เศรษฐกิจ/คำหยาบ ‘ไอ้เหี้…’ โผล่ช่องทีวีดิจิตอล ส่ออาการธุรกิจซวนเซแม้งัด ม.44 เยียวยา กูรูมองแค่ต่อลมหายใจ…ใครอยู่ใครดับวัดกัน

เศรษฐกิจ

คำหยาบ ‘ไอ้เหี้…’ โผล่ช่องทีวีดิจิตอล

ส่ออาการธุรกิจซวนเซแม้งัด ม.44 เยียวยา

กูรูมองแค่ต่อลมหายใจ…ใครอยู่ใครดับวัดกัน

 

สํานวนที่ว่า “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง” ปรากฏให้เห็นชัดเจน หลังจาก ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำหนังสือร้องเรียนเนื้อหาละครเรื่อง บางรักซอย 9/1 ที่ออกอากาศทางช่อง “ONE 31” ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)

เนื่องจากการออกอากาศเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 มีการใช้คำที่ไม่เหมาะสม เช่น ตัวละครพูดว่า “พี่คิดว่าผมเป็นผู้ชายเหี้…ๆ คนนึงก็พอ” ตัวละครที่ชื่อเอิร์ธพูดว่า “กูคงให้ไอซ์ไปคบกับไอ้เหี้…ทอมแทน” และพบคำว่า “กู” และ “มึง” จำนวนมาก ไม่สอดคล้องกับการจัดระดับความเหมาะสมของรายการไว้ที่ระดับ “ท” คือทั่วไป เป็นรายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย

ทันทีที่เฟซบุ๊ก “Warat Karuchit” ของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต เผยแพร่หนังสือแจ้งผลการพิจารณาจากสำนักงาน กสทช. โดยมีข้อความระบุว่า ละครซิตคอมเรื่องดังกล่าวมีการใช้คำพูดที่ไม่สุภาพในบางครั้ง ซึ่งไม่ใช่บริบทที่พบบ่อยในการนำเสนอ จึงเห็นว่าเป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกับการจัดระดับความเหมาะสมไว้ที่ระดับ “ท” จึงกลายเป็นประเด็นฮือฮาสนั่นโลกโซเชียล

นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด ตำหนิไปยัง กสทช. ถึงคำพิจารณาที่ดูจะไม่รับผิดชอบต่อสังคม

พีระพงษ์ มานะกิจ

 

และนำมาสู่การตั้งโต๊ะแถลงของ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ โดยระบุว่าคณะอนุกรรมการผังและเนื้อหารายการมีมติรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา และได้เรียก “บริษัท จีเอ็มเอ็มวันทีวี จำกัด” เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง

ครั้นเจ้าของเรื่องให้การยอมรับว่ามีถ้อยคำไม่เหมาะสมจริง และพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุง

ดังนั้น อนุกรรมการผังและเนื้อหารายการจึงเห็นว่า ผู้กระทำความผิดมีความรับผิดชอบ และสามารถตักเตือนได้ จึงเห็นควรยุติเรื่อง

“กสทช. ไม่ได้กำหนดมาตรฐานใดๆ ที่เป็นการส่งเสริม สนับสนุน ให้มีการใช้ถ้อยคำหยาบ คำไม่สุภาพ หรือความรุนแรงในรายการ อีกทั้งยังเฝ้าระวัง กวดขันให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการผลิตรายการและการกำหนดระดับความเหมาะสมของรายการให้เป็นไปตามประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด”

 

จุดนี้เองที่กลายเป็นชนวนให้หลายฝ่ายเริ่มจับตาว่า จะมีทีวีดิจิตอลช่องไหน ส่อเดินตามรอยช่อง “ONE 31” เพิ่มเติม

ทั้งนี้ จากการคาดคะเนด้วยสายตา เชื่อว่ายังมีช่องทีวีดิจิตอลอีกไม่น้อยที่มีการใช้ “คำหยาบคาย” ซึ่งไม่เหมาะสมกับการจัดระดับความเหมาะสมไว้ที่ระดับ “ท”

ขณะเดียวกันกรณี “บางรักซอย 9/1” อาจส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปถึงภาพลักษณ์องค์รวมของทีวีดิจิตอล ซึ่งอาจทำให้จำนวนผู้ชมลดลง อีกทั้งเม็ดเงินโฆษณาไม่กระเตื้อง

ยิ่งในสถานการณ์ที่ “ทีวีดิจิตอล” เริ่มหายใจรวยริน ถึงแม้จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ไฟเขียวให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลสามารถพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลได้ไม่เกิน 3 ปี โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยตามเงื่อนไข พร้อมทั้ง กสทช. จะสนับสนุนค่าโครงข่าย (มักซ์) ไม่เกิน 50% เป็นเวลา 24 เดือน

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย “มานะ ตรีรยาภิวัฒน์” มองว่า ความช่วยเหลือที่ออกมาล่าสุดคงไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะเมื่อถึงกำหนดก็ต้องหอบเงินไปชำระอยู่วันยังค่ำ เสมือนยาแก้ปวดที่บรรเทาอาการเจ็บปวด แต่ไม่มีสรรพคุณรักษาโรคให้หายขาด

สิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลวาดฝันไว้ถึงยอดผู้ชมที่ถล่มทลายและผลกำไรที่งดงาม ถูกกระทบกระเทือนด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นับวันจะขลุกตัวอยู่แต่บนโลกออนไลน์ ทั้งการถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยีดิจิตอลต่างๆ ซ้ำร้ายผู้ประกอบการหลายรายต้องแบกรับต้นทุนค่าดำเนินการจำนวนมหาศาล ซึ่งดูจะสวนทางกับเม็ดเงินโฆษณาที่นานวันกลับหดตัวลงกว่าเดิม

จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น มีทั้งผู้ประกอบการที่พยายามตะเกียกตะกายดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการบางรายเตรียมเดินตามรอย “บริษัท ไทยทีวี จำกัด” (ไทยทีวี และโลก้า) ภายใต้การบริหารงานของเจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริหาร ที่ปล่อยจอดำไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก

“เมื่อเปิดดูทีวีดิจิตอลจะพบว่าในหลายๆ ช่องมีการนำเสนอคอนเทนต์ที่คล้ายคลึงกัน เปรียบเหมือนการแย่งชิงเค้กก้อนเดียวกัน เว้นเสียแต่ว่าบางช่องมีการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างออกไป ทำให้มีความโดดเด่น ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาไหลเข้ามา ประคับประคองให้การดำเนินธุรกิจสามารถไหลลื่นไปได้”

 

เช่นเดียวกับเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่สะท้อนข้อคิดเห็นว่า แนวทางการช่วยเหลือที่เกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ แต่มองว่าจะส่งผลดีแค่ในระยะสั้นๆ เท่านั้น เป็นการยืดอายุให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ในระยะยาวมาตรการดังกล่าวจะไม่ตอบโจทย์ และไม่สามารถแก้ปัญหาของทีวีดิจิตอลได้ จากนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเอง โดยสิ่งที่ควรฉุกคิดและลงมือทำคือต้องพยายามปรับตัวและพยุงสถานการณ์ไว้

การเริ่มต้นจากการปรับผังรายการเป็นเพียงยุทธวิธีหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานว่าแต่ละช่องมีทิศทาง แนวคิด รวมถึงกลวิธีเพื่อดึงดูดผู้ชมอย่างไร บางคราวปรับผังรายการแล้ว แต่ทว่า “ยิ่งปรับเหมือนยิ่งแย่” หรือบางคราวปรับแล้วมีผลเท่าเดิม เม็ดเงินโฆษณาไม่เข้ามา แต่ขณะที่ต้นทุนกลับเพิ่มขึ้น

การแข่งขันกับช่องทีวีด้วยกันก็ว่า “เหนื่อยแล้ว” แต่อินเตอร์เน็ตที่รวดเร็วนำพาระบบสตรีมมิ่ง เพิ่มช่องทางทางธุรกิจและสร้างทางเลือกในการบริโภคสื่อให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

แม้แต่ Netflix ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิ่งภาพยนตร์และซีรี่ส์แบบเก็บค่าสมาชิกรายเดือน ก็ยังเข้ามาช่วงชิงสายตาไปจากคนดู

และหากยังจำกันได้ เมื่อครั้งงานสัมมนา “5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” เลขาธิการ กสทช. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษไว้ว่า เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 5G ในปี 2563 ส่งผลให้ 10 ภาคส่วนต้องปรับตัว ประกอบด้วย 1.ภาคการเงินการธนาคาร 2.ภาคอุตสาหกรรม 3.ภาคการเกษตร 4.ภาคการขนส่ง 5.ภาคการท่องเที่ยว 6.ภาคการแพทย์ 7.การทำงานนอกที่ทำงาน 8.ภาคการค้าปลีก 9.อุตสาหกรรมโทรทัศน์และสื่อ และ 10.ภาครัฐ และหน่วยงานของรัฐ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การอยู่ภายใต้ครรลองของกฎ กติกา มารยาท พร้อมทั้งภายใต้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้ามาดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีดิจิตอล กอปรกับเม็ดเงินโฆษณาที่นานวันกลับหดตัว ส่งผลให้ “ทีวีดิจิตอล” ต้องเร่งฝีเท้าในการปรับตัว

แต่คำว่า “ช่องทีวีดิจิตอล” ของเมืองไทยหมายถึงช่องฟรีทีวีที่ประชาชนสามารถรับชมได้ทั่วไป ต่างจากช่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ดังนั้น ผู้ผลิตรายการทีวีจึงควรระมัดระวังในการนำเสนอสิ่งต่างๆ อย่าปล่อยให้รายการทีวีกลายเป็นสื่อสกปรกที่ไร้คุณค่า สอดรับสถานการณ์วิกฤตของทีวีดิจิตอล