การศึกษา / ยื้อ ‘แก้คำสั่ง คสช.’ ‘ผอ.สพท.-ศธจ.’ ขัดแย้งบานปลาย!!

การศึกษา

 

ยื้อ ‘แก้คำสั่ง คสช.’

‘ผอ.สพท.-ศธจ.’ ขัดแย้งบานปลาย!!

 

ฮึ่มๆ กันมาพักใหญ่ว่าจะมีเคลื่อนไหวหากการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่คืบหน้า

ล่าสุดองค์กรบิ๊กเขตพื้นที่ฯ คลอดมาตรการออกมาแล้ว!!

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 ออกมา

นับแต่นั้นก็เกิดการไม่ลงรอยกันระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) มาโดยตลอด

โดย ผอ.สพท. และผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.ร.ร.) ร่วมกันต่อต้าน ศธจ. เริ่มจาก ผอ.สพท. งัดข้อไม่ไปร่วมงานที่ ศธจ. จัดขึ้น

ผอ.ร.ร. ฟ้องร้อง ศธจ. โดยกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากยังไม่พิจารณาเลื่อนเงินเดือน ผอ.ร.ร. ฟ้องร้อง ศธจ. กล่าวหาว่าไม่ลงนามย้าย ผอ.ร.ร. ตามมติคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตลอดจน

ผอ.ร.ร. ตอบปฏิเสธ ศธจ. ที่จะชี้แจงข้อร้องเรียนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยให้เหตุผลว่ารอ ผอ.สพท. สั่ง

ทั้งนี้เนื่องจากคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 ข้อ 13 กำหนดให้โอนการใช้อำนาจการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของ ศธจ. โดยความเห็นชอบของ กศจ.

จากเดิมอำนาจตามมาตรา 53(3) เป็นของ ผอ.สพท. และอำนาจตามมาตรา 53(4) เป็นของ ผอ.ร.ร.

 

ครั้งนั้นชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) จับมือสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) และชมรม/สมาคมครูจังหวัดร้อยเอ็ด ออกมาสะท้อนปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 พร้อมเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขคำสั่ง คสช. ดังกล่าว

ร้อนถึงประธานชมรม ศธจ. ต้องออกมาโต้กลับ นำมาสู่เมื่อเดือนธันวาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. สั่งการให้แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พิจารณา

สาระที่ปรับแก้ คือ คืนการใช้อำนาจตามมาตรา 53(3) และ (4) ให้แก่ ผอ.สพท. และ ผอ.ร.ร. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานบุคคล นอกจากนี้จะให้ ศธจ. เป็นผู้แทน ศธ. ทำหน้าที่ประสานงาน บูรณาการการศึกษาในระดับจังหวัด

โดยจะตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ

คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษา

และคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล

ทั้ง 2 ชุดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศธจ. เป็นเลขานุการ สำหรับคณะกรรมการบริหารงานบุคคล จะมี ผอ.สพท. ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีสัดส่วนเท่ากับ ผอ.สพท. และผู้แทนจากส่วนต่างๆ

6 เดือนที่เสนอร่างแก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 ไปยังนายกรัฐมนตรี กลับไร้ความคืบหน้า

กฤษฎีกาเชิญฝ่ายกฎหมายของ ศธ. ไปชี้แจงหลายรอบ ศธ. ดึงกลับมาแก้ไข 2 รอบ แต่ยังไม่มีประกาศใช้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2561 จึงมีการประชุมแกนนำ ผอ.สพท. ทั่วประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมนักบริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้แทน ชร.ผอ.สพท. และผู้แทนประธานคลัสเตอร์ทั้ง 4 ภูมิภาค

โดยมีมติที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการลาออกจาก กศจ. และคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.)

 

นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ประธาน ชร.ผอ.สพท. และเลขาธิการสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 ใช้มาปีเศษแล้ว แต่ไม่มีผลงานเป็นไปตามเจตนารมณ์

โดยเฉพาะการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจาก กศจ. ติดหล่มบริหารงานบุคคล การประชุม กศจ.ทุกจังหวัด จะมีเฉพาะเรื่องการบริหารงานบุคคลเกือบ 100% การขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ เชิงบูรณาการไม่ได้ปรากฏผลเป็นรูปธรรม เป็นเพียงวาทกรรม เป็นการบูรณาการแบบจำแลง เพียงแค่รู้จักหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยที่ยังมิได้บูรณาการเนื้องานที่เกี่ยวข้องกันได้อย่างแนบแน่น

ฉะนั้น อาศัยมาตรา 34, 42 และมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมจึงมีมติให้ดำเนินการดังนี้

  1. ส่งตัวแทนไปกราบเรียนนายกฯ เพื่อสะท้อนปัญหาและข้อเท็จจริงหลังประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 มาปีเศษว่ามีผลกระทบต่อคุณภาพประสิทธิภาพ โอกาสและความคุ้มค่าต่อการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้อย่างไรบ้าง เช่น ผลสอบโอเน็ตทุกระดับชั้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลดลงมากกว่าทุกปีอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การพิจารณาสั่งการการบรรจุแต่งตั้ง อัตรากำลังครูที่ขาดแคลน ไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา ล่าช้า ทำให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างล่าช้า เป็นต้น

และ 2. ผอ.สพท. และรอง ผอ.สพท. ทั่วประเทศ จะขออนุญาตผู้บังคับบัญชาลาออกจากการเป็น กศจ. และ อกศจ. ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 นี้ เนื่องจากไม่อยากเป็นหุ้นส่วนที่ทำลายระบบการศึกษา

 

อุณหภูมิจากนี้คงร้อนระอุมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเดือนสิงหาคม องค์กร ผอ.สพท. เริ่มแสดงออกทางสัญลักษณ์โดยจะลาออกจาก กศจ./อกศจ. ทั่วประเทศ พร้อมกับยื่นหนังสือข้อเสนอแนะให้แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ

นอกจากนี้แกนนำ ผอ.สพท. จะแชร์ข้อความในกลุ่มไลน์ โดยจะใช้โมเดลของนายพีรพงศ์ สุรเสน ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 7 ที่จะกราบไหว้ขอพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลใจให้นายกฯ ได้พิจารณาแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 ข้อ 13 เพราะเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา

จากนี้เจ้ากระทรวงอย่าง นพ.ธีระเกียรติ คงต้องรีบแก้ไข เพราะการปล่อยเวลาไปเรื่อยๆ ก็ไม่ต่างจากระเบิดเวลา

สุดท้ายแล้วปฏิรูปการศึกษาจะพัง และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ นักเรียน!!