วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /สู่ร่มกาสาวพัสตร์ ศึกษาศีลเบื้องต้น

วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

ศึกษาศีลเบื้องต้น

 

…เธอเพียงแต่มาเยี่ยม ด้วยเหตุเมื่อวันก่อนปีใหม่พบกับศรัญญา…ในความคิดหนึ่งของพระปาน… พรุ่งนี้จะกลับแล้ว–เป็นอันว่า เธอมาเยี่ยมเขาชั่วประเดี๋ยวเท่านั้น ทั้งที่ลงมากรุงเทพฯ ตั้งหลายวัน
คิดได้เท่านั้น พระปานต้องหยุดความคิดนั้น ถึงอย่างไร ทั้งเขาและเธอได้บอกเลิกรากันไปแล้ว และตัวเองได้รับความเจ็บปวดจากสิ่งนี้จนต้องซมซานเข้าพึ่งศาสนาเยียวยารักษาจิตใจให้สงบจากกิเลสราคะ คือโมหะที่เกิดจากจงจิต แล้วเมื่อเธอมาให้เพียงเห็นหน้า สิ่งต่างๆ อันเป็นความหลังซึ่งผ่านพ้นไปแล้วจะให้กลับ มย่ำยีจิตใจอีกทำไม
จงจิตกลับไปแล้ว ความห่างไกลจากกัน อยู่ในคนละเพศ คนละโลก ความที่ต้องปรับจิตใจให้เข้าสู่หนทางแห่งความสงบ แห่งความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ในสังขาร จะสามารถทำให้ผ่อนคลายความคิดถึงอดีตที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
อดีตที่ผ่านมาย่อมเป็นประโยชน์ในอันที่จะน้อมใจลงไปให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายไม่มีตัวตน

กิจของสงฆ์ในแต่ละวันไม่น่าจะมีอะไรมาก ตื่นเช้าขึ้นมาจัดการทำความสะอาดร่างกาย สวดมนต์เสร็จออกไปบิณฑบาต กลับมาฉันเช้า ล้างบาตร ล้างถ้วยชามทั้งของตัวเองและของท่านพระครูพรหม ฉันน้ำชา คุยกันบ้าง สายเข้าโบสถ์สวดมนต์ทำวัตรเช้า เสร็จแล้วกลับมากุฏิ อ่านหนังสือพิมพ์ รอเวลาฉันเพล
หากไม่มีกิจนิมนต์ที่เมรุ หรือรับนิมนต์สวดมนต์ในวัดหรือนอกวัด ถึงเวลาฉันเพลแล้ว ดื่มน้ำชากับท่านพระครูพรหมสักพัก พระปานจะกลับกุฏิ อ่านหนังสือ ถ้าง่วงจะเอนกายจำวัดสักงีบ
ช่วงบ่ายตื่นขึ้นมา ทำความสะอาดกุฏิ กวาดบริเวณรอบกุฏิและรอบเจดีย์หลังกุฏิ เช่นเดียวกับท่านพระครูพรหมและพระรูปอื่นที่ปฏิบัติเช่นกัน เท่ากับเป็นการออกกำลังกายพอเหนื่อยได้เหงื่อ จึงมาพักแล้วอาบน้ำ เตรียมตัวลงโบสถ์ทำวัตรเย็น
ระหว่างนั้น พระครูสมุห์จะเดินนิมนต์พระไปสวดพระอภิธรรมช่วงค่ำตามศาลาและเวลาที่กำหนด คือหกโมงครึ่งถึงทุ่มครึ่งเป็นเสร็จพิธี กลับกุฏิ แล้วพักผ่อนตามอัธยาศัย ว่ายังกับรายการทัวร์ของบริษัทท่องเที่ยว
ถึงเวลาจำวัด เป็นเรื่องของพระแต่ละรูป บ้างท่องบ่นบทสวดมนต์ บางรูป เช่น พระสุชัยท่องปาฏิโมกข์ให้คล่อง เผื่อวันหนึ่งอาจมีโอกาสสวดมนต์ท่องปาฏิโมกข์ในวันอุโบสถใหญ่ แทนพระผู้ที่สวดแต่เดิม
บางรูป เช่นตัวเอง พยายามหาหนังสือที่อธิบายเรื่องธรรมให้เข้าใจจากที่เคยเรียนรู้ โดยเฉพาะพระวินัยปิฎก อ่านสนุกในคำอธิบาย ตั้งแต่บทปาราชิก
หากพระรูปใดล่วงละเมิดวินัยใน 4 ข้ออันเป็นบทลงโทษหนักถึงกับขาดจากความเป็นพระ
วินัยทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นข้อร้ายแรงสำหรับภิกษุในพระพุทธศาสนา นำมาเป็นศีล 5 ซึ่งพระพุทธองค์กำหนดให้ฆราวาสผู้นับพุทธศาสนาเป็นศาสนาของตัวเอง แม้จะเป็นวินัยบัญญัติร้ายแรงกับภิกษุในบวรพุทธศาสนา แต่เมื่อมาเป็นข้อห้ามของฆราวาส หรือศีล 5 มีที่ร้ายแรง
ถือว่าผิดทั้งทางศาสนาและทางกฎหมายบ้านเมือง หากใครล่วงละเมิด

