เพ็ญสุภา สุขคตะ : ชาวล้านนาร้อยรวมใจ จัดงานเชิดชูปูชนียบุคคล ในวาระ “140 ปีชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัย”

เพ็ญสุภา สุขคตะ
SONY DSC

ในวาระที่ปีพุทธศักราช 2561 ครบรอบ “140 ปีชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัย” ซึ่งท่านถือกำเนิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2421

หน่วยงานภาครัฐ องค์กรสงฆ์ สถาบันการศึกษา รวมทั้งภาคเอกชนในจังหวัดลำพูนและจังหวัดอื่นๆ ทั่วล้านนา ต่างร่วมใจกันจัดกิจกรรมพิเศษตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไปตลอดจนถึงสิ้นปี 2561

เพื่อเชิดชูบูชา “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ผู้เป็นปูชนียบุคคลรูปสำคัญ เป็นทั้งผู้นำทางศาสนา จิตวิญญาณ การเมือง และผู้สร้างอัตลักษณ์ด้านรูปแบบศิลปวัฒนธรรมประเพณีให้แก่ชาวล้านนา

ด้วยการจัดงานเฉลิมฉลองในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ อาทิ การฟื้นฟูการสวดป๋าระมี 30 ทัศแบบสำเนียงโบราณพร้อมเพรียงกันของวัดหลายร้อยแห่ง การฟื้นฟูแนวคิดประเภท “วิถีครูบางานหน้าหมู่” (เช่น การลงแรงทำถนนขึ้นดอยโดยไม่ใช้งบประมาณจากราชการ เลียนแบบตอนครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ) การจัดพิมพ์หนังสือสิริชีวประวัติของท่าน หรือการจัดรถรางนำเที่ยววัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปซ่อมและสร้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานเสวนาทางวิชาการ ซึ่งจะได้โฟกัสต่อไปในบทความนี้

 

ปฏิทินกิจกรรมงาน 140 ปีชาตกาลฯ
ลำพูนไฮไลต์ 3 วัน

เชื่อว่าหลายท่านอยากทราบกำหนดการการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั่วล้านนาแล้วกระมังว่ามีที่ไหนบ้าง เมื่อไหร่ อย่างไร โดยใคร ดิฉันขอไล่เรียงปฏิทิน (เฉพาะกิจกรรมที่ได้รับการประสานยืนยันมาจากองค์กรต่างๆ แล้ว) ให้เห็นดังนี้ (แน่นอนว่าอาจมีอีกหลายองค์กรที่จัดกันเงียบๆ ไม่ได้แจ้งข้อมูลมา)

ขอเริ่มจากจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ทั้งชาตสถานและมรณสถานของครูบาเจ้าศรีวิชัยก่อนเป็นจังหวัดแรก

วันที่ 10-11 มิถุนายน 2561 งาน “ไหว้สาป๋าระมี 140 ปีชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัย”

งานนี้งานใหญ่จัดโดยจังหวัดลำพูน ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน และวัดพระธาตุหริภุญชัย ฯลฯ

รูปแบบกิจกรรมเน้นงานสืบสานฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีที่เคยมีอยู่จริงในยุคที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังมีชีวิต เช่น ประกวดกลองหลวง กลองปู่จา กลองสะบัดชัย การฟ้อน การแสดงดนตรีพื้นเมือง การแสดงแสงสีเสียง และการแสดงนิทรรศการ 3 ชุด

นิทรรศการชุดแรกว่าด้วย สิริชีวประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย ชุดที่สองว่าด้วย สถูปและกู่บรรจุอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยทั่วล้านนา (มากกว่า 50 แห่ง)

และชุดสุดท้ายคือผลงานการวาดภาพสีน้ำเรื่อง “ตามรอยวัดของครูบาเจ้าศรีวิชัย จำนวน 108 แห่ง” โดยศิลปินสีน้ำฉายา “สล่าตุ๋ย แต้มงาม” หรือนามจริง “เชิดชาย ศรีวิชัย”

วันที่ 12 มิถุนายน 2561 งานนี้ดิฉันเป็นแม่งานหลัก ร่วมมือกับภาคเอกชน และเทศบาลตำบลเวียงยอง ร่วมกันจัดงานสารเสวนาหัวข้อ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย : จากล้านนาสู่สากล”

โดยอาราธนา พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กลฺยาโณ) และ ส.ศิวรักษ์ เป็นองค์ปาฐก

อภิปรายประเด็นว่าด้วย “ครูบาเจ้าศรีวิชัย ผู้นำสงฆ์นักปฏิรูปที่ไร้หัวโขน” จัดที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน (ข้ามขัวมุงหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย ไปอีกฝั่งหนึ่ง) เวลา 13.00-16.00 น. งานนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการเช่นกัน

การกำหนดหัวข้อเสวนาเช่นนี้ สืบเนื่องมาจากคดีต้องอธิกรณ์พระสงฆ์ในบ้านเราทุกวันนี้กำลังร้อนระอุถึงจุดเดือด (อาจมีทั้งพระสงฆ์ที่ถูกกลั่นแกล้งไม่ได้รับความเป็นธรรม และอาจมีทั้งพระที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยจริง)

หากเป็นกรณีถูกกลั่นแกล้ง ก็ชวนให้ระลึกถึงคดีต้องอธิกรณ์ในอดีตที่สั่นสะท้านสะเทือนวงการสงฆ์มาแล้ว ไม่ว่ากรณีของครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ดี หรือกรณีของพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถระ) ก็ดี

ซึ่งมีบางคนนำไปเปรียบกับคดีของอดีตหลวงปู่พระพุทธะอิสระ ในความเป็นจริงแล้วสามารถเปรียบเทียบกันได้ละหรือ?

