บทวิเคราะห์ : เส้นทาง “ปฏิรูปกองทัพ” New Blood vs Old Soldiers เมื่อไหร่จะได้กวาดบ้านตัวเอง?

การปฏิรูปถือเป็นอีกนโยบายที่ คสช. ตั้งธงตั้งแต่เข้ามา 22 พฤษภาคม 2557 สอดรับกับแนวทางการเรียกร้องของกลุ่ม กปปส. ที่เรียกร้อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

การปฏิรูปของ คสช. หากจะกล่าวว่าไม่มีการปฏิรูปเลย ก็จะไม่เป็นธรรมกับ คสช. เพราะผลงานที่เป็นดอกผลออกมาก็มีให้เห็น โดยเฉพาะผ่านการตรากฎหมายโดย สนช. และการผ่าทางตันด้วย ม.44 หลายครั้ง

คำสั่ง ม.44 ที่ถูกนำมาใช้ในการปฏิรูป หนึ่งในนั้นคือ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต หลังได้ออกคำสั่งพักงานข้าราชการที่ได้รับร้องเรียนว่า “ส่อทุจริต” ไปหลายล็อต

หรือแม้แต่การตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดย คสช. ขึ้นมาด้วย ก็ถูกมองว่าซ้ำซ้อนหน่วยงานเดิม และให้ตั้งศูนย์ตามหน้าค่ายทหาร ทำให้ถูกวิจารณ์ไปอีกว่า ตั้ง “แก้เกี้ยว” กองทัพ-คสช. ก็ตาม ที่เจอมรสุมข่าวทุจริต

หากย้อนไทม์ไลน์ บุคคลใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีข่าวเกี่ยวข้องกับ “ความไม่โปร่งใส” ตั้งแต่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต รมช.กลาโหม กับการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ และมีกระแสกดดันให้ลาออกจากรัฐมนตรีด้วย

แต่สุดท้ายสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ว่า “ไม่พบสิ่งผิดปกติ” ในโครงการนี้ ทำให้ พล.อ.อุดมเดชอยู่ในเก้าอี้ได้นานขึ้น จนมาหลุด “ครม.ประยุทธ์ 5” ปลายปี 2560

ต่อด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่มีประเด็นร้อนไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะเรื่อง “นาฬิกาเพื่อน แหวนแม่” ที่ทำให้ พล.อ.ประวิตรระส่ำไม่น้อย ที่มีการออกมาแฉรายวันกว่า 25 เรือน ที่ พล.อ.ประวิตรไม่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ความคืบหน้าการตรวจสอบยังไม่เสร็จสิ้น ยังอยู่ในการรวบรวมหลักฐานและข้อมูลจากภาคเอกชนที่จัดจำหน่าย การสอบพยานเพิ่มเติม

อีกทั้งมีกระแสกดดันให้ พล.อ.ประวิตรลาออก ถึงขั้นมีกระแสข่าวช่วงนั้นว่า พล.อ.ประวิตรลาออกแน่ แต่สุดท้ายก็ชี้แจงผ่าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม ว่า พล.อ.ประวิตรไม่ลาออก ขอทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะจบภารกิจ

อีกทั้งกับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีเรื่องให้พี่ชายต้อง “ปวดหัว” ไม่น้อย ทั้งเรื่องเอกสารกระทรวงกลาโหม สั่งบรรจุนายปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา บุตรชายของ พล.อ.ปรีชา เข้ารับราชการตำแหน่งรักษาราชการนายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 3 ยศร้อยตรี รับเงินเดือน 15,000 บาท โดยนายปฏิพัทธ์จบการศึกษาปริญญาตรีนิเทศศาสตรบัณฑิต ม.นเรศวร

ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์หนักถึง “ความเหมาะสม” ในเรื่องนี้ และถูกกระพือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ พล.อ.ปรีชาต้องออกมาชี้แจง “นายปฏิพัทธ์ได้สมัครเป็นนายทหาร หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อมีตำแหน่งก็ให้เข้ามาทำงาน มีหลายคนในกองทัพที่ทำแบบนี้ ไม่ได้มีแค่ตนคนเดียว” จนเกิดวาทะ “ใครๆ ก็ทำกัน” กระหึ่มโซเชียล จนสุดท้ายนายปฏิพัทธ์ก็ต้องลาออก

ยังไม่จบแค่นั้น ขณะนั้นเกิดกรณีบริษัทของนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชายคนโตของ พล.อ.ปรีชา เข้ารับเหมางานก่อสร้างในสังกัดของกองทัพภาคที่ 3 รวม 2 สัญญา 26.9 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ปรีชายืนยันการดำเนินการของบุตรชายเป็นไปตามระเบียบขั้นตอน อีกทั้งเป็นช่วงที่ตนไม่ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 แล้ว

