โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ/พระปิดตาลอยองค์ หลวงปู่ยิ้ม จันทโชติ วัดหนองบัว กาญจนบุรี

หลวงปู่ยิ้ม จันทโชติ

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]

 

พระปิดตาลอยองค์

หลวงปู่ยิ้ม จันทโชติ

วัดหนองบัว กาญจนบุรี

 

“หลวงปู่ยิ้ม จันทโชติ” หรือ “หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม” เป็นพระเถราจารย์ชื่อดังแห่งจังหวัดกาญจนบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว (วัดศรีอุปลาราม) ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าเป็นที่เลื่อมใสศรัทธามาก
ต้นตำรับตะกรุดโลกธาตุอันลือเลื่อง และผู้สร้างพระปิดตา ที่ได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 5 ชุดเบญจภาคีพระปิดตาของไทย
นอกจากนี้ วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของท่านทุกประเภท ก็ล้วนทรงพุทธาคมเข้มขลังเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหามาตั้งแต่อดีตสืบมาถึงปัจจุบัน แต่ก็หายากยิ่งนัก
ว่ากันว่า มีดหมอประจำพระองค์กรมหลวงชุมพรฯ ก็เป็นของท่านด้วย

พระปิดตา พิมพ์ใหญ่ชะลูด (หน้า)

สร้างจากผงวิเศษที่ท่านทำเอง โดยใช้เวลารวบรวมมวลสารถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2439-2441 ส่วนผสมต้องตรงตามสูตรการสร้างพระปิดตาแบบโบราณ ส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติ ได้แก่ ผงอิทธิเจ ปถมัง มหาราช ตรีนิสิงเห ว่าน 108 ดอกไม้บูชาพระ ไคลโบสถ์ ขี้ผึ้งจากรังผึ้ง ฯลฯ จากนั้นปลุกเสกจนถึงปี พ.ศ.2445 จึงนำออกมาแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์และผู้ร่วมทำบุญ
มีทั้งเนื้อเหลือง เนื้อขาว เนื้อผงเทา เนื้อผงคลุกรัก เนื้อผงธูป เนื้อขี้เป็ด เนื้อตะกั่ว ฯลฯ ทั้งแบบจุ่มรักและคลุกรัก เนื้อนิยม คือ เนื้อเหลือง
ลักษณะเป็นแบบลอยองค์ องค์พระประทับนั่ง ปางสมาธิราบ พระหัตถ์ปิดพระเนตร มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์สังกัจจายน์ และพิมพ์แข้งซ้อน
พิมพ์ใหญ่ ยังแบ่งเป็น พิมพ์ใหญ่ชะลูด และพิมพ์ใหญ่ต้อ ซึ่งต่างกันเพียงพิมพ์ใหญ่ต้อ จะมีความสูงน้อยกว่าและดูต้อกว่า พิมพ์ใหญ่ชะลูด นับเป็นพิมพ์ยอดนิยม

พระปิดตา พิมพ์ใหญ่ชะลูด (หลัง)

หลวงปู่ยิ้ม เป็นชาววังด้ง จ.กาญจนบุรี เกิดปีมะโรง เดือนห้า วันอังคาร พ.ศ.2387 ครอบครัวประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ ล่องไปขายที่ปากอ่าวแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม
เมื่อวัยเด็กมีอุปนิสัยใจคอเป็นคนเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เป็นนักเลง พูดจริงทำจริง เด็กรุ่นเดียวกันหรือแก่กว่ายอมยกให้เป็นลูกพี่ ท่านเป็นกำลังช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ล่องไปขายทางปากอ่าว จนคุ้นเคยกับชาวแม่กลองเป็นอันดี
ครั้นอายุครบบวช อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โดยมีพระอาจารย์กลีบ วัดหนองบัว เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์แดง วัดเหนือ และพระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า จันทโชติ
เมื่อบวชเรียนแล้วเรียนอักษรขอม ภาษาบาลี มงคลทีปนี มูลกัจจายน์ พระมาลัย พระเจ้า 10 ชาติ ท่องสูตรสนธิจนช่ำชอง สามารถท่องจำพระปาฏิโมกข์ สวดได้แต่พรรษาที่ 2
ศึกษาวิทยาคมกับพระอาจารย์ดีเชี่ยวชาญวิทยาคมหลายท่านด้วยกัน อาทิ หลวงพ่อพระปลัดทิม วัดบางนางลี่น้อย อ.อัมพวา, หลวงพ่อพ่วง วัดปากสมุทรสุดคงคา, หลวงพ่อกลัด วัดบางพรม อัมพวา และหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ อัมพวา
เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวต่อจากหลวงพ่อกลิ่น ท่านได้ปฏิบัติทางวิปัสนาธุระจนมีชื่อเสียง และเป็นอาจารย์สอนทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน

หนึ่งในเครื่องรางที่มีชื่อเสียงของท่าน คือ ตะกรุดลูกอม หรือ “ตะกรุดโลกธาตุ” เป็นตะกรุดขนาดเล็กใช้พกติดตัว เมื่อถึงคราวคับขันจวนตัวจะถูกทำร้ายให้กลืนเข้าไปในท้อง จะเป็นล่องหนหายตัวป้องกันอันตรายได้ทุกประการ
ตะกรุดนี้เชื่อว่าสามารถออกมาจากร่างกายได้เอง โดยให้ตั้งจิตอธิษฐานก่อนนอน รุ่งขึ้นตะกรุดก็จะออกมาปรากฏอยู่ข้างตัว โดยจะไม่ออกทางทวารเบื้องต่ำเด็ดขาด
จึงเรียกว่าตะกรุดลูกอม ลงด้วยหัวใจโลกธาตุ คือ “อิจฉันโต จิตโต อิจฉันโต โลกธาตุมหิ อัตตะภาเวนัง นาทุยิ วาระวีสะติ สิทธังละอะ” เป็นคาถาพระพุทธเจ้าเดินจงกรมในเมล็ดพันธุ์ผักกาด ทำด้วยทองคำ เงิน หรือทองแดง ต้องมีน้ำหนัก 1 สลึง ยาวขนาด 7 ใบมะขามเรียกว่า สัตตะโพชฌงค์ 7 ตะกรุดโลกธาตุมีชื่อเสียงปรากฏทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ท่านยังทำพระปิดตาและพระผงยืนห้ามญาติด้านหลังมียันต์อกเลา พระผงแบบนั่งสมาธิ สมเด็จเล็บมือ พระผงปางห้ามญาติ และเชือกคาดเอว

เกียรติคุณของหลวงปู่ยิ้มเป็นที่เลื่องลือไปหลายหัวเมือง ทั้งเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ให้ความเลื่อมใสนับถือท่านเป็นอาจารย์ ขอเรียนวิชา
แม้กระทั่ง หลวงปู่ศุข แห่งวัดมะขามเฒ่า ยังเคยธุดงค์มาอยู่จำพรรษาที่วัดหนองบัว เพื่อแลกเปลี่ยนสรรพวิชากัน
หลวงปู่ยิ้ม มีอุปนิสัยสันโดษ เป็นเจ้าคณะตำบลและเป็นพระอุปัชฌาย์ มีคนบวชกับท่านเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญท่านได้ถ่ายทอดไสยเวทวิทยาคมให้กับลูกศิษย์ในยุคต่อมา จนกลายเป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว, หลวงปู่ดี วัดเทวสังฆาราม, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อสอน วัดลาดหญ้า เป็นต้น
มรณภาพลงอย่างสงบ พ.ศ.2453 สิริอายุ 66 ปี พรรษา 46
หลังจากนั้นตำรับตำราต่างๆ ของท่านก็เป็นมรดกตกทอดมาถึงเจ้าคุณพระโสภณสมาจาร (เหรียญ) วัดหนองบัว และสานุศิษย์ที่สืบทอดวิชาได้สร้างเครื่องราง เจริญรอยตามสืบมาจนถึงปัจจุบัน