แม้อดีตพระพุทธะอิสระจักตั้งปณิธานขอเป็นอนาคตพุทธเจ้าเหมือนกับครูบาเจ้าศรีวิชัย และอ้างว่าผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิมักต้องมีชีวิตที่โลดโผนโจนทะยาน ถูกต้องคดีอธิกรณ์ แต่หากพิจารณารายละเอียดของทั้งสองกรณีให้ดีๆ จักเห็นว่ามีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้ วิทยากรที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมีความเข้าใจประวัติศาสตร์พัฒนาการของวงการสงฆ์อย่างดิ่งลึกมากที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ คงหนีไม่พ้นสองนักคิดนักวิพากษ์สังคมนามอุโฆษแห่งยุคสมัย คือหลวงพ่อพระพยอม VS อาจารย์ ส.ศิวรักษ์

อานิสงส์จากการเชิญอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาร่วมงานที่ลำพูนในวันที่ 12 นั้น ทำให้เกิดการแตกหน่อออกกอไปด้วยอีกงาน คือครั้นเมื่อศิลปินลำพูนชื่อดัง “ประสงค์ ลือเมือง” ทราบเรื่อง จึงได้ขอเรียนเชิญอาจารย์ “ส.ศิวรักษ์” ช่วยมาเป็นประธานเปิดหอศิลป์หลังใหม่ของเขา อาคาร “สิริวิชโย” (ฉายาตอนบวชของครูบาเจ้าศรีวิชัย) พร้อมการแสดงงานของศิลปินล้านนา 69 คน

พร้อมขอให้ท่านกล่าวปาฐกถาพิเศษด้วยอีกงานหนึ่งถึงเรื่องราวชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ที่บ้านพันตาเกิน ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เวลา 11.00 น. เป็นต้นไปจนถึงช่วงบ่าย

 

พะเยา ตามรอยธรรมยาตราบารมี

ประมาณก่อนวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 (ยังไม่ระบุวันแน่นอน หากทราบแน่ชัดจะแจ้งอีกที) ทางมหาวิทยาลัยพะเยาจัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “ตามรอยธรรมยาตราบารมี ครูบาเจ้าศรีวิชัยจากลำพูนสู่เมืองพะเยา”

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลวัดต่างๆ ในพะเยาของดิฉันและทีมงานนักวิจัย พบว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดในจังหวัดพะเยาร่วมๆ 30 แห่ง โดยเฉพาะวัดศรีโคมคำหรือวัดพระเจ้าตนหลวงนั้นมีความสำคัญเป็นลำดับต้นของจังหวัดนี้ ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยทุ่มเทในการก่อสร้างมากที่สุด

ระหว่างเส้นทางจากลำพูนไปพะเยา มีศิษยานุศิษย์ติดสอยห้อยตามท่านมาจำนวนมหาศาล ประหนึ่ง “กองทัพธรรมยาตรา” และยังค่อยๆ สมทบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเบี้ยบ้ายรายทาง รวมแล้วมากกว่า 1,500 ชีวิต ท่านได้แวะพักตามหมู่บ้านต่างๆ สร้างวัดตามทางผ่านทั้งบนดอยป่าเขาถิ่นทุรกันดารมากกว่า 100 แห่ง และทำการบรรพชาอุปสมบทภิกษุสามเณรที่ด้อยโอกาสอีกมากกว่า 1,000 รูป

ช็อตนี้เกิดขึ้นในปี 2465 ถือเป็นเรื่องราวที่มีสีสันและน่าติดตามมากที่สุดช่วงหนึ่งในหน้าประวัติของครูบาเจ้าศรีวิชัย

 

เชียงใหม่เน้นยุคมณฑลเทศาภิบาล
ถึงยุคคณะราษฎร
กับบทบาทแห่งต๋นบุญ

วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ฝ่ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายหน่วยงาน อาทิ คณะสังคมศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคม ร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย (หน้าวัดศรีโสดา เชิงดอยสุเทพ) จัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ เน้นเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากมณฑลเทศาภิบาลยุครัชกาลที่ 5 ไปสู่ระบอบใหม่ยุคคณะราษฎร 2475 ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกำลังขับเคลื่อนการเป็นผู้นำชุมชนต่อต้านอำนาจส่วนกลาง และถูกเพ่งเล็งจากรัฐสยามอยู่พอดี

วิทยากรหลักๆ ล้วนเป็นนักวิชาการสายแข็ง อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.แคทเทอรีน บาววี จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว เป็นต้น สถานที่จัดกิจกรรมเสวนาคือ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข้างฝ่ายจังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ก็กำลังวางแผนจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการอยู่เช่นกัน ยังไม่ระบุเนื้อหาและวันเวลา

 

รวมพลังโดยพร้อมเพรียง
เชียงรายเมืองศิลปิน

ที่น่าสนใจยิ่งคือในส่วนของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากเป็นลำดับที่สองรองจากจังหวัดเชียงใหม่ (เชียงใหม่นับได้จำนวนประมาณ 60-70 แห่ง เชียงรายนับได้ประมาณ 50-60 แห่ง) ผู้ที่ขันอาสาเข้ามารับเป็นเจ้าภาพจัดงานเชิดชูบูชาครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้แก่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ “ท่าน ว.วชิรเมธี” แห่งไร่เชิญตะวันนั่นเอง

ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า เชียงรายเป็นเมืองสล่า-ศิลปิน มีทั้งถวัลย์ ดัชนี (ล่วงลับไปแล้ว) และมีทั้ง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แห่งวัดร่องขุ่น กับศิลปินร่วมสมัยทั้งสายสล่าพื้นเมือง และแนวนามธรรมร่วมสมัยอีกนับไม่ถ้วน ดังนั้น ท่าน ว.วชิรเมธี จึงวางแผนจัดกิจกรรมงาน 140 ปีชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้คร่าวๆ ดังนี้ (ดิฉันไปพบท่านและร่วมหารือกันเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา)

กำหนดการจัดงาน น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคม (คือขอให้เสร็จสิ้นจากงานเชียงรายเกมส์ไปก่อน ซึ่งทั้งท่าน ว. และสล่าเหลิมต้องอุทิศตนช่วยงานนี้ให้แก่จังหวัดเชียงรายอย่างหนัก) รูปแบบงานจะแปลกแตกต่างไปจากจังหวัดอื่น นั่นคือจะจัดประมาณ 3-7 วัน (แล้วแต่สถานการณ์ เพราะตัวท่าน ว. เองก็ติดกิจรับนิมนต์ไปต่างประเทศค่อนข้างบ่อย)

โดยขั้นแรกจะเชิญศิลปินชั้นยอดชาวเชียงรายประมาณ 9 หรือ 19 คน มาวาดภาพครูบาเจ้าศรีวิชัยในแง่มุมต่างๆ แล้วติดตั้งจัดแสดงเป็นนิทรรศการศิลปะก่อนวันไฮไลต์ แต่ละวันมีการอ่านบทกวี

สำหรับการเสวนาเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น จะมีทั้งการปาฐกถาพิเศษของท่าน ว.วชิรเมธี และสล่าเหลิม ที่ทั้งสองท่านต่างมีครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นไอดอล (ท่าน ว. มองครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นต้นแบบของนักพัฒนา ส่วนสล่าเหลิมมองครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นต้นแบบของสล่า) ให้สองท่านสะท้อนความรู้สึกที่แฝงเร้นอยู่ในใจที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยออกมาอย่างหมดเปลือกไปเลย

จากนั้นจะเป็นการเสวนาโต๊ะกลมล้อมวงคุยกันทั้งพระ-ฆราวาส นักวิชาการระดับชาติ-ระดับท้องถิ่น หัวข้อ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย ต้นแบบนักบุญ ต้นแบบสล่า และต้นแบบนักพัฒนาของโลก” โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะเชิญเข้าร่วมเสวนานั้น จะเป็นพระนักพัฒนาจากทั่วทุกสารทิศ

อาทิ พระที่มีผลงานโดดเด่นด้านการรักษาโรคเอดส์ โรคมะเร็ง พระที่ดูแลคนยากไร้ เด็กกำพร้า ผู้ติดยาเสพติด พระที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อาจเป็นสื่อไอที ฯลฯ แต่อาจจะไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ท่าน ว. กล่าวว่า ก็เพื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวดีๆ ของวงการสงฆ์ให้สาธารณชนรับทราบในแง่ดีงามบ้าง หักกลบลบหนี้กับภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ที่ตกต่ำย่ำแย่จนแทบจะถึงขีดสุดแล้ว คงต้องขอบารมีจากครูบาเจ้าศรีวิชัยเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์อันเลวร้ายนี้ให้ผ่านพ้นไป พุทธศาสนิกชนชาวล้านนาและชาวไทยทั้งประเทศจักต้องช่วยกันแปรวิกฤตเป็นโอกาสให้จงได้

ประกาศดังๆ ให้โลกรู้ว่า “พระแท้ของพระพุทธเจ้า ที่พร้อมจะเดินตามรอยของต๋นบุญเช่นครูบาเจ้าศรีวิชัย ยังมีอยู่อีกมากมาย”

รายละเอียดเกี่ยวกับงานที่เชียงรายเป็นอย่างไรนั้น ดิฉันจักแจ้งให้ทราบต่อไปเมื่อโปรแกรมสะเด็ดน้ำ แต่พอจะเห็นวี่แววแล้วว่า เป็นงานที่ตบท้ายศักราช 140 ปีชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่น่าสนุก แน่นไปด้วยสาระ ถึงใจพระเดชพระคุณอย่างแน่นอน