ไซเบอร์ วอทช์เมน : 13 ชีวิตหมูป่าในถ้ำหลวง บททดสอบคุณภาพของสื่อมวลชน

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊กแฟนเพจ "ญี่ปุ่นเบาเบา", Chanelnews Asia

หากนับเวลาตั้งแต่ที่มีข่าวสมาชิกทั้ง 13 คนของทีมหมูป่าอะคาเดมีติดอยู่ภายในถ้ำหลวง จ.เชียงราย จนถึงวันที่ทางการตัดสินใจนำตัวออกมาด้วยการดำน้ำและเร่งส่งไปโรงพยาบาล (ร.พ.) ก็กินเวลานานถึง 2 สัปดาห์

การตัดสินใจนำตัวออกมาครั้งนี้ สำหรับผู้ตัดสินใจนั้น นี่เป็นโอกาสที่เอื้ออำนวยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าสภาพอากาศที่กำลังดี ระดับน้ำในถ้ำที่ลดลงไปได้มาก รวมถึงการได้ทีมนักดำน้ำทั้งหน่วยซีลและนานาชาติที่ร่วมใจ ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของผู้สั่งการที่ต้องเจอแรงกดดันในการหาวิธีช่วยเหลือออกมาภายใต้ปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสรอดชีวิตของทุกคน

นอกจากบทบาทของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำและการดำน้ำจากทั่วโลกแล้ว คนอีกกลุ่มที่มีส่วนทำเรื่องราวการช่วยเหลือหมูป่านี้ก็คือสื่อมวลชน ที่กรณีนี้นับเป็นโอกาสที่สื่อจากทุกมุมโลกให้ความสนใจ มีการนำเสนอในหลายช่องทางตั้งแต่ที่เป็นสิ่งพิมพ์จนถึงทีวี ออนไลน์ และไลฟ์เฟซบุ๊ก

กรณี 13 หมูป่าในถ้ำหลวง สำหรับผู้เขียนนั้น ถือเป็นอีกเหตุการณ์ที่ชี้วัดถึงการทำงานและนำเสนอของสื่อมวลชนที่ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะคุณภาพและหลักการนำเสนอที่จำเป็นต่อสาธารณชน

 

การหายตัวเข้าไปในถ้ำหลวงตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนของทีมหมูป่า เริ่มเป็นข่าวหลังจากทีมกู้ภัยและตำรวจในพื้นที่เข้าลงสำรวจภายในถ้ำหลังได้รับแจ้ง จนวันถัดมาที่พบรองเท้าและกระเป๋าสะพายที่ถูกทิ้งไว้ แต่ความท้าทายใหญ่ที่ทำให้การค้นหาเป็นไปอย่างยากลำบากคือสภาพอากาศที่พื้นที่เกิดฝนตกหนัก ส่งผลทำให้น้ำไหลเข้าท่วมตัวถ้ำจนสูงขึ้นและได้ปิดทางที่จะเข้าพื้นที่ส่วนลึกภายใน

เวลานั้นเองที่สื่อหลายสำนักพอจับสัญญาณได้ว่าต้องเป็นข่าวใหญ่และประชาชนให้ความสนใจ ทำให้นักข่าวตามลงพื้นที่จนเต็มหน้าทางเข้าถ้ำหลวง

เมื่อกลายเป็นข่าว พื้นที่ถ้ำหลวงจึงกลายเป็นแหล่งข่าวที่ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจนถึงสั่งการ อาสาสมัครทั้งไทยและต่างประเทศ จนถึงบรรดาครอบครัวของทีมหมูป่า และเพื่อนร่วมชั้นเรียน ต้องถูกสื่อจ่อไมค์ถาม

เรื่องการให้ได้ซึ่งข้อมูลก็มีความยากแล้วแต่กรณี ไม่ว่าข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่ ระดับการให้ข้อมูลที่เป็นข่าว

แต่เมื่อได้มาแล้ว ลำดับต่อไปคือ จะนำเสนอออกมายังไง

 

เมื่อได้ข้อมูลจากพื้นที่ การประมวลเพื่อเสนอเป็นรายงานข่าวนับเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง แต่ด้วยในปัจจุบันที่ยอดอ่านมาก่อนเนื้อหาที่ประชาชนที่ควรได้รับรู้ ทำให้การนำเสนอข่าวของสื่อ ถ้าเริ่มจากสื่อไทยก่อน

สิ่งที่เห็นคือ การนำเสนอข่าวที่ไม่ได้มีเพียงแค่ข้อมูล แต่ยังรวมถึงอารมณ์และความรู้สึกที่ถูกถ่ายทอดจนเกินพอดี

กลายเป็นการดราม่าข่าว แทนที่ข่าวจะเป็นเพียงข่าว กลับกลายเป็นหนังชีวิตที่ถูกนำเสนอที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ พยายามบิวต์ให้มากที่สุด

และเมื่อออกสู่สายตาผู้ชม ยิ่งในยุคโซเชียลที่เรื่องดราม่าจุดติดเร็วกว่าข้อมูลบนเหตุผลและข้อเท็จจริง ความเห็นที่ผูกเข้ากับความเชื่อที่ถูกต้องที่สุดย่อมกุมกระแสความคิดเห็นในข่าวนั้นได้มากกว่าคนเห็นต่าง

แต่พอมีคนมองไม่เหมือนกัน ก็กลายเป็นการสาดโคลน ด่าทอ ตั้งแต่โค้ชทีมหมูป่าจนถึงผู้ชม

ยิ่งในยุคที่ทุกคนเป็นสื่อได้ พอมีข่าวก็จะมีการตั้งประเด็นจากผู้ใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะประเด็นสวนกระแส ตั้งแต่โทษเด็กและโค้ชที่เข้าไปในถ้ำ จนถึงทำไมต้องใช้แต่ทหารเข้าไปช่วย ก็กลายเป็นสงครามน้ำลายจนลุกลามถึงขั้นรวมกลุ่มไปแสดงพลังถึงหน้าบ้านกันมาแล้ว

การนำเสนอข่าวของสื่อไทยที่เทน้ำหนักในอารมณ์ความรู้สึก การคาดเดาต่างๆ เพราะข้อจำกัดของข้อมูลที่ได้ทำให้คุณภาพข่าวที่ประชาชนควรได้ กลับได้แต่รับรู้ความรู้สึกอันเอ่อล้นและเรื่องเหนือธรรมชาติไปเสียเยอะ

 

แต่พอมองไปที่สื่อต่างชาติ ซึ่งได้ข้อมูลแบบเดียวกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่กลับนำเสนอบนข้อเท็จจริงโดยมีความรู้เป็นตัวสนับสนุนข้อมูล มีการนำเสนอเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นภาพ มีการคิดที่น่าสนใจและแหวกแนว

ยกตัวอย่างสื่อบางค่ายของญี่ปุ่นที่นำเสนอเป็นโมเดลกลางรายการ ที่มีการรวบรวมข้อมูล ก็นำเสนอตั้งแต่ปริมาณน้ำที่ท่วมภายใน ลักษณะของน้ำในถ้ำ เส้นทางของถ้ำอันแคบและคดเคี้ยว จำลองสภาพที่นักดำน้ำต้องฝ่าไปจนพบทีมหมูป่าบริเวณเนินนมสาว

ไปจนถึงการนำเสนอรูปแบบการช่วยชีวิตวิธีต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องถ้ำมาให้ข้อมูล อันนี้เป็นจุดแข็งของต่างชาติที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เคยเจอกรณีเช่นนี้มาก่อน

หรือสื่อออนไลน์ที่ใช้ภาพกราฟิกแสดงประกอบข่าวตั้งแต่ไทม์ไลน์เหตุการณ์จนถึงสารพัดวิธีช่วยชีวิตทีมหมูป่า

ทำให้การนำเสนอมีน้ำหนักบนข้อเท็จจริงด้วยฐานของความรู้ และเป็น “ข่าว” ที่ประชาชนควรได้รู้จริงๆ ว่า สภาพของทีมหมูป่าที่อยู่ข้างในนั้นเป็นอย่างไรและโอกาสรอดชีวิตมีมากแค่ไหน

 

หรืออีกตัวอย่างของสื่อแห่งหนึ่งในสหรัฐ ที่ไม่ต้องลงทุนทำกราฟิกโชว์ในห้องส่ง

แต่ใช้ความสามารถของนักข่าวที่ถ่ายทอด ลงไปในถ้ำอีกแห่งที่อยู่ใกล้ถ้ำหลวง นักข่าวบรรยายลักษณะของถ้ำเมื่อต้องเข้าไปอยู่ข้างในซึ่งมืด คับแคบและหายใจลำบาก และอธิบายเทียบกับถ้ำหลวงที่น้ำท่วมทางเดินในถ้ำจนเต็ม

นี่เป็นการนำเสนออีกวิธีที่น่าสนใจและออกนอกกรอบการทำงานแบบเดิมๆ ที่ผู้เขียนเองมองภาพและฟังสิ่งที่นักข่าวนำเสนอแล้วเข้าใจและเห็นภาพตามในทันที

 

ข่าวการช่วยชีวิตทีมหมูป่าในถ้ำหลวงครั้งนี้ จึงเป็นกรณีวัดคุณภาพของข่าวระหว่างสื่อไทยและสื่อต่างชาติ ที่เห็นความต่างได้ชัดที่สุด และเห็นสมควรที่จะเรียนรู้เพื่อนำไปใช้กับข่าวอื่นต่อไป

แต่ไม่ใช่ตัวสื่อมวลชนที่ต้องเรียนรู้ แม้แต่สังคมโดยรวมก็ต้องช่วยกันทำให้ความรู้ ความเป็นเหตุผลถูกยกขึ้นมารองรับข้อเท็จจริงที่นำเสนอในข่าว มากกว่าความเชื่อ อารมณ์และความรู้สึก

และจากกรณีดังกล่าว หน่วยงานของรัฐบาลไทยก็ต้องจริงจังในการฝึกฝนหน่วยงานและบุคลากรจนเชี่ยวชาญเพื่อรับมือภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ที่คุกคามชีวิตมนุษย์ หน่วยงานที่ถูกฝึกมาเพื่อช่วยเหลือและกู้ภัยเป็นหลัก มากกว่าต้องพึ่งพาแต่ทหารที่หน้าที่หลักของพวกเขาคือ “การรบในสงคราม”

ขอปิดท้ายด้วยการระลึกถึง จ.อ.สมาน กุนัน ที่อุทิศชีวิต เสียสละเพื่อช่วยเหลือให้ทีมหมูป่าทุกคนปลอดภัย ด้วยคารวะจากใจ