โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง / คนไทยไม่ชอบบันทึกเรื่องราว

โลกหมุนเร็ว  / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

 

คนไทยไม่ชอบบันทึกเรื่องราว

 

หลายปีมาแล้วเตร็ดเตร่ไปรับประทานอาหารจีนร้านอร่อยแถวตลาดน้อย
เสร็จแล้วเพื่อนผู้บันทึกเรื่องราวไว้ในหัวสมองของเธอมากมายก็ได้ชวนให้เดินต่อไปยังด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่นั่นมีธนาคารไทยพาณิชย์สาขาแรกของเมืองไทยตั้งอยู่ ยืนรับลมแม่น้ำสักครู่ก็เดินต่อลึกเข้าไปในซอยแถวนั้น
เราได้พบกับประตูบ้านแบบบ้านคหบดีจีน เพื่อนบอกว่านี่คือบ้านต้นตระกูลของเพื่อนเราคนหนึ่งซึ่งมีนามสกุลจาติกวณิช
เราก็เดินผ่านประตูนั้นเข้าไปสู่ภายใน ได้พบลานกว้างตรงกลาง และมีเรือนสองชั้นทำด้วยไม้ขนาบข้าง มองดูโดยรอบก็นึกถึงบ้านคหบดีจีนที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์หลายเรื่อง
นอกจากภาพทั่วๆ ไปที่จำติดตาแล้ว ยังพบว่ามีบุคคลภายนอกล่วงล้ำเข้ามาขุดเจาะพื้นกลางลานบ้าน ดูเหมือนจะเอาน้ำบาดาลไปใช้ อ่างบัวกระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่สวยงามมีค่าอยู่ที่เชิงบันได
แม้จะรู้สึกเสียดายแทนตระกูลที่เป็นเจ้าของ แต่ก็เข้าใจดีว่าการปรับปรุงบ้านคงใช้ปัจจัยมากอยู่ และปรับปรุงไปเพื่ออะไร ในเมื่ออาคารนั้นไม่เหมาะจะอยู่อาศัยในชีวิตปัจจุบัน
บ้านหลังนี้คือคฤหาสน์โซวเฮงไถ่ซึ่งมีอายุยืนนานประมาณสองร้อยปี เป็นอาณาจักรใหญ่ของตระกูลที่ตกทอดมาหลายชั่วอายุคน มีผู้ครอบครองเปลี่ยนมือกันมา และถูกทิ้งรกร้างอยู่ในปัจจุบัน

เจ๊สัวเกต แซ่โซว

คุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร นักเขียนสารคดีชื่อดัง ผู้เป็นทายาทรุ่นหลังๆ แห่งตระกูลคหบดีใหญ่ซึ่งบรรพบุรุษมีรกรากอยู่ในยุคเดียวกัน ได้นำเรื่องราวของโซวเฮงไถ่มาเล่าต่อ โดยมี “นายแม่” รุ่นต่างๆ ที่ได้ครอบครอบโซวเฮงไถ่ต่อมาเป็นตัวเอก
ตระกูลโซวมีเรื่องราวปรากฏในแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ผู้สร้างโซวเฮงไถ่คือหลวงอภัยวานิช (จาต) ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 และต่อมาลูกหลานรุ่นหลังได้แตกออกมาเป็นตระกูลดังของเมืองไทย อาทิ จาติกวณิช โปษยะจินดา โชติกเสถียร ตัณฑเศรษฐี ปันยารชุน และศรีวิกรม์
เธอทำให้เราได้รู้ถึงประวัติความเป็นไปของผู้คนในสังคมยุคต้นรัตนโกสินทร์ผ่านการเรียบเรียงเรื่องราวของตระกูลดังเหล่านี้
เธอเกริ่นไว้ในหนังสือเรื่อง “นายแม่ ตำนานหญิงจีนสยาม” ว่า “กรุงเทพฯ เป็นเมืองอันงดงาม มีประวัติความเป็นมาประดับประดาด้วยชีวิตอันมีสีสันของผู้คน มีวัฒนธรรมในการดำรงชีพที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นไม่แพ้มหานครอื่น
ตำนานของคนเมืองนี้หลายเรื่องถูกเล่าขานปากต่อปากกันมานานแล้ว แต่ด้วยนิสัยชอบเล่าไม่ชอบเขียนอันมีมาแต่ดั้งเดิม ทำให้เรื่องราวต่างๆ เลอะเลือน แล้วอีกไม่นานก็คงจะสูญสิ้นไป”
“นายแม่” เป็นคำสามัญที่ใช้เรียกมารดาผู้เป็นประมุขของบ้านในครอบครัวจีนสยามตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นการเรียกตามพี่เลี้ยงและบ่าวไพร่บริวาร สำหรับประโยคที่ว่า “มารดาผู้เป็นประมุขของบ้าน” นั้น ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายหญิงทำไมจึงเป็น “ประมุข” แทนที่จะเป็นฝ่ายชาย
ในหนังสือเล่มนี้คุณพิมพ์ประไพก็ค่อยๆ พาเราไปสู่ความเปลี่ยนแปลงว่าทำไมผู้หญิงในสังคมไทยจึงกลายมาเป็นประมุขของบ้าน

คําอธิบายโดยรวมก็คือ ในสมัยโบราณเมื่อผู้ชายต้องเป็นอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้านาย ต้องไปรับราชการอยู่ด้วยเป็นเวลานานหลายเดือน ที่บ้านจึงมีแต่นายหญิงของบ้านคอยดูแล
“สาเหตุที่ทำให้สถานภาพของหญิงไทยโดดเด่นขึ้นมา น่าจะเป็นเพราะระบบการปกครองแบบอยุธยาเรื่องแรงงาน หรือที่เรียกว่าระบบไพร่ ประชาชนที่เป็นชายมีทางเลือสองทางคือเป็นไพร่หรือเป็นทาส ดังนั้น ชายไทยที่เกิดมาเป็นลูกคนยากจน เมื่ออายุครบ 18 ปีต้องไปขึ้นทะเบียนเป็น “ไพร่สม” ใครไม่มีนายถือว่าผิดกฎหมายและจะโดนลงโทษอย่างแรง เมื่อฝ่ายชายเข้าสู่ระบบไพร่เขาต้อง “เข้าเดือน” หมายความว่าเขามีสิทธิ์ประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนเองเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวได้เพียงหนึ่งเดือน เมื่อเป็นเช่นนี้งานการในบ้านจึงต่อไม่ติด ทำให้ฝ่ายหญิงเข้ามามีบทบาทสำคัญในครอบครัว”
เรื่องราวของคฤหาสน์โซวเฮงไถ่เริ่มต้น เมื่อทายาทรุ่นที่ 3 คือหลวงอภัยวานิช (จาต) ซึ่งเป็นต้นตระกูลของสกุลจาติกวณิชและอีกหลายตระกูล แต่ปัจจุบันกลับอยู่ในความครอบครองของตระกูลโปษยะจินดา ซึ่งเป็นคนต่างแซ่
เอกสารที่ไขปริศนาซึ่งถ้าจะว่าไปเป็นที่มาของแนวคิดของหนังสือเล่มนี้ที่ให้ความสำคัญกับประมุขของบ้านที่เป็นฝ่ายหญิง ก็คือพินัยกรรมของอำแดงอยู่ภรรยาเจ๊สัวจาตซึ่งเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในพินัยกรรมระบุให้มอบทรัพย์สมบัติให้ลูกหลานมากมาย แต่ตัวอาคารและที่ดินมอบให้บุตรสาวสองคนเป็นผู้รักษาทรัพย์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ให้ทายาทฝ่ายหญิงเป็นผู้รักษาทรัพย์แทนที่จะเป็นฝ่ายชายตามธรรมเนียมจีน
“ผู้หญิงไทยในสมัยโบราณยืนเคียงข้างสามีในการหาทรัพย์สิน เมื่อสามีคือเจ๊สัวจาตค้าขายหาเงินมาได้ อำแดงอยู่ก็นำไปออกดอกให้งอกเงยขึ้นมาอีก” คุณพิมพ์ประไพบรรยายไว้ ทำให้เราเข้าใจว่านี่แหละทำให้นายแม่มีอำนาจในครอบครัว
และยังเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติซึ่งเป็นบ้านและที่ดินให้ลูกสาวแทนที่จะเป็นลูกชาย

โซวเฮงโถ่

ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีพลเมืองที่เป็นจีนสยาม คือจีนที่อพยพมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาบ้าง กรุงธนบุรีบ้างในสัดส่วนที่มากกว่าคนไทยเสียอีก จำนวนประชากรกรุงเทพสมัยอำแดงอยู่
ทำให้เราเห็นภาพเมืองที่แตกต่างจากปัจจุบัน
เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของภูมิภาค จึงคล้ายกับสิงคโปร์ในปัจจุบันในเรื่องของสัดส่วนประชากร
มีจีนผูกปี้ 200,000 คน ไทย 120,000 คน ลาว 25,000 คน มาเลย์ 15,000 คน มอญ 15,000 คน ญวน 12,000 คน เขมร 10,000 คน พวกเข้ารีตหลายเชื้อชาติ 4,000 คน พม่า 3,000 คน รวมจำนวนประชากรในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่กรุงเทพฯ 404,000 คน
สำหรับคนจีนในที่สุดได้กลายเป็นไทย แต่งตัวแบบไทย หล่อหลอมอยู่ในวัฒนธรรมไทยแต่ก็ยังรักษาอัตลักษณ์ความเป็นจีนบางอย่างโดยเฉพาะเรื่องของการนับถือบรรพบุรุษ จะเห็นได้จากการมีแกซึ้ง หรือป้ายวิญญาณบรรพบุรุษอยู่ในบ้าน
สำหรับอำแดงอยู่ นายแม่ ดาราเอกในหนังสือเล่มนี้ ก็ได้เอาป้ายวิญญาณของบรรพบุรุษฝ่ายของเธอมาไว้ในบ้านเช่นกัน แสดงถึงบารมีอันไม่อาจมองข้ามได้ของเจ้าบ้านฝ่ายหญิงในยุคหญิงจีนสยามอย่างแจ่มชัด
ผู้เขียนเห็นหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือน่าอ่านเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นยังฝันอยากเห็นเอามาทำเป็นละครให้มีชีวิตให้ได้ชมกันทั่วๆ ไปในวงกว้างด้วย
เพราะรายละเอียดที่คุณพิมพ์ประไพให้ไว้ ทำให้เห็นภาพตัวละครและสถานที่งดงาม แจ่มชัดเป็นอย่างยิ่ง