แมลงวันในไรส้ม / ข่าวฮ็อตจากอังกฤษ ‘บิ๊กตู่’ ดีเดย์ ก.ย.นี้ ไปต่อหรือลงหลังเสือ

แมลงวันในไรส้ม

 

ข่าวฮ็อตจากอังกฤษ

‘บิ๊กตู่’ ดีเดย์ ก.ย.นี้

ไปต่อหรือลงหลังเสือ

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. นำทีมเศรษฐกิจและภาคธุรกิจเดินทางเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส

ถือเป็นทริปใหญ่ที่รัฐบาลมีการตระเตรียมการเป็นพิเศษ หลังจากประเทศไทยมีการรัฐประหาร ทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศทางยุโรปเสื่อมทรามลงไป

ในการเยือนสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าพบหารือกับเทเรซา เมย์ นายกฯ สหราชอาณาจักร และเอ็มมานูเอล มาครง นายกฯ ฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นชาติชั้นนำของยุโรป

การเดินทางครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวกับผู้นำ กล่าวกับคนไทยในอังกฤษและฝรั่งเศส และให้สัมภาษณ์ ระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน

และหลังจากนั้น 3 เดือน จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์เองจะตัดสินใจเล่นการเมืองหรือไม่ในเดือนกันยายน

ขณะที่เทเรซ่า เมย์ ได้สนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใสตามกำหนดเวลาดังกล่าว โดยขอให้ยกเลิกกรอบจำกัดพรรคการเมืองต่างๆ ก่อน พร้อมกับชี้ว่า การเลือกตั้งจะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย

มีสื่อในประเทศไทยบางฉบับพาดหัวข่าวว่าอังกฤษกดดันไทย ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์และโฆษก ต้องชี้แจงและยืนยันว่า อังกฤษแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำไทย ไม่ได้มีการกดดันแต่อย่างใด

เป็นจังหวะเดียวกับที่นิตยสารไทม์นำ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นปก พร้อมบทสัมภาษณ์ที่มีการวิเคราะห์ไปพร้อมกัน

ตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์นี้ ตั้งฉายา พล.อ.ประยุทธ์ว่าเป็น “สฤษดิ์น้อย” โดยเปรียบเทียบกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกฯ ที่มาจากรัฐประหารและครองอำนาจอย่างยาวนาน ช่วงหลัง พ.ศ.2500

ขณะที่ทางประเทศไทยมีการตระเตรียมเรื่องการเลือกตั้ง และมีความคืบหน้าเกิดขึ้นไม่น้อย

 

โดยวันที่ 25 มิถุนายน ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เรียกประชุมร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ 72 พรรค

เพื่อหารือปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือกับพรรคการเมืองว่า

การเลือกตั้งจะจัดได้ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ข้อ คือ

  1. ความสงบเรียบร้อยในช่วงที่มีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  2. การที่จะได้รับพระราชทานกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ทั้งสองฉบับ
  3. การผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากชุดเก่าเป็นชุดใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด
  4. การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดขึ้นเมื่อใด เพื่อจะได้หลบหลีกไม่ให้ซ้ำอยู่ในเดือนเดียวกัน

และ 5. ความสงบเรียบร้อยทั่วไปของประเทศ

 

นายวิษณุกล่าวว่า ปัญหาที่ผู้แทนพรรคการเมืองกังวล สอบถามและเรียกร้องประมวลออกมาได้ 4 ประเด็น คือ

  1. เรื่องการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ที่มีความสำคัญ เพราะถ้าไม่มีการจัดประชุมใหญ่ จะไม่สามารถรับสมัครสมาชิกได้ ไม่สามารถจัดทำไพรมารีโหวตได้ จะกระทบต่อการรับสมัครและสรรหาผู้สมัคร ทางแก้ที่เสนอต่อที่ประชุมในวันนี้คือ หากจำเป็นให้ขออนุญาตจาก คสช. แต่ทางแก้ดังกล่าวอาจจะยังไม่เป็นที่พอใจนัก จึงเตรียมหนทางแก้ที่จะเสนอต่อที่ประชุม คสช. ให้พิจารณา เนื่องจากมีระยะเวลาอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรก คือระยะเวลา 90 วันในการทูลเกล้าฯ พ.ร.ป. และรอรับพระราชทานเพื่อประกาศ, ช่วงที่สองคือ เมื่อประกาศใช้กฎหมายโดยลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะต้องทิ้งระยะเวลาไว้อีก 90 วันเพื่อยังไม่ให้มีผลบังคับ และช่วงที่สาม ระยะเวลา 150 วัน สำหรับจัดให้มีการเลือกตั้ง

สำหรับ 90 วันของช่วงที่สอง จะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งโดย กกต. ใช้เวลา 60 วัน ทำไพรมารีโหวตอีก 30 วัน จากนั้นจะล้ำเข้าไปในห้วงที่สามคือ 150 วัน โดยใช้ 20 วัน ในการรับสมัคร ส.ส. ดังนั้น จะเหลือเวลาอีกเพียง 40 วัน ก็จะครบ 150 วัน ซึ่งคงลำบากในการหาเสียง

จะเสนอข้อหารือไปยัง คสช. ว่าในช่วงเวลา 90 วันให้ กกต. สามารถแบ่งเขตการเลือกตั้งใน 60 วัน และตามมาด้วยทำไพรมารีโหวตอีก 60 วัน จากนั้นค่อยเข้าสู่ช่วงที่สามคือ 150 วัน แล้วค่อยใช้เวลา 20 วันในการรับสมัคร จากนั้นจะเหลือเวลาอีก 130 วัน ซึ่งก็จะทำให้จัดการเลือกตั้งเร็วหรือช้าเมื่อใดก็ได้

กกต. ระบุว่าหากจะจัดการเลือกตั้ง ขอเป็นวันอาทิตย์ในช่วงสิ้นเดือนของทุกเดือน เพื่อให้อยู่ในกรอบ 150 วัน จึงตั้งเป็นตุ๊กตาขึ้นมาว่าเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์, 31 มีนาคม, 28 เมษายน และ 5 พฤษภาคม

ขอย้ำว่า เป็นการตั้งตุ๊กตาขึ้นมาคร่าวๆ เท่านั้น ขอสื่ออย่าพาดหัวว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้กำหนดการเลือกตั้งตามมาตรา 11-12 คือ กกต. ไม่ใช่รัฐบาลและ คสช.

จะผ่อนคลายให้ใช้เวลา 90 วันนั้นแบ่งเขต ทำไพรมารีโหวต ขณะเดียวกันจะผ่อนคลายให้พรรคประชุมใหญ่ได้ประมาณกันยายนถึงธันวาคม เพื่อให้รับสมาชิกและเตรียมเรื่องทำไพรมารีได้ และให้ กกต. ติดต่อพรรคการเมืองเพื่อทำการแบ่งเขตได้โดยถูกกฎหมาย

ส่วนการจัดตั้งสาขาพรรค เพื่อให้ได้หัวหน้าสาขาพรรค 4 สาขาเพื่อจัดประชุมใหญ่ได้ จะปลดล็อกโดยไม่ต้องมีหัวหน้าสาขาและหัวหน้าพรรคในการทำไพรมารีโหวต

ในเรื่องไพรมารีโหวต ที่ประชุมเสนอให้ทำไพรมารีโหวตระดับภาค ยกเลิกการทำไพรมารีโหวต ให้เลื่อนการทำไพรมารีโหวตไปเริ่มใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่ง พล.อ.ประวิตรได้รับข้อเสนอเพื่อไปหารือกับ คสช. กกต. กรธ. และกรรมการหรือผู้แทนจากสภาต่อไป

ส่วนเรื่องการปลดล็อก นายวิษณุกล่าวว่า จะรู้ว่าปลดล็อกโดยสิ้นเชิงเมื่อใดและวันเลือกตั้งคือวันที่เท่าไร เมื่อมีการประชุมหารือในครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การปลดล็อกโดยสิ้นเชิงนั้นคือต้องยกเลิกประกาศ 3 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ทั้งนี้ จะให้ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้ง

 

โดยภาพรวม ผลการประชุมหารือ แม้จะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ข้อจำกัดสำหรับพรรคการเมืองยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ขณะที่มีกระแสข่าวว่า กกต.จะพิจารณากรณีนายทักษิณ ชินวัตร กล่าวผ่านวิดีโอคอลไปยังสมาชิกพรรคเพื่อไทย ในลักษณะที่อาจเข้าข่ายชี้นำหรือครอบงำพรรค อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง

กำหนดเวลาสำคัญที่น่าจะส่งผลต่อเรื่องต่างๆ อาจเกี่ยวพันถึงการตัดสินใจลงสนามการเมืองหรือไม่ลงของ พล.อ.ประยุทธ์ในเดือนกันยายนนี้

กระแสข่าวจับตาการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์จะร้อนแรงต่อไปอย่างต่อเนื่อง