ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2561 |
---|---|
เผยแพร่ |
โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]
เหรียญมงคลบพิตรรุ่น 2
ชุมนุมชนวนมวลสารเด่น
ยอด 121 พระเกจิปลุกเสก
“พระมงคลบพิตร” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “หลวงพ่อมงคลบพิตร” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ประดิษฐาน ณ วิหารพระมงคลบพิตร ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
วัตถุมงคลที่สร้างจำลอง “พระมงคลบพิตร” มีการจัดสร้างกันหลายครั้งในโอกาสสำคัญต่างๆ เพื่อให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาได้ร่วมบุญเช่าบูชาไว้สักการะ ที่มีความโดดเด่นและมีค่านิยมสูงในแวดวงนักนิยมสะสมและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ คือ “เหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร รุ่นแรก ปี 2460”
หลังจากการจัดสร้างเหรียญรุ่นแรก ในปี 2460
ครั้นเมื่อถึงปี พ.ศ.2485 ได้มีการจัดสร้าง “วัตถุมงคลหลวงพ่อมงคลบพิตร” เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เช่าบูชา โดยจัดสร้างเป็นเหรียญรูปเหมือน และแหวนยันต์มงคล
โดยมีชนวนมวลสารหรือพิธีกรรมยิ่งใหญ่
เริ่มจากการรวบรวมชนวนมวลสารในการจัดสร้างโลหะ ประกอบด้วย แผ่นทองที่ลงอักขระปลุกเสกจากพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมในยุคนั้นจำนวนถึง 121 รูป อาทิ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์, สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (สมเด็จพระสังฆราช ชื่น) วัดบวรนิเวศวิหาร, สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) วัดเทพศิรินทราวาส, พระญาณไตรโลกาจารย์ (หลวงพ่อฉาย) วัดพนัญเชิง, หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก เป็นต้น
ยังมีโลหะเครื่องรางโบราณ ที่พบในบริเวณพระราชวังโบราณ เมื่อคราวปรับปรุงเกาะเมืองฯ เช่น ชินสังขวานร บนวิหารพระมงคลบพิตร-วัดพระศรีสรรเพชญ์-วัดป่าพาย, ทองคำจากองค์พระมงคลบพิตร, เนื้อสำริดกะเทาะจากองค์พระมงคลบพิตร, พระชินขุนแผนจากวัดป่าพาย-วัดสะพานเงินสะพานทอง, พระชินกำแพงพัน วัดพระศรีสรรเพชญ์-วัดมหาธาตุ-วัดราชบูรณะ, พระปรุหนัง วัดพระศรีสรรเพชญ์, ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีทองชนวนจากพิธีสำคัญของพระอารามต่างๆ เช่น วัดอนงคาราม, วัดหิรัญรูจี, วัดราชบพิธฯ, วัดกัลยาณมิตร, วัดชนะสงคราม, วัดสุทัศน์ ฯลฯ
พิธีการสร้างแบ่งเป็น 2 วาระ วาระแรก เป็นพิธีหลอมทอง ณ วิหารพระมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา แบบข้ามคืน ระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2485 โดยมีพระญาณไตรโลกาจารย์ (หลวงพ่อฉาย) วัดพนัญเชิง เป็นประธานจุดเทียนชัย ก่อนนำแม่พิมพ์ให้พระเกจิอาจารย์ลงเลขยันต์และปลุกเสกพร้อมมวลสารที่จะจัดสร้างอีกครั้ง ต่อหน้าพระพักตร์หลวงพ่อมงคลบพิตร ต่อเนื่องถึงวันรุ่งขึ้น
พระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป ลงอักขระปลุกเสกในการหล่อ เมตตาเข้าร่วมเจริญชัยมงคลคาถา และเมื่อดับเทียนชัยแล้ว ท่านทั้งหลายยังบริกรรมคาถาปลุกเสกทองที่หลอมเสร็จกับแม่พิมพ์อีกครั้งหนึ่ง
วาระที่ 2 เป็นพิธีพุทธาภิเษก ประกอบพิธีในวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ที่เรียกว่า วันเสาร์ห้า ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม 2485 ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป ลงอักขระปลุกเสกในการหล่อ เมตตาเข้าร่วมพิธีเช่นกัน
เหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร ปี 2485 ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มพิมพ์ทรงห้าเหลี่ยม หูในตัว
ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปจำลองหลวงพ่อมงคลบพิตร ภายในซุ้มเรือนแก้ว มีอักษรขอมจารึกหัวใจพุทธคุณทั้งเก้า คือ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ ด้านล่างจารึกนาม “พระมงคลบพิตร อยุธยา”
ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์พระเจ้า 16 พระองค์ ใต้ยันต์ระบุวันเดือนปีที่สร้าง มีจัดสร้างเป็น เนื้อทองแดง เนื้อเงิน และเนื้อทองแดงพระเกศเป็นทองคำ ซึ่งเป็นพระคะแนน
เหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร รุ่น 2 ปี 2485 ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดเหรียญ ซึ่งนอกจากพุทธลักษณะที่งดงามยิ่ง ขั้นตอนต่างๆ ยังเป็นไปด้วยความพิถีพิถันอย่างสูง
ทำให้เหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร รุ่น 2 มีค่านิยมสูงมาก
“พระมงคลบพิตร” เป็นพระพุทธรูปอิฐบุด้วยทองสำริด แสดงปางมารวิชัย ที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของไทย ขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร สูง 22.45 เมตร เป็น 1 ใน 8 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองพระนครศรีอยุธยา
พุทธลักษณะขององค์พระปฏิมา พระพักตร์ค่อนไปทางวงรี แต่ยังคงมีเค้าเหลี่ยม อันเป็นแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น และเมื่อมาพิจารณาเส้นพระขนงที่วาดเป็นรูปโค้ง จึงเห็นว่าเป็นพุทธศิลปะที่ผสมระหว่างศิลปะอู่ทองกับศิลปะสุโขทัย ที่เป็นนิยมสร้างในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จนถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม คาดเดาว่าน่าจะสร้างในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
สอดคล้องกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวว่า…วิหารพระมงคลบพิตรนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง (เป็นบริเวณวัดชีเชียง) จนในปี พ.ศ.2146 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดฯ ให้ชะลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก (ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ปัจจุบัน) และยังโปรดฯ ให้สร้างพระมณฑปสวมไว้ในคราวเดียวกัน…
จนเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2310 พม่าเข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ จึงใช้ไฟสุมองค์พระเพื่อลอกทองออก ทำให้องค์พระมงคลบพิตร ตลอดจนพระวิหารได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เครื่องบนพระวิหารที่หักลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรข้างขวาแตกหักตกลงมา กลายเป็นซากปรักหักพังนับแต่นั้นมา
กระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ จนกลับมางดงามสง่าและน่าเลื่อมใสยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ยังคงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาทั่วประเทศ