สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตอนที่แล้วว่าด้วยยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนาครู ผมทิ้งท้ายให้ติดตามว่า จะใช้รูปแบบ กระบวนการ และกลไกอะไรในการปฏิรูปครู ปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน ครั้งใหญ่

ที่ผ่านมาทั้งวงการศึกษาไทยและต่างชาติล้วนมีโมเดลที่ส่งผลสำเร็จทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายแห่ง แต่กับประเทศไทยกลับไม่สามารถขยายผลให้เกิดขึ้นกว้างขวางได้เพราะเหตุใด จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่น่าคิดพิจารณาหาคำตอบอย่างยิ่ง

พอดีวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดงานครบรอบ 124 ปี การสถาปนาการฝึกหัดครูไทยและวันคล้ายวันสถาปนากรมการฝึกหัดครู เชิญ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายหัวข้อ นโยบายการผลิตครูในศตรรรษที่ 21

เนื้อหาสะท้อนถึงแนวคิด ทิศทางที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการในเรื่องนี้พอสมควร

“ปัจจุบันการผลิตครูมีปัญหา เพราะสถาบันอุดมศึกษาเปิดหลักสูตรครูมากเกินจำเป็น หลักสูตรไม่ได้รับการรับรอง มาตรฐานแตกต่างกัน รวมถึงคุณลักษณะความเป็นครู โดยเฉพาะจิตวิญญาณครู”

“การผลิตครูในอนาคตจะแบ่งสัดส่วนเป็นโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น 25% การผลิตครูระบบปิด 40% แบ่งโควต้าให้สถาบันผลิตครูตามขีดความสามารถของแต่ละแห่ง และอีก 35% เป็นการผลิตครูระบบเปิดทั่วไป”

“ได้มอบให้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรฏ.) ปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูมาเสนอ ขณะนี้ผมตั้งคณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูแล้ว”

วิเคราะห์ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ พูด การผลิตครูปัจจุบันเป็นระบบเปิดเสรี สถาบันใดต้องการเปิดสอน รับนักศึกษาเท่าไหร่ ทำได้ตามกำลังความสามารถ ทำให้เกิดปัญหาผลิตล้นเกิน ขาดคุณภาพและไม่มีงานทำ ต่อไปนี้จะใช้ระบบผสมผสาน ทั้งปิดและเปิด กำหนดจำนวนการผลิต การรับนักศึกษา แต่ขณะเดียวกันระบบเปิดก็ยังทำได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 35% ของยอดรวมที่ควรผลิตทั้งหมดในแต่ละปี

ที่กล่าวมานี้เป็นในส่วนของต้นทางคือการผลิตคนเข้ามาเป็นครู ขณะที่การปฏิรูปทั้งระบบครบวงจร ประกอบสามส่วนเชื่อมโยงกัน คือ การผลิต การพัฒนาและการใช้ครู

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู เพื่อทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายการผลิต การพัฒนา รวมทั้งระบบบริหารงานบุคคลของครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือการใช้ครู โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นฝ่ายเลขานุการ

ได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแผนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู พ.ศ.2560-2574 วันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ด้วย

ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์

1. การปฏิรูประบบและรูปแบบการผลิตครู

2. การปฏิรูประบบและรูปแบบการพัฒนาครู

3. การปฏิรูประบบการใช้ครูและระบบบริหารงานบุคคลของครู

4. การสร้างกลไกการขับเคลื่อน

ข้อเสนอซึ่งเป็นหัวใจหรือคานงัดการปฏิรูปการศึกษา กล่าวถึงสิ่งที่ควรทำอะไรบ้าง รายละเอียดจะว่ากันต่อไป

มาต่อยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ 3 ดาว์พงษ์ โมเดล การทดสอบ การประเมิน การประกันคุณภาพและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา ยุทธศาสตร์นี้จะมีการปฏิรูปกระบวนการทดสอบ การประเมิน การประกันคุณภาพทั้งภายใน ภายนอกใหม่ทั้งระบบ ทั้งครู ทั้งนักเรียน ทั้งผู้บริหาร ปรากฏตามแผ่นภาพที่นำเสนอ

พูดถึงการประเมิน กระบวนการ และกลไกที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นองค์กรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเป็น ดร.คมศร วงษ์รักษา รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ

คณะกรรมการบริหาร สมศ. วางแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ และการประกันคุณภาพการศึกษาแนวใหม่ น่าติดตาม คือ ไม่ประเมินทุกแห่ง ซึ่งเดิมตามกฎหมายบังคับทุกแห่งให้ 5 ปีประเมินครั้งหนึ่ง เปลี่ยนเป็นประเมินตามความพร้อมแล้วร้องขอ หรือร้องเรียน

ประเมินตามบริบทของแต่ละสถานศึกษา ประเมินโดยไม่ต้องเน้นเอกสาร ประเมินแล้วไม่ต้องมีการตัดสินว่า “ไม่รับรองมาตรฐาน” การประเมินมองจากภาพรวม การประเมินที่เน้นดูพัฒนาการ ไม่แจ้งวันเข้าประเมินให้ทราบล่วงหน้า มีการติดตามผลแทนการประเมินซ้ำ

มาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอก ประกอบด้วย มาตรฐานที่ว่าด้วยผลการจัดการศึกษา มาตรฐานที่ว่าด้วยการบริหารจัดการการศึกษา มาตรฐานที่ว่าด้วยการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มาตรฐานที่ว่าด้วยการประกันคุณภาพภายใน

ส่วนมาตรฐานด้านผู้ประเมิน มีความรอบรรู้ เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ มาจากหน่วยงานต้นสังกัด มาจาก สมศ. ผ่านการอบรมหลักสูตรเข้มข้นร่วมกัน มีการสอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

วิธีการประเมิน พิจารณาจากรายงานการประเมินที่ส่งมาโดยระบบ Online/CD หรือเอกสาร ลงไปตรวจเยี่ยมสถานศึกษา หรือทั้งสองประการ มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 1 วัน การตรวจเยี่ยมสถานศึกษา เน้นการประชุมรับฟังการรายงาน ซักถามให้ข้อเสนอแนะในห้องประชุม เน้นการสัมภาษณ์นักเรียน ดูสถานที่ สิ่งแวดล้อม ไม่เน้นการดูเอกสาร

ระยะเวลาการประเมิน พิจารณาจากผลการประเมินในอดีตรอบ 2 และ 3 ที่ผ่านมา หากอยู่ในระดับดีมากทั้ง 2 รอบและพิจารณาจาก SAR โดยสุ่มบางแห่งใช้เวลาไปตรวจเยี่ยม 1 วัน ดีมาก 1 รอบ ตรวจเยี่ยม 1 วัน ดี 2 รอบ ตรวจเยี่ยม 2 วัน ดี 1รอบ หรือพอใช้ ตรวจเยี่ยม 3 วัน ไม่รับรองตรวจเยี่ยม 3 วัน เกณฑ์การพิจารณา ดูความพร้อมของปัจจัย ความถูกต้องเหมาะสมของกระบวนการ และการบรรลุเป้าหมายตามแผน

ที่กล่าวมานี้เฉพาะในส่วนของ สมศ. ขณะที่อีกหน่วยที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อย คือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)

ประเด็นที่ถูกเรียกร้องมาตลอดคือ ปรับระบบทดสอบที่เน้นความจำ ข้อสอบปรนัย เป็นเน้นความคิด วิเคราะห์ และใช้อัตนัยให้มากขึ้น

ปฏิรูปการศึกษาตามยุทธศาสตร์ที่ 3 นี้มาตรฐานคุณภาพข้อที่ว่าด้วยความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ของเด็กไทย จะปฏิรูปได้จริงแค่ไหน ภายใต้แนวทางการบริหาร

“ทำทุกสิ่งทุกอย่าง หรือทำหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน”