อภิญญ ตะวันออก : บนรอยทางความรักต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ถึงตอนนี้ ฉันก็อดที่จะทึ่งหนึ่งในงานวิจัยของฌักส์ เนโพต และฆิง ฮ็อก ดี ผู้มีความลุ่มหลงต่อศึกษาด้านวัฒนธรรมของกัมพูชายุค “70

ตัวอย่างผลงานวิจัย “ต้นทางแห่งความเป็นสีและวิวัฒนาการของกัมพูชา” (L”origanisation du champ de la couleur en Cambodgien est son evolution/Peninsule no.70) ที่เปิดมุมมองต่อกัมปูเจียในมุมมององค์รวมต่อความเป็นสี ที่นำพาฉันไปสู่ความหมายอื่น

แต่ด้วยเฉดเชิงลึกของรายละเอียดที่รวบรวมบริบทความเป็นสีที่ก่อให้เกิดมุมมองต่อกัมพูชา ว่าด้วย “สี” ในที่นี้ เดิมทีสมัยก่อนเขมรมักใช้แต่สีเฉดหลักๆ อีกการตั้งเฉดเหล่านั้น มาจากอิทธิพลของวิถีเกษตรกรรม

ในจำนวนนี้มีบางเฉดที่ว่า มีการพ้องเสียงและความหมายในเชิงวัฒนธรรมของชาวเสียม (siamois) หรือไทยด้วย

เริ่มจากเฉดที่ 17-20 ของสีเหลืองที่ไล่จากแก่ไปหาอ่อน เฉพาะเหลืองเขมรนี้ มีตั้งแต่ไล่โทนหลายรูปแบบ เช่น เหลืองอ่อน-เหลืองขจี, เหลืองแก่ เหลืองส้ม-เหลืองซีจำปา หรือว่าเหลืองตุม

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ “สีเขียว” ที่นี้หมายถึง “สีน้ำเงิน” ของชาวเขมร กรณีศึกษานี้ยังขยายเล็กๆ ว่า ไทยเองก็เคยใช้แบบเดียวกับเขมร คือเรียกสีเขียวในความหมายว่าสีน้ำเงิน ซึ่งน่าจะพบปะปนในเขตตอนใต้ (อภิญญ ตะวันออก เพิ่มเติมความเห็น)

รวมถึงสี “ใบตอง” หรือ “ใบทางกล้วย” หรือเขียวของกัมพูชา โดยงานวิจัยชิ้นนี้ก็สนับสนุนว่า ในอดีตไทยน่าจะเคยให้ความหมายต่อสีเขียวแบบเดียวกับกัมพูชาคือ “ใบตอง” เช่นกัน ในทำนองเดียวกับเขียวปีกแมลงทับ เขียวใบตอง เขียวขจี (เขียวอ่อน) เป็นต้น

นั่นคือ เฉพาะสีเขียว เหลือง น้ำเงินแบบแขฺมร์ (และอาจจะเป็นไทยในอดีต)

 

เพิ่มเติมโดยอีกว่า “สี” เขมรและไทยในที่นี้ยังขยายไปยังคำกริยาและคุณศัพท์ ที่มีนัยยะในเชิงความหมายเปรียบเทียบ

ตัวอย่างเรามี “ใส่ร้ายป้ายสี” เขมรก็ใช้ตรงความหมายด้วยคำว่า “เลียบพณ์” (leap-pวว/ปอว์) หรือ “มีสุข” ก็ “มีสี(สัน)” หรือ “เมียนพณ์” แต่พอไร้สุขหมองเศร้าก็ “อ็อดเมียนพณ์”

แต่ที่ทำให้ฉันตื่นเต้นมากกลับเป็นการค้นพบนิยามของคำว่าสีในศัพท์เขมรเก่า โดยอาจารย์เสาวรส เลอวิทซ์ (Saveros Lewitz) ซึ่งเป็นลูกสายตรงของ ศ.จอร์จ เซเดส์ และยังสตรีเขมรคนแรกในแวดวงวิชาการด้านภาษาศาสตร์อีกด้วย

อาจารย์เสาวรสให้คำจำกัดความของคำว่าสี หรือ “พณ์” ว่าเป็นคำเขมรเก่า ที่มีความหมายตรงกับคำว่าวรรณะ (varnฺa) ในภาษาสันสกฤตอีกชั้นหนึ่งด้วย (ดู เจอร์นาล เอเชียติก, 1971)

ถึงตอนนี้ก็ทำให้ฉันได้คลายปมสงสัย โดยเฉพาะกรณี 2-3 ปีที่ผ่าน เมื่อพบว่ามีวาทกรรมต้องห้ามในหมู่ชาวเขมรคำหนึ่งซึ่งนั่นก็คือ “ปฏิวัติสี-ปฏิวัติพณ์” อันมาจากปมการเมืองจนนำไปสู่ “เมตาฟอร์” หรืออุปมาอุปไมยในปฏิวัติสี-ปฏิวัติวัฒนธรรมแบบกัมปูเจีย

 

อาศัยจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความเดียงสาในวาทกรรมคนแรกๆ คือเด็กหนุ่มวัย 21 ปี เขามีชื่อว่า กง ไรยา

ที่เขาเขียนโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยคำว่า “ปฏิวัติสี” พร้อมด้วยความรู้สึกอันใสซื่อ นั่นคือ “อยากเห็นปฏิวัติพณ์ในกัมพูชาเหมือนกับเขาบ้าง?”

ถ้าเป็นชุมนุมสนทนาของพวกนิสิต นี่น่าจะเป็นมิติเชิงความคิดและอุดมการณ์โดยแท้ แต่เหตุที่ “เหมือนกับเขาบ้าง” ในตอนนั้น คือจากกรณีกระแส “คลื่นปฏิวัติ” ของกลุ่ม “อาหรับสปริง” ที่พากันออกมาเดินขบวนประท้วง และบางแห่งก็กลายเป็นชนวนสงครามเล็กๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ในกลุ่มประเทศมุสลิมตะวันออกกลางจนตามมาซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรง

“คลื่นประท้วง” แบบนั้นแหละที่ไรยาหมายถึง โดยใช้คำว่า “ปฏิวัติสี” ตามแบบอาจารย์บางคนเปิดประเด็นไว้ แต่เมื่อเขานำมาขยายมันอย่างแกนๆ ในสื่อโซเชียล กลับกลายเป็นความเร่าร้อนอย่างออกรสชาติไปในทันที

เมื่อกง ไรยา ถูกจับกุมข้อหายุยงปลุกปั่นผู้คนให้ตกตื่นในคลื่นปฏิวัติ!

ทำเอาผู้คนเล็กๆ จำนวนหนึ่งเกิดความสงสัยต่อบริบท “อาหรับสปริง” หรือ “ปฏิวัตbสี” ฉบับแขฺมร์อย่างจนแล้วจนเล่า ก็ขบคิดไม่ตกว่า เหตุใดท่านสมเด็จฯ ฮุน เซน จึงเห็นเหตุก่อการอันรุนแรง จนแม้แต่กง ไรยา ในฐานะเยาวชนยังจับขังคุกถึงปีครึ่ง

ในสภาพที่ถูกตรวนจองจำทั้งมือและเท้าอย่างน่าสังเวช

 

กระนั้นความหมายในการรับรู้เชิงสาธารณะของคำว่า “ปฏิวัติวัฒนธรรม/ปฏิวัติสี” ก็ยังคลุมเครือต่อไป จนแม้เมื่อกง ไรยา พ้นโทษกว่าครึ่งปีมาแล้ว กระแสคลื่นเดียงแห่งการปฏิวัติสีก็ยังไม่ถูกอธิบายอย่างชัดเจนในสังคมกัมพูชา นอกเสียจากทางการโดยสมเด็จฯ ฮุน เซน ประกาศให้ “ปฏิวัติสี” เป็น “วาทกรรมต้องห้าม”

หากใครท้าทาย จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง

วิเธียนการปราบปรามผู้เห็นต่างแบบเผด็จการนี้ ดูจะเป็นสิ่งที่ชาวเขมรสังวรยอมรับโดยปราศจากการต่อต้านและใคร่จำแนกความหมายในวาทกรรม “ปฏิวัติสี” ว่ามีที่มาอย่างไร นอกเหนือจากความหมายเกี่ยวมาจากคำว่า “อาหรับสปริง”

แต่ทำไมกง ไรยา ผู้ที่แม้จะมีอิสรภาพแล้ว แต่จนบัดนี้เขาก็ยังประสบชะตากรรมแบกรับความทุกข์จากการถูกตำรวจลับติดตาม ไม่ต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์ที่ใช้วิธีตรวจสอบเล่นงานพลเมืองของตนที่เชื่อว่ามีใจฝักใฝ่ในระบอบลัทธิอื่น

กง ไรยา คือตัวอย่างของเหยื่อที่ถูกกระทำ ในลักษณะที่คล้ายกับระบอบปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในอดีตของกัมพูชา

 

นั่นเอง ที่ฉันคิดว่ามันอาจจะเกิดขบวนการสุดโต่งในระบอบฮุน เซน ที่มีต่อประชาชนและกลุ่มปฏิปักษ์ของตนในลักษณะ “กวาดล้าง” และ “ลงทัณฑ์” อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

ที่สำคัญ ยังพบว่า ตามแนวทางดังกล่าว ดูเหมือนผู้นำกัมพูชากำลังเดินตามรอยนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างประชิดติดพัน ไม่เว้นแม้แต่นโยบาย “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยใช้เมื่อหลายทศวรรษก่อน

อย่างไม่เกินหน้าไปกว่านี้ ที่พบในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ และเกิดขึ้นซ้ำรอยแต่ละยุคตั้งแต่สมัยสีหนุ (60), พลพต (75) หรือฮุน เซน (2018) ด้านหนึ่ง มันยังแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของความลุ่มหลงของผู้นำประเทศนี้ที่มีต่อประเทศจีน

