เกษียร เตชะพีระ : ศิลปะแห่งการจงใจลืม – ว่าด้วยความจำ

เกษียร เตชะพีระ

ศิลปะแห่งการจงใจลืม : 1) ว่าด้วยความจำ

ในฐานะคนสอนหนังสือ ปัญหาหนึ่งที่ผมมักเจอและต้องหาทางแก้ให้ตัวเองและช่วยนักศึกษาแก้คือทำอย่างไรให้จำสิ่งต่างๆ ที่อ่านพบค้นคว้าร่ำเรียนมาได้แม่นยำและนานพอ

การแก้ปัญหา “จงใจจำ” ให้ตัวเองและคนอื่นบ่อยครั้ง ทำให้ผมนึกเฉลียวคิดว่าในทางกลับกัน ถ้าเกิดเราอยากลืมบ้างล่ะ อะไรคือวิธีการ เคล็ดลับหรือศิลปะแห่งการ “จงใจลืม” (The Art of Willful Forgetting) กัน?

หากเกิดเราอยากลืมอะไรบางอย่างขึ้นมา ทำอย่างไรจึงจะลืมมันได้สนิท เหมือนไม่เคยจำมันเลย?

ปัญหานี้ทำให้ผมคิดถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่เคยอ่านนานมาแล้วชื่อ “Funes el Memorioso” หรือ “Funes, His Memory” ในพากย์อังกฤษ (ค.ศ.1944) ของนักเขียนชาวอาร์เจนตินานามกระเดื่อง Jorge Luis Borges (ค.ศ.1899-1986)

ผู้กรุยทางให้วรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism)

ในเรื่องสั้นที่แต่งขึ้นนั้น บอร์เฮสเล่าถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ไอเรนีโอ ฟูเนส (ค.ศ.1868-1889 ตายด้วยอาการปอดบวมน้ำ) เขาได้พบฟูเนส 3 ครั้งและคุยด้วยยาวๆ ข้ามคืนในการพบกันครั้งสุดท้ายเมื่อฟูเนสอายุ 19 ปี ฟูเนสได้รับคำยกย่องว่าเป็นผู้นำหน้ามาก่อนบรรดามนุษย์มหัศจรรย์ (supermen) ทั้งหลายตามความคิดของฟรีดริช นิทซ์เช่ นักปรัชญาเยอรมัน (ค.ศ.1844-1900) ค่าที่หลังจากตกม้าจนพิการเดินเหินไม่ได้ต้องนอนเปลพลางสูบบุหรี่ตลอดเวลาแล้ว ความทรงจำของเขาก็พลันพัฒนาก้าวกระโดดจากก่อนตกม้าที่เดิมทีแค่บอกเวลาปัจจุบันได้แม่นยำเที่ยงตรงมาก (chronometric Funes) เช่น “อีกสี่นาทีแปดโมง” มาเป็นจดจำสรรพสิ่งที่เคยพบเห็นได้หมดจดไม่อาจลืม สามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส ละติน นอกจากสเปนที่เป็นภาษาแม่อย่างง่ายดาย บอร์เฮสในฐานะผู้เล่าเรื่องบรรยายว่า (อ้างจาก Jorge Luis Borges, Collected Fictions, Andrew Huxley, trans., 1998) :

“เมื่อตกม้า เขาสลบสิ้นสติไป พอรู้สึกตัวอีกที ปัจจุบันก็กลับกลายเป็นช่างอุดมสมบูรณ์ ช่างกระจ่างแจ้งเสียจนแทบเหลือทน อุดมสมบูรณ์และกระจ่างแจ้งเฉกเช่นเดียวกับความทรงจำเก่าแก่ที่สุดและกระทั่งปลีกย่อยที่สุดของเขาเหมือนกัน หลังจากนั้นไม่นานเขาก็รู้ตัวว่าพิการอันเป็นข้อเท็จจริงที่เขาแทบไม่ใส่ใจสังเกตเลย เขาให้เหตุผล (หรือรู้สึก) ว่าการเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนไม่ได้ถือเป็นราคาเล็กน้อยมากที่ต้องจ่ายไป มาบัดนี้การรับรู้ของเขาและความทรงจำของเขาได้สมบูรณ์แบบแล้ว…

“มันยากที่เขาจะนอนหลับ การนอนหลับคือการปลีกความคิดจิตใจไปจากโลก ส่วนฟูเนสนั้นเมื่อนอนหงายอยู่บนเปลในความมืดสลัวของห้องของเขา กลับสามารถนึกภาพรอยแตกร้าวทุกรอยบนกำแพง ลวดลายตกแต่งทุกลายของบ้านทุกหลังที่รายล้อมเขาได้อย่างแม่นยำ”

ฟูเนสอธิบายตัวเองว่า :

“ตัวผมเองคนเดียวมีความทรงจำมากกว่ามนุษยชาติทั้งมวลนับแต่เริ่มมีโลกมา ความฝันของผมเหมือนชั่วยามที่คนอื่นๆ ตื่นอยู่ ความทรงจำของผมเหมือนกองภูเขาขยะขอรับ”

ด้วยความทรงจำมหัศจรรย์และความพิการทางร่างกายของฟูเนส ทำให้เขาใช้เวลาทำโครงการความจำ 2 โครง การที่ฟังดูงี่เง่า ไร้เหตุผลสิ้นดี แต่ก็มีความยิ่งใหญ่สะดุดใจแฝงอยู่ ได้แก่

1) แปรลำดับตัวเลขทั้งหมดทุกตัว 1, 2, 3, 4, 5…จนถึงอนันต์ (infinity) ให้เป็นคำศัพท์แทน หนึ่งตัวเลขต่อคำศัพท์หนึ่งคำ เช่น 1 -> หมา; 2 -> แมว; ไปเรื่อยๆ โดยไม่ซ้ำกันเลยแล้วจำได้ครบถ้วน และ

2) ทำแค็ตตาล็อกในทางความคิดสำหรับภาพลักษณ์ทั้งหมดที่อยู่ในห้วงความทรงจำของเขา

อย่างไรก็ตาม บอร์เฮสก็ชี้ให้เห็นจุดอ่อนข้อจำกัดด้านกลับของความทรงจำมหัศจรรย์ของฟูเนสต่อสรรพสิ่งรูปธรรมเฉพาะเจาะจงเอาไว้อย่างแหลมคมชวนคิด กล่าวคือ :

“เราต้องไม่ลืมว่าฟูเนสแทบไม่มีสมรรถภาพที่จะคิดเชิงทั่วไปแบบเพลโตได้เลยในทางเป็นจริง…

“อย่างไรก็ตาม ผมสงสัยว่าเขาคงคิดได้ไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ การคิดคือการมองข้าม (ละลืม) ความแตกต่าง คือการคิดเชิงทั่วไป คิดเชิงนามธรรม ในโลกที่เปี่ยมล้นท้นท่วมของไอเรนีโอ ฟูเนส นั้น ไม่มีอื่นใดเลยนอกจากสิ่งเฉพาะเจาะจง – และพวกมันล้วนแต่เสมือนเป็นสิ่งเฉพาะเจาะจงเฉพาะหน้าทั้งสิ้น”

จากความเข้าใจหยั่งลึกของบอร์เฮสเกี่ยวกับความทรงจำที่มีลักษณะมุ่งต่อสิ่ง [เฉพาะเจาะจง-เป็นรูปธรรม-เฉพาะหน้า] (particular-concrete-immediate) ผมคิดว่าเราอาจทดลองทำ conceptual reverse engineering (วิศวกรรมย้อนรอยทางแนวคิด) ได้ว่า กระนั้นแล้ว :

การลืม = การคิดต่อสิ่งต่างๆ ให้มีลักษณะ [ทั่วไป-นามธรรม-สื่อผสาน] (general-abstract-mediated) นั่นเอง

กล่าวคือ แทนที่จะคิดถึงสิ่งต่างๆ โดยเน้นลักษณะเฉพาะเจาะจง-เป็นรูปธรรม-เฉพาะหน้า ของมันอันประทับอยู่ในความทรงจำของเรา

การลืมก็คือการจงใจพยายามค่อยๆ คิดถึงสิ่งนั้นๆ อย่างเน้นลักษณะทั่วไป (ที่เหมือนกับสิ่งประเภทเดียวกันอันอื่นๆ) เป็นนามธรรม (ไม่เน้นหรือนัยหนึ่งจงใจละเลยรูปร่างเค้ารอยรูปธรรมของสิ่งนั้น) และสื่อผสาน (คิดถึงสิ่งนั้นผ่านสื่อหรือสัญลักษณ์แทนตนต่างๆ แทนที่จะคิดถึงสิ่งนั้นเฉพาะหน้าโดยตรงกับตัวมันเอง)

