ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรก 27/05/2016
ข่าวพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องขนสมบัติตั้งแต่ทองคำ ถุงกอล์ฟ เครื่องมือก่อสร้าง ถ้วยชามสังคโลก ล้อแมกซ์ กระสอบทราย กลองยาว เรื่อยไปจนถึงอย่างครกหินอ่างศิลามาเข้าโรงจำนำก่อนเปิดเทอมทำให้ชาวบ้านร้านช่องอย่างเราอดคิดไม่ได้ว่า ความยากจนกำลังเดินทางมาเคาะประตูบ้านคนไทยอีกรอบ หลังจากที่ดูเหมือนว่าประเทศเราได้เข้าสู่ประเทศที่ประชากรมีรายได้ปานกลางมาช่วงหนึ่ง
ภาวะนี้เราอาจมองว่าเศรษฐกิจแย่ลง แต่มากกว่าเศรษฐกิจแย่ลงมันคือสัญญาณว่าด้วยการกลับมาของคนจน เพราะหากเป็นเรื่องของเศรษฐกิจแย่ลง อย่างมากที่สุดก็คือ คนมีรายได้ลดลง พ่อค้าแม่ค้าขายของได้น้อยลง คนอยากจับจ่ายใช้สอยน้อยลงเพราะไม่มีความมั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจ
แต่การมีรายได้ “ลดลง” ไม่ได้เท่ากับการกลายเป็น “คนจน”
ทว่า การต้องเอาทรัพย์สินมูลค่าเพียงเล็กน้อยมาเข้าโรงจำนำในช่วงเปิดเทอมชี้ให้เห็นว่า “รายรับ” ของครัวเรือนของประชากรหนึ่งน่าจะมากกว่าการที่มีรายได้รายวันหรือรายเดือนลดลง แต่เกิดจากโอกาสทางเศรษฐกิจที่ตีบตันลงด้วย
มองอย่างคนที่ไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เลยแม้แต่น้อย ฉันคิดว่า โอกาสทางเศรษฐกิจนั้นสำคัญกว่า “รายได้” ที่เป็นเม็ดเงิน
เช่น นโยบายเรียนหนังสือฟรี 12 หรือ 15 ปี, สามสิบบาทรักษาทุกโรค, นโยบายจำนำข้าว, กองทุนหมู่บ้านที่ทำให้เกิดธุรกิจและการสร้างงานในท้องถิ่น, การยกเลิกการผูกขาดธุรกิจบางอย่าง เช่น อู่เช่าแท็กซี่ โดยเปิดโอกาสให้คนได้เป็นเจ้าของแท็กซี่ง่ายขึ้น, การยกเลิกการผูกขาดสัมปทานวินมอเตอร์ไซค์ ที่ทำให้เสื้อวินราคานับแสนบาทเข้าสู่ระบบการจัดการที่ต้องขอนุญาตตามขั้นตอนและไม่ต้องจ่ายเงินใต้ดิน, การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการภาษีของตนเอง ความเจริญกระจายสู่หน่วยย่อยของประเทศอย่างไม่กระจุกตัว ก็เท่ากับเป็นการกระจายเงิน กระจายการลงทุน กระจายการจ้างงาน และแน่นอนกระจายอำนาจการบริโภคลงสู่ท้องถิ่น
และทั้งหมดนี้คือ โอกาสของการทำมาหากินที่กว้างขวางขึ้นทั้งสิ้น
การแก้ปัญหาความจนไม่อาจแก้ได้ด้วยการ “เพิ่มรายได้” หรือ “เพิ่มค่าแรง” เพียงอย่างเดียว แต่โอกาสของการเข้าถึงทรัพยากร โอกาสในการลงทุน โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อการลงทุน โอกาสของการได้ทำงานในบ้านเกิดช่วยลดโสหุ้ย ค่าครองชีพ
การได้จำนำข้าวหรือประกันราคาสินค้าภาคการเกษตร ทำให้ประชาชนในภาคการเกษตรสามารถสะสมทุนจนสามารถใช้ทุนนั้นต่อยอดพัฒนาศักยภาพของตนและลูกหลานจนท้ายที่สุดหากไม่เป็นเกษตรที่มีคุณภาพมากขึ้นก็อาจผันตัวไปประกอบธุรกิจอย่างอื่นที่คุ้มค่ากว่าการทำการเกษตร
การได้รับประกันสุขภาพและสวัสดิการการศึกษาคือการลดภาระค่าใช้จ่ายของพลเมือง สองสิ่งนี้หากดำเนินคู่ขนานไปด้วยกันเรื่อยๆ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ภาวะยากจนจะค่อยๆ หายไป
หลังปี 2540 ประเทศไทยค่อยๆ วางรากฐานการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจแก่พลเมืองจนเริ่มเห็นผล ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคนั้นชัดเจนว่าช่วยลดปัญหาความยากจนได้
ทว่า การปรากฏตัวของการนำสิ่งของที่มีมูลค่าเพียงเล็กน้อยเข้าโรงจำนำก่อนเปิดเทอมอีกครั้งหลังจากไม่มีข่าวแบบนี้มานาน (ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการเข้าถึงแหล่งสินเชื่ออื่นๆ ที่หลากหลายขึ้น เช่น การใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อระยะสั้นดอกเบี้ยสูงอื่นๆ ในกรณีชนชั้นกลาง) ชี้ให้เห็นว่าเครื่องมือทางนโยบายที่ใช้แก้ปัญหาความยากจนและลดจำนวนคนจนเริ่มไม่ทำงานหรือถูกทำให้ดับลงบางส่วน
ผนวกกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (เพื่อความแฟร์ก็ต้องบอกว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งโลก) ทำให้ “ความยากจน” ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย
นี่ยังไม่ได้ตั้งคำถามว่าการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานควรเป็นเรื่องที่รัฐพึง “บริการ” ให้ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยไร้เงื่อนไขหรือไม่
(มองอย่างเลวที่สุด การลงทุนเพื่อการศึกษานั้น รัฐจะได้ผลตอบแทนทั้งในแง่ของการกล่อมเกลาทางอุดมการณ์และการสร้าง “แรงงาน” ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจที่จะเป็นผลกำไรต่อตัวรัฐเอง)
พร้อมๆ กับข่าวเข้าโรงจำนำช่วงโรงเรียนเปิดเทอม ข่าวที่ปรากฏตัวถี่ขึ้นคือข่าวประเภท “อึ้ง นักเรียนหญิงต้องเดินเท้าไปโรงเรียน 16 ก.ม. เพราะยากจน” หรือ “ทึ่ง พบสุดสาครตัวจริงขี่ม้าไปโรงเรียน” หรือ “สลด เด็กชายวัยสิบขวบขายโรตีเลี้ยงครอบครัวพร้อมส่งตัวเองเรียน” หรือ “เด็กหญิงยากจน เลี้ยงพ่อตาบอดตามลำพัง” ฯลฯ
ถ้าฉันเข้าใจไม่ผิด ฉันคิดว่าสักห้าถึงสิบปีที่แล้วเราไม่ค่อยเห็นข่าวแบบนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์เว้นแต่มันแปรสภาพมาเป็นรายการโทรทัศน์แบบวงเวียนชีวิตหรือคนค้นฅน
น่าสนใจว่าปฏิกิริยาของสังคมและการเขียนข่าวเอง มีลักษณะของการเขียนเพื่อเชิดชู “คุณงามความดี” ของเด็กเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอุตสาหะ ไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรมของชีวิต ความกตัญญู ความรับผิดชอบ
ในขณะที่รายการแบบวงเวียนชีวิตเน้นความน่าสงสาร น่าเวทนา
ในขณะที่รายการแบบคนค้นฅน เน้น “โลกสวย” คือ ถึงจะลำบากเป็นคนบ้า คนเร่ร่อน หรือเป็นปู่เย็น แต่ชีวิตชั้นก็มีความสุขดีนะจ๊ะ เผลอๆ มีความสุขมากกว่าพวกแกที่นั่งห้องแอร์ดูทอระทัดอยู่เสียอีก เพราะพวกฉันมันคงพอเพียงอะไรทำนองนั้น
แต่ข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับความสู้ชีวิตทั้งมวลของ “เด็ก” ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตมีความผสมผสานลักษณะความน่าสงสารไปพร้อมกับการเชิดชูคุณธรรมความอุตสาหะและความกตัญญูเป็นพิเศษ
ฉันไม่ปฏิเสธว่าเด็กเหล่านั้นน่าชื่นชม แต่พ้นไปจากความชื่นชม และการเสพข่าวเหล่านี้เพื่อชุบชูใจว่า “นี่ไง เมืองไทยยังมีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นมากมาย” หรือไม่อย่างนั้นก็ซ่อนความหมายว่าด้วย “ดูสิคนที่ลำบากกว่าเราก็ยังมีและพวกเขายังไม่ท้อเลย ดูสิ น้องอุตส่าห์ขี่ม้าไปโรงเรียน”
มันบอกเราทางอ้อมว่าสังคมของเราโหยหากำลังใจขนาดไหน
พร้อมๆ กับการโหยหากำลังใจ เราโหยหาใครสักคนที่เราจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเพียงการบริจาคเงิน จากนั้นเราจะได้ความสบายใจว่า ปัญหาสังคมได้ถูกปัดเป่าออกไปแล้ว เพียงแต่เราจะมีน้ำใจต่อกัน ประเทศชาติของเราจะอยู่รอดต่อไปได้ เพียงแค่ถ้าเรารู้ว่ามีคนลำบากแล้วคนที่เหลือก็เข้าไปช่วยๆ กันคนละไม้คนละมือ
รักๆ กันเข้าไว้ สามัคคีกันเข้าไว้ อย่าดูดายความลำบากของคนอื่น สังคมต้องการแค่นี้แหละ ช่วงนี้ประเทศชาติของเราอาจจะเหนื่อยหน่อย อดทนอีกนิดเดียว คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปเท่าที่ทำได้ เดี๋ยวทุกอย่างจะดีเอง
ข่าวเด็กหญิงเดินสิบหกกิโลเมตรไปโรงเรียนบอกว่าหลังจากเป็นข่าว มีคนโทร.มาบริจาคจักรยานถึงสามสิบคัน และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้รับโทรศัพท์ที่แจ้งความจำนงมาช่วยเหลือบริจาคเงินไม่หวาดไม่ไหว
คำถามของฉันคือ เด็กคนนี้ต้องการจักรยานแค่คันเดียว แล้วอีก 29 คัน เราจะเอาไปให้ใคร?
ต่อให้เราส่งต่อไปยังเด็กคนอื่นอีก 29 คน เราก็ต้องยอมรับว่า ยังมีเด็กที่ประสบปัญหาแบบนี้อีกเป็นล้านคนทั่วประเทศ แล้วเราต้องบริจาคเท่าไหร่ถึงจะพอ?
และถึงที่สุดแล้วอนาคตของเด็กคนหนึ่งต้องการมากกว่าเงินบริจาคใช่หรือไม่?
สิ่งที่เด็กคนนี้ต้องการไม่ใช่ “เงินบริจาค”
แต่สิ่งที่เด็กและครอบครัวของเด็กหญิงคนนี้ต้องการคือ โรงเรียนที่มอบการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เธอ
นั่นหมายถึงโรงเรียนที่มีครูเก่งๆ มีอาคารเรียนที่เป็นมิตรต่อนักเรียน
มีห้องสมุดที่ดี มีสื่อการสอนที่ทำให้การศึกษาของเด็กบรรลุผล สิ่งที่เด็กผู้หญิงคนนี้และครอบครัวของเธอต้องการคือ โอกาสในการประกอบอาชีพ ถนนหนทางซึ่งหมายถึงสาธารณูปโภคที่พลเมืองทุกคนพึงได้รับสิ่งนี้จากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน
ถ้าเด็กคนนี้มีเงินที่ได้จากการบริจาค แต่ไม่มีโรงเรียนดีๆ ไม่มีห้องสมุดดีๆ ไม่มีหลักสูตรการศึกษาที่ดี ไม่มีครูที่ดี พ่อแม่ยังต้องยังชีพด้วยการรับจ้างรายวันอย่างไร้หลักประกัน ถนนในหมู่บ้านยังเละตุ้มเป๊ะ
เงินบริจาคนั้นอย่างมากก็ช่วยให้เธอได้มีเสื้อผ้าใหม่ จักรยานใหม่และความสบายใจว่าจะมีข้าวสารกรอกหม้อไปอีกระยะหนึ่ง
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยคุณภาพการศึกษากะพร่องกะแพร่ง ด้วยสภาพเศรษฐกิจของครอบครัว เธอก็จะเป็นคนสืบทอดความยากจนของพ่อแม่ต่อไป และคนที่ได้บริจาคเงินแก่เธอไม่เพียงแต่จะไม่สามารถจดจำใบหน้าและชื่อเสียงเรียงนามของเธอได้แล้วก็จะลืมเรืองราวเหล่านี้ไปหมดสิ้น
และพากันไปบริจาคเงินให้เด็กยากจนรายใหม่ๆ ที่นักข่าวไปค้นพบมาต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
เราคงต้องยอมรับความจริงกันเสียทีว่าการบริจาคเงินให้ “คนจน” ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ มิหนำซ้ำการผลิตซ้ำวรรณกรรม “วัลลี” ลูกกตัญญู หรือเด็กมีวิริยะ อุตสาหะ มันเป็นเพียงเครื่องมือตอบสนองการหลีกลี้หนีจากความจริงของพวกเราทุกคนที่ไม่อยากรับรู้ว่าด้วยโครงสร้างทางการเมือง อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เราไม่มีเครื่องมืดจะปลดเปลื้องความยากจนออกจาก “คนจน” ในสังคมได้เลย
สิ่งที่รังแต่จะเพิ่มขึ้นคือความเหลื่อมล้ำ และเครื่องมือที่จะช่วยให้คนจนมีโอกาสในการลืมตาอ้าปาก ทำมาหากินจนพ้นสภาวะยากจนได้ถูกริบไปจากพวกเขาเสียแล้วจนหมดสิ้น
ไม่เพียงแต่คนจน แม้คนชั้นกลางก็ถูกริบเครื่องมือนั้นไปด้วยเช่นกัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าคือ คนชั้นกลางก็จะค่อยๆ ถูกถีบลงมาให้กลายเป็นคนจนใหม่
