ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต/ย่ำ ‘ฮิโรชิม่า’ – บ้านเกิด ‘มาสด้า’ (จบ) ลองของ ‘ซีเอ็กซ์-8’ ก่อนมาไทย

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต [email protected]

 

ย่ำ ‘ฮิโรชิม่า’ – บ้านเกิด ‘มาสด้า’ (จบ)

ลองของ ‘ซีเอ็กซ์-8’ ก่อนมาไทย

 

“ยานยนต์ สุดสัปดาห์” ยังอยู่ที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ในงาน Mazda Pan Pacific Forum 2018

ฉบับนี้พาไปเยี่ยมชมโรงงานและสำนักงานใหญ่ของมาสด้า รวมถึงสัมผัสแรกที่ได้ขับ “ซีเอ็กซ์-8” เอสยูวีขนาดใหญ่แบบ 6-7 ที่นั่ง ซึ่งกำลังจะเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา

ออกเดินทางแต่เช้าจากโรงแรมที่พักมุ่งหน้าไปยังสำนักงานใหญ่มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และเป็นที่ตั้งของโรงงาน “Ujina” บนที่ราบลุ่มแม่น้ำโอตะ บรรยากาศงดงามมาก

นั่งฟังบรรยายจากผู้บริหารญี่ปุ่นถึงความเป็นไปเป็นมาของโรงงาน และการถือกำเนิดมาสด้า ถือว่าน่าสนใจทีเดียว

มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ก่อตั้งโดย “จูจิโร่ มัตซึดะ” ที่ไม่น่าเชื่อคือกิจการแรกเป็นผู้ผลิตฝาจุกไม้ก๊อกในปี พ.ศ.2463 และเริ่มผลิตเครื่องมือกลในปี พ.ศ.2472

“จูจิโร่ มัตซึดะ” ชื่นชอบรถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ ในปี พ.ศ.2474 จึงเข้าสู่แวดวงยานยนต์ด้วยการผลิตรถบรรทุก 3 ล้อ ที่เรียกว่า “มาสด้า-โกะ”

ช่วงที่กิจการเริ่มเดินหน้าไปได้สวยๆ นี่เอง ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และฮิโรชิม่าพบกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อโดนถล่มด้วยระเบิดนิวเคลียร์ในวันที่ 6 สิงหาคม 2488

“จูจิโร่ มัตซึดะ” รอดพ้นความสูญเสียมาได้ จากนั้นค่อยๆ พามาสด้าเติบใหญ่พร้อมสร้างชื่อไปทั่วโลกด้วยสุดยอดเครื่องยนต์ “โรตารี่”

ประกาศศักดาในสนามแข่งโดยในปี พ.ศ.2528 รถแข่งมาสด้า ซาวันน่า หรือ “มาสด้า RX-7” ทำลายสถิติ IMSA ที่คว้าชัยชนะมากที่สุดถึง 67 ครั้งด้วยกัน

ในปี พ.ศ.2534 รถแข่งมาสด้า “787B” กลายเป็นรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นรายแรก ที่ชนะเลิศการแข่งขันรถยนต์ “Le Mans” 24 ชั่วโมง ที่ประเทศฝรั่งเศส

 

ด้วยจำนวนนักข่าวไทยที่เดินทางไปถึง 20 คน เมื่อมาถึงสำนักงานใหญ่และโรงงานจึงแบ่งออกเป็น 2 ทีม แยกไปดูโรงงานและสายพานการผลิตรถยนต์ กับอีกทีมไปทดสอบรถยนต์ “มาสด้า ซีเอ็กซ์-8” จากนั้นค่อยสลับกิจกรรมกัน

โรงงานของมาสด้าในญี่ปุ่นมีใหญ่ๆ 2 แห่ง ที่โรงงาน “Ujina” เน้นผลิตรถยนต์รุ่น “ซีเอ็กซ์-5” เพราะกำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่ไม่ใช่ว่าทำรุ่นอื่นไม่ได้นะครับ ทำได้ทุกรุ่นและสามารถผสมผสานไลน์การผลิตได้ด้วย

อย่างไลน์การผลิตรถยนต์ “ซีเอ็กซ์-5” ที่ผมเข้าไปดูต้องถือว่าน่าทึ่งมาก เพราะทำงานได้รวดเร็ว และยังสามารถผลิตทั้งแบบพวงมาลัยซ้ายหรือขวาพร้อมกันได้ด้วย

โรงงานแห่งนี้เฉลี่ยแล้วผลิตรถ 1 คันใช้เวลาเพียง 53 วินาทีเท่านั้น

ไม่น่าแปลกใจหรอกครับ เพราะไลน์การผลิตที่ยาวเป็นกิโลๆ มีพนักงานประจำอยู่ตามจุดต่างๆ ทำหน้าที่ประกอบชิ้นส่วนตามความรับผิดชอบของตัวเอง แต่มีหุ่นยนต์หรือแขนกลมาช่วยบ้างในบางขั้นตอน แต่หลักๆ แล้วเป็นแรงงานคนนี่แหละ

บอกตรงๆ ว่าเห็นแล้วน่าเครียดและน่าอึดอัดแทน เพราะแต่ละจุดจะทำงานแข่งกับเวลาและทำซ้ำๆ แบบนั้นไปเรื่อยๆ

แต่ไม่ได้ทำยาวนานนักนะครับเพราะจะสลับกันพักบ้าง หรือใครปวดหนัก-ปวดเบา จะมีสายสัญญาณให้ดึงขอความช่วยเหลือ พนักงานสำรองก็จะเข้ามาเสียบแทน

เพราะฉะนั้น แต่ละคนต้องเชี่ยวชาญไลน์ผลิต 2-3 จุด เพื่อสลับสับเปลี่ยนกันได้

ที่ผมชอบที่สุดคือปรัชญาการทำงานของโรงงานมาสด้า ง่ายๆ สั้น

“100 – 1 = 0”

ความหมายก็คือ รถที่ผลิตออกมาทุกคันต้องไม่มีปัญหา เพราะหากมีรถที่ผิดพลาดเพียงคันเดียวใน 100 คัน ถือว่าทุกอย่างล้มเหลว

 

มาถึงไฮไลต์คือการทดสอบรถยนต์มาสด้า “ซีเอ็กซ์-8” ทดสอบกันในสนามของโรงงานนั่นแหละครับ รอบหนึ่งไม่ยาวมากประมาณ 2 กิโลเมตรได้กระมัง แต่ก็มีเส้นทางที่หลากหลายทั้งทางตรงให้ทำความเร็ว ทางโค้ง ทางคลื่น ฯลฯ

มีรถ 2 รุ่นย่อยมาให้คือขับเคลื่อน 2 ล้อ และขับเคลื่อน 4 ล้อ ขับกันคนละ 2 รอบสนาม และนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลังอีกรุ่นละ 2 รอบสนาม

มาสด้า “ซีเอ็กซ์-8” เป็นครอสโอเวอร์เอสยูวีแบบที่นั่งสามตอน แบบ 6-7 ที่นั่ง โดยรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อจะเป็นแบบ 6 ที่นั่ง หรูหราทีเดียว ที่เห็นเป็นเบาะนั่งสีขาวดูสวยหรูหรามาก แต่การรักษาก็คงยากอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ผมขอไม่ลงรายละเอียดมากนักเพราะเป็นเวอร์ชั่นญี่ปุ่น

รูปลักษณ์ภายนอกก็ซีเอ็กซ์-5 ภายในขยายแหละครับ ด้านหน้าคล้ายกันมาก

ใช้เครื่องยนต์สกายแอคทีฟ 2.2 คลีนดีเซล รุ่นอัพเดต เกียร์อัตโนมัติสกายแอคทีฟ 6 สปีด

ภาพรวมใหญ่โต สวยงามตามสไลต์ “โคโดะ ดีไซน์” อันโด่งดังของมาสด้า

 

2 รอบแรกลองรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ อัตราเร่งฉลุยมากโดยเฉพาะตอนยิงทางตรงยาวๆ แม้ระยะจะไม่มากนักแต่ความเร็วไต่ไปถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในอึดใจเดียว จนวิศวกรที่นั่งคู่ไปด้วยถึงกับมองค้อน

แหะๆ มันเท้าไปหน่อย เพราะเขาขอให้ขับไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

รอบแรกผมทำตามระเบียบเป๊ะ แต่บอกเลยว่ามันไม่ใช่

เพราะความเร็วระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความรู้สึกเหมือนไม่เร็วขนาดนั้น เนื่องจากความนิ่งและเงียบในห้องโดยสารนั่นเอง

รอบ 2 เลยจัดซะ

สลับมานั่งโดยสารด้านหลังโปร่งโล่งดีมาก พื้นที่เหลือเฟือเหยียดเท้าได้สบาย เฮดรูมก็เยอะมาก ไม่รู้สึกอึดอัดอะไรเลย

จากนั้น เปลี่ยนมาทดสอบรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ช่วงล่างกระชับขึ้น การเข้าโค้งหรือกระชากเปลี่ยนเลน รวมไปถึงวิ่งในทางตรงดูแน่นหนึบกว่า

พูดง่ายๆ ขับแล้วมั่นใจกว่า ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางแบบไหน หรือความเร็วเท่าใด

นอกจากนี้ การตกแต่งภายในดูหรูเฟร่อ ที่นั่งแถว 2 ที่มีให้ 2 ที่นั่ง ตรงกลางเป็นที่เท้าแขนขนาดใหญ่ สบายมากๆ

ส่วนที่นั่งแถว 3 ถ้าเป็นเด็กๆ พอไหวครับ

มาสด้าตั้งเป้าจับตลาดผู้บริหาร และน่าจะมาเปิดศึกกับ “พีพีวี” หรือปิกอัพดัดแปลงในเมืองไทย

ปีหน้าแฟนมาสด้าในเมืองไทยได้เห็นซีเอ็กซ์-8ž ตัวเป็นๆ แน่นอน

ส่วนสนนราคาที่ญี่ปุ่นขายอยู่ล้านเศษๆ เมืองไทยน่าจะแพงกว่านั้นนิดหน่อย

ปิดท้าย…สำหรับใครที่กำลังมองหารถใหม่หรือรถมือสอง ไม่ต้องไปเดินเข้าทีละโชว์รูมหรือทีละเต็นท์ให้เสียเวลา เพราะงานคาร์โชว์กลางปี “FAST AUTO SHOW THAILAND 2018” ระดมรถใหม่-จักรยานยนต์ 15 ราย และรถมือสองรับรองมาตรฐาน 16 ราย มาประชันกัน

การันตีโดย “พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ” กูรูรถยนต์ชื่อดังของไทย ในฐานะประธานจัดงาน โดยเฉพาะรถมือสองรับประกันไม่มีย้อมแมว-โอนได้ทุกคัน ถ้ามีปัญหาผู้จัดงานควักเงินรับซื้อคืนเองเลย ในงานยังมีกิจกรรมและของรางวัลให้ลุ้นเพียบ

อย่าพลาด! เริ่ม 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคมนี้ ที่ไบเทคบางนา…เข้าชมฟรี