ความประทับใจจากการเยือนเสียมเรียบ

ถ้าไปเขมรในฐานะนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะบินไปลงที่พนมเปญเมืองหลวง หรือบินตรงเข้าเสียมเรียบ ในที่สุดก็ต้องไปที่เสียมเรียบนั่นแหละ

จุดขายอยู่ที่นั่น คือนครวัดในฐานะมรดกโลก นครวัด ไม่ใช่วัด แต่เป็นนคร คือเมืองค่ะ ที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง เป็นศูนย์กลางความเชื่อของศาสนาฮินดู

ตอนนี้ เฉพาะครึ่งปีแรก มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมนครวัดล้านกว่า ตั๋วเข้าชม ถ้าเป็นวันเดียวก็ 37 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ถ้าเฉลี่ยให้ถูกลงมา 3 วัน 62 ดอลลาร์ ถ้าจะชมให้ทั่วจริงๆ ก็ต้องสามวันค่ะ

นักท่องเที่ยวที่เข้าชมส่วนใหญ่เป็นชาวจีนร้อยละ 80 ตอนนี้ จีนก็จะบุกเขมรอยู่รอมร่อแล้ว

ที่เขียนถึงเสียมเรียบไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยว แต่เป็นเรื่องความประทับใจเรื่องการจัดการกับพลาสติกค่ะ

 

เมื่อ 10 ปีก่อนที่มา เสียมเรียบยังไม่มีทิศทาง ถนนสายหลัก มีโรงแรมอยู่ 3 แห่ง ตอนนี้โรงแรมขึ้นเป็นดอกเห็ดปรับตัวรับนักท่องเที่ยวชาวจีน

คราวนี้ ท่านธัมมนันทาได้รับนิมนต์ไปประชุมเรื่องศาสนากับอิสรภาพ มีหลายศาสนาที่มาพูดคุยกัน เป็นกลุ่มเล็กๆ เขาจึงเลือกประชุมที่โรงแรมขนาดเล็กที่มีห้องประชุมให้ในตัว ชื่อโรงแรมชัย ออกเสียงว่า จายะ Jaya house

ทันทีที่เราออกมาจากสนามบิน เจ้าหน้าที่ของโรงแรมมาประกบเลย ขนกระเป๋าขึ้นรถตุ๊กตุ๊ก

เออ รถตุ๊กตุ๊กที่นี่เขาทำน่ารักดี เป็นเอกลักษณ์ของเสียมเรียบ จริงๆ คือมอเตอร์ไซค์แล้วเอารถสองล้อ มีที่นั่งทั้งสองฝั่ง นั่งได้ข้างละ 2 คน มาตรึงเข้ากับด้านท้ายของมอเตอร์ไซค์ ใช้งานได้คล่องแคล่วทีเดียว

รถตุ๊กตุ๊กที่มารับเป็นของโรงแรม มียี่ห้อติดอยู่ด้านหลัง ทั้งคนขับ พนักงานที่มารับใส่เครื่องแบบสีดำ กางเกงหลวมตัวแบบพื้นบ้านทั้งผู้หญิงผู้ชาย เออ เข้าท่าดี

พอเราขึ้นรถปั๊บ มีน้ำขวดมีตราโรงแรมเป็นอะลูมิเนียมสองชั้นอย่างดี น่าใช้ มอบให้เราติดตัวคนละใบเลย พนักงานผู้หญิงขึ้นมานั่งกำกับ อธิบายว่า เขามีนโยบายไม่ใช้พลาสติก

โอ้ ว้าว เลิศจริง

 

เวลาเดินทางไปชมสถานที่ต่างๆ ในเสียมเรียบ ทางโรงแรมดูแลเรื่องน้ำ ด้านหลังรถตุ๊กตุ๊กทุกคันมีกล่องพลาสติกใส่ขวดน้ำขนาดใหญ่ ตัวกล่องมีถุงหุ้มถักด้วยพลาสติกใช้แล้ว คือเอาพลาสติกที่ใช้แล้วมารีไซเคิล

