ก่อนมาเป็นขนมไหว้พระจันทร์ แต่เดิมไม่ได้ใช้ไหว้พระจันทร์?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อแรกที่ชาวจีนริเริ่มจะมีเทศกาล “ไหว้พระจันทร์” ในวันจงชิว คือ 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจีนนั้น บรรพบุรุษของพวกอาเฮีย อาเจ๊ เขาไม่ได้ไหว้ด้วย “ขนมไหว้พระจันทร์” กันหรอกนะครับ

และอันที่จริงแล้ว คำว่า “ขนมไหว้พระจันทร์” ก็เป็นคำในภาษาไทย ที่เรียกชื่อเจ้าขนมชนิดนี้ตามชื่อของเทศกาลไหว้พระจันทร์ในประเทศไทย ที่เอาขนมชนิดนี้มาไหว้อีกต่างหาก

ที่เรียกกันว่า “ขนมไหว้พระจันทร์” นั้น จึงไม่แม้กระทั่งว่าจะเป็นชื่อของขนมชนิดนี้ในภาษาต้นตำรับอย่างภาษาจีนเสียด้วยซ้ำไป

เพราะโดยทั่วไปแล้ว ชาวจีนเรียกขนมไหว้พระจันทร์ว่า “เย่ว์ปิ่ง” (สำเนียงจีนกลาง หรือจีนแมนดาริน) ต่างหาก

โดยคำว่า “เย่ว์” นั้นหมายถึง “พระจันทร์” ส่วน “ปิ่ง” หมายถึง ของกินทรงแบนๆ ไม่ว่าจะเอาไปปิ้ง ย่าง เผา หรืออบ ขอให้เป็นอาหารแบนๆ รูปทรงกลม (หรือจะมีทรงออกรีๆ หน่อยก็ได้ พวกเฮียๆ แกหยวนให้หมด ไม่ว่ากัน) เป็นอันเรียกว่าปิ่ง เหมือนกันได้ทั้งหมด

ถูกต้องแล้วครับ “เย่ว์ปิ่ง” ก็คือเจ้าขนมที่คนไทยเรียกว่า “ขนมเปี๊ยะ” ตามเสียงชาวจีนแต้จิ๋วประเภทหนึ่ง

แต่ที่ชาวจีนเขาเรียกขนมเปี๊ยะชนิดนี้ว่า “เย่ว์ปิ่ง” คือ “ขนมเปี๊ยะพระจันทร์” นั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับเทศกาลไหว้พระจันทร์อยู่ดีนั่นแหละ แต่เป็นเพราะรูปร่างหน้าตาของมันที่ออกจะกลมเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญต่างหาก ที่ทำให้บรรพบุรุษของพวกเฮียเขาก็เลยเรียกเจ้าขนมชนิดนี้ว่า ขนมเปี๊ยะพระจันทร์มันดื้อๆ

และก็เป็นเพราะการเรียกชื่อตามลักษณะรูปทรงของขนมเย่ว์ปิ่งอย่างนี้นี่เอง ที่ทำให้ขนมชนิดนี้มีสารพัดรูปแบบ สารพัดไส้ ไล่ไปตั้งแต่ ชนิดเปลือกร่วนนิ่มไส้ฟัก ที่มาพร้อมหมูแข็ง หวาน หอม อร่อย ผสมอยู่ข้างใน แบบขาดไม่ได้ ตามสูตรแต้จิ๋ว, ชนิดเปลือกนิ่มเนียน ที่เอาแบบเค้กฝรั่งมาผสม ห่อไส้ข้างในสารพัด ผสมน้ำมันน้อยให้พอมีกลิ่นหอมนิดๆ และหวานด้วยน้ำตาล อย่างสูตรกวางตุ้งและฮ่องกง ก็ถือว่าเป็นเยว์ปิ่งได้เหมือนกันเช่นเดียวกับอีกสารพัดสูตร

และก็คงจะไม่มีใครทราบได้แน่นอนหรอกว่า เจ้าเย่ว์ปิ่งสูตรดั้งเดิมที่สุดนั้น มันจะมีรูปร่างหน้าตาและรสชาติกระเดียดไปในทางสูตรไหนแน่?

 

หลักฐานการมีอยู่ของขนมเย่ว์ปิ่ง ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่องเก่าในนครอู่หลิน-หางโจว (อู่หลินจิ้วสื้อ) ของโจวมี่ ซึ่งเป็นคนในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ของจีน (พ.ศ.1669-1822) ซึ่งได้กล่าวถึงขนมเย่ว์ปิ่ง รวมกับขนมเปี๊ยะ (หรือขนมปิ่งในภาษาจีนกลาง) ชนิดอื่นๆ อยู่ในบทที่ว่าด้วยอาหารนึ่ง

แต่โจวมี่คนนี้กลับไม่ยักจะบอกว่า เจ้าขนมเย่ว์ปิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับเทศกาลไหว้พระจันทร์เอาไว้เลยสักนิด?

เช่นเดียวกับข้อมูลในหนังสือสมัยราชวงศ์ซ่งใต้อีกเล่มหนึ่งก็คือ บันทึกฝันเมิ่งเหลียง (เมิ่งเหลียงลู่) ที่ก็พูดถึงขนมชนิดนี้ โดยที่ไม่ได้ข้องแวะไปถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์เลยด้วยเช่นเดียวกัน

เราต้องรอจนกระทั่งถึงสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) คืออีกร้อยกว่าปีถัดมา จึงค่อยมีหลักฐานของธรรมเนียมการนำขนมชนิดนี้มากินกันในเทศกาลดังกล่าว โดยปรากฏอยู่ในบันทึกเรื่องเที่ยวทะเลสาบซีหู (ซีหูหยิวหล่านจื้ออี๋ว์) ของเถียนหลูเฉิง มีข้อความระบุว่า

“วัน 15 ค่ำ เดือนแปด เรียกว่าจงชิว ชาวบ้านให้เย่ว์ปิ่งกัน แสดงความหมายว่ากลมเกลียวพร้อมหน้า”

สรุปง่ายๆ ว่า ขนมเย่ว์ปิ่งนั้นมีมาอย่างน้อยก็เกือบจะพันปีแล้ว แต่เมื่อแรกเริ่มนั้น ถึงจะเรียกว่าขนมเปี๊ยะพระจันทร์ แต่พี่จีนเขาก็ไม่ได้ใช้สำหรับไหว้พระจันทร์เสียหน่อย มันก็แค่มีรูปทรงกลมๆ แบนๆ จนมีหน้าตาเหมือนกับพระจันทร์เต็มดวง จนถูกเรียกว่า ขนมเย่ว์ปิ่ง เท่านั้นนั่นแหละ ส่วนทำไมต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิงถึงถูกนำมาใช้สำหรับในเทศกาลไหว้พระจันทร์นั้น ก็มีคำอธิบายอยู่มากมาย เพียงแต่ไม่ใคร่จะมีหลักฐานน่าเชื่อถือนัก

 

เทศกาลไหว้พระจันทร์ ถือเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งในวัฒนธรรมจีน (และรวมถึงชาวจีนโพ้นทะเลด้วย) โดยเป็นรองเฉพาะเพียงแค่เทศกาลตรุษจีนเท่านั้น และก็มีลักษณะคล้ายๆ กับเทศกาลคริสต์มาสของชาวคริสต์ ที่คนทั้งครอบครัวจะกลับมารวมกันพร้อมหน้า เพียงแต่อาหารที่ล้อมวงเปิบร่วมกันนั้นเปลี่ยนจาก “ไก่งวง” มาเป็น “ขนมเย่ว์ปิ่ง” เท่านั้นแหละครับ

มีนิทานเล่ากันในหลายท้องถิ่นว่า ในสมัยที่พวกมองโกล ซึ่งจีนมองว่าเป็นพวกป่าเถื่อนอนารยชน (ก็พี่จีนเขาไม่เคยมองว่าใครจะอารยะไปกว่าพวกเขาอยู่แล้วนี่นะ) เข้ามาเป็นใหญ่ในจีน จนสามารถสถาปนาราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1814-1911) ขึ้นมาได้นั้น ได้รีดนาทาเร้นและข่มเหงชาวจีนอย่างจงหนัก โดยได้ส่งผู้คุมมาควบคุมครอบครัวชาวจีน 1 คนต่อ 10 ครอบครัว และก็เป็นผู้คุมพวกนี้แหละนะครับ ที่ลุแก่อำนาจเสียจนชาวจีนโกรธแค้นเป็นอย่างมาก

