ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 13-19 กรกฎาคม 2561

ขอแสดงความนับถือ

 

ปรากฏการณ์ ณ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

ทำให้คอลัมน์ใน “มติชนสุดสัปดาห์” มากด้วยความหลากหลาย

รูปที่ไร้ใจครอง ของละไมมาด คำฉวี วูบเข้าไป “ภายใน”

“มิใช่ถ้ำโพรงที่เป็นทางน้ำไหล

มิใช่ขุนเขาที่งอกเงยป่าไม้

แต่เป็นถ้ำโพรงที่ลึกมืดในใจ

ของขุนเขาที่สิ้นไร้สติปัญญา”

ทำไมถ้ำแห่งนั้นจึงมืดมิดนักเล่า

ทั้งที่วัชระ แวววุฒินันท์ แห่งคอลัมน์เครื่องเคียงข้างจอ

นำเสนอ “หนุ่มเมืองกรุง ฉบับ ‘หมูป่า'”อย่างสว่างไสว ไว้ว่า

นี่คือผลจากที่                  สามัคคีเท่านั้น

เป็นบทเรียนสำคัญ          ไทยต้องหมั่นสมาน

หากทุกวี่ทุกวัน                เราเป็นกันอย่างนี้

คงรุ่งเรืองขจี                   สวัสดีตลอดกาล

 

คงจะเป็นอย่าง “รักคนอ่าน” ของทราย เจริญปุระ

ที่นำเรื่องนี้ไปเทียบเคียงกับหนังสือ “ตำนานนิรันดร์” (The Immortal Story) ของ Isak Dinesen แปลโดยอรจิรา โกลากุล

โดยบอกว่า ไม่ว่า “ผลลัพธ์” จะออกมาแบบไหน

ทุกกระบวนการในเรื่องนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งตำนาน

“…ทุกคนต่างรู้จักเรื่องนี้ ทุกคนเล่าเรื่องนี้ และต่างก็หวังอยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับตนเอง ดังนั้น แต่ละคนจึงเล่าเรื่องนี้ราวกับมันเกิดขึ้นกับตนเอง แต่ไม่เป็นเช่นนั้นหรอก…”

ละไมมาด คำฉวี มีตำนาน

วัชระ แวววุฒินันท์ ก็มีตำนาน

 

เช่นเดียวกับ “แตกกอ-ต่อยอด” ของศิลา โคมฉาย

กรณี 13 หมูป่า ไปแตกยอดกับบางช่วงชีวิตของ “ชีวิตนักปฏิวัติ”

ที่อยู่ระหว่างความ “เป็น” ความ “ตาย”

เมื่อฐานที่มั่นถูกปิดล้อม

จำต้องปิดลับซ่อนตัวให้สนิท

บางคราวอดทนกินตม

ขุดบ่อเล็กๆ ในดินเลน ทิ้งไว้ให้น้ำซึมใส แล้วค่อยตักทีละช้อนใส่กระติกเอาไว้จิบดื่ม

แม้จะเหม็นกลิ่นหมัก ทั้งโคลนและใบไม้เน่า

แต่ก็ต้องกบดานให้สนิทที่สุด

หยุดกระทั่งการเคลื่อนไหวทางความคิด

แค่นอนนิ่งดูการเคลื่อนที่ของมดง่าม

นิ่งเฉย

เพื่อการลุกยืน แล้วก้าวเดินต่อไป

เฉกเช่น 13 ชีวิตในถ้ำนั้น

 

เรื่องนี้เป็น “ดราม่า”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฟันธงไว้ในคอลัมน์

และดราม่านั้น ไม่ได้มีผู้แต่งบทหรือผู้จัดละครให้แก่สังคมโดยรวม

แต่สังคมเองนั่นแหละร่วมเขียนบทและร่วมจัดละครขึ้นทั้งโรง

เสียงเชียร์และเสียงด่า ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของดราม่า

ซึ่งสื่อ “สาร” ของสังคมให้แก่สังคมเอง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฟันธงถึงเด็กติดถ้ำที่เชียงราย ว่าเป็นดราม่าเรื่องใหญ่สุดในสังคมไทยเวลานี้

เหตุเพราะสังคมไทยกำลังขาดแคลนความเป็นปึกแผ่น หรือ solidarity ที่สุด

แล้วไปเกี่ยวข้องอะไรกับ “ปึกแผ่น”

นี่ย่อมต้องอ่าน “ดราม่า” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ อย่างพินิจพิเคราะห์

รวมถึงอาจต้องคิดไกลไปถึงว่า ใครคือ “พระเอก” ของดราม่าเรื่องนี้?

ซึ่งสปอยส์ไว้หน่อยก็ได้ว่า ไม่ใช่ “ไสยศาสตร์” “ครูบา” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่น

เพราะสิ่งเหล่านี้ ไปยืนอยู่ริมเวที หรือตกเวทีไปแล้ว

 

นี่ย่อมยั่วแย้งกับ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” แห่งผี พราหมณ์ พุทธ

ที่ยังยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งถ้ำ

ทั้งในฐานะ “ศาสนสถาน” แรกๆ ของมนุษย์

และสถานที่ชาวบ้านเชื่อ “ผี” ครอบครองอยู่

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเกี่ยวข้องกับความเชื่อทั้งพุทธทั้งผีมากกว่าเหตุการณ์ไหนๆ

เพราะมันเกิดขึ้นที่ “ถ้ำ” ซึ่งเป็นพื้นที่ความเชื่อลึกๆ ลับๆ สืบมาแต่โบราณนี่แหละ

และนานๆ จะได้เห็นพุทธ ไสย ผี วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปลงพื้นที่เดียวกัน

แล้วใครชนะ

“นิธิ เอียวศรีวงศ์” มีคำตอบให้ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง”