คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “ถ้ำ” กับ “ผีพราหมณ์พุทธ”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ถํ้าน่าจะเป็นนิวาสสถานแรกๆ ของมนุษย์ ก่อนจะรู้จักก่อสร้างบ้านเรือน ดังเรามีหลักฐานทางโบราณคดีมากมายที่แสดงให้เห็นความผูกพันของถ้ำกับคน

แต่นอกจากจะเป็นนิวาสสถานแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีก็ชี้ให้เห็นว่า ถ้ำเองก็น่าจะเป็น “ศาสนสถาน” แรกๆ ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ความมืดมิด รูปประติมากรรมธรรมชาติจากหินงอกหินย้อย แสงเงาที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปร่างต่างๆ เสียงที่ก้องสะท้อนไปมา คงทำให้มนุษย์รู้สึกกริ่งเกรงและจินตนาการถึง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” อะไรบางอย่างภายในถ้ำ

บางครั้งผมเข้าใจว่า ถ้ำชวนให้นึกถึงครรภ์ของแผ่นดินหรืออะไรเทือกนั้นด้วย ซึ่งนั่นทำให้ถ้ำสามารถ “ศักดิ์สิทธิ์” แก่คนโบราณโดยไม่ต้องมีอะไรไปเสริมเติมแต่ง

และเมื่อตั้งบ้านตั้งเมืองมีสังคมแล้ว มนุษย์ย้ายไปอยู่ในเหย้าในเรือน ถ้ำก็ยังมีความหมายไปอีกแบบ คือไม่ได้เป็นนิวาสสถานธรรมดาๆ ของคนแล้ว แต่เป็นที่ “หลีกเร้น” สำหรับอะไรๆ ที่เราไม่รู้จักหรือกลัว หรืออะไรที่ “พิเศษ” นอกสังคมมนุษย์

เราห่างถ้ำ จนพื้นที่ของถ้ำมันลึกลับแก่เรามากขึ้น ไม่ใช่แค่ในแง่กายภาพ แต่ในแง่จิตใจด้วย

แปลกนะครับ ที่อะไรที่ “ไม่รู้” มันก็มักถูกทำให้ “ศักดิ์สิทธิ์” ไปด้วย โดยเฉพาะในบ้านเรา

ดังนั้น ก่อนพราหมณ์และพุทธ นอกจากเนินดินฝังศพ ภูเขา และหินโตๆ ผมเข้าใจว่าก็มีถ้ำเป็นอีกอย่างที่ศาสนาผีเคารพนับถือมาก

ปัจจุบันยังมีถ้ำในบ้านเราหลายแห่งที่ชาวบ้านเชื่อว่ายังคงมี “ผี” ศักดิ์สิทธิ์ครอบครองอยู่ เช่น ถ้ำเชียงดาวที่ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่สถิตของเจ้าหลวงคำแดงและบริวาร

ผมได้เห็นข่าวกลุ่มเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกราบไหว้อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อขอพรให้ทีมหมูป่าปลอดภัยจากการติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน นอกจากไหว้สามกษัตริย์แล้ว

ผมยังได้ยินท่านอ้างถึง “เจ้าหลวงคำแดง” คงเพราะเจ้าหลวงคำแดงเป็น “เก๊าผี” หรือหัวหน้าผีทั้งหมดในดินแดนล้านนา น่าจะมีอำนาจไปจัดการผีที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนตามความเชื่อชาวบ้านได้ด้วยกระมัง

ในอินเดีย ถ้ำเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแทบทุกศาสนา หากใครไปชมหมู่ถ้ำเทวสถานต่างๆ เช่น เอลโลรา ชุนนาร์ ฯลฯ ก็จะพบถ้ำซึ่งเต็มไปด้วยศาสนสถานของทั้งฮินดู พุทธ และไชนะรวมๆ กัน

ดูเหมือนว่าพุทธศาสนาในอินเดียจะนิยมถ้ำมากเป็นพิเศษ เพราะในบรรดาถ้ำทั้งหลาย มีถ้ำของพุทธศาสนามากที่สุด อาจเป็นเพราะถ้ำเป็นที่ “วิเวก” เหมาะแก่การเจริญจิตภาวนาและศึกษาพระธรรม ในกลุ่มถ้ำชุนนาร์ซึ่งผมเคยได้ไปชมนั้น พบว่ามีการเจาะผนังภูเขาหินและถ้ำเป็นช่องเล็กๆ จำนวนมาก นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ก็เพื่อให้เป็นที่จำศีลภาวนาของพระภิกษุ

ขนบนี้ยังกว้างไกลไปยังที่ที่พุทธศาสนาแผ่ไปถึง พระภิกษุฝ่าย “อรัญวาสี” ก็มักนิยมแสวงหาที่พำนักวิเวกตามเถื่อนถ้ำต่างๆ ไม่ว่าไทย เนปาล ทิเบต จีน ฯลฯ

แต่ก็คล้ายกับอินเดียครับ คือถ้ำในบ้านเราไม่ได้เป็นพื้นที่เฉพาะของศาสนาเดียว กล่าวคือ พุทธศาสนาไปซ้อนทับกับพื้นที่ผีเดิมในถ้ำเหล่านี้ แล้วก็อยู่กันไปทั้งพุทธและผีครับ ตัวอย่างชัดๆ คือถ้ำเชียงดาวซึ่งมีทั้งวัดถ้ำเชียงดาว หอผีเจ้า และสถานที่วิปัสสนากรรมฐานของครูบาอาจารย์ต่างๆ