วัตรก่อนที่ภิกษุจะทำพิธีสวดมนต์หรือพิธีใดให้กับฆราวาส พระสงฆ์ต้องให้ฆราวาสนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เดียวหรือเป็นหมู่คณะอาราธนาศีล หรือรับศีลก่อน ตั้งแต่ตั้งนะโมฯ สามจบ คือ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ แปลว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
จากนั้น ผู้นำพิธี ณ ที่นั้น จะกล่าวบูชาพระรัตนตรัย และคำสมาทานศีล แม้มาคนเดียวต้องทำเช่นกัน ซึ่งพระปานไม่ได้จำว่าทำอะไรก่อนอะไรหลัง ด้วยบทสวดมนต์
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา (พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง)
พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ (ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน – กราบ)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม (พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว)
ธัมมัง นะมัสสามิ (ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม – กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว)
สังฆัง มะมามิ (ข้าพเจ้านอบน้อมต่อพระสงฆ์ – กราบ)
การที่ต้องขอรับศีลจากพระสงฆ์ ผู้นั้นต้องอราธนาศีล 5 ด้วยคำมคธบทที่ว่า
มะยัง พันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ ศีลานิ ยาจามะ ครั้งแรก
ครั้งที่สองขึ้นด้วย ทุติยัมปิ มะยัง พันเต…
ครั้งที่สาม ขึ้นด้วย ตะติยัมปิ มะยัง พันเต…
แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีล 5 ข้อ พร้อมทั้งพระรัตนตรัยเพื่อประโยชน์แก่การจะรักษาต่างๆ กัน (ครั้งแรก ต่อด้วย แม้ครั้งที่สอง… และครั้งสุดท้าย แม้ครั้งที่สาม…)
จากนั้น พระสงฆ์จะให้รับศีล คือ ศีล 5 รับตามทีละข้อ เริ่มจาก
ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า – หมายถึงสัตว์หรือทุกชีวิต)
อทินนาทานา เวระมะณี สิขาปะทัง สมาทิยามิ (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว หรือขโมยของผู้อื่น)
กาเมสุมิฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการผิดลูกผิดเมียผู้อื่น)
มุสาวาทา เวระมะณี สิขาปทัง สมาทิยามิ (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดปด หรือพูดไม่จริง)
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฎฐานา เวระมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากเสพของมึนเมา มีสุราเมรัย เป็นต้น อันเป็นที่ตั้งของความประมาท)
จากพระวินัยปิฎก 4 ข้อ อันเป็นความผิดร้ายแรงของภิกษุถึงขั้นปาราชิก คือขาดจากความเป็นพระไม่มีข้อที่ว่าด้วยการเสพของเมา เช่น สุราเมรัย เพราะเป็นเหตุให้เกิดความประมาทเท่านั้น แต่เมื่อประมาทแล้ว ไปละเมิดข้ออื่น เช่น การฆ่า การขโมย การละเมิดพรหมจรรย์ และการโกหก มีคำอธิบายไว้ชัดเจน