ต่างประเทศ : ชะตากรรมของยุโรป หลังการประชุมจี 7

การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ หรือจี 7 เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจบลงด้วยความดุเดือด

เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะลงนามในแถลงการณ์ร่วม

ส่งผลให้บรรดาผู้นำยุโรปตกตะลึงกับการถูกบอกปัดทางการทูตอย่างไม่ไยดีอีกครั้ง

นับตั้งแต่ทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 สหภาพยุโรป (อียู) ได้พยายามหายุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับผู้นำที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ของทำเนียบขาวที่ทำลายความแน่นอนเก่าๆ เกี่ยวกับความเป็นพันธมิตร 2 ฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกจนแตกละเอียด

ไม่มีผู้นำยุโรปคนไหนที่พยายามสร้างสัมพันธ์อันดีกับทรัมป์มากไปกว่าเอ็มมานูแอล มาครง ที่ยกยอปอปั้นทรัมป์ในการเชิญมาเป็นแขกผู้มีความสำคัญที่สุดในงานในวันชาติฝรั่งเศสเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

ในระหว่างงานนั้นและการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเป็นการแลกเปลี่ยนของมาครง มีการแสดงออกถึงการชื่นชมซึ่งกันและกันและการจับมือกันเป็นเวลานานระหว่าง “เพื่อน” ทั้ง 2 คนที่กลายเป็นข่าวดังในสื่อ

แต่แม้จะมีการล็อบบี้อย่างหนัก ผู้นำฝรั่งเศสล้มเหลวที่จะโน้มน้าวชักจูงให้ทรัมป์อยู่ในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน 2015 ต่อไป และให้ล้มเลิกข้อเสนอที่จะกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรต่อเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากยุโรป

นับแต่นั้นมา มาครงต้องเผชิญกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในฝรั่งเศสจากการใกล้ชิดกับชาวอเมริกันชาตินิยมสุดโต่งแบบทรัมป์มากไป

และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองต่อสาธารณะเย็นชาลงมากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

ที่ผ่านมา ยุโรปเป็นผู้ที่ส่งเสียงดังที่สุด และยินดีที่จะเผชิญหน้ามากที่สุด ในประเด็นเรื่องการค้า

หลังจากทรัมป์ประกาศตั้งกำแพงภาษีนำเข้าต่อเหล็กและอะลูมิเนียมจากยุโรปเมื่อปลายเดือนที่แล้ว โดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรปโจมตีการตัดสินใจดังกล่าวว่า “ไร้เหตุผล” ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีระบุว่าเป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย”

อียูที่เป็นผู้ดูแลการค้าในนามของสมาชิก 28 ชาติ ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ในขั้นแรก นอกจากนี้ยังกำหนดกำแพงภาษีต่อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็ก เบอร์เบินวิสกี้ เนยถั่ว และยีนส์นำเข้าจากสหรัฐเป็นการตอบโต้

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เตือนว่าสหรัฐพร้อมที่จะทำสงครามการค้าซึ่งผู้เชี่ยวชาญทำนายว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายกับทั้ง 2 ฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

การเผชิญหน้ากับสหรัฐต้องการความร่วมมือร่วมใจกันของชาติสมาชิกอียูมากกว่าการบรรลุผลสำเร็จเล็กน้อยเพื่อผลประโยชน์ของประเทศตน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีตยามเกิดวิกฤต

แต่ความพยายามในการทำงานร่วมกับสหรัฐเป็นวิธีการของยุโรปในข้อตกลงพหุภาคี 2 ครั้งที่บรรลุผลสำเร็จภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งทรัมป์ไม่ยอมรับ

 

เรื่องแรกคือความตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศปี 2015 ที่ทรัมป์ถอนตัวเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งผู้ร่วมลงนามอีกกว่า 190 รัฐและดินแดนประกาศว่าจะเดินหน้าต่อแม้ว่าจะขาดสหรัฐไป

อียูได้หันไปหาจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก เช่นเดียวกับบรรดาผู้ว่าการรัฐในสหรัฐและธุรกิจอเมริกันเพื่อเสาะหาแรงผลักดันในความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

และหลังจากทรัมป์ออกจากข้อตกลงเพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ผู้นำยุโรประบุว่าจะพยายามรักษาข้อตกลงนี้ไว้โดยทำงานร่วมกับผู้ร่วมลงนามที่เหลือคือรัสเซียและจีน

แต่ขณะที่การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่าข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านถูกบ่อนทำลายอย่างรุนแรงจากการถอนตัวของสหรัฐ

การเผชิญกับความเป็นปฏิปักษ์ของสหรัฐอาจทำให้ยุโรปทำได้อย่างดีที่สุดเพียงแค่หวังว่าทรัมป์จะไม่ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในการเลือกตั้งปี 2020

ที่หมายความว่าชะตากรรมของยุโรปต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิออกเสียงชาวอเมริกัน และอนาคตของยุโรปตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง