เทศมองไทย : “สมาน กุนัน” ฮูยาห์! ฮูยาห์! ฮูยาห์!

ภารกิจเสี่ยงตาย แข่งกับเวลา เพื่อค้นหาและกู้ภัยนักฟุตบอลและผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีที่แล้วเสร็จลงชนิดสมบูรณ์แบบและลือลั่นไปทั่วโลกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ว่า ผู้เชี่ยวชาญสำหรับภารกิจทำนองเดียวกันนี้จากทั่วทุกมุมโลกออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า ภารกิจนี้โหดหินและอันตรายถึงขีดสุด

เป็นภารกิจกู้ภัยที่ลำบากยากเย็นชนิดที่โลกต้องจารึก

หนึ่งในทีมนักดำถ้ำจากต่างประเทศที่เข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ อุปมาสิ่งที่พวกเขาและทีมนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือทีมซีลของกองทัพเรือไทยกระทำลงไปเพื่อช่วยชีวิตคนทั้ง 13 ว่า

“เหมือนกับการปีนเอเวอเรสต์ขึ้นไปโดยไม่มีไกด์นำทาง” ยังไงยังงั้น

 

เบน เรย์เมแนนต์ นักดำน้ำภายในถ้ำชาวเบลเยียม บรรยายความลำบากสุดขีดในชีวิตการดำน้ำของตนให้นิวยอร์กไทม์สฟังไว้อย่างนี้ครับ

“คุณดึงตัวเองรุดหน้าไปได้แบบกระดืบทีละฝ่ามือเท่านั้น ในสภาพที่มองไม่เห็นอะไรเลย ทัศนวิสัยเป็นศูนย์ คุณอ่านเกจ์วัดความลึกก็ไม่ได้ อ่านเวลาว่าดำไปเท่าไหร่แล้วก็ไม่ได้ มันเหมือนนกตาบอดกำลังบินไปในทิศทางที่ไม่รู้ไม่เห็นทั้งสิ้น”

อีกรายบอกว่า กระแสน้ำที่ไหลมาปะทะตัวเชี่ยวกราก ทรงพลังพอๆ กับกระแสน้ำในแม่น้ำโคโลราโดในหน้าน้ำหลาก

แน่นอน คนไทยไม่เคยสัมผัสแม่น้ำโคโลราโด แต่ผมเชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่า ความแรงของน้ำแม่น้ำหน้าน้ำหลากนั้นเชี่ยวกรากและทรงพลังขนาดไหน

กายภาพของถ้ำที่ไม่โปร่งโล่งสบายตามธรรมชาติ แต่บางช่วงบางตอนที่ก้อนหินใหญ่เท่าบ้านขวางหน้า อีกบางตอนมีช่องเปิดเหลือเพียงแค่ 38 เซนติเมตรพอให้เอาตัวลอดไปได้เท่านั้น ทั้งหมดเป็นการดำน้ำท่ามกลางความมืดเป็นเช่นนี้ไปตลอดระยะทางร่วมๆ 5 กิโลเมตร

 

พอล โดเฮอร์ตี แห่งดิ เอนไควเรอร์ ซินซินเนติ สหรัฐอเมริกา บันทึกเอาไว้เมื่อ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า นั่นคือสภาพที่ จ.อ.สมาน กุนันและพวกทั้งนักดำน้ำคนไทยและต่างชาติต้องเผชิญในภารกิจลำเค็ญครั้งนี้

โดเฮอร์ตีเขียนถึง “จ่าแซม” เป็นหลัก ด้วยเหตุที่ว่าการเสียชีวิตของ จ.อ.สมาน คือเครื่องสะท้อนที่ดีที่สุดให้เห็นถึงอันตรายถึงขีดสุดของปฏิบัติการที่ถ้ำหลวงครั้งนี้ พร้อมๆ กันนั้นก็แสดงให้เห็นถึงอะไรต่อมิอะไรอีกหลายต่อหลายอย่างที่ทุกคนทุ่มให้กับการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ตัวน้อยๆ ทั้งหมด

เขาพูดถึง “จ่าแซม” เอาไว้น่าสนใจมากว่า ทำหน้าที่เป็นหน่วยลาดตระเวนประจำท่าอากาศยานในกรุงเทพฯ “แต่ก่อนหน้านั้น เขาคือสมาชิกคนหนึ่งของหน่วยซีลกองทัพเรือไทย ที่แม้จะเกษียณจากปฏิบัติการภารกิจมานานปี แต่หัวใจของเขาไม่เคยเกษียณแต่อย่างใด”

ด้วยความที่เป็นคอลัมนิสต์กีฬา พอล โดเฮอร์ตี อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบปฏิบัติการเสี่ยงตายครั้งนี้กับนักกีฬาทั้งหลาย

“เรายกย่องนักกีฬาของเราเพราะได้เห็นการทุ่มเท อุทิศตนและความสามารถในการพัฒนาทักษะที่พิเศษพิสดารขึ้นมา เรายกย่องการทำงานเป็นทีมของนักกีฬา ยกย่องความแข็งแกร่ง ยกย่องความยิ่งใหญ่ของการทำสิ่งที่ยากลำบากให้ดูเหมือนเป็นของง่ายๆ”

เราเรียกนักกีฬาทั้งหลายว่า “วีรบุรุษ” โดเฮอร์ตีบอก แล้วระบุต่อไปว่า

นักดำน้ำกว่า 100 คนที่ถ้ำหลวง ได้ร่วมมือกันช่วยชีวิตของเด็ก 8 คนจาก 13 คน (และช่วยให้ออกมาปลอดภัยได้ทุกคนในที่สุด)

“แสดงให้เห็นความเป็นวีรบุรุษ ความเป็นทีมเวิร์ก การทุ่มเทเสี่ยงทั้งชีวิต ปราศจากความเห็นแก่ตัว และแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ได้โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายความเพิ่มเติมแต่อย่างใดทั้งสิ้น”

 

ตอนท้ายๆ พอล โดเฮอร์ตี บันทึกไว้ในคอลัมน์กีฬาของตัวเองเอาไว้ว่า

“เมื่อวันศุกร์ (6 กรกฎาคม) เพื่อนนักดำน้ำร่วมชะตากรรม เดินแถวเคียงคู่กับร่างไร้วิญญาณของสมาน กุนัน จากความมืดของถ้ำหลวงออกมาสู่ความสว่าง

“ซีลไม่เคยทิ้งเพื่อนผู้พลีชีพของตนไว้เบื้องหลัง เฟซบุ๊กไทยเนวีซีลจารึกข้อความสั้นๆ ไว้สำหรับสมาน กุนัน ในวันเดียวกันว่า

“วันนี้ ขอเพื่อนได้พักอย่างสงบเถิด เราจะปฏิบัติภารกิจนี้แทนให้ลุล่วงให้จงได้”

ปิดท้ายด้วยข้อความจากใจของพอล โดเฮอร์ตี เองว่า

“นิยามของวีรบุรุษ มีมากมายหลายอย่าง แต่นี่คือนิยามที่ดี เป็นสิ่งที่สามารถเรียกว่ายิ่งใหญ่ได้เต็มที่”

ฮูยาห์! ฮูยาห์! ฮูยาห์! ครับผม