อย่าลืมว่าไม่ใช่ “รายได้” ที่จะกำหนดความจนของเรา แต่คือ “รายจ่าย” ในชีวิตของเราต่างหาก รัฐที่มุ่งจะแก้ไขความยากจน จะต้องลด “รายจ่าย” ของพลเมืองด้วยการจัดบริการสาธารณูปโภคให้ประชาชนอย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการที่อยู่อาศัย, บริการคมนาคมขนส่งที่จะให้พลเมืองประหยัดทั้งเงินและเวลาในการเดินทาง, สวนสาธารณะที่ทำให้ได้สันทนาการโดยไม่เสียเงิน, ห้องสมุดและมิวเซียมที่เป็นบริการความรู้และการศึกษาแบบให้เปล่า, การศึกษาในระบบ, การรักษาพยาบาล-ในภาวะเช่นนี้ บริการเหล่านี้โดยรัฐแทบจะเป็นไปไม่ได้ และนี่คือการบ่มเพาะความยากจนในระยะยาว
การบ่มเพาะความจนระยะยาวเกิดขึ้นจากอะไร เกิดขึ้นจากการที่ประชาชนถูกริบอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองไปร่วมสิบปี
อาจเป็นเพราะเรารู้ว่า เราสิ้นหวังในการช่วงชิงอำนาจของเรากลับคืนมา เราจึงหันไปหาการผลิตและเสพข่าวเชิงวรรณกรรมแบบ “วัลลี” เพื่อหลอกตัวเองไปวันๆ ว่า เรายังโอเค สังคมเรายังไม่พัง แม้คนจนจะปรากฏตัวให้เราเห็นอย่างเหลือเชื่อได้ทุกๆ วัน (จะบ้าเหรอ ยังมีเด็กที่ต้องเดินเท้าไปโรงเรียนใน พ.ศ. ที่มนุษย์ไปดาวอังคารกันเป็นว่าเล่นเนี่ยนะ)
แต่เราก็หลอกตัวเองว่า เรายังอยู่ได้ เพราะคนไทยมีน้ำใจให้กัน เพราะคนไทยพร้อมจะช่วยเหลือกันในยามตกทุกข์ได้ยาก
ฉันคิดว่าเราควรตื่นและเลิกหลอกตัวเองด้วยนิทานก่อนนอน
สื่อควรเลิกเสนอภาพเด็กยากจนแต่กตัญญู แต่ใช้เรื่องราวเหล่านั้นมาบอกแก่คนอ่านว่าสังคมของเราวิกฤตแค่ไหน สังคมมันตกต่ำขนาดไหนที่เด็กสิบขวบต้องมาขายโรตีเลี้ยงครอบครัว
แทนการยกย่องเด็ก เราต้องหยิกตัวเองแล้วถามตัวเองหนักๆ ว่าเกิดบ้าอะไรขึ้นในประเทศนี้
เกิดความผิดพลาดในการบริหารจัดการงบประมาณ การกระจายรายได้ การกระจายความเจริญ การลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไร?
เงินที่ควรนำมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรถูกนำไปใช้ในเรื่องอื่นที่ไม่จำเป็นและไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือเปล่า?
เลิกเสียทีกับการใช้การถูกกดขี่ให้ดักดานยากจนมาพลิกเรื่องให้เป็นความกตัญญูที่น่ายกย่อง เพราะนั่นคือการซ้ำเติมความวิปริตของวิกฤตปัญหาในประเทศชาติ
เลิกเสียทีกับการหลอกตัวเองว่าแค่บริจาคเงินแล้วทุกชีวิตจะได้รับการชุบชูขึ้นมา
เลิกเสียทีกับการทำงานสงเคราะห์เอาหน้าเพื่อให้ได้ถ่ายรูปลงสื่อว่า ข้าราชการได้ลงไปดูแลคนจนแล้วนะ
อยากให้คนหายจนต้องคืนศักยภาพในการกำหนดชะตากรรมของตนเองให้พลเมือง
อยากให้คนหายจนต้องคืนความเป็นคนให้เขา