เกษียร เตชะพีระ : ตัวแบบจีน vs. ตัวแบบอเมริกัน

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (12) : ตัวแบบจีน vs. ตัวแบบอเมริกัน

ตัวแบบจีน (The China Model) อันได้แก่ระบบทุนนิยมแบบอำนาจนิยม (authoritarian capitalism) ซึ่งประกอบไปด้วย [การปกครองแบบอำนาจนิยม+เศรษฐกิจตลาด] (authoritarian government + market economy) ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในไทยอย่างชัดแจ้งตั้งแต่ยุค 3 ของความสัมพันธ์ไทย-จีนภายใต้รัฐบาลทักษิณ (ค.ศ.2001-2006)

ไม่เพียงแต่ต่อจิตวิญญาณและเนื้อหาสาระการใช้อำนาจของฝ่ายรัฐบาลทักษิณที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยไม่เสรี/อำนาจนิยม (illiberal/authoritarian democracy) หากรวมถึงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย (ดู “อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (9)” ซึ่งอิงข้อมูลจาก Banjamin Zawacki, Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China, pp.127-130)

และถึงแม้รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารโค่นไปในปี ค.ศ.2006 ทว่าภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชุดถัดๆ มา ไทยก็ยังคงเดินตามทิศทางนโยบายต่างประเทศใหม่ที่ทักษิณได้บุกเบิกริเริ่มหันเหเปลี่ยนทิศจากตะวันตกมาเอเชียด้วยการปักหมุดจีนไว้

และค่อยๆ ไถลตัวดิ่งลึกเข้าสู่เขตอิทธิพลภูมิรัฐศาสตร์ของจีนยิ่งขึ้น

ขณะที่ในทางกลับกัน อิทธิพลของสหรัฐในเอเชียอาคเนย์ก็ลดถอยลง

จนกล่าวได้ว่าเมื่อถึงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมืองไทยก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว

คือกลายสภาพเป็นเบ้าหล่อสำหรับประเทศไทยในศตวรรษใหม่ของจีน

รัฐประหารของ คสช. เมื่อปี ค.ศ.2014 หาได้สวนกระแสแนวโน้มนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ตนโค่นแต่อย่างใดไม่ หากยืนยันมันเสียอีก

จนกล่าวได้ว่ารัฐประหารของ คสช. อาจนับเป็น “รัฐประหารแบบจีนครั้งแรก” ของไทยในแง่สปิริตและสไตล์ ภายใต้การนำของคณะนายทหารที่โดยภูมิหลังที่มาและทัศนคติแล้วคงเส้นคงวากับตัวแบบจีน ยิ่งกว่ากับประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

(BZ, p.268)

ในบทสรุปของหนังสือของเขา BZ ได้ขยายความเสน่ห์ดึงดูดใจของตัวแบบจีนต่อชนชั้นนำไทยออกไปอย่างพิสดารน่าสนใจและนำมาเปรียบตัดกับปัญหาของตัวแบบอเมริกันในภูมิรัฐศาสตร์โลกปัจจุบัน (Chapter 10 Continental Drift, pp.296-307)

ในสายตาของชนชั้นนำทหาร นักการเมืองและนักธุรกิจไทย นิยามเชิงปฏิบัติของตัวแบบจีนคือ [เสถียรภาพจากรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง + การพัฒนาเศรษฐกิจ]

ทั้งนี้ ภายใต้สภาพความเป็นจริงที่สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งและทวีช่องว่างห่างออกไปทุกที มี 2 สิ่งที่รัฐบาลไม่ว่าสีสันเฉดไหนพรรคใดจะเป็นพลเรือนหรือทหารต้องทำให้บรรลุจงได้เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงและมั่งคั่งของชนชั้นนำไทย ได้แก่ :

1) ประกันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแน่วแน่สม่ำเสมอ ถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือให้คนจนมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าทันกับความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างออกไป คนรวยอาจรวยขึ้นด้วยอัตราที่เร็วกว่าคนชั้นอื่นก็ได้ไม่เป็นไร

แต่จะปล่อยให้มาตรฐานการครองชีพของคนจนชะงักงันนานเกินไปไม่ได้ หากทำได้ดังนี้ก็จะมีการชุมนุมประท้วงของชนชั้นรากหญ้าน้อยลง – ซึ่งเป็นคำตอบต่อโจทย์ที่สอดคล้องต้องตรงกับแง่มุมด้าน “การพัฒนา” ของตัวแบบจีน

2) ต้องจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม แสดงออกและจัดตั้งรวมตัวกันอย่างเข้มงวด เพื่อที่ว่าหากจะมีการชุมนุมประท้วงเดินขบวนใดๆ เกิดขึ้นแล้วก็จะมีขนาดเล็กและอายุสั้น หากกีดกันไม่ให้ชุมนุมประท้วงได้เลยก็ทำ แต่ถ้าเกิดการชุมนุมขึ้นแล้ว ก็จำต้องรับมือตอบโต้ – ซึ่งก็เป็นคำตอบต่อโจทย์ที่สอดคล้องต้องตรงกับแง่มุมด้าน “เสถียรภาพ”

(อย่างน้อยก็ในระดับพื้นผิวที่ปรากฏ) ของตัวแบบจีนเช่นกัน

ดังที่นักวิชาการไทยคนหนึ่งเล่าให้ BZ ฟังว่าภายหลังเหตุการณ์รุนแรงเมษา-พฤษภาอำมหิตเมื่อปี ค.ศ.2010 เขาก็เริ่มได้ยินได้ฟังพวกนายธนาคารไทยพูดกันอย่างเปิดเผยถึง “ระบบทุนนิยแบบอำนาจนิยม” ของจีน ก่อนที่จะพากันบริจาคเงินทุนหนุนหลังการชุมนุมต่อสู้ให้แก่ กปปส. ก่อนรัฐประหารของ คสช. เมื่อปี ค.ศ.2014 นักวิชาการผู้นั้นสรุปว่า :

“พวกเขา (นายธนาคารเหล่านั้น) พร้อมแล้วในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนที่จะเอาเงินของตัวหนุนหลังการพ่ายแพ้ของประชาธิปไตยเนื่องจากความหวาดกลัวมวลชน” (BZ, p.299)

นั่นเป็นด้านอุปสงค์ของฝ่ายชนชั้นนำไทยต่อตัวแบบจีน ในแง่อุปทาน ฝ่ายจีนก็โฆษณาสรรพคุณเสนอขายตรงตัวแบบจีนแก่ไทยในจังหวะเดียวกันนั้นคือชั่ว 50 วันหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ค.ศ.2014 ว่า :

“จีนรวมศูนย์มุ่งเน้นการปฏิรูปที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และหวังว่าการปฏิรูปในจีนจะสามารถเป็นแบบอย่างสำหรับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาครวมทั้งประเทศไทย” (BZ, p.298n8 ซึ่งอ้างจาก “Prem Gets an Invite to Visit China”, The Nation, 12 July 2014)

คำถามคือ จีนมีเหตุผลเบื้องหลังอะไรหรือที่ผลักดันอุปทานตัวแบบจีนให้เพื่อนบ้านอย่างไทย?

เพราะชนชั้นนำไทยต่างกลุ่ม เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกรณ์ จาติกวณิช ซึ่งปฏิสัมพันธ์เจรจาติดต่อกับฝ่ายนำจีนบ่อยครั้ง

ก็เห็นพ้องกันว่าเอาเข้าจริงจีนไม่แคร์ว่าไทยจะปกครองด้วยตัวแบบจีนหรือไม่ หรือจะด้วยระบบอะไร จีนพร้อมจะคบค้าเซ็งลี้ด้วยทั้งนั้น จะเป็นประชาธิปไตยก็ได้ จะเป็นเผด็จการทหารก็ดี โบ่ยจ๊อนี้

ในเรื่องนี้ Benjamin Zawacki เสนอว่าที่จีนเร่ขายตัวแบบจีนให้ไทยก็เพื่อแก่งแย่งแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐในไทยและเอเชียอาคเนย์ เพราะการโฆษณาป่าวร้องสรรพคุณของตัวแบบจีน [การปกครองแบบอำนาจนิยม+เศรษฐกิจตลาด] เท่ากับเป็นการช่วยกางปีกกำบังปกป้องเผด็จการทหารไทยไว้ในแง่ความชอบธรรม (แบบจีนๆ) และภูมิปัญญา (แบบตะวันออก) ต่อสายตาโลกโดยเฉพาะเบื้องหน้าแรงวิพากษ์โจมตีจากโลกตะวันตก

รัฐประหาร คปค. และ คสช. รวมทั้งแนวโน้มอำนาจนิยมของรัฐบาลจากการเลือกตั้งของไทยนับแต่ทักษิณเป็นต้นมา (ลองนึกถึงสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด, สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, เหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต 2553 ฯลฯ) จึงเป็นโอกาสให้ตั่วเฮียจีนแสดงอำนาจละมุนทางอุดมการณ์ ยื่นอกออกรับแทนอาตี๋ไทย ให้หลังพิงทางการเมืองแก่อาตี๋เพื่อต่อต้านแรงกดดันจากบูลลี่ตะวันตก

ทำให้การอาศัยไทยเป็นประตูเปิดสู่ ASEAN ทางภูมิรัฐศาสตร์สะดวกดายยิ่งขึ้น

พูดอีกอย่างคือจีนเชียร์ตัวแบบอำนาจนิยมของจีนในฐานะที่มันเป็นแค่เครื่องมือทางอุดมการณ์ไว้ถ่วงทานอิทธิพลของสหรัฐซึ่งเชียร์สิ่งตรงข้ามกันได้แก่ [ประชาธิปไตย+สิทธิมนุษยชน+หลักนิติธรรม] ในเกมต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์นั่นเอง

