คุยกับทูตกัมพูชา รำลึกวันชาติ ยุทธศาสตร์-การเมืองในประเทศ-มรดก-ความร่วมมือการค้าไทย

คุยกับทูต ลง วิซาโล กัมพูชารำลึกวันชาติ (1)

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของชาวกัมพูชา ได้ต่อสู้เรียกร้องเอกราชให้กัมพูชาเป็นอิสระจนได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากฝรั่งเศส ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1953 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นได้รับการระลึกถึงเนื่องในโอกาสวันชาติ ซึ่งจะเวียนมาบรรจบครบรอบอีกไม่นานนี้

พลเอกเดอองเต้ – เจ้านโรดม สีหนุ

“ในวันอันเป็นมงคลนี้ ผมขอส่งความปรารถนาดีและไมตรีจิตอันอบอุ่นแก่ประชาชนกัมพูชา ชาวกัมพูชาในประเทศไทย ชาวไทย ตลอดจนมิตรประเทศของกัมพูชาทั่วโลก”

นายลง วิซาโล (H.E. Mr.Long Visalo) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย ให้เกียรติมาสนทนากับเราเป็นครั้งที่สองถึงเรื่องต่างๆ ในโอกาสวันชาติกัมพูชา

“พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงนำกัมพูชาให้เป็นอิสระจากการตกเป็นอาณานิคมโดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อและชีวิต ต่อมาทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระมหาวีรกษัตริย์ พระวรราชบิดา เอกราช บูรณภาพดินแดน และความเป็นเอกภาพแห่งชาติ (The Father of National Independence)”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนโรดมสีหนุ

“กัมพูชาได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญมาหลายต่อหลายครั้งหลังจากได้รับอิสรภาพแล้ว นับตั้งแต่การปกครองในระบอบสังคมของรัฐบาลพรรคสังคมราษฎร์นิยม (Sangkum Reastr Niyum) ไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดง (Khmer Rouge) และสงครามกลางเมือง”

“ปัจจุบันประเทศกัมพูชามีความสงบสุขและบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาที่สำคัญภายใต้การนำของสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน”

การพบปะที่ปักกิ่ง ของ เหมา เจ๋อตุง (ซ้าย) เจ้านโรดม สีหนุ (กลาง) และหลิว เชากี (ขวา)

สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ

“ล่าสุดกัมพูชาจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.2018 ตามระบอบประชาธิปไตย (free and fair) ซึ่งผลการเลือกตั้ง พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี มีชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปได้ 125 ที่นั่งในสภาล่าง ด้วยคะแนนเสียงกว่า 83% ของประชากรผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง”

“การเลือกตั้งครั้งนี้จึงนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก”

นายกฯ ฮุน เซน และภริยา ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (AFP)

ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม(Rectangular Strategy)

แนวทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ

“การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญของสันติภาพและความมั่นคงในประเทศ รัฐบาลกัมพูชาได้ส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นด้วยยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม (Rectangular Strategy) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่ 4 ประกอบด้วยการปฏิรูปที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ การกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การพัฒนาการตลาดและภาคเอกชน ตลอดจนการพัฒนาแบบครบวงจรและยั่งยืน โดยกัมพูชามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสามารถในการส่งเสริมการบูรณาการเข้าสู่ภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกด้วยยุทธศาสตร์นี้”

“ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยมนี้ประสบความสำเร็จและมีส่วนช่วยลดอัตราความยากจนจาก 53.2% ในปี ค.ศ.2004 เหลือเพียง 13.5% ในปี ค.ศ.2014 พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอัตราเฉลี่ย 7% ต่อปีในทศวรรษที่ผ่านมา ความสามารถของรัฐบาลในการรักษาความมั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและกฎระเบียบทางสังคม ตลอดจนความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้มั่นใจได้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี”

“แนวโน้มด้านบวกนี้ได้รับการสนับสนุนจากการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการปรับปรุงบรรยากาศในการลงทุน ซึ่งกัมพูชาพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ”

“เศรษฐกิจของกัมพูชามีความหลากหลายมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและยังคงมีช่องว่างในการขยายตัวอีกมาก เนื่องมาจากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค เป็นโอกาสที่กัมพูชาจะพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตและอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจในหลายประเทศระหว่างภูมิภาค ทำให้มีความเข้มแข็งขึ้นและเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)”

จากการประชุมวิสัยทัศน์อนาคตกัมพูชาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กัมพูชาตั้งเป้าหมายจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ.2050 หรืออีก 32 ปีข้างหน้า

โดยจะต้องเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงภายในปี ค.ศ.2030

เป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี ค.ศ.2050

และจะเน้นไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาความสามารถของสถาบัน พัฒนาความทันสมัยของอุปกรณ์เทคโนโลยี ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

รวมถึงการพัฒนาขยายโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้แทนกัมพูชานำโดยสมเด็จฮุน เซนเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

มรดกทางวัฒนธรรม

“เสน่ห์ของกัมพูชาอีกด้านหนึ่ง คือมรดกทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย ธรรมชาติที่งดงาม และสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่ยังไม่ถูกทำลาย รวมทั้งโบราณสถานของอาณาจักรเขมรนับพันๆ แห่ง ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดคือนครวัด (Angkor Wat) ซึ่งเป็นจุดต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากทุกปี และปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนไทยรวมอยู่ด้วยประมาณ 394,934 คน นอกจากนี้ ชายหาดและเกาะเล็กเกาะน้อยที่สวยงามของกัมพูชาก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี”

“กัมพูชามุ่งมั่นในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและส่งเสริมความร่วมมืออันดีกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคทั่วโลก โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นแฟ้น เนื่องจากไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันในด้านเศรษฐกิจแล้ว แต่ยังรวมถึงความสงบสุข ความมั่นคง และเสถียรภาพ หากปราศจากเรื่องดังกล่าวกระบวนการพัฒนาจะเป็นเรื่องยาก”

“นอกจากมีเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยยาวกว่า 798 กิโลเมตรแล้ว ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา และรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศก็คล้ายคลึงกันในแทบทุกเรื่อง ไทยและกัมพูชาจึงเป็นเพื่อนบ้านที่มีสายสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนานมาก”

เอกอัครราชทูตกัมพูชาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายพระราชสาส์นตราตั้ง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017

การค้าไทย-กัมพูชาในปัจจุบันยังแข็งแกร่ง

“ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้ทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรของเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าอย่างมากและมุ่งไปข้างหน้าในทิศทางบวก การค้าระหว่างเราจาก 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ.2012 เพิ่มขึ้นมากกว่า 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ.2017 สะท้อนให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู นอกจากนี้ผู้นำทั้งสองประเทศยังได้ตกลงที่จะเพิ่มการค้าทวิภาคีให้เป็น 15 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ.2020 อีกด้วย”

การพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน

“มีโครงการด้านความร่วมมือต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และการศึกษา อันมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและมิตรภาพระหว่างประเทศของเราทั้งสอง มีชาวกัมพูชาจำนวนมากได้มาเข้ารับการฝึกฝนอบรมในประเทศไทย และปัจจุบันมีแรงงานกัมพูชามากกว่า 1 ล้านคนในประเทศไทย”

ท่านทูตร่วมในพิธีมอบรางวัลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แก่ สังฆนายกฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย ประเทศกัมพูชา

 

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

“ชาวกัมพูชาต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่ชาวกัมพูชา ทรงให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ในกัมพูชา ทั้งด้านการศึกษาและการสาธารณสุข นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 เป็นต้นมา ชาวกัมพูชากว่า 1,900 คนได้รับพระราชทานทุนการศึกษา จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย และพระราชทานทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้แก่นักเรียนกัมพูชาอีกประมาณ 200 ทุนต่อปี รวมทั้งการฝึกอบรมระยะสั้นแก่ครูและเจ้าหน้าที่จากกัมพูชาทุกปี”

“ในขณะเดียวกัน พระราชทานทุนเพื่อจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีสองแห่ง ในจังหวัดกำปงธม (Kompong Thom) และจังหวัดกำปงสปือ (Kompong Speu) ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว”

“นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงให้ความสำคัญในการขจัดและป้องกันโรคมาลาเรียรวมทั้งโรคติดเชื้ออื่นๆ ในรัตนคีรี (Ratanakiri) และมณฑลคีรี (Mondulkiri) ซึ่งเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาทั้งสองแห่ง”

“กัมพูชาทำงานร่วมกับประเทศไทยในการเพิ่มผลผลิตภาคการเกษตรของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวถนนสายหลักของประเทศสายที่ 48 จากเกาะกง (Koh Kong) ไปยังสะแรอัมเบิล (Sre Ambel) และถนนสายหลักของประเทศสายที่ 68 ในอันลองเวง (Anlong Veng) ความร่วมมือที่กำลังดำเนินอยู่ ได้แก่ การพัฒนาโครงการฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการฟาร์มและดิน การปรับปรุงคุณภาพในการผลิตเมล็ดข้าว และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น ไทยและกัมพูชาจึงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อก้าวสู่จุดหมายสำคัญของการบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน”

นายลง วิซาโล ท่านทูตกัมพูชา กล่าวว่า

“ในโอกาสที่ประเทศกัมพูชาจะครบรอบ 65 ปีวันประกาศเอกราช 9 พฤศจิกายนปีนี้ ผมขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังประชาชนชาวไทย ขอให้มีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ขอให้บ้านเมืองของเรา ราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชามีสายสัมพันธ์อันมั่นคงและยั่งยืนสืบไปตราบนานเท่านาน”