วิกฤติศตวรรษที่21 : บางตัวอย่างประชาธิปไตยของประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกล้มล้างไป

วิกฤติประชาธิปไตย (23)

บางตัวอย่างประชาธิปไตยของประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกล้มล้างไป

ประเทศกำลังพัฒนาได้สร้างหนทางประชาธิปไตยของตนขึ้นมาจำนวนหนึ่ง

แต่ถูกสหรัฐกับมหาอำนาจตะวันตกมีส่วนสำคัญในการล้มล้างไป การสร้างและการล้มล้างดังกล่าวเป็นการต่อสู้ระหว่างศูนย์กลางอำนาจกับประเทศชายขอบที่เกิดขึ้นมานานหลายพันปีและก็จะดำเนินต่อไปอีก

โดยทั่วไปศูนย์กลางอำนาจจะพยายาม “กวาดล้าง เสี้ยนหนามแผ่นดิน” เพื่อให้สามารถปกครองแผ่นดินไปได้ไกลที่สุดเท่าที่อำนาจของตนจะทำได้

ส่วนประเทศชายขอบ ก็หาทางต่อสู้เป็นประการต่างๆ บางทียอมจำนนโอนอ่อน บางครั้งแข็งข้อลุกขึ้นสู้ เป็นต้น

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบในช่วงหลังสงครามครั้งที่สอง ต่างกับที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์

นั่นคือ ในครั้งนี้มันเป็นเรื่องของทั้งโลก โดยสหรัฐและพันธมิตรแอตแลนติกต้องการสร้างระเบียบโลกหรือการปกครองโลกขึ้น โดยผ่านองค์การสหประชาชาติ และสถาบันการเงิน-การค้าระหว่างประเทศ องค์การทางทหาร เช่น นาโต้

และองค์การข่าวกรองระหว่างประเทศ “กลุ่มห้าตา” ที่เป็นกลุ่มพันธมิตรงานข่าวกรอง 5 ประเทศหมายถึง สหรัฐ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่สนิทสนมกันทางภาษาและวัฒนธรรม (ก่อตั้งอย่างลับๆ เริ่มจากสหรัฐ-อังกฤษ ในปี 1946) แต่ในทางปฏิบัติ ยังรวมถึงประเทศนอร์เวย์ เดนมาร์ก และเยอรมนี ที่สอดส่องการสื่อสารของบุคคลทั่วโลกนับพันล้านคนในขณะนี้

ตัวอย่างประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกล้มล้างไปมีอยู่มากด้วยกัน ที่เด่นดัง เช่น ประชาธิปไตยเชิงสังคมนิยมของประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเด ในชิลี

เขาชนะการเลือกตั้งทั่วไป ขึ้นสู่ตำแหน่งระหว่างปี 1970-1973

อัลเยนเดเดินนโยบายเชิงสังคมนิยม เรียกว่า “หนทางสังคมนิยมแบบชิลี” ยึดกิจการเหมืองแร่และธนาคารเป็นของรัฐ หันไปคบค้ากับสหภาพโซเวียตมากขึ้น

ถูกรัฐประหารในปี 1973 โดยการสนับสนุนสมคบคิดของสหรัฐ สร้างระบบเผด็จการทหารของนายพลปิโนเชต์ ที่ลิดรอนสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนอย่างถึงราก

ปราบปรามการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายและฝ่ายค้านทั้งหลายอย่างรุนแรง ยาวนานถึง 17 ปี

อย่างไรก็ตาม สังคมนิยมที่ถูกทำลายในชิลี ได้ไปงอกงามในประเทศละตินอเมริกาอื่น

เช่น เวเนซุเอลลา โดยการนำของฮูโก้ ชาเวซ ผู้ประกาศแนวทาง “สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21” ต่อต้านระบบทุนนิยมและจักรวรรดินิยม (เริ่มเผยแพร่ปลายปี 2004)