เช่น แทนที่จะจำ “เกษียร เตชะพีระ” ที่ได้พบเห็นพูดคุยด้วยอย่างเฉพาะเจาะจง-เป็นรูปธรรม-เฉพาะหน้า

ก็ค่อยๆ คิดถึง “เกษียร เตชะพีระ” อย่างเป็นทั่วไปมากขึ้น นามธรรมมากขึ้น และสื่อผสานมากขึ้น ค่อยๆ ถ่ายถอนถอยความนึกคิดออกห่างจาก “เกษียร เตชะพีระ” ที่เฉพาะเจาะจง-เป็นรูปธรรม-เฉพาะหน้าไปตามลำดับ อาทิ

จาก “เกษียร เตชะพีระ” ก็กลายเป็น -> คอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์-ปัญญาชนสาธารณะ-อาจารย์ธรรมศาสตร์คนออกจากป่า-คนเดือนตุลา -> อาจารย์ -> ปัญญาชน -> ลูกเจ๊ก -> คนไทย -> ผู้ชาย -> คน -> สิ่งมีชีวิต -> เซลล์ -> อะตอม ฯลฯ ตามลำดับ

จนในที่สุด คล้ายๆ กับว่า “เกษียร เตชะพีระ” หายไป คือสลายสิ้นความเป็นเฉพาะเจาะจง-รูปธรรม-เฉพาะหน้าไปหมด เหลือแค่เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งทั่วไป-นามธรรม-สื่อผสานที่กินความกว้างขวางครอบคลุมกว่า แค่นั้นเอง

เป็นแค่เงารางเลือน ที่ยึดไม่ติด ไขว่คว้าจับต้องไม่ได้ เพราะในที่สุดแล้ว ก็ไม่ต่างจากโต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ ปากกา คอมพิวเตอร์ ทีวี ต้นไม้ สุนัข แมว วัตถุสิ่งของ ฯลฯ สิ่งมีชีวิต และสรรพสิ่งประดามี

ล้วนแต่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา… อันเป็นคุณสมบัติทั่วไป-นามธรรม-สื่อผสานที่สุดที่สิ่งทั้งปวงมี

นั่นคือดำรงอยู่ ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลง และแตกดับไปไร้ตัวตนไม่สิ้นสุด ไม่ต่างกันเลย ไม่มีอะไรเฉพาะเจาะจง-เป็นรูปธรรม-เฉพาะหน้าให้สำนึกสำเหนียกหมายจดจำไว้ได้เลย

ผมเข้าใจเอาเองว่าหลักไตรลักษณ์ของพุทธศาสนาเป็นที่สุดแห่งการลืม-จงใจลืม-ในความหมายนี้

ดังที่ Harold Osborne ประธานสมาคมสุนทรียศาสตร์บริติช (ค.ศ.1905-1987) ได้อธิบายนัยทางปรัชญาของการคิดนามธรรม (abstraction) ไว้ต้นบทความ “Ways of Abstraction”, The British Journal of Aesthetics, 16: 3 (1 March 1976), 243-253. ว่า :

“ทั้งในภาษาปรัชญาและภาษาประจำวัน “การคิดเชิงนามธรรม” หมายถึงการถอยห่างหรือแยกออกมา กล่าวให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นคือถ่ายถอนความสนใจออกมาจากบางสิ่งหรือจากบางด้านของสิ่งหนึ่ง ฉะนั้นเองคนใจลอยจึงถูกเรียกขานว่า “คิดเหม่อ” (abstracted) เมื่อเขาไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวและ “การคิดนามธรรม” ก็คือการคิดในเชิงความคิดหรือแนวคิดทั่วไปซึ่งเอาบรรดาสิ่งของเฉพาะเจาะจงหรือบรรดาคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ จำนวนหนึ่งมารวมเข้าไว้ด้วยกันค่าที่พวกมันมีลักษณะต่างๆ ร่วมกันโดยมองข้ามหรือถ่ายถอนความสนใจออกมาจากลักษณะที่พวกมันมีแตกต่างกัน…”