ตามไปดูการฝึกร่วมต่อต้านการก่อการร้าย ไทย-ปากีสถาน หนึ่งในความร่วมมือทางทูตที่สำคัญ

คุยกับทูต พันเอกราซา อุล ฮัซเนน กองทัพไทย – ปากีสถานกระชับความร่วมมือ (1)

ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติกันอย่างใกล้ชิด ดังที่มีการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Crime : AMMTC) หรือการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปี ค.ศ.2001 ที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน

ซึ่งที่ประชุมได้ออกปฏิญญาว่าด้วยการร่วมกันต่อต้านการก่อการร้าย (2001 ASEAN Declaration on Joint Action to Counter Terrorism) และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ข่าวกรอง ความร่วมมือกับประเทศและภูมิภาคอื่นๆ

สำหรับประเทศไทยก็ได้ยืนยันความพร้อมในการร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศต่อสู้กับก่อการร้ายทุกรูปแบบในกรอบของสหประชาชาติเสมอมา

โดยไทยยึดมั่นในพันธกรณีที่จะปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการต่อต้านการก่อการร้าย

ซึ่งเห็นได้ว่ากลุ่มก่อการร้ายมีแนวโน้มขยายเครือข่ายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

การก่อการร้ายนั้นมีผลกระทบไปทั่วโลก ทั่วทุกภูมิภาค

ดังนั้น หน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งรับผิดชอบการต่อต้านการก่อการร้ายสากล จึงต้องจัดทำแผนและซักซ้อมตั้งแต่ในยามปกติ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับปากีสถาน เริ่มเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1951 ปัจจุบัน นายอะศิม อิฟติคัร อะห์มัด (H.E. Mr. Asim Iftikhar Ahmad) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย

นายอะศิม อิฟติคัร อะห์มัด (H.E. Mr. Asim Iftikhar Ahmad) เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย

ทั้งสองประเทศต่างเป็นมิตรที่ดีต่อกัน มีความร่วมมือกันในทุกมิติทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในเกือบทุกสาขา

หนึ่งในเสาหลักของความสัมพันธ์ทวิภาคีอยู่ในความร่วมมือด้านการป้องกันซึ่งครอบคลุมหลายประเด็น

วันนี้ พันเอกราซา อุล ฮัซเนน (Colonel Raza Ul Hasnain) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มาเล่าถึงความร่วมมือทวิภาคี ไทย-ปากีสถานในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย

พ.อ. ราซา อุล ฮัสเนน (Colonel Raza Ul Hasnain) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ปากีสถาน ประจำประเทศไทย –

“หน่วยรบพิเศษจากศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากลของไทย (CTOC) และหน่วยรบพิเศษของกองทัพปากีสถาน ได้มีการฝึกร่วมในการต่อต้านการก่อการร้ายครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยใช้รหัสว่า ตรีศูล 17 (Trisul -17) ณ ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติประเทศปากีสถาน (NCTC)”

“ส่วนในปีนี้ ตรีศูล 18 (Trisul -18) คือชื่อรหัสในการฝึกร่วมต่อต้านการก่อการร้ายครั้งที่สอง ระหว่างไทยและปากีสถาน มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มพูนทักษะการต่อสู้แบบต่างๆในการต่อต้านการก่อการร้าย ประกอบด้วย หน่วยรบพิเศษปากีสถาน (SSG PAKISTAN) 19 นาย และหน่วยรบพิเศษไทย (SSG THAILAND) 63 นาย”

“การฝึกร่วมจัดที่ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล (CTOC) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ และศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 5-14 สิงหาคมที่ผ่านมานี้”

หน่วยรบพิเศษ (Special Services Group : SSG) ดังที่กล่าวมา คือหน่วยทหารที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างหนักที่สุด ถูกกล่าวขานว่าเป็นหน่วยรบที่เก่งกาจและแข็งแกร่งที่สุดในโลก พร้อมในการปฏิบัติภารกิจที่อันตรายเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร มีประวัติสืบเนื่องมาจากการต่อสู้ของหน่วยรบพิเศษเยอรมัน (Brandenburgers) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ซึ่งปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีหน่วยรบพิเศษทั้งนั้น ก็เพื่อความปลอดภัยของประเทศนั่นเอง

สําหรับการจัดอันดับหน่วยรบพิเศษชั้นนำ 10 อันดับแรก พิจารณาจากทักษะและประสบการณ์ เป้าหมายหลักคือ การมีกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการจัดการกับสถานการณ์ที่ความปลอดภัยไม่อาจเป็นไปได้ แต่ทำให้เป็นไปได้

SSG PAKISTAN เป็นหน่วยรบพิเศษของกองทัพปากีสถาน เปรียบได้กับ SAS : Special Air Service หน่วยรบพิเศษทางอากาศแห่งกองทัพอังกฤษ และหน่วยรบพิเศษของกองทัพสหรัฐ หน่วย SSG PAKISTAN ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1956 และได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษเพื่อทำสงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare) การต่อต้านการแพร่กระจาย (Counter-Proliferation) การปฏิบัติการพิเศษ การช่วยเหลือรัฐบาลต่างประเทศเพื่อป้องกันภายใน (Foreign Internal Defense)

การช่วยเหลือตัวประกัน และการต่อต้านการก่อการร้ายภายในและภายนอกพรมแดนของปากีสถาน หน่วย SSG เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็น “นกกระสาดำ” (Black Storks)

โดยปีนี้ SSG PAKISTAN ได้รับการจัดอันดับให้ เป็น 1 ใน 10 หน่วยรบพิเศษที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายที่ประสบความสำเร็จอย่างนับไม่ถ้วน

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่จึงต้องไตร่ตรองอย่างหนักก่อนที่จะคิดทำร้ายประชาชนชาวปากีสถาน

“การฝึกร่วมนี้ มุ่งสู่เป้าหมายเฉพาะตัวบุคคล เพื่อให้มีทักษะการยิงปืน การส่งเสริมให้มีแนวคิดในการปฏิบัติงานร่วมกัน การมีความเข้าใจในกลไกที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือตัวประกันทั้งทางบกและทางอากาศ รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นระหว่างหน่วยรบพิเศษของทั้งสองประเทศ จนถึงระดับทหารภายใต้สภาพแวดล้อมของการต่อต้านการก่อการร้ายในเมือง”

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ชี้แจง

“ในพิธีเปิดการฝึกอบรม การปฐมนิเทศ กล่าวถึงรายละเอียดในการฝึก การปฏิบัติต่างรูปแบบ การประลองยุทธ์ขั้นพื้นฐาน การทำความคุ้นเคยกับยุทธวิธีและอาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกอบรมที่เน้นการวางแผน และการดำเนินงานตามขั้นตอนที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี เพื่อต่อต้านการคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้”

“การฝึกอบรมดังกล่าวนี้ยังเกี่ยวกับการค้นหาและการกู้ภัย การเข้าเคลียร์พื้นที่ การทำความเข้าใจในทักษะขั้นพื้นฐานต่อการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากการรบทางยุทธวิธี (Tactical Combat Casualty Care : TCCC)”

เป้าหมายของ TCCC คือ การปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง ช่วยเหลือการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ และป้องกันไม่ให้มีผู้บาดเจ็บเพิ่มเติม

ส่วนการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากการรบทางยุทธวิธี (TCCC) แบ่งเป็น 3 ระยะคือ ดูแลระหว่างการปะทะ การดูแลในพื้นที่หลังการปะทะ และการส่งกลับทางยุทธวิธี

“นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันยิงปืนขนาดเล็ก การต่อสู้แบบประชิดตัว (Close Quarters Battle : CQB) การฝึกโรยตัวด้วยเชือกลงทางดิ่งแบบเร่งด่วน (Fast-roping) หรือการโรยตัวในพื้นที่ยากลำบาก (rappelling) การเข้าถึงที่หมาย (โดยยานพาหนะและเฮลิคอปเตอร์) การปิดล้อมและการค้นหา การสะกดรอยตาม การฝึกยิงปืนที่มีเนื้อหาของการฝึกที่เข้มข้น การฝึกซ้อมเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) และระเบิดแสวงเครื่อง (IED) เน้นความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยรบพิเศษของไทย และปากีสถาน”

พลโท ชัชชัย ภัทรนาวิก (ขวา) ต้อนรับ .พลตรีซาฮีด มาห์มูด (ซ้าย) และ พ.อ. ราซา อุล ฮัสเนน (กลาง)

“เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.ท.ชัชชัย ภัทรนาวิก ผู้บัญชาการศูนย์การต่อต้านการก่อการร้ายสากล (ศตก.) กองบัญชาการกองทัพไทย และ พล.ต.ซาฮีด มาห์มูด (Maj. Gen. Shahid Mahmood) ผู้บัญชาการกองพลที่ 11 แห่งกองทัพปากีสถาน และคณะ ได้ไปตรวจเยี่ยมการฝึกภาคสนาม พร้อมทั้งให้โอวาทแก่กำลังพลทั้งสองประเทศ โดยมอบของที่ระลึกให้แก่ผู้แทนประเทศและผู้รับการฝึก ในพิธีปิดการฝึกฯ ณ ศูนย์การทหารราบ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์”

“ทั้งนี้ หน่วยรบพิเศษทั้งสองฝ่ายจะได้พบกันอีกใน ตรีศูล 19 (Trisul -19) ที่ประเทศปากีสถาน ราวกลางปีหน้า”

เนื่องจากประเทศไทยได้เล็งเห็นว่า การต่อต้านการก่อการร้ายสากลเป็นเรื่องสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งการสร้างความพร้อมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย จะทำให้ไทยเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียนในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการต่อต้านการก่อการร้ายสากลให้เวทีโลกได้เห็นต่อไป

พลตรีซาฮีด มาห์มูด ผู้บัญชาการกองพลที่ 11 แห่งปากีสถาน

ในขณะที่ทางการปากีสถานกล่าวว่า ประเทศปากีสถานเป็นศูนย์กลาง (hub) ของหน่วยฝึกอบรมทางทหารที่เน้นสร้างขีดความสามารถในการต่อต้านการก่อการร้าย และร่วมอยู่ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายกับสหรัฐในดินแดนของตนเองมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยพยายามรักษาดุลแห่งความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามาบัดและวอชิงตัน

แต่เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมานี้ กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ (The Pentagon) ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมพิจารณาแผนการตัดงบประมาณช่วยเหลือทางการทหารปากีสถานมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.8 พันล้านบาท โดยอ้างว่า ทางการปากีสถานล้มเหลวในปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย

ทั้งนี้ เพื่อกดดันให้ทางการปากีสถาน ซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐ ให้ดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อกลุ่มเครือข่ายก่อการร้ายที่เคลื่อนไหวในประเทศ เช่น เครือข่ายฮักกานี (Haqqani) และกลุ่มทาลิบัน (Taliban) ที่เป็นชาวอัฟกัน

โดยกองทัพสหรัฐจะนำเงินช่วยเหลือดังกล่าว (ซึ่งถูกชะลอไปแล้วตั้งแต่ต้นปีนี้ในเดือนมกราคม) ใช้ในภารกิจที่สำคัญกว่า หากว่าปากีสถานยังคงเพิกเฉยในการจัดการเรื่องนี้

พลโท ชัชชัย ภัทรนาวิก (ซ้าย).พลตรีซาฮีด มาห์มูด (ขวา)พ.อ. ราซา อุล ฮัสเนน (ที่สองจากขวา)

รัฐบาลปากีสถานออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของสหรัฐโดยระบุว่า

“300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้เป็นเงินช่วยเหลือ ในความเป็นจริงคือการชำระเงินคืนในรูปแบบของกองทุนสนับสนุนพันธมิตรสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อต้านการก่อการร้ายของเรา เราจำเป็นต้องพิจารณาว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายโดยรวมของสันติภาพในภูมิภาคนี้ ปากีสถานประสบความสำเร็จอย่างมาก เราได้เคลียร์พื้นที่ของเราจากผู้ก่อการร้าย แต่ดินแดนส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถานไม่ได้อยู่ในการควบคุมของกองกำลังสหรัฐและรัฐบาลอัฟกานิสถาน”

“เราได้ฟื้นฟูสันติภาพในบ้านของเรา และกำลังเร่งสร้างรั้วกั้นตามแนวชายแดนที่เหลือกับอัฟกานิสถานเพื่อป้องกันการลักลอบข้ามพรมแดนที่ผิดกฎหมายทุกประเภท นี่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจของเราในการต่อสู้กับการก่อการร้าย”

.พ.อ. ราซา อุล ฮัสเนน (Colonel Raza Ul Hasnain) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ปากีสถาน ประจำประเทศไทย

“หนทางสู่อนาคต คือปากีสถานกับสหรัฐจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ให้มากขึ้น การเยือนปากีสถานของนายไมก์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐและการเข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน (Imran Khan) ของปากีสถาน นับว่าเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย”

“เป็นการลดช่องว่างและหาแนวทางร่วมกันในการปรับความสัมพันธ์ให้ก้าวไปข้างหน้าโดยการพัฒนาความร่วมมือและความไว้วางใจซึ่งกันและกันให้มากยิ่งขึ้น”

“ดังนั้น สหรัฐและปากีสถานจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนในอัฟกานิสถาน อันเป็นความสนใจร่วมกันของเรา ซึ่งปากีสถานยังคงมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อเป้าหมายนี้”