ตลอดการเดินทางไม่ใช้พลาสติก ที่ข้างขวดมีชื่อโรงแรมต่างๆ ที่ล้วนเข้าร่วมในโครงการ มีชื่อรายชื่อยาวสัก 30 แห่งได้ จุดเหล่านี้เป็นจุดเติมน้ำค่ะ

ในห้องนอนของโรงแรม มีน้ำดื่มใส่ขวดแก้วให้ถึงสี่ขวด มีฝาจุกเปิดได้อย่างดี

พอตอนสั่งน้ำผลไม้ อุว้าว ไม่ใช้หลอดพลาสติกค่ะ เป็นไม้ไผ่หลอด ที่เอามาตัดความยาวเท่ากับหลอดพลาสติกนั่นเอง

เรียกว่า ไม่ใช่เพียงโฆษณา แต่เอาจริง ที่ทำในระดับโรงแรมร่วมกันนะ ไม่ใช่โครงการของสมเด็จฯ ฮุน เซน

ประทับใจอ่ะ

ในตู้เสื้อผ้าในห้องนอน มีตะกร้าใส่ผ้าที่ใช้แล้ว หยิบขึ้นมาพิจารณาเป็นตะกร้าที่ถักโครเชต์ด้วยเส้นพลาสติกรีไซเคิล

เยี่ยมจริงๆ

ตลอดเวลาห้าวันที่อยู่เสียมเรียบไม่เห็นขยะพลาสติก ไม่เห็นขวดพลาสติกที่ทิ้งเรี่ยราดไปทั่วเหมือนที่เห็นบางจุดในเมืองไทย

ตรงด้านหน้าของนครวัด จะมีหลอดพลาสติกทิ้งให้เห็นสัก ๒-๓ หลอด ตรงนั้นมีแม่ค้าขายน้ำอ้อยที่ใส่แก้วพลาสติกและใช้หลอดพลาสติก

แต่เมื่อโรงแรมคุมเข้ม และมีกลไกที่จะไม่ต้องให้นักท่องเที่ยวใช้พลาสติก เขาก็ไม่ใช้ เพราะทางโรงแรมหาทางออกให้ นักท่องเที่ยวก็ยินดีปฏิบัติตาม

เสียมเรียบเป็นตัวอย่างให้เราเรียนรู้ว่า เราทำได้

ก็เรื่องการขจัดหรือลดทอนการใช้พลาสติกนี่แหละ

 

วันก่อน เห็นในคลิปที่ใครส่งมา เขาว่ารัฐบาลเป็นไบโพลาร์ อาการทางอารมณ์ที่แกว่งไปแกว่งมา เอาแน่ไม่ได้

คือรัฐบาลเป็นผู้ผลิตบุหรี่ ไม่ใช่ผลิตธรรมดานะ ผลิตกันเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อหางบประมาณให้รัฐ เสร็จแล้วรัฐบาลก็ให้งบประมาณรณรงค์ให้เลิกบุหรี่

เออ ใช่นะ ปากว่า ตาขยิบ อาการไบโพลาร์ปรากฏชัด

เอ้า กำลังพูดเรื่องพลาสติก เราก็ช่วยกันลดทอนการใช้พลาสติก ก็ทำระดับองค์กรท้องถิ่นอีกนั่นแหละ ที่หลังวัตรทรงธรรมกัลยาณี เป็นปฐมอโศก เพื่อนบ้านที่เราไปหาเขาบ่อย แต่เขาไม่ค่อยมาหาเรา ก็เราไปซื้อของที่ร้านปฐมอโศกไง

ตอนนี้ เขาไม่ใช้ถุงพลาสติกใส่ของแล้วค่ะ อยากซื้ออะไร มากเท่าไรไม่ว่า เอาถุง เอากระเป๋ามาใส่เอง บางทีเราลืมเอาถุงผ้าไป ก็หอบกันเต็มๆ ในระดับนี้ ก็ได้ผลค่ะ ลูกค้าประจำไม่บ่น และให้ความร่วมมือดี เป็นการสร้างตัวอย่างให้ปรากฏว่าทำได้ จะทำหรือเปล่าเท่านั้น

ที่วัตรเรามีปัญหากับญาติโยม เรามีเครื่องกรองน้ำใช้เอง พยายามมีน้ำตั้งให้ญาติโยมกิน เวลามีงานปี ญาติโยมก็ยังเอาสะดวก ซื้อน้ำเป็นขวดพลาสติกมาถวายเยอะมาก เกือบจะต้องมีห้องใส่

น้ำที่มาในแก้วพลาสติกสำเร็จรูปไว้นานแล้วมีกลิ่นค่ะ ต้องเททิ้งทั้งหมด

ทางวัตรพยายามให้ข้อมูลว่า หากจะอยากทำบุญเป็นน้ำก็ให้ช่วยสนับสนุนการซื้อไส้กรองเครื่องกรองน้ำ แต่ก็ยังไม่ค่อยเวิร์กนัก

ก็อยากประชาสัมพันธ์ท่านผู้อ่านให้ช่วยกันลดทอนการใช้พลาสติกในลักษณะนี้

 

กลุ่มของเราเข้าไปชมนครวัด มากันหลากหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นครั้งแรกที่มาเขมร แน่นอนที่สุด เจ้าภาพก็เลยต้องจัดให้ได้ชมมรดกโลก มีทั้งบังกลาเทศ เลบานอน อินเดีย อิสราเอล ศรีลังกา เกาหลี เวสต์อินดีส ฯลฯ ผู้เขียนมาหลายครั้งแล้ว ก็เลยเลือกที่จะนั่งรอตรงทางเข้า สังเกตดูเห็นว่าทางเข้าหลักตอนนี้ กำลังซ่อมแซม

ถามคนขายของที่นั่นบอกว่า ซ่อมมาปีกว่าแล้ว นักท่องเที่ยวก็เลยต้องมาใช้ทางเบี่ยง เป็นแพขนาดใหญ่ต่อกันยาวเหมือนสะพาน เวลาเดินจะรู้สึกยวบยาบบ้าง แต่ก็ปลอดภัยดี

ชาวเขมรพูดไทยได้แทบทุกคน ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนมาก ทั้งนี้ เป็นอิทธิพลของทีวี ชาวเขมรได้ชมละครดังเรื่องบุพเพสันนิวาสค่ะ บางทีก็มีพากย์เขมร บางทีไม่มีเขาก็เดากันได้ คุยกันสนุกสนานมาก

ปรางค์องค์กลางของนครวัดสูง 65 เมตร จากจจุดที่นั่งอยู่ที่ขอบพระนคร สามารถเห็นยอดพระปรางค์ชัดเจน มีสาวชาวเขมรมาชวนคุย ว่าไม่เคยเห็นภิกษุณีมาก่อน ขอถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กอวดเพื่อน

คุยไปคุยมา ว่า ยังไม่ได้ลูกค้าเลย เธอเป็นตากล้องถ่ายรูปนักท่องเที่ยงแถวนั้น รูปใหญ่ขนาด เอ4 เธอคิด 100 บาทค่ะคิดเป็นเงินไทย ก็เลยให้เธอไป 100 บาท

ถ่ายรูปเสร็จเธอหายไปพักหนึ่งกลับมาพร้อมรูปเบ้อเร่อทีเดียว

 

คณะที่ไปชมนครวัดออกมาอย่างสะบักสะบอม 4 คน ขอกลับโรงแรมก่อน ที่เหลือนั่งรถตุ๊กตุ๊กของโรงแรมไปต่ออีกสองแห่ง ก็เสียเงินไปตั้ง 37 ดอลลาร์แล้วนะ ตั๋วที่มีอยู่ในมือ จะไปสักกี่แห่งก็ได้ในราคานั้น แต่ต้องวันนี้เท่านั้น เปลี่ยนให้คนอื่นไปแทนก็ไม่ได้ ก็ที่ตั๋วมันมีหน้าเราอยู่ด้วยค่ะ

จุดถัดมาเป็นบายน คือวัดทางพุทธศาสนามหายานที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้าง ครั้งสุดท้ายที่มาสิบปีก่อน น่าตกใจที่สภาพทรุดโทรมไปกว่าเดิมมาก มองจากไกลๆ เกือบไม่เห็นหน้าพระโพธิสัตว์เลย มีปรางค์ทั้งหมด 5 ปรางค์ ทุกปรางค์จะมีหน้าพระโพธิสัตว์อยู่ทั้งสี่ด้าน มาคราวนี้ ต้องเดินเข้าไปใกล้พอควรจึงจะเห็นหน้าพระโพธิสัตว์บนปรางค์เหล่านั้น

ด้านหน้า นางอัปสรที่ปรากฏอยู่บนสี่ด้านของเสาสี่เหลี่ยม บางต้นลวดลายยังชัดเจน บางต้นก็เลือนไม่เห็นรายละเอียดของเครื่องประดับบนศีรษะ

ทางด้านขวามือ ยังอยู่ในช่วงของการซ่อมแซม มีราวเหล็กกั้น มิให้นักท่องเที่ยวเข้าไป ด้วยอาจจะเกิดอันตรายได้

ถอยกลับออกมามองภาพกว้าง ยังเห็นต้นไม้ใหญ่รายล้อมหลายต้น หินที่เป็นแท่งสี่เหลี่ยมที่เขาทำเป็นทางให้เราเดินเข้าไปชมนั้น เดิมก็คือหินที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทนั่นเอง

รู้สึกเศร้าใจเล็กๆ กับความเสื่อมของปราสาทบายน แล้วก็มาพิจารณาได้ว่า ร่างกายของเราก็เป็นหมายสำคัญที่เตือนเราอยู่ทุกวัน ถึงความเสื่อมเช่นนี้…เป็นธรรมดา

 

อีกจุดหนึ่งที่เรารีบไป คือปราสาทตาพรม เป็นอีกจุดหนึ่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างให้บรรพบุรุษ ปราสาททั้งหลังจมอยู่ในป่า ช่วงที่ฝรั่งเศสปกครองได้เข้าไปพบ จึงเกิดการบูรณะขึ้น จุดนี้ ผู้เขียนชอ[มากเป็นพิเศษ เคยนำรูปที่ปราสาทตาพรมมาใช้เป็นปกหนังสือเรื่องพุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ต้นไม้ที่ยืนต้นแผ่รากออกไปประคองเอาปราสาทไว้ทั้งหลัง เป็นการโอบอุ้มมิให้ปราสาทที่เป็นก้อนหินซ้อนๆ กันนั้นทลายลงมา

งามจริงค่ะ

เช่นเดียวกัน ที่นี่ก็ทรุดโทรมกว่าเมื่อสิบปีก่อนที่ผู้เขียนเข้ามามากทีเดียว ที่เคยมุดซุ้มประตูเข้าไปเดินชมงานแกะสลักจากข้างใน ทำไม่ได้แล้ว เพราะก้อนหินถล่มลงมาปิดทางเข้า ขอบคุณรัฐบาลอินเดียที่เข้ามาช่วยรัฐบาลเขมรบูรณะปราสาทตาพรม คงเป็นงานที่ต้องต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี

หลายอย่างเขมรอาจจะต้องเรียนจากไทย แต่อย่างหนึ่งที่ไทยสามารถจะเรียนจากเขมรได้ ก็เรื่องการจัดการพลาสติกที่เสียมเรียบนี่แหละ