การศึกษา / คูปองพัฒนาครู ละลายทรัพย์ ฤๅทางรอด ‘ศึกษา’?

การศึกษา

 

คูปองพัฒนาครู

ละลายทรัพย์ ฤๅทางรอด ‘ศึกษา’?

 

เข้าสู่ปีที่ 2 สำหรับโครงการคูปองพัฒนาครูที่เชื่อมโยงวิทยฐานะโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดสรรงบประมาณให้ครูรายละ 10,000 บาทเพื่อเลือกช้อปปิ้งหลักสูตร เป้าหมายเพื่อให้ครูนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมไปพัฒนานักเรียนต่อ

ทันทีที่คิกออฟในปีแรก มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการว่าหลักการดี ครูมีโอกาสเลือกอบรมตามความต้องการ แต่เร่งรีบมากไป ทำให้ไม่มั่นใจคุณภาพ ไม่มีกระบวนการติดตามผลการอบรมลงไปที่สถานศึกษา

หลายหลักสูตรถูกล็อกระบบลงทะเบียน ทำให้ครูไม่สามารถเลือกอบรมในจังหวัดตนเองหรือพื้นที่ใกล้เคียง และถูกโจมตีเรื่องอบรมวันเสาร์-อาทิตย์ แม้ไม่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนโดยตรง แต่ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อครูและส่งผลต่อเนื่องถึงเด็ก

นักวิชาการมองว่าควรอบรมแบบ on the job training มากกว่า

สรุปผลของปีแรก ใช้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท ครูเข้าอบรม 1.7 แสนคน จากกว่า 1,400 หลักสูตร ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีครูวืดอบรม 2.2 หมื่นคนเนื่องจาก 22 หน่วยงานแจ้งยกเลิก 87 หลักสูตร เพราะไม่ได้ครูตามเป้าหมาย

อีกทั้งมีการโอนเงินให้หน่วยจัดล่าช้า ทำให้วางแผนโครงการไม่ได้

นำมาสู่ครูที่ชวดอบรมเรียกร้องให้คงสิทธิ 10,000 บาท

 

ในปีที่ 2 สพฐ. พยายามนำบทเรียนจากปีแรกมาปรับปรุงแก้ไข

มีการเปิดระบบจองหลักสูตรล่วงหน้า ก่อนช้อปปิ้งเพื่อจะได้ทราบจำนวนครูล่วงหน้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะได้ประสานหน่วยจัดให้มาจัดอบรมในเขตพื้นที่ฯ หรือภายในจังหวัดเพื่อทุ่นค่าใช้จ่ายในการเดินทางของครู

ขณะเดียวกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยจัดด้วย

แต่ปัญหาใหม่เกิดขึ้นเมื่อหน่วยจัดบางแห่งไม่ได้รับการประสานงานจากเขตพื้นที่ฯ เนื่องจากครูลงทะเบียนกระจาย ไม่ได้กระจุกตัว

เดือดร้อนหน่วยจัดต้องเสนอเปิดรุ่นพร้อมจังหวัด ต่อสถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

ที่สุดมีกว่า 300 หลักสูตรที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากสถาบันคุรุพัฒนาเนื่องจากวิทยากรไม่เพียงพอและวิทยากรขาดคุณสมบัติ

หน่วยจัดร้องเรียนปมหลักสูตรของตัวเองหายไปจากระบบช้อปปิ้งโดยพยายามเชื่อมโยงกับประเด็นงบประมาณ

ทำนองว่าเพราะ สพฐ. ไม่ได้ตั้งงบประมาณ เลยต้องมากำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ เป็นเหตุให้ต้องดึงหลักสูตรกลับมาพิจารณาอีกรอบ

แต่ทั้ง สพฐ.และเจ้ากระทรวงอย่าง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมายืนยันตรงกันว่า ไม่จริง ไม่ได้เกี่ยวกับงบประมาณ เพราะปีที่แล้วก็ไม่ได้ตั้งงบฯ แต่ใช้งบฯ จากสำนักต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคืออบรมครู นำมาใช้ในโครงการนี้ซึ่งปีนี้ก็จะเป็นแบบนั้น

เรื่องไม่มีงบฯ ตัดทิ้งไป แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือเริ่มมีเสียงสะท้อนจากคนแวดวงการศึกษาว่าใครได้ประโยชน์จากโครงการนี้?

แน่นอนว่าหน่วยจัดกับครูที่จะได้เก็บชั่วโมงสำหรับยื่นขอวิทยฐานะ

แต่สำหรับนักเรียนซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของโครงการยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับประโยชน์อย่างไรด้วยว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีตัวชี้วัดที่บ่งชี้ได้ว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นอย่างไร หรือได้รับการพัฒนาอย่างไร

ที่สุดน่าหวั่นว่าแนวทางที่ สพฐ. ทำอยู่จะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่

 

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ระบุว่า คูปองครูมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียน แต่รอบปีที่ผ่านมายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก ไม่มีการติดตามผลว่าครูได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมไปพัฒนาผู้เรียนหรือไม่ ต่างจากโครงการในอดีตที่มีการติดตามผล ได้พูดคุยกับครูจำนวนมากและต่างสะท้อนตรงกันว่าโครงการนี้ยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียน

“โครงการนี้ไม่ตอบโจทย์โดยสิ้นเชิง ถือว่าสอบตก การพัฒนาครูเป็นสิ่งจำเป็นแต่แนวทางที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์ ต้องปรับเปลี่ยน นพ.ธีระเกียรติบอกว่าถ้าโครงการนี้ไม่ดีก็เปลี่ยนได้ ไม่ได้ยึดติด ผมต้องขอบคุณที่ไม่ยึดติดเพราะมุมมองผม มองว่าจำเป็นต้องเปลี่ยน” ผศ.ดร.อดิศรกล่าว

นักวิชาการท่านนี้ยังชำแหละข้อผิดพลาดและเสนอแนวทางการแก้ไขเป็นข้อๆ ดังนี้

  1. ควรจัดอบรมภายในโรงเรียน ส่วนนอกโรงเรียน ต้องลดให้เหลือน้อยที่สุด
  2. ความผิดพลาดของคูปองครูเพราะไปผูกติดกับเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ส่งผลให้ได้ตัวเลขผู้ลงทะเบียนอบรมมาก แต่ไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพ เพราะที่ลงทะเบียนกันเยอะเพราะประการแรก อยากเอาชั่วโมงไปทำวิทยฐานะ และประการที่สอง ครูมองว่าเป็นของฟรี การออกไปอบรมนอกโรงเรียน ก็เหมือนได้ไปเที่ยว ถือเป็นการเที่ยวฟรี ซึ่งเรื่องนี้จะว่าครูไม่ได้

และประการสุดท้าย ซ้ำร้ายผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ สั่งผู้อำนวยการโรงเรียนให้ครูลงทะเบียนเยอะๆ เพื่อให้เห็นตัวเลขเยอะๆ เพื่อจะสะท้อนถึงความสำเร็จของโครงการ เลยทำให้เกิดการขู่ครูว่าถ้าไม่ลงทะเบียนเข้าอบรมจะไม่ได้ซึ่งการคงวิทยฐานะหรือชวดเงินวิทยฐานะ เช่น วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ รับ 5,600+5,600 บาทอยู่ จะไม่ได้ และต้องถูกลดวิทยฐานะ ซึ่งเรื่องนี้ไม่จริง เป็นการแอบอ้าง เพราะมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กำหนดให้มีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ แต่การประเมินต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดทำขึ้นและ ก.ค.ศ. เห็นชอบ ซึ่งตอนนี้ ก.ค.ศ. ยังไม่ออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว

“ครูที่ต้องการมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ กลุ่มนี้ต้องการไปอบรมอยู่แล้ว แต่ครูที่มีวิทยฐานะอยู่แล้วส่วนหนึ่งถูกบังคับกลายๆ ต่างจากปีก่อนที่การอบรมเป็นไปตามความสมัครใจ ไม่มีการขู่หรือแอบอ้าง ฉะนั้น ตัวเลขครูที่ลงทะเบียนจำนวนมากในปีนี้ ไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพ เป็นตัวเลขหลอกๆ คนที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ไม่ใช่นักเรียน แต่เป็นหน่วยจัดและครู”

ผศ.ดร.อดิศรระบุ

 

การอบรมพัฒนาครูเป็นสิ่งจำเป็นและควรต้องทำเป็นระยะๆ แต่แนวทางการอบรม ควรต้องเปลี่ยนมาอบรมภายในโรงเรียน ส่วนการประเมิน ก็ควรให้คนนอกประเมินเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ให้ครูเป็นผู้ประเมินอย่างที่ สพฐ. ทำอยู่ และที่สำคัญเนื้อหาการอบรมที่หวังผลต่อผู้เรียนนั้นควรตั้งโจทย์ใหม่ โดยมุ่งต้องตอบโจทย์ผู้เรียนยุคปัจจุบันและอนาคต เช่น การบริหารจัดการห้องเรียน การผลิตสื่อ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนแทนที่จะเป็นกรอบเดิมๆ อย่าง PLC เป็นต้น

ภาพรวมถือว่า สพฐ. พยายามแก้ไขปัญหา แต่ผลที่เกิดขึ้นยังไม่ตอบโจทย์พัฒนาผู้เรียน ไม่ตอบโจทย์คุณภาพการศึกษา หลายฝ่ายจึงมองว่าไม่คุ้มค่างบประมาณ ซึ่งปีนี้งบการอบรมคาดการณ์อยู่ที่ 1,400 ล้านบาทเท่ากับปี 2560 ขณะที่มีครูลงทะเบียนอบรมไปแล้ว 2.8 แสนคน

เจ้ากระทรวงประกาศว่าไม่ได้ยึดติด พร้อมปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น ฉะนั้น ถึงเวลาหรือยังที่จะกลับมาทบทวนว่าแนวทางที่เป็นอยู่ตอบโจทย์คุณภาพผู้เรียนหรือไม่ ก่อนที่จะเกิดปัญหาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปมากกว่านี้…