เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : พุทธธรรมสำนึก

ช่วงเข้าพรรษาขอเสวนาธรรมเท่าที่จะทำได้ไปพลางๆ

เร็วๆ นี้มีข่าวน่าปลื้มปีติและโมทนาบุญ คือข่าวท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แห่งแคว้นมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย ชื่อ นายศรีราชกุมาร บาโดเล ได้เดินทางมาอุปสมบทที่ประเทศไทย ณ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม-5 สิงหาคม 2561 ได้รับฉายา “พุทธพโล”

แคว้นมหาราษฎร์มี 36 เมือง โดยมีมุมไบหรือบอมเบย์เป็นเมืองหลวง

ในแคว้นมหาราษฎร์นี้เอง ยังมีเมืองนาคปุระ ที่ ดร.อัมเบดการ์ นำชาวฮินดูกว่าห้าแสนคนทำพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2499

ดร.อัมเบดการ์เป็นผู้นำสำคัญคนหนึ่งที่ต่อต้านระบบชั้นวรรณะในสังคมอินเดีย

มหาตมะคานธีผู้ปลดแอกอินเดียจากอาณานิคมอังกฤษ เป็นบุคคลสำคัญที่บุกเบิกเรื่องการต่อต้านระบบชั้นวรรณะในอินเดียมาก่อน

ทั้งสองท่านมีประสบการณ์เรื่องการกดขี่ทางชนชั้นจนทั้งคู่กลายเป็นผู้นำการต่อสู้คนสำคัญในประวัติศาสตร์อินเดีย โดยท่านมหาตมะคานธีต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและอิสรภาพของชาวอินเดีย

ส่วน ดร.อัมเบดการ์ต่อสู้เรื่องการกดขี่ทางวรรณะ ถึงขนาดเสนอให้ทำลายระบบวรรณะให้สูญสิ้นไปจากอินเดียเสียเลยด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างประสบการณ์สำคัญของคนทั้งสองจากบทความในหนังสือ “ปาจารยสาร” ฉบับมกราคม-เมษายน 2558 เรื่อง ดร.อัมเบดการ์ ตอนหนึ่ง

ดังนี้

“…ประวัติของคานธีผู้ที่เกิดมาในครอบครัวของวรรณะแพศย์ ซึ่งโดยความหมายแล้ว หมายถึงผู้มีอาชีพค้าขาย แต่ทว่าคนในตระกูลของคานธีมีตำแหน่งที่สำคัญทางการเมืองหลายตำแหน่ง คานธีออกเดินทางไปเรียนเพื่อเป็นทนายความที่อังกฤษในปี ค.ศ.1888 หลังจากนั้นคานธีตัดสินใจประกอบวิชาชีพทนายความและเสมียนตอบจดหมายที่แอฟริกาใต้ ในระหว่างเดินทางระหว่างเมืองนั้นเอง คานธีถูกโยนลงจากรถไฟกลางดึก ด้วยเพราะผู้โดยสารเหยียดผิวไม่ต้องการจะเดินทางร่วมขบวนรถไฟชั้นที่หนึ่งไปกับคานธีทั้งที่เขาซื้อตั๋วตามปกติ

เหตุการณ์นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตของวิถีแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวอินเดียในแอฟริกาใต้และในอินเดียในเวลาต่อมา”

“ส่วน ดร.อัมเบดการ์นั้นเกิดในวรรณะดาลิต (แต่เดิมนั้นท่านชื่อ “พิม”) ต้องดำเนินชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบาก การศึกษาตลอดวัยเด็กของเด็กชายพิมต้องเผชิญหน้ากับความดูหมิ่นเหยียดหยามของทั้งครูอาจารย์และนักเรียนซึ่งเป็นคนในวรรณะสูงกว่าเสมอมา เช่น ห้ามดื่มน้ำจากตู้น้ำของโรงเรียน ต้องใช้วิธีให้เพื่อนช่วยเทน้ำลงในปากของพิม โดยไม่ให้สัมผัสเข้ากับแก้วน้ำเพราะเกรงว่าเสนียดจะติดแก้ว ต่อมาครูซึ่งอยู่ในวรรณะพราหมณ์ที่มีเมตตาได้ช่วยให้เด็กชายพิมเปลี่ยนนามสกุลจาก “สักปาล” (ที่แสดงชัดเจนว่ามากำเนิดจากดาลิต) เป็นอัมเบดการ์แทน และเข้าเรียนในลำดับที่สูงขึ้น จนศึกษาต่อด้วยทุนเล่าเรียนหลวงจากรัฐ Boroda ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ทางด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์และปรัชญา และสำเร็จการศึกษาด้านปริญญาโทจากวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาและวิพากษ์ระบบวรรณะในอินเดีย (Castes in India : Their Mechanism, Genesis and Development) และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน และ London School of Economics (LSE) ตามลำดับ”

