มุกดา สุวรรณชาติ : แผนสืบทอดอำนาจ 6 ขั้นตอน อาจถึงทางตัน (ตอนจบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

1.ยึดแล้วยื้อ

ในวงจรการเมืองเก่าเป็นที่รู้กันว่าเมื่อผ่านการยึดอำนาจไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะต้องเปลี่ยนไปสู่การเลือกตั้งจึงจะได้รับการยอมรับ

ดังนั้น ผู้ที่ทำการรัฐประหารทุกชุดจึงต้องมีแผนการว่าจะยื้อให้อยู่ใต้ระบอบรวมศูนย์อำนาจหลังรัฐประหารได้นานเท่าใด เมื่อจำเป็นต้องออก จะสามารถสืบทอดอำนาจในระบบประชาธิปไตยแม้จะเป็นเพียงครึ่งใบค่อนใบได้อย่างไร

ซึ่งขบวนการแปลงกายถ่ายอำนาจผ่านการเลือกตั้งต้องมีแผนการอย่างละเอียด จึงจะไม่เสียของ

หลังการรัฐประหาร 2549 ของ คมช. การเลือกตั้งมีขึ้นอย่างรวดเร็วแม้จะไม่มีคำสัญญาว่าขอเวลาอีกไม่นาน แต่เพียงปีกว่าก็มีการเลือกตั้งและ ฝ่ายรัฐประหารก็แพ้ฝ่ายประชาธิปไตย

ดังนั้น ครั้งนี้จึงมีการดำเนินการอย่างละเอียดมีความรอบคอบ จัดโดยผู้มีความรู้ทางกฎหมาย มีความรู้ทางการเมืองผสมผสานกับอำนาจรัฐที่ดำรงอยู่อย่างเข้มงวด จึงสามารถผลักดันขั้นตอนต่างๆ ไปตามแผนได้

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจะต้องจัดการวางแผนในด้านกฎหมาย การใช้อำนาจรัฐ การปกครอง ระบบยุติธรรม การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ

จนถึงขณะนี้แรงกดดันทางการเมืองมีมากจนไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก การอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหารมา 4 ปีและจะผ่านไปอีก 1 ปีเป็น 5 ปี คนที่ผู้ถูกปกครองเบื่อมากแล้ว ถ้าขืนทำต่อไปอาจจะเกิดเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถควบคุมได้

ในวันที่ยึดและยื้อ ผ่านมาได้ 4 ปี สนช. ก็สามารถละเมอโหวตผ่านงบฯ 3 ล้านล้าน โดยไม่มีใครค้านแม้แต่เสียงเดียว ส่วนแผนที่จะสืบทอดอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งก็ถูกวางไปได้ 6 ขั้นตอนแล้ว

 

2.การร่างรัฐธรรมนูญให้ได้เปรียบ

คือจะต้องมี ส.ว.แต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ ให้มีส่วนในการคัดเลือกตัวนายกรัฐมนตรี = มีคะแนนเสียงตุนอยู่จำนวนหนึ่ง ในอดีตบางครั้งมีถึงสามในสี่ของจํานวน ส.ส. แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว. มีครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. นี่จึงเป็นหลักประกันว่าโอกาสสืบทอดอำนาจมีความเป็นไปได้สูง

วิธีการเลือกตั้งก็ถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ แม้แพ้เลือกตั้งในเขตต่างๆ ก็ยังได้ ส.ส. โดยกำหนดให้เป็นการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย หรือแม้แต่ทั่วโลกก็คงจะหายากมาก

คือให้ใช้บัตรใบเดียวในการเลือก ส.ส.เขตมานับคะแนนทั้ง ส.ส.เขตและมาคิดสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อไม่ได้ใช้บัตรเลือกคนและบัตรเลือกพรรคแยกจากกัน โอกาสที่พรรคใหญ่จะได้คะแนนแบบท่วมท้นก็ไม่มี มีแต่จะได้จำนวน ส.ส. ลดลง

และระบบนี้ยังเป็นการปิดกั้นพรรคใหม่ ที่ไม่มีผู้อุปถัมภ์ไม่ให้เกิดเพราะว่าถ้าจะหาคะแนนเสียงจะต้องส่งสมัครในเขตต่างๆ เนื่องจากไม่มีบัตรลงคะแนนพรรค ใครอยากได้คะแนนมากต้องส่งมากๆ จำนวนเขตทั้งหมด 350 เขต มีแต่พรรคที่มีกำลังหนุนเท่านั้นที่จะส่งได้ครบ

