นิธิ เอียวศรีวงศ์ : พระปิยมหาราช

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 พ.ย. 2558

ด้วยความจำเป็นในการท่องเที่ยว ทำให้ผมต้องเขียนบทความนี้ในวันปิยมหาราช และอดระลึกถึงมหาราชพระองค์นี้ด้วยความอัศจรรย์ใจไม่ได้

พระปิยมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของไทยที่วันเสด็จสวรรคตถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เรามีมหาราชหลายพระองค์ (ตามแต่จะยกย่องกัน) แต่ไม่มีพระองค์ใดที่วันสวรรคตจะมีความสำคัญแก่คนไทยในปัจจุบันยิ่งไปกว่าวันสวรรคตของพระปิยมหาราช

เหตุผลก็คงเพราะว่า ประวัติศาสตร์สำนวนทางการของไทยทำให้คนไทยปัจจุบันมองสถาบันทางการเมืองและสังคม, วิถีชีวิตของตนเอง และสิ่งที่ตัวเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย ว่าล้วนมีต้นกำเนิดจากรัชกาลพระปิยมหาราชทั้งสิ้น พระปิยมหาราชเป็นสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่แยกออกจากชีวิตคนไทยไม่ได้ เมื่อผมเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นพี่เชื่อว่า เป็นนิสิตจุฬาฯ ที่สมบูรณ์ ต้องไปร่วมถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าอย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิตนิสิต นี่คือสำนึกประวัติศาสตร์ที่ซึมเข้าไปถึงพฤติกรรม อันเป็นอุดมคติของการเรียนประวัติศาสตร์อย่างที่ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พูดถึง

แต่ไม่เฉพาะนิสิตจุฬาฯ เท่านั้น คนไทยที่ได้ผ่านการศึกษาในแบบแม้แค่จบชั้นประถม สำนึกประวัติศาสตร์ของเขาก็มักจะแวดล้อมอยู่ที่พระปิยมหาราชเหมือนกัน

 

มหาราชไทยที่เรื่องราวของท่านถูกสร้างให้เป็นอุดมการณ์ของอนาคตไทย ตามทัศนะของชนชั้นปกครองแต่เดิมนั้นมีอยู่สามพระองค์ ไม่ได้มากมายจนจับมายืนเรียงเป็นแถวยาวได้หรอกครับ นั่นคือ พ่อขุนรามคำแหง, พระนเรศวร และพระปิยมหาราช ถ้าย้อนไปปลายอยุธยา มหาราชที่ได้รับการยกย่องจนกลายเป็นเหมือนเทพารักษ์รักษาเมืองก็มีสามองค์เหมือนกัน คือพระเจ้าอู่ทอง, พระนเรศร์หงสา (พระนเรศวร) และพระนเรศร์ลพบุรี (พระนารายณ์) ที่น่าสังเกตก็คือ ความยกย่องมหาราชสามพระองค์นี้มุ่งไปทางรักษาระบอบเก่าตามอุดมคติหรือเป็นอุดมการณ์ของอดีต ในขณะที่การยกย่องมหาราชสามพระองค์ของคนไทยสมัยหลังคือความ “ก้าวหน้า”, “ปรับปรุง”, “ปฏิรูป”, “นวัตกรรม” หรือความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงภายใต้การกำกับของมหาราช นั่นคือเป็นอุดมการณ์ของอนาคตไทย

ในบรรดามหาราชสามพระองค์คือ พ่อขุนรามฯ, พระนเรศวร, และพระปิยมหาราช พระองค์ท้ายนี้ได้รวมเอาคุณสมบัติทั้งหมดของมหาราชอีกสองพระองค์ไว้ในรัชสมัยของพระองค์จนหมด (นี่ว่าตามประวัติศาสตร์สำนวนทางการนะครับ) คือมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จำเป็น เหนือราชอาณาจักรที่สุขสงบและรุ่งเรืองเหมือนพ่อขุนราม รักษาเอกราชของบ้านเมืองไว้ได้เหมือนพระนเรศวร ทั้งยังทรงให้กำเนิดรัฐสมัยใหม่ที่จะดำรงคงอยู่สืบไปในอนาคตแก่คนไทยปัจจุบันด้วย