วันหนึ่ง จางสื้อเฉิง หนึ่งในผู้นำการต่อต้านพวกมองโกล ณ ขณะจิตนั้น ก็นึกอุบายขึ้นมาได้ เขาเอากระดาษเขียว กระดาษแดง เขียนข้อความนัดแนะให้ทุกครอบครัวร่วมกันฆ่าพวกผู้คุม แอบยัดใส่ไว้ในขนมเย่ว์ปิ่ง แล้วแจกจ่ายในหมู่คนจีนไปในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์

ใครได้รับจดหมายน้อยแล้วก็ทำขนมเย่ว์ปิ่งยัดไส้แบบนี้แจกจ่ายกันไปทั่ว จนถึงวันเทศกาลก็รุมฆ่าพวกผู้คุมมองโกลเสียจนหมด นับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีธรรมเนียมการสวาปามขนมเยว์ปิ่งในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น

นิทานเรื่องนี้ฟังดูเผินๆ น่าสนใจดีนะครับ แต่ว่ามีหลายเวอร์ชั่น แล้วแต่ว่าท้องถิ่นไหนจะเอาชื่อใครมาใส่แทนจางสื้อเฉิง นักวิชาการส่วนใหญ่จึงไม่เชื่อเรื่องนี้ เพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมาประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม นิทานเรื่องนี้ก็เป็นที่เล่าลือกันในหมู่ชาวจีนเป็นอย่างมาก ที่ขนมเยว์ปิ่งสูตรปักกิ่ง มีไหมเขียว ไหมแดง สอดอยู่ในไส้ ก็เพราะเป็นสัญลักษณ์กระดาษน้อยที่ใช้นัดแนะในการล้อมปราบพวกผู้คุมชาวมองโกลนั่นเอง

 

ขนมเย่ว์ปิ่งคงจะถูกนำมาใช้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ (แต่ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการไหว้พระจันทร์เป็นหลัก) ในสมัยราชวงศ์หมิงนี่เอง เพราะก่อนหน้านั้นเทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นพิธีกรรมของกษัตริย์ ที่นอกจากจะไหว้พระจันทร์แล้ว ยังไหว้ “เส้อ” คือพระเสื้อเมืองของจีนควบคู่ไปในวันเดียวกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว ยุคจั้นกว๋อ เมื่อราวๆ 2,500-2,300 ปีมาแล้วด้วย

ที่สำคัญก็คือ เอกสารโบราณของจีนล้วนแล้วแต่ระบุให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แต่เดิมการไหว้เส้อนั้น เป็นพิธีที่ใหญ่และสำคัญมากกว่าการไหว้พระจันทร์ ที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

และทั้งพิธีไหว้เส้อและพิธีไหว้พระจันทร์แต่ดั้งเดิมนี้ ก็ไม่ได้ไหว้ด้วยขนมเย่ว์ปิ่ง หรือที่คนไทยเรียกว่าขนมไหว้พระจันทร์มันทั้งสองพิธี

ดังนั้น การนำ “ขนมเปี๊ยะพระจันทร์” มาใช้ “ไหว้พระจันทร์” เป็นการเฉพาะอย่างนี้ จึงเป็นพิธีที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงนี้เอง และเอาเข้าจริงแล้ว ก็คงจะไม่มีใครที่ทราบอย่างชัดเจนเลยว่า ทำไมอยู่ๆ จึงได้มีการเอาขนมชนิดนี้มาใช้สำหรับไหว้ในพิธีกรรมดังกล่าวเป็นการเฉพาะ?

เผลอๆ ก็อาจจะเป็นเพราะแค่ชื่อของเจ้าขนมเปี๊ยะชนิดนี้ มันคล้องจองกันดีกับพิธีไหว้พระจันทร์เท่านั้นเองแหละครับ