จัตวา กลิ่นสุนทร : เสียสละ แน่วแน่มุ่งมั่น เพื่อวงการ “ศิลปะร่วมสมัย+ไทย”

พูดอย่างเต็มปากแบบเสียงดังฟังชัดได้เลยว่าไม่มี “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์) ท่านไหนทำงานหนักเท่ากับ “กมล ทัศนาญชลี” หลังได้รับการเชิดชูเกียรติ (ปี พ.ศ.2540) แล้ว

เป็นการติดตามเฝ้ามองอย่างยาวนานจากคนนอกซึ่งไม่ได้ห่างไกลจากวงการศิลปะ ศิลปิน สักเท่าไรกับเส้นทางเดินของคนที่มีแต่ลมหายใจเข้าออกเป็นงานศิลปะ การสร้างสรรค์งานศิลปะซึ่งไม่เคยท้อแท้ท้อถอยปริปากบ่น และปฏิเสธงานหนัก

แต่ก็มิได้หมายความว่า “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ท่านอื่นๆ จะไม่ทำหน้าที่ของท่าน เพียงต่างคนต่างเดินตามวิถีทางอันถนัดชอบพอตามเงื่อนไขเวลา และวัยซึ่งสูงขึ้น เพราะกว่าจะได้รับเกียรติระดับนี้ดูเหมือนส่วนใหญ่ตัวเลขอายุจะเดินทางมาไกลมากแล้ว?

เคยบอกว่าได้เข้าสู่เส้นทางเดียวกันตั้งแต่ขณะยังเป็นวัยรุ่น แม้ต่างคนจะต่างมาจากคนละแห่งแหล่งที่ ซึ่งขณะนั้นยังไม่รู้ว่าอนาคตของตัวเองจะไปสู่ทิศทางไหน มีความรู้สึกแค่ว่าชอบวาดรูป ชอบวิชาวาดเขียนขณะเรียนในชั้นมัธยม ต่อมาจึงเรียกว่าวิชาศิลปะ ต้องการศึกษาเล่าเรียนศิลปะ ก่อนจะก้าวสู่คนทำงานศิลปะกระทั่งมีคนเรียก “ศิลปิน”

กมล ทัศนาญชลี ก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่มีฐานะในระดับปานกลาง เป็นลูกชาวสวนฝั่งธนบุรี ไม่แตกต่างกับเพื่อนร่วมเรียนหนังสือส่วนใหญ่มากนัก เมื่อจบการศึกษาศิลปะระดับต้นก็มีความมุ่งมั่นตั้งเป้าหมายว่าจะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความรับผิดชอบตัวเอง พร้อมกันนั้นก็ต้องดูแลพ่อแม่พี่น้อง

เมื่อก้าวเดินตามความฝัน ตัดสินใจข้ามน้ำทะเลไปบุกเบิกเปิดโลกของศิลปะร่วมสมัยของไทยในสหรัฐ จนประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษา เป็น “ศิลปินไทย” ที่ได้สร้างชื่อเสียงด้านศิลปะร่วมสมัย

กระทั่งได้รับรางวัลใหญ่ๆ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในต่างชาติ และกับคนไทยจำนวนมากที่ย้ายไปปักหลักทำมาหากินอยู่ในสหรัฐ

จนรัฐบาลสหรัฐ อนุมัติวีซ่า (Visa) ถาวร เนื่องจากเป็นศิลปินที่มีความสามารถ

เขาทำงานหนักอย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ และยังไม่หยุดกระทั่งทุกวันนี้วันที่ตัวเลขอายุเพิ่มขึ้นเป็น 72 ปีก็ยังไม่แสงอาการเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าเนื่องจากการดูแลสุขภาพ

เขาบอกว่า “ข้าพเจ้ายังคงเป็นศิลปินไทยคนเดิม ต่อสู้และเดินอยู่บนเส้นทางสายเดิม พอใจในชีวิตศิลปินอิสระ”

(I remain faithful to my thai roots.I am striving,still,on my same old course .I am content with my life as a freelance artist)

ด้วยความรับผิดชอบต่อบุพการี ครอบครัวพี่น้องของกมลได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเกือบทั้งหมด พร้อมลงหลักปักฐานยังประเทศนั้นเป็นส่วนใหญ่ โดยตัวเขาเป็นหัวหอกนำทางไปสร้างอนาคตจนสุขสบายด้วยกันทั้งหมดจนแทบจะไม่มีญาติพี่น้องท้องเดียวกันเหลืออยู่ในประเทศไทย

ในช่วงแรกๆ ของโครงการชักพาศิลปินไทยไปท่องเที่ยวดูงาน ตลอดจนการทำงานศิลปะในประเทศสหรัฐ ก็บังเอิญมีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนโครงการของเขาบ้างเล็กๆ น้อยๆ เป็นบางครั้งบางคราว แต่ก็เต็มใจด้วยความจริงใจ เนื่องจากได้เคยเดินทางไปยังสหรัฐ และได้รับการอนุเคราะห์เรื่องที่พัก อาหาร การเดินทางท่องเที่ยวไปต่างรัฐ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้งในเวลาที่แตกต่างกันยาวนาน

อันที่จริงหลังจากที่เดินมาบนเส้นทางเดียวกันโดยเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนแถวละแวกพาหุรัด ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ห่างจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าสักเท่าไร? รวมทั้งไม่ได้ไกลวัด ไกลวังสำคัญๆ ไม่ห่างจากพื้นที่ประวัติศาสตร์ทั้งหลายอย่างเกาะรัตนโกสินทร์ กับฝั่งกรุงธนบุรี เมืองหลวงเก่าซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งประวัติศาสตร์

ได้พบกันน้อยนิดแบบไม่สนิทสนมมากอาจเป็นเพราะศิลปินท่านนี้เงียบขรึมจริงจังเหลือเกิน

เรื่องกินเหล้าเมายาเที่ยวเตร่ตามประสาวัยรุ่น หรือคนที่อยู่ในสังคมของเมืองหลวงส่วนใหญ่ ไม่เคยมีอยู่ในความต้องการของเขา นอกจากงาน และงานศิลปะ

ความคุ้นเคยเริ่มปรากฏเมื่อได้ไปเยือนสหรัฐครั้งแรกในปี 1984 ตรงกับ พ.ศ.2527 รวมทั้งหลังจากนั้นเมื่อเขาได้เดินทางกลับมาประเทศไทยด้วยกิจธุระ และ เปิดนิทรรศการศิลปะครั้งสำคัญๆ ของเขาอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ก็หยิบยื่นความคล่องตัวสะดวกสบาย ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่กำลังความสามารถของตัวเองจะเอื้ออำนวยให้ได้บ้าง

ต่อจากนั้นแทบไม่มีใครไม่รู้จักกมลโดยเฉพาะคนไทยที่เดินทางไปสหรัฐ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นศิลปินแต่เพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นใครอาชีพอะไร

บ้านของกมล+นวลศรี ทัศนาญชลี คู่ชีวิตยินดีให้การต้อนรับ จะว่าไปเขาเป็นคนเป็นผู้มีจิตอาสาเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวม

ยิ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวงการศิลปะ การเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทย เขาจะทุ่มเททั้งชีวิต ดังที่ปรากฏเป็นรูปธรรมมากมาย

ความคิดริเริ่มในการนำผลงานของ “ศิลปินร่วมสมัย” ของไทยรุ่นแรกๆ ไปจัดนิทรรศการในสหรัฐ ก็เกิดจากความคิดของเขา นามของ “สภาศิลปกรรมไทยในสหรัฐอเมริกา” (Thai Art Council USA) ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากเขาก็พยายามจนสำเร็จลุล่วงผ่านไปรุ่นต่อรุ่น

ไม่เว้นแม้แต่ครูอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนศิลปะของสถาบันเก่าจากประเทศบ้านเกิดก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี โดยการจัดนิทรรศการศิลปะครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา จนประสบความสำเร็จมากมาย

โครงการนำนักศึกษาศิลปะ อาจารย์ผู้สอนศิลปะจากประเทศไทยซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ยุวศิลปิน และ ครูศิลป์ ไปศึกษาดูงานในประเทศสหรัฐ

ตอนเริ่มต้นนั้นเป็นไปแบบชนิดต้องรบกวนสายการบินแห่งชาติเรื่องราคาตั๋วที่นั่งบ้างในบางครั้ง ศิลปินทั้งหลายควักกระเป๋าจ่ายกันเองตามมีตามเกิดเป็นส่วนใหญ่ โดยเจ้าของโครงการนั้นต้องทำหน้าที่เป็นทั้งสารถีในการขับรถด้วยระยะทางยาวไกลข้ามรัฐต่างๆ พาไปพบศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Museam Art) อันมีชื่อเสียงอย่างหลากหลาย และ ฯลฯ

หลังจากปี พ.ศ.2540 โครงการอันเป็นประโยชน์เหล่านี้ได้รับการตอบสนอง และสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จากการผลักดันของเจ้าของความคิดริเริ่มโดยที่ต้องมองหาคัดเลือกกันเองตามมีตามเกิดก็มีโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นโดยมีคณะกรรมการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) อาจารย์ผู้สอนศิลปะที่เรามักเรียกกันว่าศิลปินอาจารย์ มาช่วยกันเป็นกรรมการ รวมทั้ง นิสิต นักศึกษา ยุวศิลปิน และครูศิลป์ ผู้สอนศิลปะ มี กมล ทัศนาญชลี เป็นแม่งานโดยเดินทางจากสหรัฐมาประเทศไทยทุกครั้ง แล้วก็เดินทางกลับไปเป็นดำเนินงานต่อในสหรัฐ วนเวียนอยู่อย่างนี้มากว่า 10 ปี

ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานศิลปวัฒนธรรม (สศร.) แต่สถานที่พัก และเรื่องอาการกิน ยานพาหนะยังเป็นที่บ้านพักของกมล+นวลศรี อยู่เช่นเดิม

นอกจากมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีงบมาจัดจ้างคนขับรถแทนกมล ซึ่งทำหน้าที่นี้มาอย่างยาวนาน

ย้อนคิดถึง (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ปราชญ์วาดรูปผู้ล่วงลับอีกสักนิด ศิลปินใหญ่ท่านนี้มักแอบไปพำนักเพื่อจะได้มีสมาธิในการทำงานศิลปะยังบ้านของกมลใน ลอส แองเจลิส (Los Angeles) เสมอๆ ท่านพี่เป็นผู้มีคุณูปการอย่างยิ่ง เช่น ออกทุนซื้อรถยนต์เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางของ นักศึกษาศิลปะ ศิลปินจากประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนปัจจัยให้กับวงการศึกษาศิลปะ แม้แต่ “บ้านดำ นางแล จังหวัดเชียงราย” ก็ยินดีให้เปิดใช้เป็นสถานที่ในการทำงานของนักศึกษาศิลปะ ก่อนตัดสินคัดเลือกให้ได้เดินทางไปต่อยอดยังสหรัฐ

ปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงเป็นโครงการใหญ่ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อวงการศึกษาศิลปะ ศิลปินร่วมสมัยของประเทศไทย ซึ่งสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้การสนับสนุน จนขยายแวดวงออกไปเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไม่เฉพาะแต่ในแถบถิ่นประเทศอาเซียนเท่านั้น ทั้งยุโรป และสหรัฐ ก็มีการแลกเปลี่ยนทางด้านศิลปิน และศิลปะร่วมสมัยระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ

ถ้าจะสรุปเอาว่า “กมล ทัศนาญชลี” เป็นผู้เสียสละเพื่อวงการศิลปะของประเทศนี้ตลอดมา ก็มิได้เป็นเรื่องเกินความจริงแต่อย่างใด และดูเหมือนว่าเขาน่าจะเหมาะสมกับตำแหน่ง “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์) “ศิลปินสองซีกโลก” และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 10 ใบจาก 10 มหาวิยาลัย ทีเดียว

ผลงานของ “ศิลปิน” ซึ่งไม่เคยหยุดสร้างงานแม้แต่วันเดียว

และเรื่องราวอีกมากหลาย

คงต้องติดตามนำมาเสนออีก