อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Pool & Body Politic การแสดงภาพแทนทางชนชั้น ด้วยไลฟ์สไตล์และการแทรกแซงศิลปะด้วยศิลปะการแสดงสด ในเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่ผ่านมา เราได้เกริ่นถึงเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial ไปแล้ว

ในตอนนี้เราเลยจะขอกล่าวถึงนิทรรศการต่างๆ ที่อยู่ในเทศกาลนี้กันบ้าง คราวนี้จะขอประเดิมด้วยนิทรรศการแรกที่เราได้มีโอกาสไปงานเปิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่หอศิลป์ ARTIST+RUN

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า “Pool”

นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย ตินติน คูเปอร์ (Tintin Cooper) ศิลปินสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ผู้อาศัยและทำงานอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และกรุงเบอร์ลิน

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเธอประกอบด้วยภาพวาดสีสันสดใสฉูดฉาด ที่เล่าเรื่องราวของเหล่าบรรดาตัวละครชายหนุ่มรูปร่างหน้าตาดูคล้ายกับนักกีฬาระดับโลกหรือเซเลบชื่อดัง ในอิริยาบถอันผ่อนคลายคล้ายกับกำลังพักผ่อนอยู่บนเรือสำราญหรือริมสระว่ายน้ำในรีสอร์ตของประเทศเขตร้อนสักแห่งหนึ่ง

ภาพวาดเหล่านี้ถูกวาดบนวัสดุหลากชนิดที่แตกต่างกันไป

ไม่ว่าจะเป็นบนผ้าใบ, บนแผ่นฟิล์มใส ไปจนถึงภาพที่วาดบนมูลี่ที่ติดบนกรอบหน้าต่าง

และประติมากรรมจัดวางเหล็กทรงโค้งรูปเกือกม้าติดกระจกแต่งหน้ายืดหดได้ ที่มีลายเส้นรูปใบหน้าหลากอารมณ์วาดอยู่บนนั้น

“ผลงานทุกชิ้นในนิทรรศการนี้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ด้วยลักษณะในการสะท้อนเงาของน้ำ เวลาเรามองดูมันแล้วจะทำให้รูปที่สะท้อนออกมามันบิดเบี้ยว แตกกระจาย”

“อย่างภาพวาดบนมูลี่ก็ดูเหมือนภาพที่สะท้อนบนผิวน้ำ ซึ่งทำให้เรานึกถึงพิกเซลในภาพดิจิตอล หรือภาพ JPEG ที่อยู่ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นแหล่งที่มาที่เราเจอภาพเหล่านี้”

“เราสนใจพวกภาพถ่ายของพวกเซเลบ หรือนักกีฬา นักฟุตบอลดังระดับโลก อย่างเช่น มีภาพหนึ่งที่คล้ายจะเป็นภาพของนักร้องชื่อดัง จัสติน บีเบอร์ ที่กำลังเล่นมือถืออยู่ในบาฮามาส หรืออีกภาพเป็นนักฟุตบอลเยอรมัน มาร์โค กำลังพักผ่อนริมสระว่ายน้ำ หรือภาพของโรนัลโด กำลังนอนอยู่บนเรือยอชต์ในอิบิซา”

“ด้วยความที่เราทำงานอยู่ที่เบอร์ลินเราก็จะเห็นภาพของนักกีฬาพวกนี้ออกสื่อเยอะมาก แต่ที่น่าสนใจก็คือ แทนที่สื่อจะลงรูปนักฟุตบอลพวกนี้กำลังเล่นฟุตบอล ก็กลับลงรูปพวกเขาไปเที่ยวพักร้อน หรือกำลังพลอดรักอยู่กับแฟนเยอะมาก ซึ่งมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกีฬาเลย”

“ภาพพวกนี้ส่วนใหญ่ถูกถ่ายโดยช่างภาพปาปารัซซี่ ก็เลยจะมองเห็นหน้าไม่ชัด เพราะอาจจะมีพุ่มไม้บัง เลยทำให้ภาพไม่ค่อยสมดุล และให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังแอบดูผู้ชายเหล่านี้อยู่”

“เราใช้ภาพจากอินเตอร์เน็ตเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้น และใส่ประสบการณ์ของตัวเองเพิ่มเติมลงไป อย่างสัดส่วนของภาพก็จะเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายกับจออินสตาแกรม หรือประติมากรรมเหล็กทรงเกือกม้าก็จะดูคล้ายๆ กับสัญลักษณ์อีโมติคอนพวก Smiling (หน้ายิ้ม) ที่เราเห็นในไลน์”

“งานทุกอย่างในนี้จะสื่อไปถึงโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรม และเรื่องของเหล่าเซเลบที่เราพบเห็นในสื่อออนไลน์ต่างๆ”

“เราใช้ไลฟ์สไตล์อันหรูหราของบรรดาเซเลบคนดังในภาพวาดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพบนเรือยอชต์ หรือภาพในรีสอร์ตที่บาฮามาส เป็นสัญลักษณ์แทนเรื่องราวเกี่ยวกับชนชั้นและอำนาจในยุคปัจจุบัน คือปกติคนสำคัญๆ ที่จะถูกนำภาพมาลงในสื่อสมัยก่อน มักจะเป็นนักการเมือง หรือราชวงศ์ในประเทศต่างๆ แต่ในปัจจุบันมันเปลี่ยนเป็นภาพของเหล่าบรรดาเซเลบ และนักกีฬาชื่อดัง ที่จะถูกสนใจหรือมีอำนาจในการชี้นำสังคมมากกว่า”

ภาพวาดสีสันสดใสฉูดฉาดที่ถูกวาดบนแผ่นฟิล์มใสในนิทรรศการผ่านการไล่สีและแต่งเติมฝีแปรงด้วยโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ซึ่งสะท้อนไปถึงภาพจากหน้าจอแบนๆ ของสมาร์ตโฟน ที่ครอบงำชีวิตของคนในยุคปัจจุบันทั้งหลายจนดิ้นไม่หลุด

“ภาพวาดพวกนี้บางภาพเราก็จะสเกตช์ใน iPad เพื่อให้มันมีรูปลักษณ์ที่ดูแบนราบ และใช้สเปรย์วาดลงบนแผ่นฟิล์มใส เพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์แบบเดียวกับโปรแกรม Photoshop เพื่อให้มันมีอารมณ์และภาพลักษณ์ความเป็นดิจิตอลออกมา”

“ส่วนภาพวาดลงบนมูลี่นั้น เป็นเพราะเราเป็นคนที่ชอบทดลองวาดภาพบนวัสดุต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็วาดบนกระเบื้องปูห้องน้ำ, หลอดนีออน หรือ สังกะสี เราคิดว่าภาพวาดไม่จำเป็นต้องวาดลงบนผืนผ้าใบเสมอไป”

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ ในวันเปิดงานนิทรรศการของตินติน คูเปอร์ นั้น ก็มีการผสมโรงแทรกแซงทางศิลปะโดยทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ ศิลปินหนุ่มใหญ่ ผู้ทำศิลปะการแสดงสดประกอบวัสดุอย่างน้ำแข็งหล่อเป็นรูปเท้าหนึ่งคู่, หัวใจหนึ่งดวง และมือชูนิ้วกลางหนึ่งอัน ซึ่งย้อมด้วยสีแดงฉานราวกับเลือดสด สร้างความตื่นตาและฉงนฉงายให้เหล่าบรรดาผู้ชมและลูกเล็กเด็กแดงที่อยู่ในพื้นที่แสดงงานเป็นอย่างมาก

ทวีศักดิ์เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial ในครั้งนี้ด้วย กิจกรรมศิลปะแสดงสดของทวีศักดิ์ครั้งนี้เป็นหนึ่งในพาวิลเลียนของเทศกาล ที่เขาเรียกขานว่าพาวิลเลียนที่ไร้พาวิลเลียน (Pavilion without Pavilion) นั่นเอง

“พาวิลเลียนของผมสำหรับ Bangkok Biennial ก็คือ Pavilion without pavilion เพราะผมไม่ต้องการที่จะมีลักษณะที่มีพาวิลเลียน ที่เป็นแบบกายภาพ แต่ผมต้องการใช้ความคิดเชิงคอนเซ็ปช่วล ต่อกรอบคิดของงาน Bangkok Biennial”

“ผมต้องการหาหนทางใหม่ๆ ในการนำเสนองานศิลปะ แทนที่จะใช้รูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกันทั่วไป”

“งานของผมจะทำต่อเนื่องในระยะเวลาสามเดือน จะมีศิลปะแสดงสดแปดครั้ง โดยสี่ครั้งจะเข้าไปแสดงบนท้องถนน บนพื้นที่สาธารณะทั่วๆ ไป เพื่อให้มันอยู่ในชีวิตจริง เป็นสถานการณ์จริงกับผู้คน ส่วนอีกสี่ครั้งจะทำในสถานที่แสดงงานศิลปะ ตามหอศิลป์ แต่จะไม่เข้าไปทำในพื้นที่แสดงงาน หากแต่เราบุกไป Crash (ป่วน) ปาร์ตี้เปิดนิทรรศการของศิลปินคนอื่น”

“การแสดงทุกชุดในเทศกาลนี้ของผมเกี่ยวกับเรื่องการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าเป็นเรื่องของประชาธิปไตยในระบบที่เราเป็นอยู่กัน ณ ขณะนี้ หรือแม้กระทั่งเรื่องการเมืองของศิลปะ ของวงการศิลปะ หรือแม้กระทั่งช่องว่างระหว่างศิลปะกับคนในสังคม”

“ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะถูกนำเสนอในงานศิลปะแสดงสดทั้งแปดชิ้นนี้ที่มีชื่อว่า Body Politic ก็คือการใช้ร่างกาย ไม่ว่าจะโดยตรง หรือการอ้างอิง เชื่อมโยงถึงร่างกาย ในนัยยะของการเมือง”

“ยกตัวอย่างเช่นชิ้นนี้ ผมพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในมุมของประชาชน คนทั่วไปหรือระบบที่เราเป็นอยู่ สีแดงที่เห็นมันพูดถึงเลือด, ชีวิต และความเป็นมนุษย์เป็นหลัก ส่วนใครจะเอาไปเชื่อมโยงกับสีเสื้ออะไรก็แล้วแต่เขา ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็น ผมมองว่าสีแดงค่อนข้างมีผลกระทบต่อการรับรู้ของคน ไม่ว่าคุณจะเชื่อมโยงมันกับการเมืองหรือความเป็นมนุษย์ก็ตาม”

“งานแสดงสดของผมทั้งแปดชิ้นจะไม่เหมือนกันเลยแม้แต่ชิ้นเดียว มันจะมีเรื่องราว เนื้อหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาที่ผมต้องการจะนำเสนอ ในแต่ละบริบทของพื้นที่ เพราะผมมองว่านัยยะของพื้นที่ต่างๆ มันมีความหมายแฝงอยู่ โดยที่เราไม่สามารถจะปฏิเสธได้เลย เพียงแต่ว่าในฐานะศิลปิน เราจะจัดการกับความหมายนั้นอย่างไร”

“งานผมส่วนใหญ่พูดถึงการเมือง สังคม พูดถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราอยู่แล้ว ผมมองว่าโอกาสที่ผมได้ร่วมแสดงในเทศกาล Bangkok Biennial นี้ เป็นโอกาสที่เราจะได้นำเสนอศิลปะในอีกรูปแบบและมุมมองหนึ่ง ซึ่งจะมีความสดใหม่ ไม่ติดอยู่ในกรอบอะไรบางอย่าง และมีเสรีภาพในการนำเสนอมากกว่า”

“และเมื่อเราหยิบเอามุมมองทางศิลปะเหล่านี้ ที่แตกต่างจากชีวิตประจำวันไปนำเสนอให้คนทั่วไปได้ชมและสัมผัส มันก็อาจจะทำให้เขาฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาก็เป็นได้”

น่าเสียดายที่นิทรรศการ Pool นั้นจบลงไปแล้วเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่หากใครสนใจก็สามารถเข้าไปชมผลงานของเธอได้ที่ https://www.tintincooper.com

ส่วนใครอยากชมศิลปะการแสดงสดของทวีศักดิ์ในครั้งต่อๆ ไป ก็สามารถเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวของเขาได้ที่เพจเฟซบุ๊ก @TaweesakMolsawat หรือเข้าไปเช็กรายละเอียดและปฏิทินการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ ของ Bangkok Biennial ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก @BangkokBiennial และ http://bangkokbiennial.com/ กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก ARTIST+RUN