เพ็ญสุภา สุขคตะ : จิตรกรรมฝาผนังวัดพระสิงห์ กับ Hairstyles แม่หญิงในออเจ้า (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ทรงผมประหลาดอีกทรงหนึ่งของตัวละครสำคัญใน “บุพเพสันนิวาส” ที่สร้างความฮือฮาให้แก่ผู้พบเห็นไม่แพ้ผมทรงจอนยาวของคุณหญิงจำปา

ก็คือ “ผมทรงหางหนูปลายมอญ” ของคุณหญิงนิ่ม ภริยาของออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) สวมบทบาทโดยรัชนี ศิระเลิศ

ดิฉันได้ไปพบหลักฐานทรงผมนี้บนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในวิหารลายคำวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เช่นกัน

 

“ฮก๊อต ซก ดั๊บ ซก ฮ่อย”
มวยต่ำ + หางหนู

ดิฉันได้สัมภาษณ์ “แม่หลวงละเอียด ท้ายนาวา” สตรีเชื้อสายมอญ บ้านบ่อคาว อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน อนึ่ง ภาษาเหนือคำว่า “แม่หลวง” มิได้จำเป็นจะต้องหมายถึงภริยาของผู้ใหญ่บ้านเสมอไป แต่หมายถึงผู้หญิงที่มีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านศิลปะประเพณี

ซึ่งแม่หลวงละเอียดถือเป็นนักอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญพื้นถิ่นเมืองลำพูนผู้หนึ่ง เธอได้อธิบายถึงทรงผมของแม่ญิงมอญในอดีตนั้นว่าเป็นอย่างไรให้ดิฉันฟังว่า

“แม่ญิงมอญจะนิยมเกล้ามวยต่ำระต้นคอ ณ บริเวณที่เรียกว่าหางเต่าหรือท้ายทอย ภาษาเหนือเรียก “ง่อน” หรือ “ม่อน” ข้อสำคัญคือ ตรงท้ายทอยที่ไว้มวยต่ำนั้น จะต้องปล่อยปอยปมทิ้งไว้กระจุกหนึ่งที่เรียกว่า “หางหนู” ภาษามอญเรียก “ซก ฮ่อย” ซก แปลว่า ผม, ฮ่อย แปลว่า หนู ส่วนทรงผมเกล้ามวยต่ำของผู้หญิงมอญ เรียกโดยรวมว่า “ฮก๊อต ซก ดั๊บ” ฮก๊อต คือการเกล้า, ซก คือ ผม, ดั๊บ คือ หัว”

แม่หลวงละเอียดยังอธิบายต่อไปอีกว่า คนที่มีฐานะก็มักเอา “หย่อง” (ปิ่น) ทองเหลืองรูปตัวยูมาเสียบกันมวยหลุดและทัดดอกไม้ประดับอีกชั้นหนึ่ง

น่าเสียดายที่ปัจจุบันทรงผมเกล้ามวยต่ำ-หางหนู ไม่สามารถพบเห็นได้อีกแล้วในกลุ่มคนมอญล้านนา เพราะสาวมอญรุ่นใหม่มองว่า เป็นทรงที่ไม่เด่น ทำให้ศีรษะแบนไม่ทุย จึงเปลี่ยนไปเกล้ามวยสูงตามสมัยนิยมแบบคนไทย

 

แม่ญิงล้านนาเชื้อสายมอญ
ในจิตรกรรมวัดพระสิงห์

น่าสนใจทีเดียวที่จิตรกรรมวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งรวบรวม Hairstyles หลากหลายทรงผมทั้งของสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ที่เมื่อดูแล้วรู้สึกสนุก ต้องตั้งคำถามว่าเขาและเธอเหล่านั้น มีเชื้อสายชาติพันธุ์อะไรกันบ้าง

ภาพประกอบที่ดิฉันนำมาให้ดูครั้งนี้ พบบนผนังวิหารลายคำด้านทิศเหนือ ฝีมือวาดของจิตรกร “เจ๊กเส็ง” เจ้าเก่าเหมือนฉบับที่แล้ว (ส่วนผนังด้านทิศใต้จะเป็นผลงานของจิตรกรอีกคนชื่อ “หนานโปธา” ซึ่งไม่ค่อยมีการเก็บรายละเอียดเรื่องการแต่งกายของผู้คนร่วมสมัยเท่าใดนัก มีแต่ภาพแนวจักรๆ วงศ์ๆ)

แสดงว่าอีตาศิลปินเจ๊กเส็งนี่ มีคุณสมบัติของ “จิตรกรตัวพ่อ” มีความละเอียดอ่อนยิ่งนัก ให้ความสนใจต่อความแตกต่างด้านเสื้อผ้าหน้าผมนมเนื้อของผู้หญิงนานาชาติพันธุ์เอามากๆ

ทำให้เราพบภาพสตรีล้านนาเชื้อสายมอญในอิริยาบถต่างๆ ที่นุ่งผ้าซิ่น ภาษามอญเรียกผ้าถุงหรือผ้าซิ่นว่า “นิน” หรือ “กานิน” (ซึ่งสตรีมอญไม่นุ่งโจงกระเบนแบบสตรีเขมร) ข้อสำคัญคือไว้ผมทรง “ฮก๊อต ซก ดั๊บ ซก ฮ่อย” หรือ “มวยต่ำ-หางหนู” อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแม่ญิงมอญ

ทราบได้อย่างไรว่าสตรีในภาพเป็นแม่ญิงมอญ ในเมื่อเสื้อผ้าอาภรณ์แบบนี้ แม่หญิงล้านนากลุ่มไทโยนก็นุ่งห่มละม้ายคล้ายคลึงกันมิใช่หรือ

เหตุที่สามารถจำแนกแยกแยะออกมาได้ว่า นี่คือ “ประชากรกลุ่มรอง” อีกกลุ่มหนึ่ง ก็เพราะว่าเรายังได้พบทรงผมของ “แม่ญิงล้านนา” ที่แตกต่างไปอีกทรงหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นประชากรหลัก (ไทโยน) คือการที่สตรีไว้ผมเกล้ามวยสูงกว่าสาวมอญ

ต้องอธิบายก่อนว่า มวยที่เกล้านั้นไม่ได้สูงมาก หรือตั้งอยู่บนศีรษะแบบทรง “โซงขโดง” เหมือนแม่ญิงจันทร์วาดดอกนะคะ คือของแม่ญิงล้านนาไทโยนเกล้าสูงแค่ประมาณกึ่งกลางกระหม่อมด้านหลังเท่านั้น ข้อสำคัญคือไม่มีปอยผมหลุดวับๆ แวมๆ แบบหางหนูให้เห็นอีกด้วย คือรวบเก็บหมดแบบเกลี้ยงเกลา

การที่คนมอญเข้ามาเป็นประชากรกลุ่มรองในล้านนานั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่ากันตามจริงแล้ว ชาวมอญเป็นเจ้าของแผ่นดินล้านนามาก่อนกลุ่มไทโยนด้วยซ้ำ กล่าวคือ ตัวพระนางจามเทวีเอง ตั้งแต่สมัยหริภุญไชย (เก่ากว่าสมัยล้านนา 7-800 ปี) ก็เป็นคนมอญ

ซ้ำสมัยพระญามังราย ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนา ก็ยังได้ “แม่นางอุสาปายโค” สตรีศรีรามัญ ราชธิดาพระเจ้ากรุงหงสาวดีมาเป็นชายาอีก

ดังนั้น จึงไม่ต้องประหลาดใจแต่อย่างใดเลยว่า ทำไมวัฒธรรมมอญจึงตกค้างและคละคลุ้งอยู่บนแผ่นดินล้านนาอย่างเหนียวแน่น

 

แล้วคุณหญิงนิ่ม เกี่ยวอะไรกับมอญ

กรณีคุณหญิงนิ่ม จากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ไว้ทรงผม “มวยต่ำ-หางหนู” เหมือนสตรีมอญกับเขาด้วยนั้น คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ผู้กำกับนึกอยากจะเลือกทรงผมไหนมาจับใส่ให้ตัวละครใดก็ทำไปเรื่อยกระมัง

เรื่องนี้คงมีที่มาที่ไป แม้ว่าชื่อของ “คุณหญิงนิ่ม” จะมิได้ปรากฏชัดในพงศาวดารเล่มใด หรือมิได้มีการระบุว่า ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) นั้นมีภริยาเป็นชาวมอญชื่อนิ่มหรือไม่ก็ตาม

ทว่า จากประวัติของตัวออกญาโกษาเหล็กและโกษาปาน สองพี่น้องนั้นเอง ระบุว่ามีเชื้อสายมอญ ซึ่งเป็นลูกของ “เจ้าแม่วัดดุสิต” ซึ่งตัวเจ้าแม่วัดดุสิต ก็มีความสัมพันธ์สืบสายชาวรามัญมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว

ผู้กำกับฯ ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ย่อมตีบทและอนุมานเอาว่า ในเมื่อออกญาโกษาเหล็กเป็นคนมอญ ดังนั้นก็น่าจะสมรสกับสตรีมอญด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุฉะนี้ ทำให้ Hairstyle ของคุณหญิงนิ่มจึงถูกออกแบบให้เป็นทรงค่อนข้างแปลกดังกล่าว แตกต่างไปจากคุณหญิงจำปา ซึ่งดิฉันกล่าวไว้ในฉบับก่อนแล้วว่า

ผมทรงปีกจอนยาวนั้นดูค่อนไปทางขอมหรือเขมรทีเดียว

 

ภาพปริศนาผู้ชายก็ไว้ปอยผม

ตบท้าย มีภาพแถมเอามาให้ดูกันอีก 2 ภาพ นอกจากจะพบภาพแม่ญิงมอญรวบมวยต่ำไว้ปอยหางหนูแล้ว ยังได้พบภาพฝ่ายชายที่เป็นตัวละครในเรื่องสังข์ทอง ในกลุ่มเจ้าชาย 6 เขย ที่เสนอตัวมาให้พี่สาวทั้ง 6 ของนางรจนาเลือกคู่

หนุ่มๆ กลุ่มนี้ก็ไว้ทรงผมประหลาดเหมือนกัน

นั่นคือมีกระจุกหรือปอยผม 1 ปอย หลุดห้อยตุ้งติ้งออกมาจากผ้าโพกหัว

จะใช่เป็นตระกูลทรงผม “หางหนู” ในกลุ่มชาติพันธุ์มอญด้วยหรือไม่

วานผู้รู้ด้านมอญศึกษาร่วมเฉลยแลกเปลี่ยนความรู้กันด้วยคร่า