ฝ่าด่านหิน “พยุงราคาข้าว” รัฐบาลลุงตู่ปาดเหงื่อแก้เกม เมื่อการขายข้าวออนไลน์ยังไม่ใช่คำตอบ

ปรากฏการณ์ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 6,500 บาทต่อตัน อันเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปี สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจทั้งในด้านการขยับท่าทีของรัฐบาลในการเข้ามาอุดหนุน

และยังทำให้ชาวนาต้องหันมารวมกลุ่มผลิต “ข้าวถุง” ขายผ่านโซเซียลอย่างแพร่หลาย

ปรากฏการณ์ที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยดังกล่าว ชวนให้ตั้งคำถาม และกลับมาทำความเข้าใจกับอุตสาหกรรมข้าวไทยว่าเพราะเหตุใด จึงหนีไม่พ้นวงจร “ราคาตกต่ำ” ได้เสียที

นับจากอดีตจะเห็นภาพ “ชาวนาปลูกข้าวในวันแม่ เกี่ยวข้าวในวันพ่อ” ต่อมามีการพัฒนาพันธุ์จนสามารถปลูกข้าวได้ปีละหลายรอบ แบ่งเป็น นาปรังรอบ 1 นาปรังรอบ 2 นาปรังรอบ 3 และนาปี รวมๆ เฉลี่ยผลผลิตข้าวได้ประมาณปีละ 28-29 ล้านตันข้าวเปลือก

ข้าวในจำนวนนี้จะส่งขายให้กับโรงสีข้าว เพื่อสีแปรเป็นข้าวสารได้ประมาณ 15-16 ล้านตัน และถูกใช้ไปในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ ขายเพื่อใช้ในประเทศครึ่งหนึ่ง กับ ส่งออกไปขายต่างประเทศอีกครึ่งหนึ่ง สัดส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับราคาข้าวในปีนั้นๆ

แต่สิ่งที่ชาวนาหนีไม่พ้นก็คือ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวปลายปี ราคาข้าวก็จะตกต่ำลง

รัฐบาลหลายๆ ชุดในอดีตได้นำโครงการรับจำนำข้าว มาใช้ภายใต้หลักการง่ายๆ ด้วยการ “ตั้งโต๊ะ” รับซื้อข้าวจากชาวนาในราคา “สูงกว่าราคาตลาด” จูงใจให้ชาวนาเอาข้าวไปฝากไว้กับรัฐบาล (แต่มักไม่มีการไถ่ถอน) เพื่อดูดซับผลผลิตข้าวส่วนเกินออกจากตลาดหรือประมาณ 30% ของผลผลิต เท่ากับ 8 ล้านตัน

ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ข้าวถูกนำมาฝากไว้กับรัฐบาล 8 ล้านตัน จะช่วยยกระดับราคาข้าวในตลาดที่เหลือประมาณ 22-24 ล้านตันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นได้

ด้วยหลักการเดียวกันนี้ รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับไปได้ไกลกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ด้วยการประกาศรับจำนำข้าวทุกเมล็ดภายในประเทศ ในราคารับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดเป็นประวัติการณ์

ด้านหนึ่ง ทำให้รัฐกลายเป็นเจ้ามือเก็บสต๊อกข้าวมากกว่า 90% ไว้ในมือ อีกด้านหนึ่ง หวังผลทางการเมืองได้ชาวนาเป็นฐานเสียงยินดีกับราคาข้าวที่สูงผิดปรกติ

อย่างไรก็ตาม ผลจากการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดทำให้กลไกตลาดข้าวถูกบิดเบือน ผู้ส่งออกไม่สามารถหาข้าวนอกระบบรับจำนำไปขายแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ สุดท้ายทุกคนต้องมุ่งมาที่การขอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการ “ทุจริต” ทั้งการประมูลซื้อข้าวบรรจุถุงขายภายในประเทศและการขายข้าวแบบ G to G ผ่านกลุ่มผู้ส่งออกข้าวเพียงบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงสต๊อกข้าวของรัฐบาลได้แต่เพียงผู้เดียว

ขณะที่กลุ่มโรงสี ได้กลายเป็นลูกมือสีข้าวให้รัฐบาลมีรายได้มาจากค่าสีแปร และการขายบายโปรดักต์ พวกปลายข้าว รำ แกลบ ซึ่งดีกว่าการขายข้าวให้ผู้ส่งออก ส่งผลทำให้โรงสีในช่วงนั้นต่างขยายการลงทุน สร้างโรงสีใหม่ๆ จนกำลังการผลิต “เกินไปกว่า” ผลผลิตข้าวในประเทศถึง 3 เท่า

ต่อมาระบบอุตสาหกรรมค้าข้าวของไทยก้าวเข้าสู่ยุคพลิกผันตามเกมการเมืองภายในประเทศสู่รัฐบาล คสช. นโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดถูก “ยกเลิก” ไปเด็ดขาด ตามมาด้วยการ “เช็กบิล” นักการเมือง-ผู้ส่งออก-โรงสี ที่ “ทุจริต” การขาย G to G ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ขณะที่รัฐบาล คสช. ต้องเผชิญกับ “โจทย์ใหญ่” ที่รัฐบาลชุดที่แล้วทิ้งให้เป็นมรดกจากก้าวที่พลาดของนโยบายรับจำนำข้าว

นั่นคือ สต๊อกข้าวจำนวนมากถึง 18 ล้านตัน

กลไกการค้าข้าวในประเทศได้ปรับตัว หลังไม่มีการรับจำนำข้าว ผู้ส่งออกข้าวพลิกกลับมาตั้งราคาทำกำไรบ้าง โดยมีสต๊อกข้าวรัฐบาลจำนวน 18 ล้านตันเป็นตัวช่วยผ่านการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ทำให้การส่งออกข้าวไทยฟื้นกลับคืนมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกได้ในช่วงระหว่างปี 2557-2558

แต่ด้วยความที่ว่า ตลาดข้าวไม่ใช่ตลาดที่แข่งขันสมบูรณ์ ถูกผู้ส่งออกกุมส่วนแบ่งตลาดพร้อมกำหนดราคาข้าว ส่งผลให้โรงสีต้องยอมขายข้าวให้ผู้ส่งออกใน “ราคาต่ำ-เครดิตยาว” กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “โรงสีกลุ่มหนึ่ง” ดิ้นมาทำธุรกิจส่งออกข้าวบ้าง อาทิ กลุ่มธนสรรไรซ์ กลุ่มแสงฟ้า อะกริโปรดักส์ และอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม

โดยอาศัยความได้เปรียบจากความเป็นต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำในอุตสาหกรรมข้าวไทยออกไปขายข้าวในต่างประเทศด้วย “ราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ผู้ส่งออกข้าว” เสนอขาย

ด้วยวิธีการเช่นนี้ ทำให้กลุ่มโรงสีข้าวหลายกลุ่ม ก้าวขึ้นมาติดอันดับผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปีหลังจากที่รัฐบาล คสช. เลิกชุดนโยบายรับจำนำข้าว ข้ามหัวผู้ส่งออกข้าวรายเก่าแก่แบบไม่เห็นฝุ่น

ทว่า ด้วยปริมาณผลผลิตข้าวภายในประเทศเฉลี่ยปีละ 9 ล้านตัน บวกกับสต๊อกคงเหลือของรัฐบาลประมาณ 8.2-8.4 ล้านตัน แต่กลับปรากฏ “ผู้ส่งออกข้าวรายใหม่” ที่ผันตัวมาจากกลุ่มโรงสีข้าวเพิ่มมากขึ้น กลับกลายเป็นชนวนสงคราม “เสนอขายข้าวตัดราคากันเอง” อย่างดุเดือด

ส่งผลกระทบต่อภาพรวมราคาข้าวไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวคือ ข้าวหอมมะลิราคาหล่นลงเหลือเพียงตันละ 520-530 เหรียญสหรัฐ หรือต่ำสุดในรอบ 10 ปีจากที่ประเทศไทยเคยส่งออกสูงสุดตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ

ดังนั้น กลไกการกำหนดราคาข้าวในช่วงนี้จึงออกมาในรูปของหลังจากผู้ส่งออกรับคำสั่งซื้อจากตลาดโลกล่วงหน้า 2-3 เดือน ก็จะกลับมาตั้งราคารับซื้อข้าวในประเทศจากโรงสี

แล้วโรงสีจะนำราคานั้นไปตั้งเป็นราคารับซื้อข้าวเปลือก

ยกตัวอย่าง ตั้งราคาไว้ที่ 600 เหรียญสหรัฐ คูณ 35 บาท/ดอลลาร์ คิดกลับมาเป็นราคาข้าวสารตันละ 21,000 บาท หักค่าสีแปรตันละ 800-1,000 คิดถอยกลับหาร 2 เหลือเป็นราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) แค่ตันละ 10,000 บาท เป็นต้น

แต่ปรากฏการณ์ข้าวเปลือกราคาตกต่ำในช่วงนี้ นอกจากสงครามราคาที่ผู้ส่งออกไทยแห่กันไปขาย “ตัดราคา” กันเองแล้ว ยังมีเรื่องของปัญหาภัยแล้งจากปีก่อน ทำให้ข้าวนาปรังต้องปลูกและเกี่ยวข้าวล่าช้าออกมา 2-3 เดือน ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังมาชนกับผลผลิตข้าวนาปีพอดีในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2559

คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดถึง 20 ล้านตันข้าวเปลือก ประกอบกับผลผลิตข้าวจากประเทศคู่แข่งที่ผลิตเพิ่มขึ้น 2.4% และมีสต๊อกข้าวโลกเพิ่มขึ้น 4.3%

หมายความว่า ทุกคนรอการระบายข้าวออกสู่ตลาดโลกพร้อมๆ กัน แต่ความต้องการบริโภคข้าวโลกกลับลดลง 1.5% ส่งผลให้การแข่งขันราคาส่งออกกับคู่แข่งต่างประเทศก็รุนแรงไม่แพ้สงครามตัดราคากันเองเช่นกัน

สะท้อนออกมาในราคาข้าวภายในประเทศที่ตกต่ำลงมามากในช่วงนี้

แน่นอนว่า ข้าวเปลือกที่ราคาตกต่ำลง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของชาวนาในประเทศและพร้อมที่จะบานปลายเป็นปัญหาทางการเมือง เมื่อมีการเปรียบเทียบกับชุดนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่สร้างความพึงพอใจให้กับชาวนาทั้งประเทศ

ส่งผลให้รัฐบาลต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยด่วนในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยมติการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2559/2560 (ข้าวหอมมะลิ) โดยชาวนาจะได้รับเงินจากราคาเฉลี่ยข้าวหอมมะลิตันละ 11,000 บาท โดย ธ.ก.ส. จะรับจำนำที่ราคาตันละ 9,500 บาท บวกเงินช่วยเหลือในการเกี่ยวข้าวอีกตันละ 2,000 บาท และเงินขึ้นยุ้งฉางเพื่อเก็บรักษาข้าวอีกตันละ 1,500 บาท

รวมเงินทั้งหมดที่ชาวนาจะได้รับผ่าน ธ.ก.ส. ตันละ 13,000 บาท เริ่มโครงการได้ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ในวงเงินประมาณ 19,300 ล้านบาท

ถือเป็นการ “ปลดชนวน” ระเบิดเวลาจากราคาข้าวตกต่ำลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมดเพราะโครงการนี้ไม่ได้รวมไปถึงข้าวประเภทอื่นๆ นอกเหนือไปจากข้าวหอมมะลิ

ส่งผลให้ชาวนาบางส่วนต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองจนเกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมาในช่วงนี้ นั่นก็คือ ชาวนารวมกลุ่มกันขาย “ข้าวถุง” ผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้ง แอพลิเคชั่นไลน์-อินสตาแกรม-เฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ Alibaba ยักษ์อี-คอมเมิร์ซจีนในรูปของสหกรณ์ มากขึ้น

ภายใต้ความเชื่อที่ว่า วิธีการดังกล่าวจะ “ขายตรง” จากชาวนาถึงผู้บริโภค โดยลดทอนการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางและสร้างอำนาจต่อรองให้ตัวเอง

แต่ความจริงก็คือการขายข้าวถุงผ่านโซเชียลยังทำได้ในวงจำกัด เฉพาะกลุ่มชาวนาที่มีความพร้อมในการสีข้าว การบรรจุ การขนส่ง ซึ่งมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อถุงไม่ต่ำกว่า 10 บาท ถ้าขายข้าวถุง ถุงละ 150 บาท ก็ต้องขายปริมาณมากจึงจะคุ้มค่าขนส่ง

ดังนั้น การขายข้าวถุงผ่านโซเซียลมีเดีย จึงเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

ที่สุดแล้วยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่า โจทย์ใหญ่เรื่องราคาข้าว จะเดินไปสู่จุดไหน และรัฐบาลจะพลิกเกมแก้ปัญหาอย่างไรในระยะต่อไป