คำปาฐกถาของ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” ยังร่วมสมัย ในสถาบันพระมหากษัตริย์ #1

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 เวลา 15.52 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช

เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย พสกนิกรชาวไทยต่างร่ำไห้ทั่วทั้งแผ่นดิน พร้อมทั้งร่วมแสดงความอาลัย ด้วยการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งครองแผ่นดินโดยธรรม และทรงงานหนักอย่างเหน็ดเหนื่อยต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช “ปราชญ์ของแผ่นดิน-ศิลปินแห่งชาติ-อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13)-บุคคลสำคัญของโลก” ผู้ล่วงลับ นับได้ว่าเป็นผู้รอบรู้ทุกเรื่องดังที่ทราบ ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเชิญไปบรรยาย เป็นองค์ปาฐกถาตามสถาบันต่างๆ เป็นประจำมิได้ขาด หากท่านไม่ติดขัดอะไรจริงๆ จะไม่ปฏิเสธในการไปให้ความรู้กับผู้คน

คำปาฐกถาเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์” เมื่อหลายสิบปี (พ.ศ.2524-35 ปี) ยังร่วมสมัยกับปัจจุบัน จึงขอนำมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง

 

“ท่านทั้งหลาย หัวเรื่องที่กระผมจะพูดในวันนี้คือเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นสถาบันที่ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน และสังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่ไม่เคยว่างสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เริ่มแรกมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้กระผมจึงเห็นว่าเราควรจะได้ศึกษาและสนใจทั้งภูมิหลัง ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ด้านวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อที่เราจะได้มีความมั่นคงในทางใจ มีความแน่นอนในอันที่จะร่วมกันรักษา และเทิดทูนสถาบันนี้ไว้ตลอดไปมิให้เสื่อมคลายไปได้

ก่อนอื่นกระผมขอพูดถึงเรื่องภูมิหลัง คือเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์” คติของไทยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในสมัยที่เรารู้ได้ตามประวัติศาสตร์นั้น พอจะแบ่งออกได้เป็นสองประเภท

คติแรก คือการที่ถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัวอันใหญ่ นี่เป็นธรรมดาของสังคมที่มีความสัมพันธ์กันในทางสายเลือด ทั้งกลุ่มหรือทั้งเผ่า โดยมากจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว ชนชาติอื่นในโลกนี้ก็มีที่ถือพระมหากษัตริย์ว่าทรงอยู่ในฐานะครอบครัว จะดูศัพท์ในภาษาต่างประเทศก็จะเห็นอย่างภาษาอังกฤษเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า KING เยอรมันเรียกว่า KONIG คำว่า KONIG หรือ KING นี้มีรากศัพท์มาจากภาษาอริยะ ภาษาสันสกฤตคือ คำว่า “ชนก” แปลว่า “พ่อ”

ส่วนอีกด้านหนึ่ง เขาถือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าปกครองประเทศ เรียกว่า “ราชะ” เป็นภาษาสันสกฤต ส่วนในภาษาอังกฤษเรียกว่า REIGN

มนุษย์เราถือคติทั้งสองนี้มาช้านานตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะฉะนั้น คติไทยโบราณก็เช่นเดียวกัน มีคติหนึ่งซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นบิดา เป็นหัวหน้าครอบครัว

ส่วนคติที่สองเห็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐในทางการเมือง ในฐานะเช่นนี้ พระมหากษัตริย์ไม่ใช่หัวหน้าครอบครัว และมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด แต่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับคนทั้งกลุ่ม”

 

“สําหรับคติที่ถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวหน้าครอบครัวนั้น เราจะเห็นได้ในสมัยกรุงสุโขทัยเมื่อครั้งที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ความจริงกรุงสุโขทัย และ กรุงศรีอยุธยานั้น เกือบจะเรียกได้ว่าร่วมสมัยเดียวกัน

แต่ว่ากรุงสุโขทัยนั้นเริ่มปรากฏขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาประมาณเกือบ 100 ปีแล้วจึงได้เกิดกรุงศรีอยุธยา

ทางกรุงสุโขทัยนี้ถ้าจะดูตามศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช หรือศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ขึ้นต้นศิลาจารึกก็แสดงให้เห็นความสำคัญของสถาบันของไทยอยู่อย่างหนึ่งคือสถาบันครอบครัวไว้อย่างแน่ชัด พระเจ้ารามคำแหงได้ทรงจารึกไว้เกี่ยวกับครอบครัวของพระองค์เกี่ยวกับราชตระกูลว่ามี พระราชบิดาทรงพระนามอย่างไร พระราชชนนีทรงพระนามว่าอย่างไร พระเชษฐาคือขุนบาลเมือง เสร็จแล้วจึงลงมาถึงพระองค์ ทั้งนี้ก็เพื่อจะถ่ายเป็นกิจการทำนองชี้ให้เห็นว่า พระเจ้ารามคำแหงนั้นทรงถือคนในกรุงสุโขทัยเป็นครอบครัวเดียวกับตน

นอกจากนั้น ในฐานะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันแล้ว พระเจ้ารามคำแหงยังทรงเน้นหนักในเรื่องเสรีภาพต่างๆ ของคนในกรุงสุโขทัย เป็นต้นว่ามีเสรีภาพที่จะค้าขายสิ่งใดก็ได้ ตลอดจนเสรีภาพที่จะเล่นหัวอย่างไรก็ได้ ท่านได้ทรงจารึกไว้อย่างแน่ชัดทุกอย่าง แล้วยังมีจารึกบอกไว้ด้วยว่า ที่หน้าประตูพระราชวังมีกระดิ่งแขวนไว้อันหนึ่ง ถ้าชาวสุโขทัยคนใดมีเรื่องปวดท้องข้องใจมาสั่นกระดิ่งแล้ว พระเจ้ารามคำแหงก็จะเสด็จออกมารับมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้

นี่จะเรียกว่าเป็นบริการ 24 ชั่วโมงครั้งแรก หนแรกของโลกก็ได้ ไม่มีที่ไหนในโลกในสมัยเดียวกันที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่พร้อมจะพบกับประชาชนของพระองค์ มีแต่ในเมืองไทยเท่านั้น น่าจะเห็นได้ว่านี่เป็นเอกลักษณ์อันสำคัญของคนไทยเกี่ยวกับผู้ปกครองแผ่นดินและผู้อยู่ใต้การปกครอง ลักษณะนี้ได้มีตลอดมาในสถาบันพระมหากษัตริย์

ผมอยากจะพูดไว้ด้วยในครั้งนี้ ไม่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยจะอยู่ในรูปใด สิทธิของประชาชนชาวไทยที่จะถวายฎีกานั้นมีตลอดมาไม่เคยหมดสิ้น

แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะมีกระดิ่งแขวนไว้หน้าพระราชวังก็แสดงลักษณะว่า สังคมไทยที่สุโขทัยหรือจะถือว่าเป็นครอบครัว และพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวหน้าครอบครัว”

 

“ทีนี้มาถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เริ่มต้นขึ้นที่พระเจ้าอู่ทองทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1900 ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่แรกเริ่มจะเห็นได้ว่าพระเจ้าอู่ทองนั้นทรงมีฐานะแตกต่างกับพระเจ้ารามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัยเป็นอันมาก ก็ดูด้วยคำจารึกที่ปรากฏอยู่ตามพระราชพงศาวดารจะเห็นได้ว่ามีราชาศัพท์เรียก สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง นั้นก็เรียกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เรียกว่าพ่อขุนอย่างที่เคยเรียกกันมาในสมัยกรุงสุโขทัย

สรุปแล้วถ้าจะศึกษาพระราชพงศาวดารจะเห็นได้ว่า สมเด็จพระเจ้าอู่ทองนั้นทรงอยู่ในฐานะเทวราช เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ปกครองแผ่นดิน มิใช่หัวหน้าครอบครัวอย่างพ่อขุนรามคำแหงอีกต่อไป

ซึ่งภายในระยะเวลาประมาณ 100 ปีที่ผ่านไปเป็นอย่างนี้ แล้วที่เป็นเช่นนี้ก็มีเหตุ มีเหตุจำเป็นที่ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะต้องเปลี่ยนแปลงจากความเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือความเป็นบิดาของคนทั้งปวงไปอยู่ในฐานะเทวราช

คือ องค์พระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็น พระผู้เป็นเจ้า”

 

“ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุว่า เมื่อก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะได้มาสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น ได้มีอำนาจเหนืออาณาจักรเขมร คือกัมพูชาเสียแล้วทรงเป็นเจ้าเป็นใหญ่ กัมพูชาตกอยู่ในอำนาจของพระองค์

จะเห็นได้ว่าเมื่อขึ้นรัชกาลอยู่ได้ไม่นานตามพระราชพงศาวดารจารึกไว้ว่า ศักราช 725 ปี พ.ศ.1960 ทรงพระกรุณาตรัสว่า ให้ขึ้นไปเชิญพระราเมศวรลงมาจากเมืองลพบุรี แล้วทรงพระกรุณาตรัสว่า ขอมแปรพักตร์ นี่เป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอู่ทอง

ปรากฏว่าขอมแปรพักตร์ ก็แปลว่าขอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าอู่ทองแล้ว มิฉะนั้นจะแปรพักตร์ได้ยังไง จึงได้ตรัสให้พระราเมศวรพระราชโอรสซึ่งครองลพบุรีอยู่ยกทัพไปปราบเขมร คือ เขมรที่นครหลวง แสดงให้เห็นว่าเมื่อก่อนที่จะมาเสวยราชย์ที่กรุงศรีอยุธยานั้น พระเจ้าอู่ทองทรงเป็นเจ้าเป็นใหญ่เหนือเขมรอยู่แล้ว

เหตุผลยังมีอีก ต่อมาปี พ.ศ.1960 พระราชพงศาวดารเขียนไว้ว่า ทรงพระกรุณาตรัสว่า เจ้าแก้ว เจ้าไทออกอหิวาตกโรคตาย เจ้าแก้ว เจ้าไทนี่ไม่ใช่เจ้าไทย แต่เป็นเจ้าเขมรเอามาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาในฐานะตัวจำนำเพื่อให้เขมรอยู่ใต้อำนาจตั้งแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา แล้วเป็นอหิวาตกโรคตาย มาขุดขึ้นมาเผาในเวลาต่อมา และเหตุที่ขอมแปรพักตร์ ก็เพราะตัวจำนำตายนั่นเอง

เรื่องนี้มิใช่แต่เพียงแห่งเดียวในพระราชพงศาวดาร เจ้าแก้ว เจ้าไทนี้ผมเข้าใจว่าเป็นรัชทายาทของเขมร และเจ้าองค์รองลงไป เพราะเหตุว่าในแผ่นดินพระบรมราชาที่ 2 พ.ศ.1964 ไทยได้ไปตีพระนครหลวงได้อีก ตอนนั้นปรากฏว่าพระยาแก้ว พระยาไทอยู่ในตำแหน่งรัชทายาท พระบรมราชาที่ 2 โปรดฯ ให้เอาพระยาแก้ว พระยาไท มาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา พระยาแก้ว พระยาไทพร้อมด้วยรูปปั้นสำริดทั้งหลายทั้งปวงขนมาจากนครวัดมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา

เทวรูปสำริดที่ขนมาไว้นั้น เดี๋ยวนี้ถูกพม่าขโมยต่อเอาไปไว้ที่พม่า ใครอยากไปดูก็ไปดูได้ เป็นศิลปะเขมรเมื่อเสียกรุงครั้งแรก พม่าขนเอาไป–“