ซึ่งมีทั้งแบบพึ่งพาบารมีทางการเมือง (สีหนุ) และแบบลุ่มหลงในอุดมการณ์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น จนถึงขั้นย่อยยับประเทศก็มีมาแล้ว (พลพต/เขมรแดง)

แต่โดยไม่ว่าจะอย่างใด ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งทั้งประเทศนี้ มีให้ต่อกันอย่างทบทวีคูณอยู่เสมอ ราวกับว่ามันคือสมการแห่งความฝันทั้งสองฝ่ายที่บังเอิญมาบรรจบกันอย่างดุษณี ที่ไม่มีความเป็นอื่น นอกจากการนำบททดลองตามแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีนใหม่โดยสมเด็จฯ ฮุน เซน

นอกจากจะรวบรวมเอาวิเธียนการหลายอย่างมาใช้ในประเทศแล้ว “ปฏิวัติสี-ปฏิวัติวัฒนธรรม” ก็ยังเป็นหนึ่งในการทดลองนี้ด้วย

 

นับเป็นเรื่องเมตาฟอร์อย่างมากที่จะกล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ แต่กัมพูชาขณะนี้มีลักษณะการปกครองกึ่งคอมมิวนิสต์ตามระบอบคอมมิวนิสต์จีนเข้าไปทุกด้าน

ตั้งแต่การล่มสลายของระบอบโซเวียตเป็นต้นมา ยังไม่พบว่า จะมีประเทศไหนไหลทวนกระแส พาตนเองกลับไปสู่ระบอบเดิมอีกครั้ง แม้ว่าคิวบาจะเปลี่ยนแล้ว และเกาหลีเหนือกำลังจะลิ้มลอง แต่ฮุน เซน กัมพูชานั้นดูจะมาแบบแปลก กล่าวคือ ถือประสบการณ์กินรวบและสำรากทั้ง “2 ระบบ”

ทุนเสรีกึ่งประชาธิปไตยและกึ่งคอมมิวนิสต์

และย้อนไปปี ค.ศ.1992 ที่การเริ่มต้นล้างระบอบเก่ามาเป็นการเปิดเสรีอันซ่อนเงื่อนแต่เพียงรูปแบบมาจนบัดนี้ ในปี 2018 ฮุน เซน-สมเด็จอีกครั้ง กำลังนำพาวิธีย้อนศรถอยหลัง จากเสรีนิยมมาครึ่งทางกำลังกลับไปหาระบอบเก่าในรูปโฉมใหม่แบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน

และเป็นอีกครั้งตลอด 5 ทศวรรษครึ่ง ที่กาลเวลาได้นำประธานเหมา-สีหนุ, เติ้งเสี่ยวผิง-พลพต และฮุน เซน-สีจิ้นผิง มาอยู่บนระนาบเดียวกัน

เป็นการถ่ายเลือดระดับความสัมพันธ์อันต่อเนื่อง ทั้งอุดมการณ์ ความคิด จริตและดีเอ็นเอ ทุกอย่าง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การทหารที่จีนไม่เคยจะมีโอกาสตอบแทนอุดมการณ์อันซื่อสัตย์และมั่นคงของกัมพูชาอย่างสอดคล้องสมดุลมาก่อนตั้งแต่สมัยเขมรแดง จวบจนสมเด็จฯ ฮุน เซน

และจะเห็นมาตลอดว่า 25/1993 พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) สถานะปรัชญาความเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปีสถาปนาร่วม 40 ปีแล้ว ที่กลุ่มผู้ก่อตั้งและสมาชิกถาวรยังมีอิทธิพลทางนโยบาย โดยที่พรรคเองก็ไม่เคยประสบความปราชัยทั้งระบอบปกครองแบบคอมมิวนิสต์ นับแต่ที่กลุ่มฮุน เซน ยึดอำนาจจากแปน โสวัน และระบอบรัฐสภาแบบประชาธิปไตย

ดังนั้น หากจะมีความแปร่งแปลกที่เกิดจากขบวนการเลือกตั้งและรัฐบาลสมัยที่ 6 ในแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีระบอบรัฐสภาแบบพหุพรรค

ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการของพรรคตั้งแต่ยุคแรก แม้แต่ปัจจุบัน พรรคซีพีพีก็ยังคงรักษาสถานะแห่งความเป็น “กึ่งพรรคคอมมิวนิสต์” อย่างแน่นแฟ้นในความเป็นสถาบันการเมืองในแบบของตน

โดยไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป หรือมีแนวโน้มที่จะทำให้พรรคซีพีพีมีการถ่ายเปลี่ยนโครงสร้างในแบบประชาธิปไตย

หากจะสังเกตเห็น ตลอดกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กัมพูชายังคงสัมพันธ์ฉันการทูตแบบคอมมิวนิสต์กับฮานอย แต่ที่มากกว่านั้นคือความสัมพันธ์กับปักกิ่งที่มีลักษณะตอบสนองนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์จีน

และจนกว่าจะล้มหายตายตัวอย่างที่เห็นมาก่อนหน้าจากสีหนุถึงเขมรแดง

ที่สมเด็จฯ ฮุน เซน คงรู้สึกอบอุ่นใจ