อีกทั้งการเผยแพร่ภาพ “ฝายชะลอน้ำ” ที่ จ.เชียงใหม่ ชื่อ “ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา” ซึ่งเป็นชื่อของภรรยา พล.อ.ปรีชา ซึ่ง พล.อ.ปรีชาชี้แจงว่า เป็นเรื่องของประชาชนในพื้นที่ดำเนินการเอง แม้ว่าสมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจะไม่ใช่หน่วยขึ้นตรงของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์สาธารณะร่วมกันมา โดยทางสมาคมได้สนับสนุนงบประมาณซื้อหิน 7,800 บาท เพื่อสร้างฝายแห่งนี้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่

จึงเกิดคำถามขึ้นมาถึงการให้ “กวาดบ้านตัวเองก่อน” หรือให้กลับมา “ปฏิรูปตัวเอง” ก่อนจะไป “ปฏิรูปคนอื่น” ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานที่โดน “ปฏิรูป” คือ “ตำรวจ” ด้วย นำโดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เพื่อน ตท.6 ของ พล.อ.ประวิตร

“ได้สั่งการที่ประชุมถึงเรื่องการปฏิรูปตำรวจ 1 ปีที่ผ่านมา ทำในสิ่งที่ทำได้ก่อน ส่วนเรื่องการแต่งตั้ง ขอให้เกิดความชัดเจน ต้องไม่มีการทุจริตเรียกเงินเรียกทอง มันมีวิธีการอยู่ ตรงนี้ทหารเขาทำได้ ตำรวจก็ต้องทำได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหลังประชุม ครม.สัญจร จ.นครสวรรค์

นอกจากนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2561 ว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะ 5 เรื่องเร่งด่วน (Quick Win) ที่จะดำเนินการให้เห็นผลภายใน 8 เดือนก่อนการเลือกตั้ง คือ

1. การปฏิรูประบบราชการและการอำนวยความสะดวก

2. การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน

3. การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น

4. การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

5. การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

แน่นอนว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์เสนอมาถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องดูที่ผลการปฏิบัติด้วย โดยสิ่งที่เกิดขึ้นจริง การปฏิรูปกลับไม่ได้เป็นไปโดย “เสมอภาค” โดยเฉพาะกับ “กองทัพ” ที่เป็นองค์กรที่ความเป็นเอกภาพสูง เพราะกองทัพสามารถบริหารจัดการตัวเองได้อย่างเบ็ดเสร็จ พึ่งพิงเพียงงบประมาณของรัฐเท่านั้น

ที่ผ่านมาการปฏิรูปกองทัพมีอยู่ต่อเนื่อง แต่เป็นเพียงการปฏิรูปทางเทคนิคเท่านั้น เช่น การจัดกำลังพล การลดนายพล การจัดโครงสร้าง การบริหารการทำงาน การแต่งตั้งบุคคล เป็นต้น

แต่สิ่งหนึ่งที่กองทัพต้องปฏิรูปคือ การปฏิรูปทางวัฒนธรรม-ค่านิยม ซึ่งเป็นปัจจัยที่คนภายนอกเรียกร้อง เช่น ความเข้าใจในสิทธิความเป็นเจ้าของประเทศของทุกคน ความรักชาติที่ไม่ผูกขาดความรักในแบบของตน และหลักสิทธิมนุษยชนสากล เรื่องประชาธิปไตยแบบสากล เป็นต้น

แน่นอนว่ากองทัพรู้ถึงบทเรียนในอดีตดี แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามพลวัตของสังคมและการเติบโตของ “ทหารรุ่นใหม่ๆ” ที่เติบโตในบริบทสังคมที่ต่างจากทหารรุ่นเก่าและทหารรุ่นพี่

ซึ่งโจทย์การปฏิรูปที่สำคัญคือ ทั้งทางเทคนิคและวัฒนธรรมต้องไปพร้อมกัน โดย “ทหารรุ่นใหม่” ในกองทัพ ต่างเติบโตมาในยุคสมัยที่มีโซเชียลมีเดีย ในโลกที่รูปแบบสงครามเปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผ่านการฝึกรักษาสันติภาพมนุษย์และด้านวัฒนธรรมกับนานาชาติ และคนรุ่นใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้นในทุกวงการอาชีพ

แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา ด้วยกองทัพมีวัฒนธรรมที่ทรงพลังกว่าสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ผ่านระบบการศึกษา และระบบราชการที่เฉพาะเจาะจง จึงยากที่จะเปลี่ยนแปลงโดยเร็ววัน แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้แต่ “นายทหารรุ่นเก่า” ที่คิดแบบ “ทหารรุ่นใหม่” ก็มีให้เห็นเช่นกัน

ขออย่าพึ่งหมดหวังกัน!!