ถ้าส่งไม่ได้ก็หมายความว่าเขตนั้นจะได้ 0 คะแนนแม้จะมีคนนิยมแต่ไม่มีเบอร์ของพรรคให้ลงคะแนน

พรรคที่ตั้งใหม่จะหา ส.ส. ได้ ถ้าสร้างกระแสความนิยมให้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากในระดับทั่วประเทศ หรือดูด ส.ส.เก่าจำนวนมากโดยการสนับสนุนของผู้มีอำนาจหรือผู้มีเงิน แม้จะแพ้ทุกเขต ก็ยังได้คะแนนไปเลี้ยง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงอาจได้ ส.ส. จำนวนหนึ่งเพื่อไปรวมเสียงกับ ส.ว. แล้วเลือกนายกฯ ได้

เกมร่าง รธน. ก็ลากมาได้ 3 ปีกว่า ก็ทำได้สำเร็จ

 

3.เกมบีบ…รีเซ็ตพรรคเก่า…

ทำให้สมาชิกพรรคเก่าหายไปเกือบหมด แถมเปิดช่องให้ดูด ส.ส.เก่าได้สะดวก แถมพรรคใหม่ยังได้ออกตัวก่อนพรรคเก่า

แต่มีการใช้กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดมาตรการต่างๆ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำงานการเมืองตั้งแต่ตั้งพรรค จนถึงวันเลือกตั้ง ทำให้ดำเนินการได้อย่างยากลำบาก เช่น การยืนยันสมาชิกพรรคที่กำหนดให้ทำภายใน 30 วันพร้อมจ่ายค่าสมัคร พรรคไหนทำได้เท่าไร ถือว่ามีสมาชิกเท่านั้น

ทำให้สมาชิกของพรรคเก่าๆ ลดลงจำนวนมากหายไป 90 เปอร์เซ็นต์ บางแห่งหายไปทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ บางพรรคเหลือเพียงแค่หัวหน้าพรรค

พรรคใหญ่ๆ อย่าง ปชป. สมาชิก 2 ล้านกว่าเหลือไม่ถึง 1 แสน

พรรคเพื่อไทยจากหลักแสนเหลือเพียง 9,000

พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กอื่นไม่ต้องพูดถึง ส่วนใหญ่จะเหลือสมาชิกไม่ถึง 5,000 หรือเพียงแค่พันกว่าคน บางส่วนก็เหลือเป็นหลักร้อย ซึ่งพรรคเหล่านี้จะต้องหาสมาชิกให้ครบ 5,000 ภายใน 1 ปี

 

4.การตั้งพรรคโดยใช้การดูด เพื่อดึง ส.ส.เก่ามาเข้าพรรคของผู้มีอำนาจ

เรื่องนี้มีการทำกันอย่างต่อเนื่อง การดูดแบ่งเป็น 2 ระดับคือ…

ดูดมือ 1 คือดูด ส.ส. ที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งเขต ถ้าชนะก็จะได้ ส.ส. 1 คน แต่ถ้าแพ้ก็ยังมีคะแนนเป็นที่ 2 ซึ่งอาจจะได้หลายหมื่นสะสมไว้เป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ระดับสอง คือการดูดมือรองเป็นระดับ 3 ระดับ 4 ส่วนใหญ่เป็นพวก ส.ส.สอบตกหรือนักการเมืองท้องถิ่นหรือผู้มีอิทธิพลคนดังโดยหวังว่าคนเหล่านี้เมื่อไม่มีทางชนะได้เป็น ส.ส.เขตแต่ยังสามารถทำคะแนนให้ได้พอสมควร

โดยทั่วไปก็หวังเป็นหลักหมื่น หรือหลายพัน

พรรคเก่าขนาดกลางขนาดเล็กตอนนี้ดึงตัวไปเยอะ

 

5.ไม่ปลดล็อก แต่อาจยกเลิกไพรมารีโหวต คัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ตอนนี้คำสั่งห้ามเคลื่อนไหวการเมือง ห้ามพรรคการเมืองประชุม ทำให้เกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎหมาย ในขณะที่ผู้มีอำนาจเดินสาย พรรคอื่นๆ แค่แถลงข่าวในพรรคยังถูกจับ

