วิกฤติศตวรรษที่21 : สิ่งแวดล้อมทางการเมืองในตุรกี

วิกฤติประชาธิปไตย (10)

พรรคความยุติธรรมและการพัฒนากับสิ่งแวดล้อมทางการเมืองในตุรกี

พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development Party ชื่อย่อภาษาตุรกีว่า AK Parti จากคำว่า Adalet ve Kalkinma Partisi สื่อตะวันตกนิยมเรียกย่อว่า AKP ในที่นี้ต่อไปจะเรียกว่าพรรคเอเคพี เป็นพรรครัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

ก่อตั้งโดยเรเจพ แอร์โดอาน ในปี 2001 และสามารถชนะการเลือกตั้งทั่วไป อย่างถล่มทลายในปี 2002

ได้ที่นั่งในสภาถึงสองในสามทั้งที่เพิ่งก่อตั้งได้ปีเดียว

นับเป็นสิ่งน่าประหลาดใจ มากไปกว่านี้ ก็คือพรรคเอเคพียังชนะการเลือกตั้งทั่วไปแบบได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ต่อเนื่องในปี 2007 และ 2011

แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนมิถุนายน 2015 เอเคพีชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด

จึงได้แก้เกมโดยจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน และได้เสียงข้างมากเด็ดขาดอีกครั้ง

ยิ่งเป็นสิ่งน่าประหลาดใจขึ้นไปอีกว่า พรรคและผู้นำพรรคนี้ทำได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้ยังสะท้อนลักษณะเฉพาะบางอย่างของการเมืองตุรกี

จึงควรจะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทสิ่งแวดล้อมทางการเมืองของตุรกีเป็นเบื้องต้นก่อน

เวทีการเมืองของตุรกีนับแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐในปี 1923 นั้น เป็นเวทีการเมืองของฝ่ายขวาที่ควบคุมกำกับโดยกองทัพไม่ให้ออกลู่นอกทาง

รัฐบาลทั้งหลายที่ตั้งขึ้นล้วนเป็นรัฐบาลปีกขวาด้วยกันทั้งสิ้น

เริ่มต้นด้วยพรรคสาธารณรัฐประชาชนที่ก่อตั้งโดย “เคมาล บิดาชาวเติร์ก” เอง ปกครองแบบพรรคเดียวมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเปิดการเลือกตั้งทั่วไปแบบมีหลายพรรคครั้งแรกในปี 1946

แต่พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ ที่สำคัญเป็นพรรคที่แตกหน่อจากศูนย์อำนาจของเคมาล ถือได้ว่าเป็นพรรคแบบเคมาลเช่นกัน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ที่ได้ขึ้นมาเป็นพรรครัฐบาลในช่วงทศวรรษ 1950

หลังการรัฐประหารปี 1960 พรรคนี้แตกกระจาย

หัวหน้าพรรคถูกแขวนคอในข้อหาทรยศต่อชาติ เอนเอียงไปข้างศาสนามากเกินไป ได้แปลงโฉมใหม่เป็นพรรคความยุติธรรม ซึ่งได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ยึดแนวทางลัทธิเคมาลเช่นกัน ได้เป็นรัฐบาลต่อเนื่องกันหลายสมัย หลังการรัฐประหารปี 1980 พรรคความยุติธรรมสลายตัวเป็นพรรคสัจมรรค (True Part Party ก่อตั้งปี 1983) โดยมีผู้นำคนเดิมคือสุเลมาน เดมิเรล และได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีอีก เขาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดคนหนึ่งของตุรกี

มีพรรคการเมืองสำคัญอีกพรรคหนึ่งได้แก่พรรคมาตุภูมิ (ก่อตั้ง 1983 หลังการก่อรัฐประหารปี 1980) เนื้อแท้ก็เป็นพรรคเคมาลหรือพรรคทหารอีกเช่นกัน ผู้ก่อตั้งคือทุรกุต โอซาล เขาเคยทำงานอยู่ที่ธนาคารโลก และนำความคิดเสรีนิยมใหม่และการเข้ากระบวนโลกาภิวัตน์มาปฏิบัติในตุรกี

พรรคการเมืองฝ่ายขวาในตุรกีอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นพรรคเคร่งอิสลาม มีผู้นำสำคัญคือ เนจเมตติน แอร์บาคาน ผู้ซึ่งแอร์โดอานได้เข้าไปร่วม และต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองไปด้วย

พรรคการเมืองที่แอร์บาคานตั้งขึ้นและถูกยุบ ได้แก่ พรรคปลดปล่อยชาติ (ก่อตั้ง 1972 แอร์โดอานเข้าร่วมก่อน 1981) ต่อมาพัฒนาเป็นพรรคสวัสดิการ (1983-1998) แอร์โดอานที่เป็นประธานสาขาพรรคกรุงอิสตันบูลได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีในปี 1994 และสามารถชนะการเลือกตั้งทั่วไป

แอร์บาคานหัวหน้าพรรคได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่ผู้ที่มีภาพลักษณ์เคร่งศาสนา ได้รับตำแหน่งการเมืองสูงเช่นนี้

แต่ก็อยู่ไม่ได้นาน ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง ถูกห้ามทางการเมืองด้วยการรัฐประหารแบบหลังสมัยใหม่ ส่วนแอร์โดอานก็ถูกห้ามทางการเมืองด้วยเช่นกันในข้อหาสร้างความเกลียดชังทางศาสนา เป็นอันว่า แม้หนทางการเมืองของฝ่ายขวาเคร่งศาสนาก็ตีบตันไปไม่รอด พรรคเอเคพีที่แอร์โดอานตั้งขึ้นใหม่ จำต้องปลีกตัวจากกลุ่มเคร่งศาสนา เพื่อขยายฐานเสียงและการสนับสนุนออกไป และเป็นการเอาตัวรอดพร้อมกันไป

นอกจากนี้ยังมีขบวนการอิสลามของเฟตฮุลลาห์ กูเลน (เกิด 1941 ถึงปัจจุบัน) กูเลนเป็นนักเทศน์ที่จับใจชาวอิสลามนิกายซุนหนี่ มีผู้เลื่อมใสทั้งในและนอกประเทศ สามารถเคลื่อนไหวเป็นขบวนการประชาสังคมขนาดใหญ่ เพื่อการศึกษาที่ทั่วถึง ความมีใจกว้าง อดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และสันติภาพ ที่สำคัญด้วยการจัดตั้งโรงเรียนและสถาบันการศึกษา อบรมเยาวชนให้ศรัทธาในลัทธิกูเลน และเข้าไปซึมลึกอยู่ในกลไกรัฐ ข่าวว่าเขาทำงานใกล้ชิดกับซีไอเอ ปี 1999 เดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐและได้บันทึกเทปออกอากาศใจความว่า ให้ผู้เลื่อมใสของเขาที่อยู่สถาบันกฎหมายและการบริหารติดตามสถานการณ์ เพิ่มความระมัดระวังและรอคอยโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ ซึ่งลัทธิเคมาลถือว่าเป็นการเตรียมสร้างรัฐอิสลามขึ้นในตุรกี และได้เล่นงานฟ้องศาล กูเลนต้องลี้ภัยในสหรัฐนับแต่นั้น

ขบวนการของกูเลนได้ชื่อว่าเป็น “มุสลิมสายกลาง” และเข้าเป็นพันธมิตรเฉพาะหน้ากับแอร์โดอาน ซึ่งมีส่วนช่วยให้พรรคเอเคพีชนะการเลือกตั้งปี 2002

หลังจากนั้นยังได้ร่วมมือกันต่อสู้กับกลุ่มนายทหารปีกขวา และชนชั้นนำที่ยึดแนวทางโลกวิสัย ที่เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายแอร์โดอานได้ความมั่นคงของรัฐบาล และขจัดคู่แข่งทางการเมือง

ฝ่ายกูเลนได้ประโยชน์ในการขยายเครือข่ายของตนในกลุ่มตำรวจและศาลจนแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม หลังปี 2011 ความสัมพันธ์นี้เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว เมื่อทั้งสองฝ่ายเริ่มมีความมั่นคง แอร์โดอานระแวงว่ากูเลนจะสร้างอำนาจรัฐเงาขึ้น ส่วนกูเลนก็ต้องการขึ้นมาแทน เพราะเห็นว่ากลุ่มแอร์โดอานนั้นมีคอร์รัปชั่นมาก ความขัดแย้งนี้รุนแรงกันขึ้นทุกที จนมีการเคลื่อนไหวกวาดล้าง แตกหักกันในปี 2013 หลังเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ จนรุนแรงที่สุดในปี 2016

แอร์โดอานกล่าวหาว่ากูเลนเป็นตัวการก่อรัฐประหารขึ้น โดยการรู้เห็นเป็นใจของสหรัฐ (ดูบทความของ F. William Engdahl ชื่อ The CIA, Fethullah Gulen and Turkey”s Failed July 2016 Coup- Behind Turkish Arrest Warrant for Ex CIA Graham Fuller ใน gloalresearch.com 11.12.2017)

ส่วนพรรคฝ่ายซ้ายที่เป็นสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์มีพลังในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 เนื่องจากอิทธิพลของสหภาพโซเวียต แต่ก็ลดพลังลงมากหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต พรรคฝ่ายซ้ายนี้ไม่เคยได้ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล

พรรคเอเคพีกับประชาธิปไตยเชิงอนุรักษ์

พรรคเอเคพีที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ในบริบทการเมืองตุรกี ต้องเป็นพรรคฝ่ายขวาทางเลือกซึ่งแอร์โดอานก็พร้อมแล้ว ทั้งด้านความคิดและการจัดตั้ง นั่นคือต้องต่อต้านฝ่ายซ้าย และไม่ใช่เคร่งอิสลามต่อต้านตะวันตกเพราะผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าไม่อาจสู้กับลัทธิเคมาลและกองทัพได้

สามัคคีกับกลุ่มกูเลนที่ถือว่าเป็นมุสลิมสายกลาง มีเครือข่ายกว้างขวาง ในหมู่ผู้คนทั่วไป และในกลไกรัฐ พรรคเอเคพียังมุ่งเน้นคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสในเมืองและชนบท รวมทั้งนักธุรกิจระดับกลางและล่างหรือกลุ่มนายทุนชาติ และผู้มีแนวคิดชาตินิยม

และให้สัญญาในการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ เข้าสู่กระบวนโลกาภิวัตน์ของสหรัฐและสหภาพยุโรป พรรคเอเคพีประกาศแนวคิดนี้ว่าเป็น “ประชาธิปไตยเชิงอนุรักษ์”

ประชาธิปไตยเชิงอนุรักษ์ มีทั้งด้านประชาธิปไตย คือการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูป ในทางการเมืองคือการงัดข้อหรือการปฏิรูปลัทธิเคมาล ในทางสังคมคือการเปิดกว้างต่อประชาสังคม และเสรีภาพในการถือศาสนา เช่น ไม่ห้ามสตรีสวมผ้าคลุมผมในสถานศึกษา การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายความมั่งคั่งและการดูแลวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก และก็มีทั้งด้านการอนุรักษ์ คือการสืบทอดลัทธิเคมาลในเรื่องชาตินิยม รัฐนิยม ต่อต้านคอมมิวนิสต์ รักษาความเป็นโลกวิสัยไว้ ไม่กลายเป็นรัฐอิสลามแบบอิหร่าน โดยการรณรงค์แบบนี้ พร้อมชื่อเสียงในฐานะเป็นนักต่อสู้และผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จเมื่อดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงอิสตันบูล คะแนนนิยมของแอร์โดอานจึงพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ระหว่างปี 1999 ถึงก่อนหน้าการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2002 ได้มีเหตุการณ์ใหญ่ที่ช่วยส่งเสริมให้แก่พรรคเอเคพีชนะการเลือกตั้งหลายประการได้แก่

ก) กระแสการปฏิรูปประชาธิปไตย เริ่มปี 1995 ที่ตุรกีเข้าร่วมข้อตกลงสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรป ที่สำคัญในปี 1999 ได้ขอสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เริ่มการเจรจาเข้าเป็นสมาชิกจริงจังปี 2005)

มีการปฏิรูปประชาธิปไตยที่สำคัญได้แก่ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ราวหนึ่งในสามยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชนสากล

เลิกโทษประหาร ขยายสิทธิของสตรี ป้องปรามการทรมานและปรับปรุงสภาพคุก มีกฎหมายใหม่ที่ผ่อนคลายการควบคุม การแสดงออก ประชาสังคม และสื่อมวลชน กระแสสูงประชาธิปไตยนี้ลดอิทธิพลของลัทธิเคมาลและกองทัพในฐานะเป็น “ยามรักษาการณ์เก่า” ของประเทศ

ข) เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในตุรกีรุนแรงในปี 2001 โครงสร้างทางเศรษฐกิจและตลาดพลิกคว่ำ อัตราดอกเบี้ยพุ่งกระฉูด ตลาดหุ้นอิสตันบูลแทบล่ม ธนาคารเรียกคืนเงินกู้ ค่าเงินลีราของตุรกีทรุดหนัก ประชาชนจำนวนไม่น้อยหันไปใช้เงินดอลลาร์แทน สำรองเงินตราระหว่างประเทศของธนาคารกลางร่อยหรอลงไปมาก ผู้คนพากันออกมาประท้วง

ที่ซ้ำเติมคือภัยธรรมชาติ เกิดแผ่นดินไหวใหญ่สองครั้งในปี 1999 (ความรุนแรงเกินกว่า 7 ตามมาตราริกเตอร์)

ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นเป็นเขตอุตสาหกรรม ครั้งแรกเดือนสิงหาคม มีผู้เสียชีวิตกว่า 17,000 คน

AFP PHOTO / BULENT KILIC

ครั้งที่สอง เดือนพฤศจิกายนมีผู้เสียชีวิตเกือบพันคน รัฐบาลผสมจากพรรคประชาธิปัตย์ซ้าย พรรคขบวนการชาตินิยม และพรรคมาตุภูมิ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหลัก ต้องสูญเสียเกียรติภูมิที่ไม่สามารถจัดการแก้ไขช่วยเหลือได้ทันใจ และทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ประชาชนลงโทษพรรคเหล่านี้ด้วยการไม่หย่อนบัตรให้ และหันไปหาทางเลือกใหม่

ค) การกำหนดนโยบายต่อกลุ่มมุสลิมของสหรัฐและตะวันตกที่มีรายละเอียดขึ้น นั่นคือหลังเหตุวินาศกรรมเวิลด์เทรดปี 2001 ผู้กำหนดนโยบายสหรัฐได้มีการจำแนกผู้นำมุสลิมออกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มหนึ่งเป็นพวกมุสลิมสายรุนแรงก่อการร้าย

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นมุสลิมสายกลาง และแอร์โดอานถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ และหวังว่าถ้าแอร์โดอานได้ขึ้นสู่อำนาจก็จะเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศในตะวันออกกลางและรัฐอาหรับที่มีรัฐบาลเผด็จการราชาธิปไตย เป็นแหล่งสร้างมุสลิมสายรุนแรงขึ้น (ดูบทความของ Kemal Ciftci ชื่อ The Kemalist Hegemony in Turkey and the Justice and Development Party (AKP) as an “Other” ใน cairn.info 2013)

หลังพรรคเอเคพีชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2002 แอร์โดอานเดินสายเยือนประเทศในสหภาพยุโรป และได้รับการต้อนรับเหมือนเป็นนายกรัฐมนตรีแม้ว่าเขาไม่ได้เป็นเนื่องจากถูกห้ามทางการเมือง (กูล ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน)

เมื่อแอร์โดอานพ้นจากการถูกห้าม และชนะในการเลือกตั้งซ่อม จึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2003

เปิดโฉมหน้าใหม่ของการเมืองตุรกีจากอยู่ในมือของชนชั้นสูงที่เรียกกันว่า “ชาวเติร์กผิวขาว” มาสู่ความหวังว่าจะถึงมือสาธารณชน

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการงัดข้อระหว่างระบอบแอร์โดอานกับลัทธิเคมาลและกองทัพ