สมุนไพรเพื่อสุขภาพ /โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง /มูลนิธิสุขภาพไทย/ส้มผ่อหลวง ไม้ยาพื้นบ้านต่างชาติกว้านหา

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ /โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง /มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

ส้มผ่อหลวง

ไม้ยาพื้นบ้านต่างชาติกว้านหา

 

ส้มผ่อหลวง คือชื่อเรียกสมุนไพรตามภาษาของชาวอีสาน ที่มีการใช้ตามภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านมากมายหลายตำรับ และเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่คนไทยอาจมองข้าม แต่ชาวต่างชาติกำลังมากว้านหาซื้อ เพราะตามภูมิปัญญาดั้งเดิมนั้น มีการนำมาใช้บำบัดโรคและอาการได้หลายอย่าง และหากหันไปมองการใช้ประโยชน์ของเพื่อนบ้านก็พบว่าส้มผ่อหลวงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพดีต้นหนึ่ง

ว่ากันที่ตำรับยาพื้นบ้านอีสาน ใช้สมุนไพรส้มผ่อหลวงเข้ายาหลายตำรับ เช่น ยาแก้ไข้หมากไม้ ซึ่งมีอาการคล้ายเป็นไข้พิษชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรียที่ทำให้ใบไม้และผลไม้เน่าเปื่อย พอช่วงผลไม้ในป่าร่วงหล่นตามพื้นดิน ก็มักเป็นช่วงระบาดของการไม่สบาย

คนอีสานจึงเรียกไข้ชนิดนี้ตามที่มาของชื่อว่าไข้หมากไม้นั่นเอง

 

ตํารับยาของอีสานตำรับหนึ่งที่ใช้ แก้ไข้หมากไม้ คือ ให้เอาเหมือดคน เครือน้ำแนมอกน้อย มอกหลวง ตีนจำน้อย ตีนจำหลวง เหมือดแอ่ ยางโบง โกน้อย โกหลวง หูลิง บ้งมั่ง ฮากหมากเข้า ฮากแลงส่อน ยาหัว อ้อยดำ ยานาง ฮากเอี่ยนด่อน นองา ฮากนมผา ไม้เท้าสาร ดูกแฮ้งดูกกา ดูกปลาฝา ดูกแข้ ดูกเป็ด ดูกลิงลม ดูกกระท้าง ดูกงูเหลือม แพงคำฮ้อย ฮากตูมตัง ฮากส้มผ่อหลวง ฮากน้ำนมราชสีห์ ฝนน้ำให้กิน แก้หมากสุก (ตุ่มที่เกิดจากไข้หมากไม้) ดีแล

ยาแก้ฝี ฮากส้มผ่อหลวง ฮากปลาดุก ฝนทา ยาแก้ทำมะลา (อาการที่มีเสมหะหรือเมือกอุดตันที่ลำคอ) ให้นำเอาไลปลาฝา ฮากส้มผ่อหลวง นำมาฝนน้ำกิน

เจ็บคัดหน้าคัดหลัง สามพันฮู ส้มผ่อหลวง สามสิบบี บีงูเหลือม ไลปลาฝา งาช้าง แข้วแข้ เขากวางชี เอาทั้งหมดฝนกิน

เจ็บท้องจุก ฮากชะมัด ฮากพังคีฮากตูม ฮากชมชื่น ฮากส้มผ่อหลวง ฝนกิน

ไข้เจ็บท้อง ฮากส้มผ่อหลวง ฮากส้มผ่อน้อย ฮากกำน้อย ฮากกำหลวง ฝนกิน

 

ในวงการหมอพื้นบ้านอีสานจะเห็นว่ามีการใช้ส้มผ่อหลวงเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่สำคัญชนิดหนึ่ง มาทำความรู้จักสมุนไพรส้มผ่อหลวงกันสักนิด

ในการค้นหาเพื่อแยกแยะพืชตามหลักพฤกษศาสตร์นั้น ได้ตามหาและจำแนกกันอยู่นาน ไปชัดแจ้งก็ตรงที่ลงไปทำงานกับหมอพื้นบ้านที่ จ.สกลนคร จึงสามารถระบุต้นได้ชัดเจนขึ้น ส้มผ่อหลวงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia stipulacea Roxb. มีชื่อท้องถิ่นว่า ขามเครือ ขี้มอด เถาปี้ดำ ปี้อัม (เชียงใหม่) คมแมบ (ปราจีนบุรี) เครือกระพี้เขาควาย ขามเครือ (หนองคาย) แตงเม (จันทบุรี) มักแฝ้น (เย้า-เชียงใหม่) เวือรอัมปืล (เขมร-สุรินทร์)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์นั้น หากได้ค้นเอกสารวิชาการก็จะพบว่ามีการระบุไว้หลากหลาย เช่น เอกสารพรรณไม้จากจีน (Flora of China) กล่าวไว้ว่า ส้มผ่อหลวงเป็นไม้เถาที่มีเนื้อไม้ มีขนาดใหญ่ ในบางพื้นที่พบว่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก

แต่เอกสารจากหอพรรณไม้ของประเทศไทย รายงานว่าเป็นไม้รอเลื้อย ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 17-21 ใบ เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ

ดอกออกเป็นช่อ แบบแยกแขนง ออกที่ซอกใบ มีขนสีน้ำตาล กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอกรูปถั่วสีม่วงแดง ออกดอกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม

พบได้ตามป่าเปิด ริมฝั่งน้ำจนถึงภูเขา และพบได้ไปถึงระดับความสูงจากน้ำทะเลถึง 1,700 เมตร การกระจายตัวพบได้ตั้งแต่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน บังกลาเทศ ภูฏาน ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ไล่เรียงลงมาถึงกัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย

เท่าที่พอมีข้อมูลพบว่าหมอพื้นบ้านในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรของประเทศไทย มีการใช้ส้มผ่อหลวงเป็นยาในตำรับแก้อาการประดงเส้น ซึ่งน่าจะหมายถึงอาการที่มีไข้และอาการปวดเมื่อยตามเส้นด้วย ในประเทศอินเดียมีการนำมาใช้มากพอสมควร โดยใช้เป็นยาขับระดู ให้นำเนื้อไม้จากรากและแก่นมาแช่น้ำดื่ม ในบังกลาเทศใช้ส่วนของรากและใบเป็นยารักษาโกโนเรีย

และแผลร้อนในที่เกิดในกระพุ้งแก้มในปาก

 

ปัจจุบันมีการศึกษาอยู่บ้าง พบว่าพืชชนิดนี้มีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่มแทนนินส์ ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก ฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคแผลฝีหนอง และเชื่อว่าในต่างประเทศน่าจะมีการศึกษาพืชพื้นบ้านชนิดนี้มากอยู่พอควรถึงสรรพคุณบำรุงร่างกาย หรือน่าจะมีฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ เพราะเท่าที่มีข้อมูลจากชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ประเทศหนึ่งในยุโรปทำการสั่งซื้อหรือกว้านหาส้มผ่อหลวง ส่งออกนอกจำนวนมาก

สรรพคุณส้มผ่อหลวงตามภูมิปัญญาดั้งเดิมบอกไว้เพียงเท่านี้ว่า เนื้อไม้ รสเปรี้ยวเฝื่อน ขับเสมหะ ฟอกระดู เป็นยาถ่าย แก้ไข้ ชงน้ำร้อนดื่มบำรุงร่างกาย แต่นักวิจัยฝรั่งอาจเห็นอะไรมากกว่านั้นแน่

แม้ว่าส้มผ่อหลวงไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มไม้หวงห้าม แต่ขอบอกดังๆ ว่าจำนวนประชากรของพืชนี้มีไม่มากนัก เข้าข่ายหายากอาจสูญพันธุ์ได้ ยิ่งต่างชาติมาสนใจจ้างให้เก็บขายด้วยแล้วก็อยู่ในภาวะเสี่ยงมาก

จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันปลูกอนุรักษ์พันธุ์ไว้ให้กับลูกหลาน และส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยกันมากๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป