คุยกับทูต : มองกองทัพปากีสถาน – หันกลับมามองกองทัพไทย และกลไกสันติภาพ

คุยกับทูต พันเอกราซา อุล ฮัซเนน กองทัพไทย – ปากีสถานกระชับความร่วมมือ (2)

ใน บทที่แล้ว(คลิกอ่าน) ได้กล่าวถึงความร่วมมือทวิภาคี ไทย-ปากีสถานด้านการต่อต้านการก่อการร้าย

โดยมีการฝึกร่วมทางทหาร “ตรีศูล 17” (Trisul 17) ครั้งแรกในปากีสถานเมื่อกลางปีที่แล้ว และการฝึกร่วมครั้งที่สอง “ตรีศูล 18” (Trisul 18) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาในประเทศไทย

วันนี้ปากีสถานเป็นประเทศหนึ่งที่มีความแข็งแกร่ง มีความเป็นประชาธิปไตย มีบทบาทสำคัญต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และพัฒนาการของภูมิภาคและของโลก

เป็นประเทศแถวหน้าของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศมุสลิม

เป็นหนึ่งในสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งมีส่วนร่วมในนโยบายและการเจรจาเพื่อการพัฒนาในด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศจากการเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติทั่วโลก

รัฐบาลปากีสถานยึดถือนโยบาย “Friendly Neighborhood” ในการสร้างความสมัครสมานสามัคคีและร่วมมือกับเพื่อนบ้านทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและพหุภาคี

การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (peace keeping) เป็นหนึ่งในมาตรการของสหประชาชาติที่มีศักยภาพในการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

พัฒนาการจากบทบาทเดิมที่เน้นเฉพาะความพยายามในการยุติการสู้รบและความขัดแย้งมาสู่ภารกิจที่มีหลากหลายมิติ

ทั้งการรักษาสันติภาพและการฟื้นฟูเสริมสร้างสันติภาพภายหลังความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทของทหาร ตำรวจ และพลเรือน

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน (Colonel Raza Ul Hasnain) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย มาเล่าถึงบทบาทของกองทัพไทยและปากีสถานในการเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

“เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติซึ่งมีเอกลักษณ์ประจำตัวคือ หมวกสีฟ้า (blue helmets) ได้จุดประกายแห่งความหวังแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทั่วโลก ปฏิบัติการรักษาสันติภาพจึงเป็นกลไกของสหประชาชาติที่จะช่วยให้ประเทศเจ้าภาพสามารถเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพได้”

บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติถูกเรียกว่า “บลู เฮลเม็ต” (The Blue Helmets) เพราะสวมหมวกสีฟ้า ทั้งที่เป็นหมวกเหล็ก (helmet) และหมวกเบเร่ต์ (beret) ใช้สวมใส่เมื่อปฏิบัติหน้าที่ และมีตราสัญลักษณ์ของสหประชาชาติติดอยู่บนแขนเสื้อ เพื่อแสดงถึงเอกภาพและความเป็นกลาง

ในช่วงการเริ่มต้นของสหประชาชาติ มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติหลายประการเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ตามข้อมติที่ 167 (II) ของสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ปี ค.ศ.1947 ได้อนุมัติให้ใช้สีฟ้าอ่อนสำหรับธงสหประชาชาติ

สีฟ้าอ่อนนี้จึงกลายเป็นสีสัญลักษณ์ของสหประชาชาติ

เมื่อองค์การสหประชาชาติเริ่มส่งเจ้าหน้าที่ไปทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จึงต้องพยายามสร้างความแตกต่างระหว่างเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติออกจากหน่วยงานอื่นด้วยการใช้วัสดุใดก็ตามที่มีอยู่ ได้แก่ ปลอกแขน ธง หมวก และอื่นๆ

Brian Urquhart นักเขียนเรื่อง Ralph Bunche : An American Odyssey ได้อธิบายเกี่ยวกับการจัดตั้งกองกำลังฉุกเฉินแห่งสหประชาชาติ (UN Emergency Force – UNEF) ในปี ค.ศ.1948 ว่า

สิ่งที่จำเป็น คือการสวมหมวกที่โดดเด่นเห็นได้ชัดเจน เพื่อนักแม่นปืนและคนอื่นๆ จะสามารถมองเห็นได้แม้อยู่ในระยะไกล

หมวกเบเร่ต์สีฟ้าดูเหมือนจะเป็นคำตอบ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะจัดหาหมวกเบเร่ต์ให้เพียงพอในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม หมวกพลาสติกแบบของสหรัฐมีจำนวนมากพอหาได้ในยุโรป เพียงแค่ใช้สเปรย์สีฟ้าของ UN พ่นลงในวัสดุที่ต้องการก็ทันเวลาสำหรับกองกำลังฉุกเฉินแห่งสหประชาชาติชุดแรกที่จะเดินทางเข้าไปในอียิปต์

ระหว่างการจัดตั้ง องค์การควบคุมดูแลการหยุดยิงแห่งสหประชาชาติ (UN Truce Supervision Organization : UNTSO) ในปี ค.ศ.1947 Urquhart ได้เขียนไว้ว่า ผู้สังเกตการณ์สวมปลอกแขนสหประชาชาติและถือธงสหประชาชาติ

ยานพาหนะของผู้สังเกตการณ์ทาสีขาว โดยมีตัวอักษร UN สีดำขนาดใหญ่ที่ด้านข้างและด้านบนหลังคายานพาหนะ ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานปฏิบัติภารกิจของผู้สังเกตการณ์ของสหประชาชาติ

กองกำลังปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี ค.ศ.1988

“ประเทศไทยและปากีสถานมีบทบาทสำคัญในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ในการสร้างสันติภาพผ่านกระบวนการทางการทูต และการสนับสนุนหลายด้านในภูมิภาคต่างๆ กองทัพไทยและกองทัพปากีสถานมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากโดยต่างได้รับการพิจารณาให้เป็นสถาบันที่มีการจัดองค์กรที่เข้มแข็ง ได้รับความนิยมเชื่อถือจากประชาชนเป็นอย่างสูง เนื่องจากบทบาทที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ส่งเสริมให้เกิดความรักชาติ เสียสละและอดทน” พันเอกราซา อุล ฮัซเนน กล่าว

“ปี ค.ศ.1958 ประเทศไทยเริ่มเข้าร่วมในการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ส่วนปากีสถานได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เนื่องจากเข้าไปมีส่วนร่วมแทบทุกภารกิจของสหประชาชาติในการรักษาสันติภาพตั้งแต่ปี ค.ศ.1960”

การปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติโดยบุคคลผู้ “สวมหมวกสีฟ้า” กว่า 110,000 คนที่รวมทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือนขณะนี้มี 14 แห่งทั่วทั้ง 4 ทวีป

ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างสันติภาพและความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังช่วยอำนวยความสะดวกในกระบวนการทางการเมือง การปกป้องพลเรือน ให้ความช่วยเหลือในการปลดอาวุธ สนับสนุนการเลือกตั้ง ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการสร้างหลักนิติธรรม

ที่ผ่านมาไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งชายและหญิงกว่า 27,000 คน เข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพและภารกิจรักษาสันติภาพอื่นๆ ในกรอบสหประชาชาติในหลายภูมิภาคทั่วโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 กว่า 20 ภารกิจ

ปัจจุบันไทยยังคงมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจปฏิบัติงานอยู่ในการรักษาสันติภาพ 4 ภารกิจได้แก่ UNAMID ที่ดาร์ฟูร์, UNMOGIP ที่พรมแดนอินเดีย-ปากีสถาน (ในรัฐชัมมูหรือรัฐจัมมู (Jammu) และกัศมีร์หรือแคชเมียร์ (Kashmir) อันเป็นบริเวณพิพาทระหว่างอินเดีย ปากีสถานและจีน), MINUSCA ที่สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และ UNMIL ที่ไลบีเรีย

ภารกิจดังกล่าวเป็นการตอบสนองนโยบายต่างประเทศของไทยในการสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติเพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ ทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ เป็นโอกาสในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ และการแสดงศักยภาพของกองทัพไทย

“สําหรับกองกำลังปากีสถานในวันนี้ เป็นกองกำลังใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศที่เข้าร่วมในการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ โดยเข้าร่วมถึง 41 ภารกิจใน 26 ประเทศ รวมประมาณ 175,542 คน เป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงความมุ่งมั่นและความพยายามของปากีสถานในการส่งเสริมสันติภาพของโลก”

“ความทุ่มเทของปากีสถานต่อภารกิจของสหประชาชาติ ได้รับการยอมรับจากบรรดาผู้นำโลกหลายๆ คนรวมถึงสหประชาชาติ ในฐานะที่เป็นมืออาชีพที่ไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเมื่อปี ค.ศ.2013 นายบัน คี มูน (Ban Ki-moon) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางไปเยือนปากีสถานเพื่อเปิดศูนย์สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (Center for International Peace and Stability : CIPS) และยกย่องปากีสถานในความพยายามธำรงการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ”

“CIPS เป็นสถาบันแห่งชาติที่ให้การฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่และกองกำลังปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ปากีสถานแสดงบทบาทเป็นเจ้าภาพในการต้อนรับมิตรประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยที่ไปเข้ารับการอบรมหลักสูตรพิเศษของสหประชาชาติที่ศูนย์นี้”

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานชี้แจง

“ไทยและปากีสถานให้ความร่วมมือกันในเรื่องการฝึกอบรมการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่จากไทยเข้ารับการฝึกอบรมเป็นประจำในหลักสูตรของสหประชาชาติที่ศูนย์ CIPS ในขณะที่กองทัพปากีสถานส่งครูฝึกสอนแก่ CIPS ของไทยเป็นประจำทุกปี”

ปฏิบัติการรักษาสันติภาพคือความเป็นสากล (universality) การได้รับความยอมรับทางการเมืองจากทุกฝ่ายของประเทศที่เกี่ยวข้อง (political acceptance) การไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (Non-partisan) และการไม่ใช้กำลัง

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า บทบาทที่เหมาะสมของปฏิบัติการรักษาสันติภาพคือ การเป็นกำลังป้องปราม (deterrent force) มากกว่ากองกำลังสู้รบ เนื่องจากฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันต่างตระหนักดีว่า การโจมตีทำร้ายกองกำลังสหประชาชาติ จะทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาคมโลก

“ไทยและปากีสถานต่างมีความมุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และทำงานร่วมกันในภารกิจต่างๆ ของสหประชาชาติ ในประเทศนามิเบีย คูเวต กัมพูชา บอสเนีย เซียร์ราลีโอน ติมอร์ตะวันออก บุรุนดี ซูดาน และเฮติ เป็นต้น”

การยกระดับความร่วมมือทางการทหาร การรักษาความมั่นคง การข่าว และการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นการกระชับความร่วมมือเพื่อสันติภาพของไทยและปากีสถานโดยอาศัยกลไกในการเจรจา การฝึกร่วม และการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในระดับต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สำหรับปากีสถานซึ่งประสบความสำเร็จในการเผชิญกับการต่อสู้กับการก่อการร้าย ที่จงใจใช้ความรุนแรงมาเป็นระยะเวลาถึงสองทศวรรษ ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการรณรงค์ต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ก็ด้วยความมุ่งมั่นของปากีสถานที่จะธำรงรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคอย่างยั่งยืนนั่นเอง