ขอคำตอบ จาก”มีชัย-กรธ.” โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

—————

ขอคำตอบ จาก “มีชัย-กรธ.”

——————

ถาม 4 รัฐมนตรีที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นาย สุวิทย์ เมษินทรีย์ ว่าจะลาออก จากรัฐมนตรี เพื่อไปหาเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นเมื่อใด สักกี่ครั้ง

คำตอบก็คงเหมือนเดิม

คือ เมื่อถึง”เวลาเหมาะสม”

จึงป่วยการที่จะถาม

เพราะว่าที่จริง คำว่า “เหมาะสม” แยกจากคำว่า “มารยาท”ไม่ออก

หาก มี มารยาททางการเมือง (ที่ดี)แล้ว

คำว่าเหมาะสมก็น่าจะหมายถึง เมื่อตัดสินใจเล่นการเมือง ก็ควรถอดหมวกรัฐมนตรีออกเสีย

นี่ไม่ได้เรียกร้องเอง

แต่ รัฐธรรมนูญ ปี 2561 วางแนวไว้

โดยกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ว่า เมื่อ รัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้แล้ว

ให้แม่น้ำ 4 สาย คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปท.) ที่ประสงค์จะลงสมัครส.ส.เลือกตั้ง”ครั้งแรก”

ลาออกจากตำแหน่ง ภายใน 90 วันหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

พิจารณาตามนี้ มองเป็นอื่นใดไม่ได้

นอกจากกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) มีเจตนารมย์มิให้ ผู้มีส่วนได้เสียกับรัฐธรรมนูญ และผู้ที่ตำแหน่งในแม่น้ำสายต่างๆ สวมหมวก 2 ใบ

จะ สมัครส.ส.ก็ควรสวมหมวก ใบนั้นใบเดียว

พิจารณาตามนี้ คนในแม่น้ำสายต่างๆ รวมถึง กรธ.ที่เคยโจมตี “นักการเมือง”เดิมว่าพยายามหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญ และตีความกฎหมายแบบศรีธนนชัย ก็ควรโชว์ “มาตรฐาน”ที่สูงกว่า

นั่นคือตัดสินใจด้วยตนเอง โดย “สวมหมวกใบเดียว”อย่าสง่างาม

ไม่ใช่ให้ใครมาไล่ หรือ มาทวงถามเรื่องมารยาท

เพราะถ้าตีความเบี้ยวๆบูดๆ มันก็จะเป็นแนวให้เบี้ยวๆบูดๆต่อไปอีก

อย่างตอนนี้ มีคำถามว่า 4 รัฐมนตรี จะสมัคร ส.ส.ได้หรือไม่ เพราะไม่ได้ลาออกจากรัฐมนตรี ภายใน 90 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

มีผู้เสนอตีความแบบศรีธนนชัยว่า ทำไมจะสมัครไม่ได้

เพราะ รมต. 2 คน ได้เปลี่ยนตำแหน่งไปแล้ว จึงไม่น่าอยู่ในเงื่อนไขรัฐธรรมนูญกำหนด

คือ นายสนธิรัตน์ อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560

ส่วนในช่วง 90 วัน ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เขาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่าง 15 ธันวาคม 2559-23 พฤศจิกายน 2560

จึงไม่น่าจะอยู่ในเงื่อนไข

เช่นเดียวกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว

แต่ช่วงที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เขาอยู่ในตำแหน่งคือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

ก็อาจตีความว่าไม่อยู่ในเงื่อนไข 90 วันเช่นกัน

ส่วนคนสุดท้าย นายกอบศักดิ์ อาจอ้างได้ว่า เพิ่งเข้ามาเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 จึงไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขห้ามลงสมัคร ส.ส.หรือไม่

ที่หนักหน่อยคือ นายอุตตม อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาตลอด คงต้องหาช่องดิ้นมากหน่อย

แต่ว่าที่จริง เรื่องจะสมัคร ส.ส. ได้หรือไม่ได้ แม้จะเป็นประเด็น แต่ไม่ใช่สาระสำคัญ

ลึกๆ ทั้ง 4 คนไม่อยากสมัครด้วย มั้ง

เป็นแค่สมาชิกพรรคก็พาพรรคพลังประชาลุยหาเสียงได้แล้ว ถ้าชนะก็ลอยไปเป็นรัฐมนตรีได้ ไม่มีอะไรห้ามไว้

เพียงแต่อาจตลกนิดหน่อยที่หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคและ โฆษกฯ จะมีสถานะแค่ “คนนอก” ไม่ใช่ “ส.ส.”

แต่นั่นเป็นเรื่องของวันข้างหน้า

วันนี้ ยังอยากได้คำตอบว่า เรื่อง รัฐมนตรีควรลาออกหรือไม่ มากกว่า

แน่นอน ไม่ใช่คำตอบแบบวนเวียนของ4 รมต.

แต่อยากได้คำตอบจาก นายมีชัย ฤชุพันธ์ และกรธ. ที่ได้สร้าง รัฐธรรมนูญที่”ดีหนักหนา”ขึ้นมา

มีเจตนารมย์อย่างไร