เสฐียรพงษ์ วรรณปก : กรรมการเวียนว่ายตายเกิด กฎแห่งกรรม ทำดี (ย่อม) ได้ดี ทำชั่ว (ย่อม) ได้ชั่ว

ความคิดหลักเรื่องกรรมกับสังสารวัฏ

ความคิดหลักเกี่ยวกับเรื่องกรรมกับสังสารวัฏ มันมีอยู่ว่า มนุษย์ทุกคนเป็นเวไนยสัตว์ เป็นผู้พัฒนาได้ ฝึกฝนอบรมได้ด้วยสติปัญญา ด้วยความพากเพียรของมนุษย์เอง แล้วกระบวนการพัฒนานั้นไม่ต้องพึ่งพาอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ทั้งนั้น สิ่งแวดล้อมภายนอกต่างๆ นั้นเป็นแค่เพียงปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้การพึ่งพาตัวเองของเรานั้นเป็นไปด้วยดีเท่านั้นเอง

นี่คือจุดความคิดอันสำคัญในพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์ทุกคนพัฒนาได้ พูดในภาษาสมัยใหม่ก็คือว่า มีศักยภาพในตัวเองที่จะเป็นอะไรก็ได้ อันนี้คือจุดสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งแตกต่างจากศาสนาอื่น

ศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนา ก. ศาสนา ข. ขอไม่เอ่ยชื่อหมายถึงศาสนาเทวนิยมทั้งหลาย เขาไม่คิดอย่างนี้ เขาคิดว่ามนุษย์มีความสามารถในขีดจำกัด มีสติปัญญาจำกัด พัฒนาตัวเองไม่ได้ ทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยอำนาจดลบันดาลของสิ่งศักดิ์ทั้งหลายเท่านั้น

ฉะนั้น วิถีชีวิตของมนุษย์ในทัศนะของศาสนาเหล่านั้นขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของพระเจ้า

จุดศูนย์กลางของศาสนานั้นอยู่ที่ผู้มีอำนาจสูงสุด

แต่จุดศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาอยู่ที่มนุษย์เอง อันนี้ต้องเข้าใจนะเป็นจุดที่สำคัญที่สุดเลย

ถ้าเราเข้าใจในจุดนี้แล้วเราจะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสอนหลักธรรมต่างๆ เหล่านั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อเป็นอุปกรณ์ หรือเป็นเครื่องมือสำหรับให้มนุษย์ ได้ใช้พัฒนาตัวเอง เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดที่มนุษย์ต้องการนั่นเองอันนี้ต้องเข้าใจ

ความเชื่อของมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องกรรม

พูดถึงความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกรรม พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าคนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องกรรมต่างๆ กัน ในสมัยพระพุทธเจ้ายังมีความเข้าใจผิด ในสมัยปัจจุบันก็ยังมีความเข้าใจผิดเช่นเดียวกับมนุษย์ในสมัยนั้นเหมือนกัน

พระองค์ตรัสไว้ว่า ความเชื่อผิดเกี่ยวกับเรื่องกรรมมีอยู่ 3 ประเภท

เชื่อว่าเป็นผลของกรรมเก่า

ประเภทที่ 1 เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นความสุขความทุกข์ เป็นผลของกรรมเก่า เป็นผลของกรรมที่กระทำไว้แต่ชาติปางก่อนอย่างเดียว

ขอเน้นคำว่าอย่างเดียว

ลัทธิความเชื่อนี้ศัพท์ศาสนา เรียกว่า ปุพเพกตเหตุ คือเชื่อว่าที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้จะยาก จะจน จะรวย จะสวย จะไม่สวย หล่อไม่หล่อ อะไรต่างๆ ที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะเราทำไว้ตั้งแต่ชาติปางก่อน อย่างเดียวเท่านั้น ชาตินี้เราไม่มีสิทธิ์จะจัดการอะไรกับชีวิตเราได้ เพราะว่าเราทำเอาไว้แล้วตั้งแต่ชาติก่อนชาตินี้เราจึงได้รับผลของการกระทำที่เราทำไว้แต่ชาติปางก่อน

นี่คือประเภทที่ 1

เชื่อว่าเป็นการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ประเภทที่ 2 จำพวกที่สองก็มีความเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรานี้เป็นผลมาจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย คือ เชื่อว่าจะมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่งที่คอยดลบันดาลให้มนุษย์ได้รับความสุข ได้รับความทุกข์ ให้อนาคตไปดี ไปไม่ดี แล้วแต่พระประสงค์ของอำนาจสูงสุดนั้นๆ ลัทธินี้เรียกว่า อิสรนิมมานเหตุ

เชื่อว่าเป็นความบังเอิญ

ประเภทที่ 3 คือพวกที่มีความเห็นว่า ความจริงนั้นเป็นเรื่อง บังเอิญ ทั้งนั้น คนเรานั้น จะดี จะชั่ว จะสุข จะทุกข์นั้น มันไม่มีเหตุปัจจัยมันอยากจะดีก็ดีเอง ถึงคราวชั่วมันก็ชั่วเอง อันนี้เรียกว่า อเหตุอปัจจยะ

คล้ายๆ กับแนวคิดของคนไทยที่เชื่อเรื่องโชคลาง เชื่อเรื่องชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน เราไม่ต้องไปทำอะไรมันมาก ถึงคราวดวงดีก็ดีเอง ถึงคราวดวงไม่ดีมันก็ไม่ดี ทำอย่างไรก็ไม่ดี ลัทธินี้เป็นลัทธิบังเอิญ

เหตุและผลของความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา

ลองพิจารณาดูว่า ตามแนวความคิดนี้ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเป็นแนวความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับเรื่องกรรม ความเชื่อแบบที่หนึ่งนั้น มันไม่น่าจะผิด เพราะพระพุทธศาสนาก็พูดถึงเรื่องกรรมเก่า ยอมรับว่าในชาติก่อนมี กรรมเก่ามี

แต่มันผิดตรงที่ว่า ถ้ายกทุกอย่างไว้ให้กรรมเก่าโดยสิ้นเชิงอะไรๆ ก็กรรมเก่าอย่างเดียว แล้วจะไม่มีช่องให้ความพากเพียรพยายามจะมีความรู้สึกว่า เราทำไว้แล้วในชาติก่อน ชาตินี้เราก็เลยไม่มีปัญญาจะจัดการอะไรได้ ความท้อแท้ก็จะเกิด เกิดความท้อแท้ งอมืองอเท้า

เพราะฉะนั้น ถ้าเชื่อว่าทุกอย่างเป็นผลของกรรมเก่าอย่างเดียว ถือว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา

อย่างที่สอง ถ้าถือว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับการบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เราไม่ต้องทำอะไร นั่งรอ นอนรอเท่านั้นเอง แล้วแต่พระเจ้าจะให้เป็นไปอย่างไร

อันนี้รวมถึงอย่างนี้ด้วย สมมติว่าเราเป็นนักเรียน นักศึกษา ถ้าเราสอบตก แทนที่เราจะมาคิดถึงว่าที่ตกเพราะเราเองทำไม่ดี เราขี้เกียจเองไม่สนใจศึกษาเล่าเรียน แต่เรากลับไปมองว่า สอบตกเพราะครูแกล้ง ครูคนนั้นเกลียดฉัน ไม่ชอบฉันก็ทำให้ฉันตก หรือไม่ก็อาจจะไปโทษเพื่อน จะลอกเพื่อนๆ ไม่ยอมให้ลอก อะไรทำนองนี้ เพราะเพื่อนคนนี้เองทำให้ฉันสอบตก

การมองแบบนี้แทนที่จะมองมาที่ตัวเองกลับมองสิ่งแวดล้อมภายนอก อาจเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบุคคลภายนอกรอบตัวเราก็ตาม ก็รวมอยู่ในประเภทที่สองนี้เหมือนกัน ถ้าเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยสิ่งแวดล้อมภายนอก ดลบันดาลให้มันเป็นไปอย่างนั้น ก็เป็นความคิดที่ไม่ถูกเกี่ยวกับเรื่องนี้

ถ้ายิ่งเชื่อว่าเป็นเพราะความบังเอิญยิ่งไม่ถูกใหญ่ เพราะทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันมีเหตุปัจจัยให้เกิด พระพุทธเจ้าตรัสไว้สั้นๆ ว่า “ถ้าเชื่ออย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ฉันทะก็ดี วิริยะก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรกระทำสิ่งนี้ไม่ควรกระทำ ย่อมไม่เกิด” นี่ภาษาพระ

ถ้าแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือว่าถ้าเชื่ออย่างนี้แล้ว คนเราจะงอมืองอเท้าไม่คิดจะแก้ไขปรับปรุงให้มันดีขึ้น อันนี้เป็นเรื่องความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกีบเรื่องกรรม

ความหมายของ “กรรม”

ความหมายของคำว่ากรรมในทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องอย่างไรความจริงไม่ใช่เป็นเรื่องยาก กรรม แปลตรงตัวเลยนะว่า “การกระทำ” หมายถึงการกระทำที่มีเจตนาประกอบ การกระทำที่มีเจตจำนงแน่วแน่ความหมายก็คือว่า การกระทำที่มีเจตนานั้นทำอะไรก็ตาม จงใจทำสิ่งใดก็ตาม เรียกว่าเป็นกรรม

เช่น ยุงมันกัด เราก็ตั้งใจตบมัน อันนี้เป็นกรรมหรือเห็นมดกำลังไต่อยู่แล้ว ก็เอามือไปบีบมัน ต้องการให้มันตาย อันนี้ก็เป็นกรรม มันเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องที่เล็กที่สุดจนกระทั่งเรื่องที่ใหญ่ที่สุด