ปัญหาเรื่องการหาตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งถ้าบังคับให้ผ่านระบบไพรมารีโหวต ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องมีสมาชิกในเขตเป็นผู้คัดเลือกซึ่งต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยคน ดังนั้น ความยุ่งยากนี้จะเกิดขึ้นสำหรับพรรคการเมืองทุกพรรค ยิ่งขณะนี้ คสช. ไม่ยอมให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ยอมปลดล็อก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา โอกาสที่ไพรมารีโหวตจะเกิดขึ้นจริงในครั้งนี้จึงไม่ง่าย สำหรับพรรคเก่า มีความพร้อมมากกว่าพรรคใหม่

ถ้าการทำแบบมาตรฐานคัดเลือกจากเขต 350 เขต เขตละ 100 คน ต้องใช้คน 35,000 คน ถ้าใช้แบบคัดเลือกจากระดับจังหวัด ต้องมีจังหวัดละ 150 คน 77 จังหวัด ต้องมีสมาชิก 11,550 คน ที่จริงกระบวนการมีขั้นตอนมากมาย ถ้ายังไม่ยกเลิกจะนำมาวิจารณ์ อีกครั้งพร้อมเรื่องอื่นในกฎหมายพรรคการเมือง

มีความเป็นไปได้มากว่าเรื่อง Primary โหวตจะถูกยกเลิกโดยคำสั่งพิเศษเพราะไม่ว่าจะเป็นผู้สมัคร ส.ส. ฝ่ายไหนพรรคใดทุกคนก็ล้วนแล้วแต่มองเห็นความยุ่งยากถ้าจัดการไม่ดี ผู้สมัครถูกคัดค้านไม่สามารถสมัครได้ ก็อาจจะจัดหาคนใหม่มาไม่ทัน

ถ้ามีการยกเลิกเฉพาะการเลือกตั้งครั้งหน้าคงไม่มีพรรคใดค้าน

 

6.ดึงฐานเสียงท้องถิ่น…

การเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง ส.ส.?

เรื่องนี้แม้มีข่าวแล้วก็หายเงียบไปแล้วก็มีข่าวอีก แต่ทีมวิเคราะห์มองว่าการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ใช่เรื่องง่ายและมีผลทั้งบวกและลบต่อรัฐบาลปัจจุบัน มีผลต่อคะแนนเสียงของทุกพรรค

บางคนมองว่าถ้าให้จัดเลือกตั้งก่อนจะได้ประโยชน์ตรงที่เห็นความนิยมหรือกำลังของแต่ละฝ่ายแล้วมาจัดระบบปรับตัวปรับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเลือกตั้งใหญ่ได้

แต่ในความเป็นจริงหลายพื้นที่การแข่งขันเป็นไปในลักษณะคนกลุ่มเดียวกัน เช่น ในภาคใต้อาจจะเป็นทีมของพรรค ปชป. แข่งกันถึง 3 ทีมในบางพื้นที่ หรือในภาคเหนือว่าจะเป็นคนของพรรคเพื่อไทยแข่งกันเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ได้เห็นความแตกต่างของกําลังของแต่ละฝ่ายในการเลือกตั้งใหญ่

บางส่วนก็มองว่าถ้าเลือกตั้งท้องถิ่นเสร็จก่อนจะสามารถใช้อำนาจไปหว่านล้อมกดดันชักจูงให้นักการเมืองท้องถิ่นที่ชนะมาช่วยเหลือฝ่ายตนได้ แต่ก็มีผู้ค้านว่าถ้าทำอย่างนั้นฝ่ายที่แพ้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะไปเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่งเพราะผู้แพ้ไม่มีอะไรเสียแล้ว

นอกจากนั้น ผู้ที่ชนะจะมีเพียงหนึ่งแต่ผู้แพ้มีมากกว่า 1 เรื่องแบบนี้ได้ไม่คุ้มเสีย ยิ่งช่วยเยอะก็ยิ่งจ่ายเยอะ ช่วยไม่เท่าเทียมกันก็เกิดความขัดแย้งโกรธเคืองกัน ไม่ช่วยก็ไม่พอใจ การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงยังไม่น่าเกิดง่ายๆ

