเป็นภาษา “สากล” ที่อาจเชื่อมต่อโลกทางวิชาการของนานาชาติเข้าหากันได้แล้ว ในสังคมไทย ภาษาอังกฤษยังช่วยให้ “ผู้ดี” ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องสามารถ “ข้ามเส้น” ของช่วงชั้นมารยาทและความสัมพันธ์ในวัฒนธรรมไทย ซึ่งยึดถือกันอย่างเคร่งครัดได้ เช่นเดียวกับสมาคมวิจัยพม่าที่ “ข้ามเส้น” กฎเกณฑ์ความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมระหว่างฝรั่ง-เอเชียที่ระบอบอาณานิคมอังกฤษวางไว้ ในขณะที่ในพม่า ภาษาอังกฤษและสมาคมวิชาการช่วยให้ “ข้ามเส้น” ช่วงชั้นทางชาติพันธุ์ ในสยามช่วยให้ “ข้ามเส้น” ช่วงชั้นทางสถานภาพ

น่าสนใจนะครับ คำขวัญของสยามสมาคมคือ “วิชชายังให้เกิดมิตรภาพ”

(ยังมีต่อ)