วรรณะดาลิตหรือหริชน คือกลุ่มคนนอกวรรณะที่เกิดจากการแต่งงานข้ามวรรณะ อีกนัยหนึ่ง ดาลิต (DALIT) หมายถึงบุตรของพระเจ้า เป็นคำที่มหาตมะคานธีใช้เรียกกลุ่มคนเหล่านี้

ที่สุดสองมหาบุรุษแห่งอินเดียก็ได้นำความเปลี่ยนแปลงสำคัญมาสู่อินเดีย คือ

คานธีปลดปล่อยอินเดียให้เป็นเอกราช

อัมเบดการ์ปลดปล่อยชนชั้นด้วยวิถีแห่งพุทธมามกะ

ดังนำชาวฮินดูในเมืองนาคปุระกว่าห้าแสนคนเข้าปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะเมื่อ 14 ตุลาคม 2499 นั้น

มิอาจไม่เอ่ยไมได้ อีกท่านคือ ศรีเยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนสำคัญของอินเดีย บิดาของนางอินทิรา คานธี

ท่านเนห์รูเป็นผู้กล่าวกลางสภาอินเดียเพื่อให้รับการเฉลิมฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษโดยรัฐบาล ท่านให้เหตุผลว่า พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นบุตรของอินเดียและทรงเป็นหนึ่งในศาสดาเอกของโลก อินเดียจะไม่ยอมรับได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการจัดเฉลิมฉลอง ณ วาระนั้น ท่านเนห์รูถึงกับกล่าววาทะสำคัญอีกว่า

“ข้าพเจ้าเป็นคนไม่มีศาสนา แต่หากให้ข้าพเจ้าเลือกแล้ว ข้าพเจ้าขอเลือกนับถือพุทธศาสนา”

ขณะที่ ดร.อัมเบดการ์ซึ่งเป็น รมต.ยุติธรรมในสมัยนั้นกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ข้าพเจ้าจะขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน”

ท่านรัฐมนตรียุติธรรม ศรีราชกุมาร บาโดเล ที่เพิ่งเข้าอุปสมบทที่วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ ฉายา “พุทธพโล” จึงเป็นชาวอินเดียคนสำคัญอีกท่านที่ดำเนินวิถีพุทธมามกะอย่างแท้จริง

และจริงจังเป็นที่ประจักษ์

กระแสศรัทธาในพระพุทธธรรมนั้น เวลานี้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ไปทั้งโลกแล้ว เร็วๆ นี้ก็มีข่าวนายทหารอังกฤษถึงสี่พันนายเข้าร่วมศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม ฝึกสติด้วยการปฏิบัติสมาธิอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งเรื่องฝึกสติด้วยสมาธินี้กำลังเป็นที่นิยมของหลายประเทศทั่วโลก แม้ทางการแพทย์เองก็ยอมรับให้เป็นวิธีบำบัดรักษาวิธีหนึ่งที่ได้ผล

ที่จริงการเจริญสติด้วยสมาธินั้นเป็นหลักปฏิบัติสำคัญในมรรคมีองค์แปด สองข้อสุดท้ายคือ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

เรามักเอาแต่ท่องจำทำได้ในทางที่ผิด คือทำผิดใช้ผิด เช่น ฝึกเพื่ออยู่ยงคงกระพัน เป็นต้น หาไม่ก็เพื่อหาเลขหวยเป็นสำคัญ

ที่ร้ายและแนบเนียนกว่านั้นก็คือ ฝึกเพื่อการ “ติดยึด” ดังการที่เรียกว่านั่งแล้วเห็นต่างๆ นานา ถือเอาเป็นมงคล เช่น เห็นดวงแก้ว เป็นต้น

นี่ไม่ใช่สัมมาสติ สัมมาสมาธิ หากเป็นมิจฉาสติและมิจฉาสมาธิโดยแท้

เหตุเพราะเริ่มจากไม่เข้าใจเรื่อง “สัมมา” นั่นเอง ซึ่งในมรรคมีองค์แปดนั้นมีคำว่าสัมมากำกับทุกข้อ โดยเฉพาะข้อแรก “สัมมาทิฏฐิ” คือ “ความเห็นชอบ”

ประเด็นสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาบ้านเราไม่เป็นกระแสนำด้านจิตวิญญาณเท่าที่ควรก็เพราะเราปล่อยให้มิจฉานำสัมมานี่แหละ

ต้องให้กระแสโลกมาปลุกมานำอยู่ร่ำไปหรือไร

เมื่อไรจะเข้าใจและเข้าถึงกันเสียทีว่า หัวใจของพุทธศาสนานั้นหาใช่เพียงศาสนธรรมไม่

หากหัวใจของทั้งพุทธธรรมและศาสนธรรมที่เราพึงเข้าถึงและพึงสำนึกนั้นคือ

พุทธธรรม