ความรำลึกที่ประชาชนมีต่อพระองค์ก็เป็นในแนวนี้ คือจดจำพระราชกรณียกิจเป็นเรื่องๆ ไป ผมคิดว่ามีพระราชกรณียกิจอยู่ 6 ประการ ที่คนไทยทั่วไปคุ้นเคย และอ้างถึงเสมอ ล้วนมีกล่าวไว้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ ผลิตซ้ำในรูปของหนังสือ, นวนิยาย, บทความ, ภาพยนตร์, ละคร หรือแม้แต่สุนทรพจน์ของคนใหญ่คนโต แต่พระราชกรณียกิจเหล่านี้ล้วนถูกตีความอยู่ในกระแสเดียว คือกระแสของทางการซึ่งรับมาจากการตีความของชนชั้นเจ้านายในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในหลายกรณีก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีบริบทด้วย

ผมจะพูดถึงพระราชกรณียกิจทั้ง 6 อย่างที่ขาดบริบทหรือตีความในกระแสเดียวอย่างย่อๆ

 

การเลิกทาส มักจดจำกันเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อันเกิดจากอุดมการณ์ส่วนพระองค์ที่รังเกียจการมีทาส ซึ่งก็อาจอ้างพระราชปรารภที่ปรากฏในกฎหมายและพระราชหัตถเลขาได้จริง แต่นั่นอาจไม่ใช่เหตุเดียวหรือเหตุที่สำคัญที่สุดในการเลิกทาสก็ได้ อย่าลืมว่าทาสคือข้าราษฎรที่ไม่ใช่ข้าราษฎรแท้จริงของกษัตริย์ นายของเขาคือนายเงินซึ่งมีอำนาจใช้เขาในกิจการต่างๆ ของตนเอง รวมทั้งเป็นกำลังทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองก็ได้ รัฐที่พระปิยมหาราชตั้งพระทัยจะสร้างขึ้นคือรัฐที่อำนาจทั้งหมดต้องรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ โดยไม่มีขุนนางหรือเจ้านายเป็นตัวกรองพระราชอำนาจเลย ข้าราษฎรประเภทนี้จึงต้องหมดไป เพื่อทำให้เกิดข้าราษฎรที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ในทางเศรษฐกิจ แรงงาน “เสรี” กำลังขาดแคลนอย่างหนักมาก่อนรัชกาลแล้ว การปลดปล่อยแรงงานจากพันธะทางประเพณีต่างๆ จึงเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พระปิยมหาราชไม่ใช่บุคคลคนแรกที่คิดเรื่องเลิกทาส สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์คิดเรื่องนี้มาก่อน สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นขุนนางที่ลงทุนกับการประกอบการหลายอย่างมาก นอกจากต้องการตลาดที่ใหญ่และหลากหลายกว่าจีนแล้ว ท่านยังเป็นผู้ประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนที่แหลมคมกว่าใครในเมืองไทย เมื่อพระปิยมหาราชทรงออก พ.ร.บ.ลูกทาสลูกไทย เพื่อปลดพันธะของทาสไปทีละขั้นอย่างช้าๆ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ผิดหวังอย่างมาก จนถึงอาจเรียกได้ว่าเยาะหยันด้วยซ้ำ เพราะกระบวนการปลดปล่อยช้าจนเกินกว่าจะ “เป็นการ”

การเลิกทาสคือการแย่งอำนาจจากขุนนาง ทำในช่วงที่พระปิยมหาราชยังไม่มีพระราชอำนาจเต็มที่ ท่านจะอ้างอะไรในกฎหมายได้ดีไปกว่าด้านอุดมการณ์เล่าครับ

 

