คนมองหนัง – “Shoplifters” : หนทางตีบตันของ “ครอบครัวสองแบบ” และ “ดอกไม้ไฟ” ที่มองไม่เห็น

คนมองหนัง

“Shoplifters” (หรือในชื่อภาษาไทย “ครอบครัวที่ลัก”) คือภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่คว้ารางวัล “ปาล์มทองคำ” จากเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์หนล่าสุด และกำลังเข้าฉายในบ้านเรา (ที่สกาลาและเฮาส์ อาร์ซีเอ)

ผลงานใหม่ของ “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” เล่าเรื่องราวชีวิตยากไร้และมีสุขทุกข์เคล้าปนของคน 6 ราย ซึ่งมาจับกลุ่มรวมตัวเป็น “ครอบครัว” โดยปราศจาก “ความสัมพันธ์ทางสายเลือด”

สมาชิกอาวุโสที่สุดของ “ครอบครัวที่เพิ่งสร้าง” คือ “หญิงชรา” ตัวคนเดียว ซึ่งมีภูมิหลังทางชีวิตคู่ที่ซับซ้อนและไม่สมบูรณ์แบบ เธอได้รับเงินบำนาญผู้สูงอายุจากรัฐ และเงินก้อนนั้นก็กลายเป็นรายได้หลักคอยจุนเจือ “สมาชิกครอบครัว” อีกห้ารายที่เหลือ อันได้แก่

“คู่สามี-ภรรยา” ที่ไม่มีบุตรด้วยกัน ฝ่ายชายเป็นกรรมกรก่อสร้าง ที่มีทักษะพิเศษในการ “ลักเล็กขโมยน้อย” ฝ่ายหญิงเป็นพนักงานในกิจการซักรีด ซึ่งมีพฤติกรรมขโมยทรัพย์สินเล็กๆ น้อยๆ ของลูกค้าเช่นกัน

“เด็กสาววัยรุ่น” หน้าตาดี ซึ่งหารายได้จากอาชีพโชว์นมและแชตกับหนุ่มๆ ผู้มีความใคร่ เธอมีสายสัมพันธ์เบื้องลึกบางอย่างที่เกี่ยวพันอยู่กับ “คุณย่า”

“เด็กชายวัยจวนจะแตกเนื้อหนุ่ม” ซึ่งถูกคู่สามีภรรยาเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่เล็กๆ เขาไม่ได้เข้ารับการศึกษาในระบบ ทว่าได้รับการฝึกฝนจากชายวัยกลางคนผู้ปรารถนาจะเป็น “พ่อ” ของ “ครอบครัว” จนกลายเป็นมือไม้สำคัญในภารกิจขโมยของตามร้านค้า อันถือเป็นแหล่งยังชีพอีกหนึ่งช่องทางของทั้งหกชีวิต

ปิดท้ายด้วย “เด็กหญิง” วัยประมาณ 5 ขวบ ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านที่ขาดความอบอุ่นและใช้ความรุนแรง เธอถูกพามากินอาหารค่ำและหลบหนาวกับคุณย่า คุณลุงคุณป้า และพี่ๆ อีกห้าชีวิต ก่อนจะกลายสภาพเป็นสมาชิกรายล่าสุดของ “ครอบครัว” (แถมกำลังเจริญรอยตาม “พี่ชาย” ในการออกตระเวนลักทรัพย์)

โคเรเอดะยังคงแน่วแน่กับการพยายามตั้งคำถามต่อแนวคิดเรื่อง “ความสัมพันธ์ทางสายเลือด”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าสถาบันครอบครัวที่ยึดโยงผู้คนด้วยปัจจัยทางชีววิทยาก็มีปัญหาในตัวเอง และใช่ว่า “เลือดจะข้นกว่าน้ำ” เสมอไป

แต่ขณะเดียวกัน หนังก็ไม่ได้เชิดชูหรือโรแมนติไซส์ “สายใย/สายสัมพันธ์ทางสังคม” รูปแบบอื่นๆ ที่เข้ามาก่อร่างสร้าง “ครอบครัว” ทดแทนความสัมพันธ์ชนิดแรก ให้หมดจดงดงามเกินจริง

ดังจะเห็นได้ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของ “ครอบครัวที่เพิ่งสร้าง” ในหนัง มักมีลักษณะ “สองหน้า” หรือกระตุ้นให้คนดูรู้สึกคลางแคลงใจได้บ่อยๆ ว่าตัวละครเหล่านั้นกำลัง “จริงใจ” หรือ “ไก่กา” ต่อกัน?

“สายสัมพันธ์ทางสังคม” อาจก่อให้เกิดภาพความทรงจำดีๆ ใน “ครอบครัว” เช่น การจับกลุ่มไปเที่ยวทะเลสุดแสนรื่นรมย์ หรือการที่ผู้หญิงวัยกลางคนกับเด็กหญิงวัยไม่กี่ขวบ ซึ่งไม่ใช่แม่-ลูกโดยสายเลือด ต่างไถ่ถามถึง “รอยแผลเป็น” จากเตารีดของกันและกัน ด้วยความห่วงใย

แต่อีกด้าน สายสัมพันธ์แบบนั้นก็เชื่อมร้อยถักทอเข้าหากันผ่านการปิดบังความจริงบางอย่าง, การขูดรีดฉวยใช้ซึ่งกันและกัน และการพร้อมจะทอดทิ้งสมาชิกบางคนที่พลาดท่าเสียที

หรือกล่าวให้ถึงที่สุด การลักเล็กขโมยน้อยที่ “ครอบครัว” นี้กระทำเพื่อหาเลี้ยงตนเอง ก็เป็นสิ่งที่ “ไม่แฟร์” กับหลายๆ คนในสังคม (เช่น เจ้าของร้านชำขนาดเล็กๆ) หากเราไม่เหมารวม/ตีความใหญ่โตว่าพฤติการณ์ของพวกเขา คือ การต่อต้านระบบทุนนิยมอะไรทำนองนั้น

เมื่อ “ครอบครัวสายเลือด” คืออุดมคติที่ไปไม่ถึง ส่วน “ครอบครัว” ที่ยึดโยงเข้าหากันด้วย “ความสัมพันธ์ทางสังคม” ก็มีปัญหาบางประการซ่อนแฝงอยู่

การตัดสินใจของหนุ่มน้อย “โชตะ” ตอนท้ายเรื่อง จึงเป็นสิ่งที่เจ็บปวดมาก และเป็นเหมือนการแสวงหา “ทางเลือกที่สาม/อื่นๆ” ที่ยังไม่รู้ชัดว่าจะ “ใช่” หรือไม่?

แต่ครั้นจะให้เขาและคนรุ่นราวคราวเดียวกันอดทนเติบโตขึ้นมาท่ามกลาง “สายสัมพันธ์หรือเงื่อนไขทางสังคม” แบบในหนัง ชีวิตก็แลดูโหดร้ายและตีบตันเกินไป

ที่สำคัญ ผลลัพธ์จากการตัดสินใจไปบุกเบิกอนาคตใหม่ๆ ของโชตะ ดันสั่นสะเทือนถึงปัจเจกบุคคลผู้เกี่ยวข้องแต่ละคน อย่างไม่เหมือนและไม่เท่าเทียมกัน (ไม่ยุติธรรม) เสียอีก

หรือถ้าลองคิดให้สุดขั้ว บางทีการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายเฉกเช่นที่ตัวละครหลักทุกรายต้องเผชิญในตอนจบ อาจเป็น “ทางออก” จาก “ปัญหาครอบครัว” ซึ่งทรงประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลที่สุด (สอดคล้องกับแนวโน้มการดำรงชีวิตของประชากรวัยชราในสังคมญี่ปุ่น)

โดยมีข้อแม้สำคัญว่าพวกเขาและเธอจะต้องดั้นด้นไปพบเจอกับวิกฤตชนิดอื่นๆ ที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า

มีหลายฉาก หลายโมเมนต์ หลายสถานการณ์ ที่ผมประทับใจ/ติดใจระหว่างนั่งดู “Shoplifters”

อาทิ ฉากเที่ยวทะเล, ฉากเด็กวัยแตกเนื้อหนุ่มเริ่มเหล่นม “พี่สาว”, ฉากบาดแผลร่วมระหว่างผู้หญิงสองวัย หรือฉากฟันน้ำนมของเด็กน้อยหลุด ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมโศกนาฏกรรมสำคัญใน “ครอบครัว”

อีกรายละเอียดหนึ่งของหนังที่ผมรู้สึกสะดุดใจเป็นพิเศษคือ ภูมิหลังชีวิตรักสามเส้า/การประสบปัญหากับสถาบันครอบครัวของ “คุณย่า”

แต่ฉากที่ผมชอบมากสุดเป็นการส่วนตัวคือ ฉากคนในครอบครัวมาจับกลุ่มแหงนหน้ามองดอกไม้ไฟข้างหน้าบ้านพักหลังซอมซ่อ โดยที่ผู้ชมภาพยนตร์ไม่มีโอกาสได้เห็นพลุ ทว่าจะเห็นเพียงกลุ่มตัวละครซึ่งกำลังชะเง้อหน้าจ้องมองพลุบนฟากฟ้าอันมืดมิด (แม้แต่บรรดาตัวละครเองก็อาจมองเห็นแสงสีสวยงามเหล่านั้นไม่ชัดเจนนัก)

ฉากนี้ช่วยย้ำชัดให้คนดูตระหนักถึงสถานภาพ “ชายขอบ” ของทั้งหกชีวิตที่มารวมตัวกันเป็น “ครอบครัว”

เพราะนอกจากประเด็นทางสองแพร่งระหว่าง “สายเลือด” กับ “สายสัมพันธ์ทางสังคม” แล้ว หนังของโคเรเอดะยังครุ่นคิดถึงปัญหา “ชนชั้น” ในประเทศญี่ปุ่น อย่างจริงจังและไม่ปิดบังใคร

ฉากแหงนหน้ามองดอกไม้ไฟ โดยไม่เห็นดอกไม้ไฟ ทำให้ผมย้อนนึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวขณะใช้ชีวิตระยะสั้นๆ อยู่ในมหานครขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของทวีปยุโรป

เวลานั้นเป็นช่วงหยุดยาวในเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่พอดี พวกนักเรียนนักศึกษาต่างชาติที่ผมคุ้นเคย มักเดินทางข้ามไปท่องเที่ยวยังประเทศอื่นๆ แถบภาคพื้นทวีป หรือนั่งรถไฟไปต่างเมือง

ในราตรีเงียบๆ คืนหนึ่ง ผมออกไปแวะซื้อไก่ทอดแถวหอพัก ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ “โซนสอง” ของมหานคร และได้เอ่ยปากทักทายพนักงานขาย ผู้อพยพมาจากเอเชียใต้

ระหว่างรอรับไก่ ผมดันทะลึ่งถามพนักงานขายคนนั้นไปราวๆ ว่า “นี่ยูมีแผนจะไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศที่ไหนบ้างหรือเปล่า?”

ชายชาวเอเชียใต้มีท่าทีตกใจพอสมควรเมื่อได้รับฟังคำถาม ก่อนจะตอบกลับมาประมาณว่า “โอ๊ย! ผมไม่มีปัญญาไปไหนไกลหรอก อย่างมากก็แค่เข้าไปดูเค้าจุดดอกไม้ไฟฉลองตอนเคาต์ดาวน์ปีใหม่ข้างในเมือง เอาจริง! กะอีแค่ใจกลางเมืองนี่ ผมยังไม่ค่อยได้เข้าไปเลย”

สุดท้าย ไม่แน่ใจว่า “พี่คนขายไก่” จะได้ไปดูดอกไม้ไฟที่ใจกลางมหานครตามความประสงค์หรือเปล่า? (เพราะหลังปีใหม่ไม่นาน ร้านไก่ทอดแห่งนั้นก็ปิดตัวลง)

ส่วนผมก็ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดจนไม่ได้เห็นดอกไม้ไฟดังกล่าวเช่นเดียวกัน

แต่สิ่งที่ประจักษ์ชัดในใจคือ ข้อจำกัดของมนุษย์ผู้หนึ่ง ซึ่งการดิ้นรนอยากเข้าไปดูพลุเฉลิมฉลองเทศกาล ถือเป็นความฝันอันอยู่ไกลแสนไกลเหลือเกิน จากวิถีชีวิตปกติของเขา