Venezuelan president Nicolas Maduro celebrates the results of “Constituent Assembly”, in Caracas, on July 31, 2017.
Deadly violence erupted around the controversial vote, with a candidate to the all-powerful body being elected shot dead and troops firing weapons to clear protesters in Caracas and elsewhere. / AFP PHOTO / RONALDO SCHEMIDT

เขาเสียชีวิตในตำแหน่งปี 2013 ประธานาธิบดีเวเนซุเอลลาคนปัจจุบันคือ นิโคลัส มาดูโร เป็นผู้สืบทอด “ระบอบชาเวซ” ซึ่งขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง

รายได้หลักจากน้ำมันลดดิ่งลงตามราคาน้ำมัน ความผิดพลาดจากการปฏิบัติอื่นๆ ของรัฐบาล และการเข้าปิดล้อมเพื่อเปลี่ยนระบอบของสหรัฐ ละครเวทีละตินอเมริกายังคงดำเนินต่อไป

อีกกรณีหนึ่งเป็นการใช้กำลังทหารสหรัฐ-นาโต้เข้าโค่นล้มระบอบกัดดาฟีที่ลิเบียในปี 2011

กัดดาฟีขึ้นสู่อำนาจในปี 1969 เขาได้เสนอระบบปกครองใหม่สำหรับประเทศลิเบีย เรียกว่า “รัฐของมวลชน” “สังคมนิยมแบบอิสลาม” และ “ประชาธิปไตยทางตรง” (เริ่มเสนอเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ปี 1977 จัดพิมพ์ในรูปสมุดปกเขียว คล้ายสมุดปกแดงของจีน)

เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ผ่านพรรคการเมืองอย่างเช่นในประเทศะวันตก แต่ผ่านผู้นำและสภาชนเผ่าต่างๆ ซึ่งเขาเห็นว่าสนองต่อความต้องการของมวลชนได้ตรงกว่า หลังจากสังหารกัดดาฟีแล้ว ลิเบียตกอยู่ในภาวะล่มสลายจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่มีวี่แววว่าจะได้พบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเลย (ดูบทรายงานของเอเอฟพี ชื่อ Libya mired in chaos 7 years since Gadhafi fall ใน guardian.ng 15.02.2018)

ในตอนนี้จะยกตัวอย่างการสร้างและการล้มล้างประชาธิปไตยในสองประเทศ ที่ใกล้ชิดและสามารถส่งผลสะเทือนต่อไทยได้

1)ประชาธิปไตยแบบชาตินิยมทางเศรษฐกิจในอิหร่าน

ตัวอย่างแรก ประชาธิปไตยแบบชาตินิยมทางเศรษฐกิจในอิหร่าน ซึ่งปฏิบัติระหว่างปี 1951-1953 ในสมัยนายกรัฐมนตรีโมฮัมหมัด โมซัดเด๊ก ที่มาจากการเลือกตั้ง ประกาศยึดโรงกลั่นน้ำมันแองโกล-อิหร่านของอังกฤษมาเป็นของรัฐ

ก่อความไม่พอใจแก่สหรัฐและอังกฤษ

ในเดือนเมษายน 1953 หน่วยข่าวกรองสหรัฐซีไอเอได้รายงานการศึกษาชื่อ “เงื่อนไขที่สำคัญในการโค่นล้มมูซัดเด๊ก” สรุปว่าการรัฐประหารเป็นไปได้ ต่อมาได้ร่างแผนรัฐประหารจนสำเร็จ ต้นเดือนกรกฎาคม 1953 ผู้นำอังกฤษและสหรัฐอนุมัติแผนก่อรัฐประหาร

กลางเดือนสิงหาคมก่อรัฐประหารจนโค่นล้มรัฐบาลมูซัดเด๊กในที่สุดโดยเจ้าหน้าที่ซีไอเอในอิหร่าน กล่าวสำหรับสหรัฐ การเข้าแทรกแซงก่อความปั่นป่วน โค่นล้มด้วยการรัฐประหารโดยปฏิบัติการลับนี้ เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผลประโยชน์และอำนาจของตน การรัฐประหารในอิหร่านครั้งนี้ได้กลายเป็นตัวแบบในปฏิบัติการในที่อื่นทั่วโลก

กล่าวสำหรับอิหร่าน ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจเป็นความจำเป็นยิ่งสำหรับการพัฒนา

เพราะถ้าไม่มีความสำนึกทางประชาชาติแล้วก็จะไม่สามารถผนึกกำลังของผู้คนขึ้นมาได้

และถ้าไม่สามารถรักษาทรัพยากรน้ำมันแล้วก็จะไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สะสมทุน พัฒนาเทคโนโลยีและการตลาดได้รวดเร็ว

การถูกตัดทางด้วยการรัฐประหารเช่นนี้ อิหร่านจำต้องคิดหาทางสร้างประชาธิปไตยของตนเองใหม่ ในที่สุด ใช้แนวทาง “ชาตินิยม+ศาสนาอิสลาม+การต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก” ในการปฏิวัติอิสลามปี 1979 เรียกว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบอิสลาม” มีผู้นำศาสนาสูงสุดเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศพร้อมกัน มีการจัดตั้งกองทัพใหม่ที่มีกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามรวมอยู่ด้วย ผู้นำสูงสุดเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปคล้ายตะวันตก

แต่ผู้สมัครต้องผ่านการคัดกรองจากองค์กรนำทางศาสนาก่อน

2)ประชาธิปไตยแบบชี้นำในอินโดนีเซีย

ตัวอย่างที่สองเป็น “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” โดยซูการ์โนประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียเป็นผู้คิดทำขึ้น ปฏิบัติระหว่างปี 1957-1966

เขาเป็นผู้นำการต่อสู้จนได้อิสรภาพจากเนเธอร์แลนด์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 1945 แต่กว่าเนเธอร์แลนด์จะยอมรับความเป็นอิสระของอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการก็ล่วงไปถึงปลายปี 1949

การกู้เอกราชของอินโดนีเซียเป็นไปอย่างไม่นองเลือด ทั้งนี้โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษและการนำของซูการ์โน

ซูการ์โน (1901-1970) เกิดในตระกูลผู้ดี มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมทั้งแบบชวา (ตามบิดา) และฮินดู (ตามสายมารดา) ได้รับการศึกษาขั้นสูงแบบตะวันตก ในสถาบันศึกษาของชาวดัตช์ในอินโดนีเซีย

จบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำอาชีพด้านการออกแบบก่อสร้าง

เขาเป็นผู้รักการศึกษา ใจกว้าง เปิดรับความเห็นต่างๆ รวมทั้งความเห็นทางศาสนา มีอิสลามเป็นต้น เพื่อที่จะสร้างอินโดนีเซียที่เข้มแข็งขึ้น

เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ซูการ์โนได้สร้างหลักการ 5 ประการ เรียกว่า “ปัญจศีล” สำหรับการปกครองประเทศที่ประกอบด้วยชนเผ่าหลากหลายวัฒนธรรม และหมู่เกาะจำนวนมาก ได้แก่

1) ชาตินิยม อำนาจรัฐอินโดนีเซีย ครอบคลุมดินแดนที่เรียกว่าหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ทั้งหมด

2) สากลนิยม ต่อต้านลัทธิเชื้อชาตินิยม การเหยียดผิว

3) ประชาธิปไตย หมายถึงการสร้างความสมานฉันท์ในหมู่ผู้นำชนเผ่า

4) ความเป็นธรรมในสังคม ได้แก่ ประชานิยมเชิงสังคมนิยม

5) ความเชื่อในพระเจ้า ไม่จำกัดแต่ในศาสนาอิสลาม แต่รวมถึงศาสนาอื่น ได้แก่ คริสต์และฮินดู เป็นต้น