การปลดล็อกให้ผู้นำการเมืองท้องถิ่นบางคน จึงมีคำถามว่า…ทำไม? และข่าวลือต่างๆ ตามมา ว่าต้องมีต่างตอบแทน

ใน 6 ขั้นตอนที่กล่าวมา ยังแทรกด้วยการใช้อำนาจ ตลอดระยะ 3-4 ปีมีเกมการเมืองที่ผ่านระบบยุติธรรม และการใช้อำนาจรัฐจับกุมขัดขวางการเคลื่อนไหว เราจะเห็นการดึงคดี การเร่งคดีการฟ้องร้องระหว่างคนที่เกี่ยวข้องในวงการเมืองทำให้แกนนำของพรรคหรือผู้สมัคร ส.ส.ต้องมาวุ่นวายอยู่กับการสู้คดี ที่ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาในช่วงนี้ หลายคนอาจถูกลงโทษจนมาลงสมัครไม่ได้ คนกุมอำนาจได้เปรียบ

อีกด้านหนึ่งก็มีการแจก โดยใช้เม็ดเงินไม่น้อยเป็นการช่วยเหลือแบบให้กันตรงๆ ไม่ใช่ให้เบ็ดตกปลา แต่เป็นการให้เหมือนแจกปลากระป๋อง แต่ถ้าประชาไม่นิยม…ที่แจกทุกอย่างไปจะเป็นการเหนื่อยเปล่า

 

สืบทอดอำนาจอาจถึงทางตัน

โดยเส้นทางของระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางตัน แต่ถ้าจะตันก็เป็นเพราะผู้มีอำนาจไม่ยอมทำเนื่องจากไม่สมหวังตามที่ตั้งใจไว้

การจะสืบทอดอำนาจผ่านระบบเลือกตั้งตาม รธน.2560 จะต้องให้ได้ ส.ส. มาสนับสนุนฝ่ายตนเกิน 250 คนจึงจะสามารถเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากและบริหารได้ แต่ในความเป็นจริงผลของการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆ ที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ อาจได้เสียงเกินครึ่ง 250 นั่นหมายความว่าการสืบทอดอำนาจมาตั้งรัฐบาลและบริหารด้วยเสียงข้างมากจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก

แต่การคัดเลือกตัวนายกฯ มีความเป็นไปได้ไม่ยาก ถ้าหากนายกฯ ได้รับการเสนอชื่อผ่านพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งเพราะจะใช้เสียง ส.ว. 250 บวกกับ ส.ส. ประมาณ 126 คนก็จะได้เสียง 375 เกินครึ่งของรัฐสภา จากนั้นก็ไปพยายามรวบรวมเสียงพรรคอื่นมาเสริมเพื่อให้เกิดความมั่นคง

เป็นไปได้มากที่ ปชป. จะมาร่วมกับฝ่ายสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้ง

ปัญหาชี้ขาดขณะนี้จึงอยู่ที่ว่า ปชป. มีเสียง ส.ส. เท่าใด เพื่อไทยมีเสียง ส.ส. เท่าใด อนาคตใหม่มีเสียง ส.ส. เท่าใด ถ้าฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจรวมแล้วได้ ส.ส. ไม่ถึง 250 การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็อยู่ได้ไม่กี่วัน หรืออาจต้องยุบสภาตั้งแต่เริ่ม

ในขณะเดียวกันแม้พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. ถึง 250 คน แต่ถ้าไม่มีพรรคอื่นมาร่วมสนับสนุนก็ยากที่จะได้คะแนนเสียง 375 และได้รับเลือกเป็นนายกฯ เพราะเสียงของ ส.ว. 250 คงไม่มายกมือให้ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย

ส่วนการร่วมมือของ ปชป. กับเพื่อไทยดูเหมือนเป็นทางเลือกสุดท้าย ไม่มีนักวิเคราะห์ใดนำมาเป็นทางเลือกในการวิเคราะห์ไว้เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าทำได้ การสืบทอดอำนาจก็จบ ทางเดินประชาธิปไตยไม่ตัน

กระบวนการยึด…ยื้อ…ร่าง…บีบ…ล็อก…ดูด…ดึง อาจจบด้วยการยุบ

ผู้ที่ลงมาเดินอยู่ในระบอบนี้จะทำให้ทางตันหรือไม่ก็ได้ รธน. ไม่ได้ปิดทาง แต่ผู้มีอำนาจอาจไม่อยากทำ