จนสรุปได้ว่าแนวทางของจีนในเอเชียอาคเนย์คือ :

ผลประโยชน์แห่งชาติจีน = ผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ + ตัวแบบจีน

ในบรรดาปัจจัยที่ทำให้จีนชิงไทยเข้าไปสังกัดตัวแบบจีนได้ น่าสนใจว่า Benjamin Zawacki ตำหนิโทษสหรัฐฯที่สุด ดังที่เขาฟันธงว่า :

“ยิ่งกว่าปัจจัยในประเทศหรือต่างประเทศอื่นๆ โดยนับรวมทั้งจีนเองด้วย สหรัฐนั่นแหละที่เป็นเหตุที่มาของการที่ประเทศไทยรับเอาตัวแบบจีนมาใช้และเปลี่ยนย้ายนโยบายต่างประเทศของไทยเข้าไปในเขตอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน นั่นก็คือทั้งแง่ภายในและภายนอกราชอาณาจักรไทยนั้น สหรัฐได้ “สูญเสีย” ไทยไปมากกว่าจีนได้ไทยมา และมากกว่าการที่ทางการกรุงเทพฯ เองได้ปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารปกครองและภูมิรัฐศาสตร์ของตนอย่างแข็งขันเป็นฝ่ายกระทำด้วยซ้ำไป” (BZ, p.301)

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะข้อผิดพลาดบกพร่องหลัก 2 ประการของรัฐบาลและนโยบายต่างประเทศสหรัฐในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา คือ

1) สหรัฐทุ่มเวลาและวางเรื่องสำคัญเป็นอันดับแรกไว้ผิดที่ผิดทาง แทนที่จะเห็นความสำคัญของจีนที่กำลังผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจการเมืองระดับโลกทัดเทียมท้าทายตน และของพื้นที่หลักแห่งการช่วงชิงอิทธิพลกับจีนในเอเชียอาคเนย์ซึ่งมีไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ สหรัฐกลับหมกมุ่นกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกโดยเน้นหนักทุ่มเทไปที่ตะวันออกกลางอย่างล้มเหลวเปลืองเปล่าแทน

2) สหรัฐแสดงตนให้พันธมิตรและคู่แข่งเห็นประจักษ์ว่าเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล มารยาสาไถย เชื่อถือวางใจไม่ได้ ไร้หลักการทางการเมือง ปากบอกว่ายึด [ประชาธิปไตย+สิทธิมนุษยชน+หลักนิติธรรม] เป็นที่ตั้ง

แต่กลับละเมิดหลักการเหล่านี้เองครั้งแล้วครั้งเล่าในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของตน และแม้จะแสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหารของ คปค. และ คสช. ในไทย แต่สหรัฐกลับเออออห่อหมกกับรัฐประหารของนายพลอับดุล ฟัตตอห์ อัล-ซีซี ผู้โค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยในอียิปต์เมื่อปี ค.ศ.2013

โดยรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาถึงกับปฏิเสธไม่ยอมเรียกการรัฐประหารในอียิปต์ครั้งนั้นว่า “รัฐประหาร” ด้วยซ้ำไป!! (http://foreignpolicy.com/2013/07/08/obama-administration-wont-call-egypts-coup-a-coup/)

สําหรับทางแก้ไขแนวนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ BZ เสนอว่า :

– สหรัฐต้องคัดค้านการแพร่กระจายตัวแบบอำนาจนิยมของจีนอย่างมีหลักการคงเส้นคงวา

– นิยามผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐเองใหม่ ว่าเท่ากับ [ประชาธิปไตย+สิทธิมนุษยชน+หลักนิติธรรม] แล้วทุ่มเทลงทุนและทรัพยากรทางยุทธศาสตร์กับมันอย่างจริงจัง

– นั่นหมายถึงสหรัฐต้องมองเห็นการเชื่อมโยงพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างคุณค่าเชิงเสรีประชาธิปไตย กับผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของตน

ความล้มเหลวที่ผ่านมาเกิดจากสหรัฐละทิ้งด้านคุณค่าเสรีประชาธิปไตย เอาแต่ผลประโยชน์ภูมิรัฐศาสตร์เป็นที่ตั้ง (พลาดเพราะยึดแต่ realism)

หรือไม่ก็ยึดคุณค่าเป็นที่ตั้งเหนือผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ทว่าขาดยุทธศาสตร์ที่ดีและการทูตมืออาชีพที่ช่ำชองหนุนช่วย ทำให้ล้มเหลวทางปฏิบัติ

(กรณีท่าดีทีเหลวของนโยบายปักหมุดเอเชียของโอบามาและนโยบายคัดค้านการรัฐประหารในไทยเป็นตัวอย่างที่ BZ ยก)