ในประเทศ : คืน 4 เก้าอี้นายก อบจ. ตัวประกันทางการเมือง ทำแต้มดัน “บิ๊กตู่” สืบทอดอำนาจ

หลังจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 6/2561 เรื่องการเปลี่ยนแปลงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2558 ว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่ง และปฏิบัติหน้าที่อื่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 43/2559 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ก่อให้เกิดคำถามอันเป็นความเคลือบแคลงสงสัยมากเป็นพิเศษ

เพราะถือเป็นการคืนตำแหน่งให้กับ 4 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อันประกอบด้วย 1.นายสถิรพร นาคสุข นายก อบจ.ยโสธร 2.นางมลัยรัก ทองผา นายก อบจ.มุกดาหาร 3.นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ และ 4.นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร ที่เคยถูก คสช. สั่งพักในข้อหา “ทุจริต” กลับไปปฏิบัติหน้าที่เดิม

มีเพียง “เสี่ยโต๊ะ” บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีถึง 4 ข้อหา เพราะถูกเชื่อมโยงกับเอกสารคัดค้านเนื้อหาในช่วงการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กระทั่งคนในครอบครัวและลูกน้องคนสนิทถูกเรียกเข้าค่ายทหาร และถูกคุมขังในเรือนจำถึง 24 วันก่อนได้รับการประกันตัว

แน่นอนว่าคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการคืนตำแหน่งครั้งแรกในรอบ 3 ปีกว่านับตั้งแต่รัฐบาล คสช. ได้ออกคำสั่ง ม.44 พักงาน “ล็อตแรก” ที่มีผลไล่เรียงมาตั้งแต่นักการเมืองท้องถิ่น ทั้งนายก อบจ. นายก อบต. นายกเทศมนตรี รวมไปถึงบรรดาข้าราชการ

 

ที่มาที่ไป ส่วนใหญ่ “บิ๊กตู่” รับลูกมาจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. ที่มีองค์ประกอบของกรรมมาจากหน่วยงานตรวจสอบ อาทิ ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือแม้แต่ สตง. เป็นต้น ก่อนงัด “อาญาสิทธิ์” มาตรา 44 สั่งแขวนไว้ รวมกันนับได้เป็นร้อยๆ คน

แม้ว่าเหตุผลที่ถูกอธิบายในขณะนั้นจะมาจากเรื่องร้องเรียน รวมไปถึงคดีทุจริตประพฤติมิชอบ แต่จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปีภายหลังจากคำสั่งแรกออกมาก็ไม่เคยปรากฏความคืบหน้าของความผิด หรือถูกส่งเรื่องต่อเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด

นี่เองจึงเกิดเป็นคำถามถึงนัยยะทางการเมืองที่ถูกพุ่งปมสำคัญไปที่การจัดแถวการเมืองท้องถิ่นมากกว่ามูลเหตุอื่นๆ

แม้ “บิ๊กป็อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีนัยยะทางการเมือง

“ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนเดิมทาง คสช. ได้มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สำหรับนายก อบจ.บางแห่ง ทางกระทรวงมหาดไทย จังหวัด และทางผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จ หากมีมูลก็ต้องเดินไปตามกฎหมาย แต่หากสอบสวนเสร็จไม่มีอะไรก็รายงานกลับไปที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แล้วก็ให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม”

เช่นเดียวกับนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อดีตนายก อบจ.อุตรดิตถ์ ผู้กว้างขวางในแวดวงท้องถิ่น ที่มองว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเตรียมการลงสนามเลือกตั้งของรัฐบาล เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ต้องให้ความเป็นธรรม

“บางคนถูกพักงานกว่า 3 ปีก็มี ใครผิดก็ดำเนินการไป ใครไม่ผิดก็ควรคืนความยุติธรรมให้เขาไป ยิ่งวันนี้ใกล้สู่ช่วงเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว แต่ละคนจะได้มีเวลาเตรียมตัว มิเช่นนั้นก็ถูกคู่ต่อสู้ในพื้นที่หยิบกรณีดังกล่าวมาใช้โจมตีอยู่ตลอด”

 

แต่ต้องยอมรับว่า “ผล” ในทางการเมืองตามคำสั่งที่ 6/2561 ได้ไปสอดรับกับบรรยากาศแห่งช่วงเวลานี้ที่ “ปี่กลอง” แห่งการเลือกตั้งเริ่มจะโหมโรงกันพอดิบพอดี

แม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปตามโรดแม็ปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะยังคลุมเครือไม่ชัดเจน แต่กำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่นกลับเริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าขณะนี้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ในชั้นกฤษฎีกาก่อนส่งต่อมายัง สนช. พิจารณา

แต่ภายหลังจากการคืนตำแหน่ง “ล็อตแรก” 4 นายก อบจ. ทำให้นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. ได้ในช่วงตุลาคม-ธันวาคมนี้

“เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาล คสช. กำลังเตรียมตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้ง โดยกลุ่มการเมืองท้องถิ่นได้รับการยอมรับจากประชาชน คสช. จึงต้องการดึงนักการเมืองท้องถิ่นบางส่วนให้เข้ารับการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ หากนายก อบจ. เป็นคนของฝ่ายผู้มีอำนาจก็จะเป็นฐานเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้ง ส.ส. ให้กับพรรคที่สนับสนุนรัฐบาล”

นายศักดิพงศ์ระบุ

 

เป็นความเห็นอันสอดรับกับกระแสข่าวการจัดทัพ แบโผตัวผู้สมัครที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องของ “พลังประชารัฐ” พรรคการเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกองหนุนให้กับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งหลังจากการเลือกตั้ง

ถือเป็นการใช้สนามเลือกตั้งท้องถิ่นโดยหวังชิมลางวัดพลังอันเป็นฐานเสียงจาก “หัวคะแนน” ในพื้นที่ก่อนการเลือกตั้งสนามใหญ่จะเกิดขึ้น

ทว่าหากมองอย่างผิวเผินอาจจะรู้สึกว่า 4 นายก อบจ. ที่ได้รับการคืนตำแหน่ง อาจจะมีสายสัมพันธ์อยู่กับพรรคเพื่อไทย

แต่หากสาวกันลงไปลึกๆ 3 นายก อบจ.ในภาคอีสานต่างมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มบ้านริมน้ำ ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ เป็นแกนนำแทบทั้งสิ้น

สุชาติ ตันเจริญ ที่ตกปากรับคำหาตัวผู้สมัครในเครือข่าย ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคที่สนับสนุนคนจาก คสช. เช่นเดียวกับกลุ่มวังน้ำยมของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นต้น

ขณะที่ “เสี่ยโต๊ะ” บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ แม้จะใกล้ชิดกับตระกูล “ชินวัตร” แต่ก็มีข่าวออกมาเหมือนกัน

บางกระแสบ้างก็ว่าตีจาก เมื่อ “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เจ้าแม่กลุ่มวังบัวบาน เริ่มปั้น “ดาวรุ่ง” ดวงใหม่ หวังล้มตระกูลบูรณุปกรณ์ ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ บางกระแสก็บอกว่า ต้องเอาตัวรอดจากแรงบีบของผู้มีอำนาจปัจจุบัน จากเรื่องคดีความ เป็นต้น

จนต้องนำเครือข่ายในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวมาเป็น “ตัวประกันทางการเมือง” เพื่อดึงคะแนนบางส่วนออกจากฐานเสียงเก่าในพื้นที่เพื่อทำยอดจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้เกิน 25 คนเพียงพอต่อการเสนอนายกฯ ตามบัญชีรายชื่อของพรรคได้

จะเห็นได้ว่า รายชื่อ 4 นายก อบจ. ที่ได้รับตำแหน่งคืน จึงล้วนเป็นนักการเมืองจังหวัดในภาคเหนือ-อีสาน อันเป็นฐานเสียงหลักของเพื่อไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคไทยรักไทยเดิมทั้งสิ้น

พร้อมกันนี้ยังมีการเตรียมการสำหรับปลดล็อกให้กับล็อตที่สองและสามต่อไปด้วย ถึงขนาดมีข่าวการแสดงความยินดีกันล่วงหน้าแล้ว

 

ท่ามกลางความเหนียวแน่นของอดีต ส.ส.เหนือ-อีสานตัวหลักที่ยังยืนยันร่วมชายคาเพื่อไทยต่อไป รวมไปถึงผล “โพล” ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” แสดงออกอย่างมั่นใจว่า ถ้าเลือกตั้งเมื่อไหร่เพื่อไทยจะมาวิน แถมชนะแบบแลนด์สไลด์ เคยได้เท่าไหร่ก็จะชนะเท่านั้นด้วย

นี่ถือเป็นอีก 1 ยุทธวิธี “การกัดกร่อน” คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย นอกจาก “พลังดูด” อดีต ส.ส.แถวสอง แถวสาม ที่น่าจับตาว่า

จะบรรลุผลสำเร็จได้จริง หรือจะเป็นเพียงแค่ทฤษฎี 1 ในทางการเมืองเท่านั้น?