ส่วนศาสนาพราหมณ์นั้น เทวสถานในกลุ่มถ้ำมีมากมายหลายที่ บางที่มีชื่อเสียงมาก อย่าง “สีดาคูหา” หรือถ้ำสีดา ในเมืองนาศิก (นาสิก แปลว่า จมูก เพราะเชื่อว่าพระรามตัดจมูกนางสำมะนักขาที่นี่) แคว้นมหาราษฎร์

ถ้ำนี้ว่ากันว่าเป็นที่ซึ่งสีดาคอยหลบสิ่งชั่วร้ายยามเมื่อพระรามพระลักษมณ์ไม่อยู่

แต่สุดท้ายก็โดนทศกัณฐ์ลวงออกมาจนได้ สีตาคุหา (หรือออกเสียงคุฟะ ในภาษามาราฐี) เป็นเทวสถานขนาดเล็กครอบทับอุโมงค์ใต้ดินหรือถ้ำใต้ดินขนาดไม่ใหญ่นัก

ใครไปเที่ยวนาศิกก็มักแวะไปเยี่ยมเทวสถานนี้ เพราะลุ้นว่าตัวเองจะมุดเข้าถ้ำพระนางสีดาได้หรือไม่

ในศาสนาพราหมณ์มีเทพเจ้าบางองค์ที่เกี่ยวข้องกับถ้ำเป็นพิเศษ คือพระขันทกุมารครับ เพราะพระองค์มีอีกพระนามว่า “คุหะ” ซึ่งแปลว่าถ้ำตรงๆ เลย

ตามตำนานเล่าว่า พระขันทกุมารถูกเลี้ยงดูในถ้ำโดยเทวีกฤตติกา (ดาวลูกไก่) ทั้งหกพระองค์จึงได้ชื่อว่าคุหะ มักพบพระนามนี้บ่อยๆ ในวรรณกรรมอินเดียภาคใต้ซึ่งนิยมนับถือพระองค์มาก

เทวสถานที่มีชื่อเสียงของพระองค์คือถ้ำบาตู (batu) ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งว่ากันว่าอาจเป็นเทวสถานที่สำคัญที่สุดของพระขันทกุมารนอกอินเดียแห่งหนึ่งเลยทีเดียว

แม้จะคล้ายว่ามีเทพพราหมณ์ไม่กี่องค์ที่เกี่ยวข้องกับถ้ำ แต่ในหนังสือ The Hindu Temple : An Introduction to Its Meaning and Forms ของ George Michell กล่าวว่า ที่จริงเทพเจ้าในเทวสถานทุกองค์ก็อยู่ใน “ถ้ำ” อยู่แล้ว

จอร์จกล่าวว่า เทวสถานในอีกทางหนึ่งก็คือภาพจำลองของ “ภูเขา” ปรางค์ที่ปรากฏในเทวสถานก็คือยอดเขา เราจึงเรียกว่า “สุเมรุ” บ้าง “ไกรลาส” บ้าง

ในเมื่อองค์เทวสถานคือภูเขา ห้องชั้นในที่ประดิษฐานเทวรูป (ครรภคฤหะ) จึงเท่ากับเป็น “ถ้ำ” ที่อยู่ในใจกลางภูเขานั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ห้องครรภคฤหะจึงมีทางเข้า-ออกทางเดียวและมืดมิด ไม่มีช่องหน้าต่างเหมือนกับถ้ำในธรรมชาติ หรือ “ครรภ์”

นอกจากนี้ จุดศูนย์กลางของห้องครรภคฤหะอันเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปนั้นจะตรงกับส่วนยอดสุดหรือ “ศิขระ” ของเทวสถานหรือยอดของภูเขา นัยว่าเพื่อแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพลังสูงสุดของจักรวาล

ผมคิดว่า คนโบราณก่อนฮินดูคงคิดว่าถ้ำคือมดลูกหรือครรโภทรของโลก แล้วฮินดูรับเอาคตินิยมนี้มาเป็นหลักสถาปัตยกรรม มดลูก ถ้ำ และครรภคฤหะ จึงเกี่ยวเนื่องกัน

ถ้ำมันจึงมีอะไรลึกลับซับซ้อนในความเชื่อของเรามาก ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีเหตุการณ์กลุ่มน้องๆ ทีมหมูป่าหายไปในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน นอกจากความพยายามด้านความช่วยเหลือต่างๆ ผู้คนยังพยายามช่วยกันในด้านความเชื่อด้วย

เวลาที่เรา “ไม่รู้” หรือมืดมนเหมือนอยู่ในถ้ำ เราจะมีความกลัวและกังวลมาก เมื่อนั้นปรากฏการณ์เกี่ยวกับความเชื่อก็จะมากตามเป็นธรรมดา

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเกี่ยวข้องกับความเชื่อทั้งพุทธทั้งผีมากกว่าเหตุการณ์ไหนๆ ก็เพราะมันเกิดขึ้นที่ “ถ้ำ” ซึ่งเป็นพื้นที่ความเชื่อลึกๆ ลับๆ สืบมาแต่โบราณนี่แหละ

และนานๆ จะได้เห็นพุทธ ไสย ผี วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปลงพื้นที่เดียวกัน