หลักปัญจศีลของซูการ์โนนี้ เป็นการหลอมรวมหรือสังเคราะห์พลังทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม ที่เคลื่อนไหวอยู่ในอินโดนีเซียขณะนั้น ที่สำคัญได้แก่ ชาตินิยม ลัทธิมาร์กซ์ และศาสนาอิสลาม ซึ่งต่อมาได้เป็นอุดมการณ์ของประชาธิปไตยแบบชี้นำของเขา

เมื่อซูการ์โนได้ปกครองประเทศจริงจัง ในช่วงทศวรรษ 1950 เขาได้พบว่าเกิดกลุ่มกบฏที่ต้องการตั้งตัวเป็นอิสระไปทั่ว ยกเว้นที่เกาะชวา ความพยายามของกองทัพในการปราบปรามยิ่งทำให้ประเทศบอบช้ำ เขามีความเห็นว่า อินโดนีเซียต้องการระบอบปกครองประชาธิปไตยเฉพาะของตน เพราะว่าประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีการเลือกตั้งแบบตะวันตก ก่อความไม่มีเสถียรภาพและความแตกแยก

ประชาธิปไตยแบบชี้นำเป็นการสังเคราะห์พลังสามฝ่ายเข้าด้วยกัน ได้แก่ พลังชาตินิยมที่มีกองทัพเป็นตัวแทน พลังศาสนาอิสลามและลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งซูการ์โนเหมาะสมที่สุดจะทำงานนี้ เพราะมีความใกล้ชิดกับทั้งสามฝ่าย

สำหรับลัทธิมาร์กซ์ หลังจากซูการ์โนได้ไปเยือนจีนในปี 1956 เขาประทับใจความสำเร็จของจีนในการสร้างเสถียรภาพในชาติและความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วที่เขาต้องการ ทำให้เขามีจิตใจเอนเอียงมาทางนี้ มีส่วนทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเติบโตจนเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไม่ได้อำนาจรัฐ มีสมาชิกหลายล้านคน จำนวนมากเป็นคนเชื้อสายจีน

การที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียขยายตัวไป ก่อความไม่พอใจแก่พลังฝ่ายกองทัพและศาสนา เปิดช่องให้สหรัฐและอังกฤษเข้าแทรกแซงสร้างสถานการณ์และล้มระบอบซูการ์โนในการก่อรัฐประหารปี 1966

แผนการโค่นล้มซูการ์โนปรากฏชัดในปี 1962 โดยผู้นำสหรัฐและอังกฤษขณะนั้นตกลงกันที่จะ “ล้มล้างประธานาธิบดีซูการ์โนตามสถานการณ์และโอกาสจะอำนวย”

โอกาสนั้นได้มาถึงเมื่ออินโดนีเซียประกาศนโยบายเผชิญหน้ากับสหพันธรัฐมาเลเซีย ที่ในปี 1963 ได้รวมกับบอร์เนียวเหนือ ซาราวัก และสิงคโปร์เข้าเป็นประเทศเดียว

ซูการ์โนเห็นว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็น “การวางแผนแบบอาณานิคมใหม่”

เป็นโครงการขยายอำนาจและดินแดนของมาเลเซีย และรักษาอิทธิพลของอังกฤษในภูมิภาคนี้ต่อไป

โอกาสใหญ่มาถึงเมื่อเกิดมีข่าวแพร่ไปทั่วว่าซูการ์โนและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียวางแผนก่อการรัฐประหารในเดือนตุลาคม 1965 มีนายพลหลายคนถูกสังหาร

ซูการ์โนถูกทำให้เสื่อมเสียความน่าเชื่อถือ จนกระทั่งกองทัพฟื้นอำนาจขึ้นมาเคลื่อนไหวอีกครั้งยึดอำนาจจากซูการ์โนได้สำเร็จ

เป็นการรัฐประหารที่สมบูรณ์แบบ สามารถกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้อย่างหมดจด และตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารที่เข้าข้างตะวันตกสำเร็จ (ดูบทความของ Paul Lashmar & James Oliver ชื่อ How we destroyed Sukarno ใน independent.co.uk 01.12.1998)

ประชาธิปไตยแบบชี้นำของซูการ์โนถูกแทนที่ด้วย “ระเบียบใหม่” ของนายพลซูฮาร์โต ระหว่างปี 1967-1998

จนเมื่อกองทัพรักษาสถานการณ์ไม่ได้ เนื่องจากเหตุการณ์ใหญ่สามประการ ข้อแรก ได้แก่ ขบวนการประชาธิปไตยของนักศึกษาที่เคลื่อนไหวอย่างครึกโครม คัดค้านอำนาจเผด็จการ การคอร์รัปชั่น เรียกร้องสิทธิประชาธิปไตย

ข้อต่อมา ได้แก่ กรณีพิพาทติมอร์ตะวันออกที่อินโดนีเซียถูกเห็นว่าใช้ความรุนแรงละเมิดสิทธิมนุษย์ ทำให้เกิดการบาดหมางกับประเทศตะวันตก และที่สำคัญน่าจะได้แก่วิกฤติการเงินเอเชีย (ต้มยำกุ้ง) 1997 กระทบต่ออินโดนีเซียที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง เกิดการลุกขึ้นสู้จากหลายฝ่าย จนในที่สุดประธานาธิบดีซูฮาร์โตต้องลาออกจากตำแหน่ง อินโดนีเซียเข้าสู่ยุคการปฏิรูป เปิดประชาธิปไตยมากขึ้น จากปี 1999 จนถึงปัจจุบัน

เป็นที่สังเกตในช่วงการปฏิรูปนี้ บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โนก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอยู่สมัยหนึ่ง

ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ โจโค วิโดโด (นิยมเรียกไม่เป็นทางการว่าโจโควี) เขาชนะการเลือกตั้งในปี 2014 จากภาพลักษณ์ว่าเป็นนักการเมืองที่ไม่มีเส้นสาย มือสะอาดที่จะมาล้างคราบไคลคอร์รัปชั่นที่เกรอะกรังตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารลงไปบ้าง

โจโควีเดินนโยบายชาตินิยม+ประชานิยม+เสรีนิยมใหม่ ด้านชาตินิยมหวังสร้างอินโดนีเซียเป็นมหาอำนาจทางทะเลของภูมิภาคทั้งแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย สนับสนุนการลงโทษประหารชีวิต ด้านประชานิยม สร้างระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุม ในทางเสรีนิยมใหม่ส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น เขาสามารถรักษาคะแนนนิยมในหมู่ประชาชนไว้ได้

อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 อินโดนีเซียเผชิญกับปัญหาใหญ่ในทางการเงิน ภาวะการเงินโลกปั่นป่วน ค่าเงินรูเปียห์ลดต่ำลงมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ซึ่งเกิดในหลายประเทศตลาดเกิดใหม่ มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนให้ทัศนะว่า เหตุการณ์นี้คล้ายกับวิกฤติการเงินเอเชียปี 1977 ที่สหรัฐดึงเงินดอลลาร์กลับประเทศด้วยหลายมาตรการพร้อมกัน มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย การลดภาษีให้แก่บรรษัทใหญ่ การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจและทำสงครามการค้า เป็นต้น ในทางการเมือง อิทธิพลกลุ่มการเมืองอิสลามในอินโดนีเซียเข้มแข็งขึ้น กดดันต่อรัฐบาล อินโดนีเซียถึงคราวต้องปรับตัวใหญ่อีกครั้ง

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงชาตินิยม การฟื้นฟูศาสนาค่านิยมเดิม และภูมิรัฐศาสตร์กับประเทศตลาดเกิดใหม่