การนำความ “ทันสมัย” เข้าสู่พระราชอาณาจักรซึ่งพระปิยมหาราชก็ทรงนำเข้าหลายอย่างด้วยกัน แต่ที่เราละเลยไปก็คือกระบวนการทำให้ทันสมัยที่ปรากฏในสังคมอื่นๆ ทั้งโลก รวมทั้งในยุโรปซึ่งเป็นต้นกำเนิดเอง มีความสลับซับซ้อนกว่าการกระทำหรือไม่กระทำของบุคคลมากทีเดียว คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมต่างเข้ามามีบทบาทในกระบวนการนี้ บางกลุ่มก็ด้วยความตั้งใจ แต่บางกลุ่มก็ไม่ได้ตั้งใจเพียงแต่ตอบสนองต่อความจำเป็นที่ต้องเผชิญบางด้านเท่านั้น ในเมืองไทย การไม่มองความเปลี่ยนแปลงสู่ความ “ทันสมัย” อย่างเป็นกระบวนการ ทำให้เราละเลยบทบาทสำคัญของคนกลุ่มต่างๆ ในเมืองไทยไปมากทีเดียว เช่น เรือกลไฟขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกข้าวออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ ไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่นายทุนจีนทำเอง ทั้งมีความเสี่ยงสูงจนกระทั่งพระคลังข้างที่ก็ไม่ยินดีร่วมหุ้นด้วย เรื่องของ ต.ว.ส.วรรณาโภ และ ก.ศ.ร.กุหลาบ ก็สำคัญ แต่ไม่ได้มีเพียงสองคนนี้เท่านั้นที่มีส่วนในกระบวนการเปลี่ยนสังคมสู่ความ “ทันสมัย”

เรื่องของความ “ทันสมัย” บางอย่างซึ่งพระปิยมหาราชทรงนำและกล่าวถึงอยู่เสมอ คือการปฏิรูปการปกครองทั้งหัวเมืองและส่วนกลาง แต่มองเรื่องนี้จากมุมของความ “ทันสมัย” อย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะการที่พระมหากษัตริย์จะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองได้อย่างทั่วถึงและเสมอกันนั้น ต้องมีกลไกการบริหารอีกชนิดหนึ่งที่ไม่เคยมีในสังคมไทยมาก่อนเลย ดังนั้นจะเอารูปแบบรัฐบาลอะไรเป็นแบบอย่างได้ดีไปกว่ารูปแบบของอาณานิคมตะวันตกในช่วงนั้น ซึ่งประสบความสำเร็จในการรวมศูนย์อำนาจได้เหนือกว่ารูปแบบรัฐบาลใดๆ ในอดีตของเอเชีย

และเพราะเป้าประสงค์คือสร้างระบอบปกครองที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่พระมหากษัตริย์ กระบวนการทำความ “ทันสมัย” ทางการปกครองจึงก้าวต่อไปไม่ได้ เมื่อเจ้านายขุนนาง, เทียนวรรณ, นายทหารหนุ่มใน ร.ศ.130, คณะราษฎร และ ปรีดี พนมยงค์ พยายามจะขยับระบอบปกครองไปสู่ประชาธิปไตย หรือการเปิดประตูของการบริหารรัฐให้กว้างขวางไปถึงราษฎร เพราะนั่นเกินเป้าประสงค์ของการนำความทันสมัยมาสู่รัฐบาลตามพระราชดำริของพระปิยมหาราชแล้ว ในระยะยาว ระบอบราชการที่สร้างขึ้นก็รับไม่ได้ เพราะเคยชินแต่จะฟังคำสั่งจากข้างบนมากกว่าฟังคำสั่งจากข้างล่าง ตามที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย

พระปรีชาสามารถในการดำเนินวิเทโศบายจนทำให้สยามมี “เอกราช” สืบมา ก็นับว่ามีส่วนของความจริงอยู่ด้วย อย่างน้อยพระปิยมหาราช ทรงเข้าพระทัยดีว่าเงื่อนไขใดที่ตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษจะทำลาย “เอกราช” ของสยาม นั่นคือความวุ่นวายปั่นป่วนภายในจนไม่มีใครสามารถรักษาสันติและระเบียบ (peace and order) ไว้ได้ อันเป็นอันตรายต่อการลงทุนและการค้าขายของตะวันตก

ดังนั้น จึงทรงพยายามรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบ้านเมืองอย่างเต็มที่เท่าที่สยามสามารถทำได้ในช่วงนั้น แต่ในการรักษาระเบียบนี้ก็เท่ากับรักษาพระราชอำนาจไว้พร้อมกันด้วย

 

คําว่า “เอกราช” ในภาษาไทยโบราณไม่ได้แปลว่าอำนาจอธิปไตยที่เป็นของตนเองอย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้ “เอกราช” แปลว่าในแผ่นดินมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่องค์เดียว หากเมืองใดยอมขึ้นต่อเมืองอื่น ก็เท่ากับไม่ใช่แผ่นดินที่มี “เอกราช” เพราะในแผ่นดินนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ คือเจ้าเมือง กับพระราชาธิราชซึ่งมีอำนาจเหนือเจ้าเมืองอีกทีหนึ่ง

บางที การมองแนวคิด “เอกราช” แบบโบราณอาจทำให้เข้าใจการดำเนินวิเทโศบายของพระปิยมหาราชเพื่อรักษาเอกราชของสยาม ได้ดีกว่าการใช้ความหมายของ “เอกราช” สมัยปัจจุบัน “เอกราช” ของสยามยังดำรงอยู่ แม้ว่าอาจมี “ทวิราช” ในด้านการศาลและศุลกากรก็ตาม

จักรวรรดินิยมตะวันตกอาจเคยคุกคามสยามในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ตกมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและรัฐบาลอาณานิคมเพื่อนบ้านทั้งหมด เป็นไปอย่างราบรื่นมาก เขตแดนของสยามมีความมั่นคงอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากคำรับรองของมหาอำนาจทั้งหมด อีกทั้งเขตแดนนั้นก็ปลอดพ้นจากกองทัพของเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน จนไม่จำเป็นต้องสร้างกองทัพเพื่อปกป้องบ้านเมืองจากอริราชศัตรูใดๆ มีไว้เพื่อรักษาความมั่นคงภายในเป็นหลัก (สืบมาจนปัจจุบัน) รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงไม่ไว้วางใจกระบวนการชาตินิยมของเพื่อนบ้านเลย ทั้งไม่อยากให้ระบอบอาณานิคมหมดไป และลัทธิชาตินิยมที่แท้จริงก็เป็นอันตรายต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย

นอกจากพระราชกรณียกิจที่กล่าวถึงแล้ว ยังนิยมยกเอาพระราชหัตถเลขาหรือพระราชนิพนธ์บางวรรคบางตอนมาเผยแพร่อีกด้วย แต่ก็เหมือนกับพระราชกรณียกิจ คือไม่มีบริบท ไม่มีทั้งบริบททางวรรณกรรม และไม่มีทั้งบริบททางสังคม ความหมายของข้อความที่ยกมาจึงเป็นไปตามเจตนาของผู้ยก โดยไม่ช่วยทำให้เข้าใจยุคสมัยของพระปิยมหาราชได้เลย

 

โดยสรุปก็คือ เรื่องราวของพระปิยมหาราช และสิ่งที่ตอกย้ำกันในทุกวันที่ 23 ตุลาคมคือภาพปฏิมาที่แกะสลักกันขึ้นอย่างไม่เป็นประวัติศาสตร์ ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ ผมอดรู้สึกเศร้าใจไม่ได้ เพราะพระปิยมหาราชนั้นจะถือว่าเป็น “มหาบรุษ” ของประวัติศาสตร์ก็ได้ แต่ก็เหมือน “มหาบุรุษ” คนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ คือเป็นมนุษย์ มีทั้งส่วนที่เป็นพลังและความอ่อนแอไปพร้อมกัน แต่คนคนนั้นหายไปในหน้าประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการ

ผมคงไม่เรียกร้องให้เลิกหลอกกันเรื่องนี้หรอกครับ เพราะเข้าใจดีว่าปฏิมาที่สร้างขึ้นยังมีบทบาทสำคัญแก่คนบางกลุ่มบางพวกที่มีอำนาจในเมืองไทยเวลานี้ แต่ผมอยากเตือนว่าปฏิมาของสมเด็จพระปิยมหาราชเคยเป็นปัญหาแก่ผู้บริหารประเทศมาแล้วในอดีต

ในต้น ร.6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงยกย่องเชิดชูพระราชบิดาขึ้นเป็นแบบอย่าง เพื่ออิงอาศัยบารมีของพระปิยมหาราชในการปกครองของพระองค์เอง แต่ไม่นานหลังจากนั้น การดึงให้คนย้อนคิดไปถึงรัชกาลของพระราชบิดา กลับเป็นผลร้ายต่อพระองค์ เพราะผู้คนต่างไม่พอใจที่พระองค์ช่างต่างจากพระราชบิดาเหลือเกิน จึงทรงเปลี่ยนไปสู่การยกย่อง “พระร่วง” ขึ้นเป็นแบบอย่างแทน

ใน ร.7 ทรงหันมายกย่องเชิดชูพระปิยมหาราชใหม่ ทรงถือว่าการปฏิรูปของพระปิยมหาราชคือการ “พลิกแผ่นดิน” ที่สำคัญในประวัติศาสตร์สยาม ทรงฟื้นฟูสถาบันการปกครองส่วนกลางของพระปิยมหาราชกลับขึ้นมาใหม่ แม้เป็นสถาบันที่ไม่เคยทำงานจริงมาก่อนก็ตาม แต่ปัญหาของพระปกเกล้าฯ ก็คือ ผู้คนที่มีการศึกษาพากันเบื่อหน่ายและสิ้นศรัทธากับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามแล้ว การยกปฏิมาพระปิยมหาราชกลับคืนมา ก็เพื่อตอบปัญหาว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ดีก็อาจเป็นไปได้ ดังเช่นรัชสมัยของพระราชบิดาเป็นต้น ปฏิมาของพระปิยมหาราชคือสัญลักษณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ดี

 

แต่ปฏิมาพระปิยมหาราชใช้เป็นคำตอบไม่ได้เสียแล้ว เพราะปัญหาของคนสยามในรัชสมัยของพระองค์ คือความไม่พอใจต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้แต่ในช่วงที่เป็นการปกครองที่ดีก็ไม่อยากได้ เพราะไม่มีหลักประกันว่ารัชทายาทจะเป็นผู้นำที่ดีเท่ากับรัชกาลก่อน (ซึ่งพระปกเกล้าฯ เองก็ยอมรับ) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จึงตามมา โดยคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ขัดขวาง นอกจากกลุ่มเจ้านายที่เสียประโยชน์เท่านั้น

ผมคิดว่าปฏิมาของพระปิยมหาราชยังใช้ในลักษณะเดียวกับสมัย ร.7 สืบมาจนทุกวันนี้ นักปราชญ์คนสำคัญของไทย เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังกล่าวว่า ไม่เคยมี “การเมือง” ในประเทศไทยจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 บางคนถึงกับพูดว่าไม่มีแม้แต่คอร์รัปชั่นจนถึง 2475 เช่นกัน ภายใต้ปฏิมาพระปิยมหาราช โลกชั้นในของวังหลวงในสี่แผ่นดินไม่มีแม้แต่ความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่มีผู้หญิงอยู่เต็มไปหมด (ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงชอบขัดแย้งนะครับ แต่เมื่อเล่าถึงโลกของผู้ชายข้างนอก ก็ยอมรับว่ามีความขัดแย้ง)

คำถามที่ควรคิดก็คือ ปฏิมาพระปิยมหาราช ไม่ประสบความสำเร็จในอันที่จะทำให้คนสยามจำนวนหนึ่งหวนกลับไปชื่นชมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปฏิมานั้นจะทำได้สำเร็จกับคนไทยปัจจุบันละหรือ หรือยิ่งทำให้ปัญหาแปรไปสู่ความรุนแรงมากกว่า 24 มิถุนายน 2475