ถ้าการกระทำนี้ไม่มีเจตนาถือว่าไม่เป็นกรรม เช่น เดินเข้ามาห้องนี้ด้วยความรีบร้อน นั่งลงที่เก้าอี้ไม่ได้ดูเลย ที่เก้าอี้มีมดอยู่ตัวหนึ่ง นั่งทับซะมดแบนแต๊ดแต๋เลย

มดตายถึงเราจะรู้ภายหลังว่ามันตายก็ไม่ถือว่ากรรมคือการกระทำที่มีเจตนา

ประเภทของกรรม

ในทางพระพุทธศาสนานั้น แบ่งกรรมเป็นหลายชนิด แบ่งเป็นสองก็มี กรรมดี กรรมชั่ว แบ่งเป็นสามก็มี กรรมทางกาย เรียกว่า กายกรรม กรรมทางวาจา เรียกว่า วจีกรรม กรรมทางใจ เรียกว่า มโนกรรม

กรรมทางกาย เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์พวกนี้ ชกต่อยเขา เบียดเบียนเขา เป็นกรรมทางกาย

กรรมทางวาจา เช่น ด่าเขา นินทาเขา พวกนี้เป็นกรรมทั้งนั้น หมายถึง กำลังทำกรรมทางวาจา

กรรมทางใจ เช่น คิดอาฆาตพยาบาท คิดจองล้างจองผลาญ คิดโลภ คิดละโมบอยากได้ของเขา นี่เป็นกรรมทางใจ

กรรมแบ่งเป็นสี่ก็มี เช่น กรรมดำ หมายถึงกรรมชั่ว กรรมขาว หมายถึงกรรมดี ทำกรรมทั้งดำทั้งขาว คือชั่วผสมกับดี คือทำทั้งกรรมชั่วกับกรรมดีผสมกัน หรือทำทั้งกรรมดำกรรมขาวในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ มีพระมาเรี่ยไรหรือคนมาเรี่ยไร เราบริจาคไป แต่การบริจาคของเรานั้นบริจาคด้วยความโกรธ ต้องการจะไล่ให้หนีไป ในขณะนั้นเราทำทั้งกรรมดีกรรมชั่ว ชั่วในแง่ที่ว่า เราทำด้วยโทสะ ด้วยความโกรธ

แต่ขณะเดียวกันเราให้ทาน อย่างนี้เรียกว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว คือกรรมทั้งดีและชั่ว

ส่วนกรรมประเภทที่สี่ กรรมไม่ดีไม่ชั่ว กรรมไม่ดำไม่ขาว อันนี้หมายถึงการพ้นไปจากกรรมดี กรรมชั่ว ซึ่งเป็นกรรมที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา สูงสุดของกรรม คือ ต้องพ้นจากกรรม อันนี้เป็นประเภทของกรรม

ประเภทของกรรมตามอรรถกถา

ในหนังสืออรรถกถา คือหนังสือที่เขียนอธิบายพระไตรปิฎกท่านแบ่งกรรมไว้เป็นสิบสองประเภท แบ่งเป็นสามหมวด หมวดละสี่ คือ

กรรมตามความหนักเบา

แบ่งตามความหนักเบาของกรรม กรรมหนัก เรียกว่า ครุกรรม เช่น ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ พวกนี้ถือเป็นกรรมหนัก ทำให้พระสงฆ์แตกกันเหล่านี้ นี่กรรมประเภทที่หนึ่ง

กรรมที่ทำเคยชิน ทำจนชิน ทำบ่อยๆ ทำจนชินนี่กรรมประเภทที่สองเรียกว่า พหุลกรรม หรือ อาจิณกรรม กรรมที่ทำจนชิน ทำบ่อยๆ บางทีมันไม่หนัก แต่ถ้าทำบ่อยๆ เข้า มันก็มีผลหนักรองลงมาจากครุกรรมเหมือนกัน เพราะมันจะสั่งสมเป็นบุคลิก สั่งสมเป็นนิสัยใจคอของเรา แล้วมันจะทำให้บุคลิกของเราเป็นไปตามนั้น เพราะฉะนั้นกรรมประเภทที่สองนี้ลองลงมาจาก ครุกรรม

ประเภทที่สาม กรรมทำเวลาใกล้ตาย เรียก อาสันนกรรม เช่น ตอนใกล้จะตายนึกถึงพระขึ้นมาได้ ยกมือไหว้พระด้วยความเลื่อมใส

ประเภทที่สี่ กรรมอย่างเบาที่สุด คือ ทำด้วยเจตนาน้อยมาก เรียก กตัตตากรรม

อันนี้เป็นกรรมแบ่งตามความหนักเบา