อติภพ ภัทรเดชไพศาล : โอเปร่า หมวกประดับขนนก และการรวมชาติอิตาลี (1)

ภาพพี่น้อง ฺBandiera ร้องเพลงก่อนถูกยิงเป้า วาดโดย G. Castagnola ในช่วงศตวรรษที่ 1860 (สังเกตหมวกประดับขนนกในมือของผู้ถูกสังหาร)

ขณะภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์อิตาลีเรื่องสำคัญของ Bernardo Bertolucci คือ 1900 (หรือ Novecento ออกฉายปี 1976) เริ่มเรื่องขึ้นในวันที่แวร์ดี (Giuseppe Verdi ค.ศ.1813-1901) เสียชีวิต เพื่อแสดงความคารวะและบ่งให้เห็นชัดว่าแวร์ดีเป็นบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองอิตาลี

ภาพยนตร์เรื่อง Senso (1954) ของ Luchino Visconti ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของแวร์ดี ด้วยการเปิดเรื่องขึ้นในโรงโอเปร่า ในเหตุการณ์ที่สมมติว่าเกิดขึ้นในปี 1866 ขณะโอเปร่ากำลังแสดงเรื่อง Il Trovatore ซึ่งแต่งโดยแวร์ดี

การแสดงโอเปร่านำไปสู่การประท้วงของผู้ชมจำนวนมาก (นำโดยชนชั้นสูงจำนวนหนึ่ง) ที่แสดงความไม่พอใจต่อทหารออสเตรียด้วยการโปรยกระดาษสีสามสีลงมาจากชั้นบ็อกซ์ คือสีแดง สีขาว และสีเขียว อันเป็นสีของธงชาติอิตาลี

ฉากเปิดภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการประกาศ “ความรักชาติ” ของชาวอิตาลี และจะนำไปสู่สงครามปลดแอกชาวอิตาลีออกจากการครอบครองของกองกำลังต่างชาติ (ออสเตรีย) และนำไปสู่การรวมดินแดนต่างๆ ที่กระจัดกระจายเข้ารวมกันเป็นอิตาลีเพียงหนึ่งเดียวในปี 1871

กระบวนการรวมชาติอิตาลีนี้ นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “Risorgimento” หรือ “การหวนคืน” ซึ่งหมายถึงการกลับไปรื้อฟื้นอดีต ขณะที่อิตาลียังคงมีสถานะเป็นรัฐอิสระและไม่ถูกต่างชาติยึดครองนั่นเอง

 

กระแส Risorgimento กับโอเปร่า

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า กระแส Risorgimento น่าจะเริ่มก่อตัวขึ้นในราวปี 1815 หลังการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ขณะนโปเลียนสิ้นอำนาจและกองทัพฝรั่งเศสต้องถอนตัวออกจากดินแดนต่างๆ ในเขตอิตาลี

การถอนตัวของกองทัพฝรั่งเศสส่งผลให้ดินแดนเหล่านั้นตกกลับคืนไปยังอำนาจเก่า ที่เป็นของออสเตรียและเจ้าผู้ปกครองหลายตระกูลในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งได้นำระบบการปกครองแบบฟิวดัลกลับมาใช้อีกครั้ง

แต่ประสบการณ์จากสภาพสังคมและระบอบการปกครองแบบแบบสมัยใหม่ที่ฝรั่งเศสเคยนำมา ทำให้ชนชั้นสูงชาวอิตาลีส่วนหนึ่งรู้สึกไม่ยินยอมที่จะย้อนกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองแบบฟิวดัลอีก จึงเริ่มมีการเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการปกครอง ปลดแอกดินแดนที่อยู่ในการปกครองของออสเตรีย และผนวกดินแดนต่างๆ เป็นหนึ่งเดียวเพื่อความมั่นคง

ดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โอเปร่า” มีบทบาทสำคัญในกระแส Risorgimento โดยเฉพาะในช่วงหลังทศวรรษที่ 1840

ซ้าย - ฉากจูบในภาพยนจร์ เรื่อง Senso ขวา- The kiss
ซ้าย – ฉากจูบในภาพยนจร์ เรื่อง Senso ขวา- The kiss

ตัวอย่างเช่น กรณีของพี่น้อง Bandiera หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อการช่วงแรกๆ ในเขตคาลาเบรีย (Calabria) ทางตอนใต้ ร่วมกับชาวคาลาเบรียจำนวนหนึ่ง พี่น้อง Bandiera และผู้ร่วมก่อการถูกจับและประหารชีวิตในปี 1844

เรื่องเล่าที่สำคัญมีอยู่ว่า พี่น้อง Bandiera ไม่ยอมสยบให้กับอำนาจรัฐ และร้องเพลงจากโอเปร่าของ Saverio Mercadante ด้วยเสียงอันห้าวหาญก่อนถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า

(ดู http://www.operalibera.net/joomla/approfondimenti/659-lirica-e-risorgimento-chi-per-la-patria-muor)

โอเปร่าของ Mercadante ที่กล่าวถึงคือเรื่อง Caritea, regina di Spagna (1826) เป็นเรื่องสงครามระหว่างกษัตริย์โปรตุเกสกับสเปน ผสมด้วยเนื้อหาเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์รวมชาติของชาวอิตาลีแต่อย่างใด

แต่เพลงที่พี่น้อง Bandiera เลือกขับร้องนั้น เป็นฉากที่ทหารโปรตุเกสแสดงความรักชาติ มีเนื้อร้องท่อนสำคัญแสดงความไม่อาลัยในชีวิตว่า

“Chi per la patria muor vissuto ? assai;” แปลว่า “ผู้ที่เสียสละชีวิตเพื่อชาตินั้นถือได้ว่าใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าแล้ว”

สอดรับกับวีรกรรมพลีชีพเพื่อชาติของทั้งสองคนอย่างพอดิบพอดี

แต่ที่จริง ควรกล่าวด้วยว่าการจะแต่งโอเปร่าที่แสดงเนื้อหาปฏิวัติอย่างชัดแจ้งย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อบ้านเมืองยังถูกปกครองด้วยออสเตรีย ดังนั้น โอเปร่าที่ปลุกกระแสรักชาติแบบ Risorgimento แทบทุกเรื่อง จึงมักมีเนื้อหาเป็นเรื่องในบ้านอื่นเมืองอื่น แต่ขณะเดียวกันก็สามารถสะท้อนภาพความจริงในอิตาลีขณะนั้น

โดยเฉพาะความโหยหาชาติบ้านเมืองของตนเอง ความโหยหาอิสรภาพ และการทำสงครามเพื่อปลดปล่อยตนเอง

ดังเช่นโอเปร่าเรื่องสำคัญของ Vincenzo Bellini เรื่อง I Puritani ซึ่งถือว่ามีบทบาทมากในกระบวนการ Risorgimento ก็อาศัยฉากประเทศอังกฤษ ขณะเกิดสงครามกลางเมืองในทศวรรษที่ 1640

ส่วนเรื่อง Norma ที่ Bellini เขียนขึ้นในปี 1859 และนำออกแสดงที่มิลานนั้น ส่งผลสะเทือนรุนแรงจนมีผู้บันทึกว่า ผู้ชมจำนวนมากปลาบปลื้มไปกับการแสดงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อถึงฉากตัวละครเรียกร้องให้ทำสงคราม ด้วยการร้องเป็นเพลงว่า “Guerra, guerra!” (สงคราม, สงคราม!) ผู้ชมจำนวนมากถึงกับปรบมือและลุกขึ้นยืนตะโกนคำว่า “สงคราม!” ไปพร้อมๆ กับตัวละครทีเดียว

ในที่นี้ สงครามที่ผู้ชมเรียกร้องย่อมหมายถึงสงครามกับออสเตรียนั่นเอง

ส่วนโอเปร่าของแวร์ดี เรื่องแรกที่มีหลักฐานชัดเจนว่าผู้แต่งจงใจแต่งเพื่อสนับสนุนกระบวนการ Risorgimento จริง คือเรื่อง La battaglia di Legnano (แต่งจากบทละครของ Joseph M?ry) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการสงครามระหว่างชาวอิตาลีและเยอรมัน แต่ถูกสร้างเลี่ยงให้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยปีก่อนหน้า

La battaglia di Legnano ถูกนำออกแสดงครั้งแรกในปี 1849 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีบันทึกว่าผู้ชมจำนวนมากพากันส่งเสียงตะโกนร้องชื่นชมแวร์ดีด้วยคำว่า Viva Verdi! ดังกึกก้องทั้งโรงโอเปร่า

ด้วยเหตุนั้นเอง La battaglia di Legnano จึงถูกแบนจากทางรัฐบาลออสเตรียอย่างรวดเร็ว และจะถูกนำออกแสดงในกรุงมิลานได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปสิบสองปี ภายใต้ชื่อเรื่องใหม่ เนื้อเรื่องใหม่เท่านั้น

อนึ่ง คำว่า Viva Verdi! ยังได้กลายเป็นสโลแกนของชาวอิตาลีผู้รักชาติ โดยมีความหมายแฝงเป็นตัวย่อของประโยคเต็มว่า

“Viva Vittorio Emmanuele Re D”Italia” (Viva V E R D I) ซึ่งหมายถึงการอวยพรแก่กษัตริย์ Victor Emmanuel II แห่งอิตาลีนั่นเอง

ไม่เพียงแต่ดนตรีที่มีส่วนร่วมในกระบวนการ Risorgimento แต่งานศิลปะอื่นๆ ก็ตกอยู่ในกระแสนี้เช่นกัน เช่น ในปี 1859 ปีเดียวกับที่ Bellini เขียนโอเปร่าเรื่อง Norma จิตรกร Francesco Hayez ได้เขียนภาพ The Kiss ขึ้น

ภาพ The Kiss ถูกตีความโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ว่าสื่อความหมายถึงกระแส Risorgimento อย่างชัดเจน เนื่องจากฝ่ายชายสวมหมวกประดับขนนก (จะกล่าวถึงโดยละเอียดข้างหน้า) และสวมเสื้อผ้าสามสี (แดง ขาว เขียว) แสดงสัญลักษณ์ของชาติอิตาลี

ขณะที่หญิงสาวในชุดสีฟ้านั้นเป็นภาพแทนของฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อ Hayez วาดภาพนั้นเพิ่งได้เป็นพันธมิตรกับดินแดนตอนบน และถือว่าเป็นผลดีต่อการรวมชาติอิตาลี

และภาพ The Kiss นี้เอง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับฯ Visconti สร้างฉากจูบที่งดงามขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Senso ที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น