วัดล่ามช้าง-วัดร้างต้นปูน ตอนที่ 1 “หัวใจเชียงใหม่ที่กำลังถูกย่ำยีด้วยทุนนิยม”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เชื่อว่าหลายท่านได้ติดตามข่าวเรื่องที่เจ้าอธิการวัดล่ามช้าง พร้อมด้วยศรัทธาชุมชนนักอนุรักษ์ในคูเมืองเชียงใหม่ ได้ออกมาประท้วงต่อสู้เพื่อเรียกร้องปกป้องผืนดิน “วัดร้างต้นปูน” ซึ่งในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของวัดล่ามช้างทางด้านทิศเหนือ ที่กำลังถูกนักธุรกิจต่างถิ่นถือโอกาสฉกฉวยผลประโยชน์ ใช้สิทธิ์มาเช่าที่จากสำนักพระพุทธศาสนาเพื่อใช้สร้างโรงแรม

ยังไม่มากพออีกล่ะหรือ โรงแรมที่สูงเหยียดเบียดบังหลังคาพระวิหาร ค้ำทะมึนทึนยืนแข่งองค์พระธาตุ ข่มเหงจิตวิญญาณพุทธบริษัทกลางเมืองเชียงใหม่!

ถือเป็นข่าว Talk of the Town ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อื้อฉาวไม่แพ้ข่าว “ป่าแหว่ง” แต่อย่างใดเลย

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ใครได้-ใครเสีย ชาวเชียงใหม่รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ควรดำเนินการต่อสู้ด้วยวิธีใดจึงจักไม่สูญเสียพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ให้แก่นายทุน เรามาหาทางออกร่วมกัน

 

วัดล่ามช้าง วัดร้างต้นปูน วัดร้างป่าไผ่

พระครูปลัดอานนท์ วิสุทฺโธ เจ้าอธิการวัดล่ามช้าง ผู้มีปูมหลังเกิดและเติบโตที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน แต่มาบวชเรียนที่เชียงใหม่ตั้งแต่เป็นสามเณรน้อยวัย 12 ขวบ ปัจจุบันมีอายุ 42 ปี ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของวัดแห่งนี้ให้ดิฉันฟังว่า

“หากจะนับว่าวัดรุ่นแรกสุดที่สร้างโดยพระญามังราย ปฐมกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ เมื่อ 700 ปีก่อนนั้นมีวัดอะไรบ้าง คนทั่วไปอาจรู้จักอยู่แค่วัดเชียงมั่นกับวัดเชียงยืน เพราะสองวัดนี้เป็นชื่อที่สอดล้อกัน ฟังคุ้นหู คือแรกสร้างบ้านแปงเมือง แน่นอนอยู่แล้วว่าผู้สถาปนาจำเป็นต้องสร้างเสาหลักให้ “มั่นคง” และ “ยืนยาว” แทบทุกจังหวัดจึงมักมี “เชียงมั่น” กับ “เชียงยืน” ตั้งอยู่คู่กันเป็นสัญลักษณ์มงคลเสมอ ซึ่งของเชียงใหม่นั้น เชียงมั่นอยู่ในเขตคูเมืองสี่เหลี่ยม ส่วนเชียงยืนอยู่นอกคูเมือง (ทางไปสถาบันพลศึกษา) แต่ก็ถือว่าอยู่แกนเดียวกัน

หรืออย่างเก่ง คนก็อาจรู้จักอีกวัดหนึ่งของพระญามังราย คือวัดสะดือเมือง ปัจจุบันคือเจดีย์แปดเหลี่ยมร้าง ตั้งอยู่ภายในหอศิลป์สามกษัตริย์ที่เทศบาลนครเชียงใหม่ดูแล แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ยังมีอีก 3 วัดที่เก่าแก่รุ่นเดียวกันกับวัดเชียงมั่น เชียงยืน และสะดือเมือง

นั่นคือ วัดล่ามช้าง วัดป่าไผ่ และวัดต้นปูน นอกเหนือจากนี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่าวัดอื่นๆ ในเชียงใหม่ล้วนเป็นวัดรุ่นหลังจากพระญามังรายทั้งสิ้น เนื่องจากพระองค์ทรงสวรรคตหลังจากสร้างเชียงใหม่เสร็จเพียงไม่กี่ปี จึงยังไม่ทันได้สร้างวัดวาอารามอะไรมากนัก”

พระครูปลัดอานนท์ หรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกว่า “ตุ๊ปี้นนท์” กำลังจะบอกว่า ความสำคัญของวัดล่ามช้าง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 32 ถนนมูลเมือง ซอย 7 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ และกลุ่มวัดร้างรายรอบอีกสองวัดนั้น มีความยิ่งใหญ่อยู่ในระนาบเดียวกันกับวัดเชียงมั่นและวัดเชียงยืน แต่เหตุไฉนจึงไม่เป็นที่รับรู้กันในสังคมเชียงใหม่ หรือแม้กระทั่งแวดวงนักวิชาการท้องถิ่น

“คนส่วนใหญ่โฟกัสไปที่วัดเชียงมั่น เนื่องจากเป็นเขตพระราชฐาน เป็นที่ตั้งของหอพระมณเฑียร หอนอน วัดเชียงมั่นจึงมีความสำคัญมากที่สุด ส่วนวัดล่ามช้างนั้นก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อย พระญามังรายสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ใช้เลี้ยงช้างทรงช้างศึก ใช้เป็นที่ฝึกช้าง ปัจจุบันยังมีเสาแหล่งช้าง (เสาหลักช้าง หรือหลักล่ามโซ่ช้าง) เหลืออยู่ให้เห็น ส่วนด้านทิศตะวันออกของวัดล่ามช้าง เป็นเขตเวฬุวนาราม หรือแนวป่าไผ่ขนาดใหญ่ ซึ่งช้างจะออกไปหาอาหารกินบริเวณนั้น ต่อมากลายเป็นวัดร้างป่าไผ่ ปัจจุบันเป็นเขตชุมชนบ้านคน และบางส่วนได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของวัดล่ามช้างเรียบร้อยแล้ว

ส่วนจุดที่มีปัญหาข้อถกเถียง ณ ปัจจุบันคือ บริเวณด้านทิศเหนือของวัดล่ามช้าง เดิมเป็นวัดที่แยกออกมาเป็นเอกเทศ ยุคพระญามังรายเรียกวัดต้นปูน หรือบ้างก็เรียกวัดเตาปูน ตอนอาตมายังเป็นสามเณร เคยเห็นว่าใต้ชั้นดินลึกลงไปประมาณ 2 เมตร จะเต็มไปด้วยเตาเผาอิฐ เตาเผาปูน และเตาเผากระเบื้องมุงหลังคา เพื่อนำวัสดุมาใช้ก่อสร้างกำแพงและตัวเมืองเชียงใหม่ ประกอบขึ้นเป็นประวัติศาสตร์หน้าแรกของ “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ให้มีความสมบูรณ์งดงามนั่นเอง”

ข้อมูลส่วนนี้น่าสนใจยิ่ง เป็นเครื่องตอกย้ำว่าในอดีตนั้น อาณาบริเวณรายรอบวัดหลักๆ หลายแห่งทีเดียว มักมีวัดบริวาร ที่แยกกันทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อวัดหลวงหรือวัดขนาดใหญ่ อาทิ วัดเจดีย์หลวงกลางมหานครเชียงใหม่ ก็มี “วัดพันเตา” อยู่ใกล้ๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งเตาเผาอิฐ เผาปูน เตาหลอมพระพุทธรูปสำริด เพื่อใช้ในการก่อสร้างวัดเจดีย์หลวงซึ่งมีขนาดมหึมาเช่นเดียวกัน

ต่อมาเมื่อกาลเวลาผ่านไปในยุคที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า วัดเล็กวัดน้อยได้ร่วงโรยร้างไป บ้างก็ถูกยุบรวมกันกับวัดใหญ่ กรณีของวัดล่ามช้างได้กลายเป็นพี่ใหญ่ ที่ต้องดูแลวัดป่าไผ่และวัดต้นปูนไปด้วยในเวลาเดียวกัน

เปรียบเทียบได้กับกรณีของวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามในลำปาง ก็ต้องรวบรวมวัด 4 แห่งเข้าไว้ด้วยกันเพื่อสะดวกต่อการดูแล ได้แก่ วัดพระแก้วดอนเต้า วัดสุชาดาราม วัดแสนพิงค์ชัย และวัดล่ามช้าง โปรดสังเกตว่าวัดสุดท้ายนี้ มีชื่อว่า “ล่ามช้าง” เช่นกัน สะท้อนว่าวัดที่ทำหน้าที่เป็นเขตเลี้ยงช้างให้แก่เจ้าเมือง ไม่ว่าเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ฯลฯ มักต้องตั้งอยู่ใกล้ชิดกับวัดหลวงเสมอ

ในยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่สมัยพระญากาวิละราว 200 ปีก่อนเป็นต้นมา บางช่วงบางขณะ หากวัดล่ามช้างเข้มแข็งมีพระภิกษุสามเณรจำนวนมากพอ ก็จะแบ่งให้มีเจ้าอาวาสแยกออกไปดูแลวัดทั้งสามแห่งอย่างเป็นเอกเทศ แต่หากไม่มีพระสงฆ์มากนัก วัดล่ามช้างก็จะทำหน้าที่เป็นเสาหลักดูแลวัดทั้งสองแทน

กล่าวโดยสรุปก็คือ ทั้งวัดป่าไผ่ และวัดต้นปูน ก่อนจะถูกขึ้นบัญชีในทำเนียบวัดร้าง ซึ่งจัดทำในยุคที่ยังมีหน่วยงานชื่อสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนั้น (ก่อนหน้าที่จะมีสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) วัดทั้งสองนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในความดูแลของวัดล่ามช้างมาแล้ว ทั้งโดยพฤตินัย และนิตินัย

ก่อนที่จะมีการซิกแซ็ก อ้างการถือครองกรรมสิทธิ์โดยภาคเอกชน ผ่านการเปิดไฟเขียวโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ

 

วัดร้างต้นปูนถูกเช่าที่สร้างโรงเรียน

ประมาณต้นทศวรรษ 2520 ในยุคอดีตเจ้าอธิการวัดล่ามช้างรูปก่อน ได้มีภาคเอกชนมาขอเช่าที่บริเวณวัดร้างต้นปูน จำนวนพื้นที่ 1 ไร่ 3 งานเศษ เพื่อจัดสร้างโรงเรียนชื่อ “อนุศึกษา” เปิดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา โดยคิดค่าเทอมราคาถูกแค่เพียงเทอมละ 350 บาท

อดีตเจ้าอาวาสวัดล่ามช้างใจดี ได้อนุญาตให้ทางโรงเรียนเช่าที่วัดร้างได้ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของคนในพื้นที่ ว่าจักได้มีสถานศึกษาในย่านชุมชนใกล้บ้าน ลูกเด็กเล็กแดงไม่ต้องเดินทางไกล

แต่เม็ดเงินที่ได้จากการเช่าที่ปีละ 60,000 บาทนั้น (ปีแรกๆ ไม่ทราบว่าเท่าไหร่ แต่ปีล่าสุดคือตัวเลขดังกล่าว) ตกอยู่ในกระเป๋าของรัฐบาล ซึ่งทางวัดก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะถือว่าเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยพระราชบัญญัติวัดร้าง ที่ว่าหากกรมศิลปากรไม่ทำการพิสูจน์ศึกษาหรือขุดค้นทางโบราณคดี และไม่ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้วไซร้

อีกทั้งไม่มีพระภิกษุรูปใดขอใช้พื้นที่ฟื้นวัดร้างเป็นเขตพุทธาราม สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ต่อมาคือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ย่อมมีสิทธิ์ให้หน่วยงานที่ประสงค์จะเช่าพื้นที่วัดร้างนั้น ทำการเช่าได้ โดยอัตราค่าเช่าขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่า

เมื่อเป็นไปตามนี้ ทางฝ่ายวัดล่ามช้าง ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ที่เคยดูแลวัดร้างต้นปูนมานานไม่ต่ำกว่า 200 ปี ก็ได้แต่มองความเป็นไปของโรงเรียนอนุศึกษาตาปริบๆ และเฝ้ารอด้วยความหวังว่า หลังจากที่มีการปิดตัวโรงเรียนอนุศึกษาแล้ว ก็น่าจะถึงเวลาที่ทางวัดล่ามช้างได้โอกาสขอคืนพื้นที่วัดร้างต้นปูนมาเป็นเขตศาสนสถานของวัด เพื่อใช้สอยให้เกิดประโยชน์ด้านต่างๆ ต่อไปบ้าง

แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้สัญญาเช่าระหว่างโรงเรียนอนุศึกษากับสำนักงานพระพุทธศาสนาจะเป็นไปแบบปีต่อปี และใกล้สิ้นสุดลงเร็วๆ นี้ แต่ทางวัดล่ามช้างกลับได้รับแจ้งว่า จะมี “มือที่สาม” ของนายทุนใหญ่มาจ่อคิวรอจ้องจะเช่าพื้นที่วัดร้างต้นปูนนั้นต่อโดยยังไม่มีการคืนวัดร้างต้นปูนให้แก่วัดล่ามช้างแต่อย่างใด

ซ้ำคราวนี้ผู้ลงทุนไม่ได้มีแนวความคิดที่จะสร้างโรงเรียน หรือสถานอนามัยให้เด็กๆ ในชุมชนอีกต่อไป

แต่กลับเป็นธุรกิจประเภทโรงแรม ซึ่งทางวัดล่ามช้างเห็นว่าน่าจะขัดกับพระราชบัญญัติโบราณสถานของกรมศิลปากรอย่างรุนแรง ในข้อที่ว่า การก่อสร้างอาคารธุรกิจประเภทโรงแรมใดๆ ก็ตาม ต้องสร้างระยะห่างออกไปจากเขตวัดวาอารามและศาสนสถานเกิน 100 เมตรขึ้นไป

สัปดาห์นี้ดิฉันขอเกริ่นปูพื้นปมปัญหาพอให้เห็นเป็นน้ำจิ้มชิมลางกันก่อน

คราวหน้าจะพาไปดูคำตอบของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และบทบาทของมหาเถรสมาคม ว่าใครพอจะช่วยคลี่คลายปัญหา หาทางออกให้กับเรื่องนี้กันอย่างไรได้บ้าง

ควรรีบตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม อย่าปล่อยให้ประเด็นเล็กๆ นี้กลายเป็น “ปมเดือดกันทั้งแผ่นดิน” ดุจกรณี “ป่าแหว่ง” ซึ่งแน่ใจว่าคราวนี้ชาวเชียงใหม่จักไม่ยอมให้ใครย่ำยีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กันเป็นว่าเล่นอีกแล้ว

เพราะปีพุทธศักราช 2561 พวกเราได้มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของภาคประชาสังคม (ที่ใช้คำว่า “พวกเรา” เพราะดิฉันก็เป็นหนึ่งในขบวนการนั้นด้วย) ในการจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่ ที่ตั้งใจจะทำงานล้อคู่ขนานกันไปกับคณะกรรมการที่ภาครัฐจัดตั้งขึ้น มาวัดใจวัดพลังกัน

อย่าดูถูกจิตวิญญาณลูกหลานของพระญามังราย อย่าประมาทในพลังของประชาชน!