คำ ผกา : ชาวพุทธที่แท้

คำ ผกา

สิ่งหนึ่งที่ฉันประหลาดใจอยู่เสมอกับสังคมไทยคือ เราเติบโตมาพร้อมๆ กับข่าวที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับวงการสงฆ์สักเท่าไหร่

เช่น มีข่าวพระตุ๋ยเด็ก ข่าวพระมีเพศสัมพันธ์กับสีกา ข่าวพระทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์หลอกลวงประชาชน ข่าวพระต้มตุ๋น พระคอร์รัปชั่น โกงเงินค่าก่อสร้าง

เราคุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้ดีพอที่จะสนุกสนานไปกับเพลงลูกทุ่งอย่าง “พระครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง”

ไม่เพียงแต่จะรับรู้อยู่ห่างๆ จากข่าวหรือสื่อ ในหลายกรณี ศรัทธาญาติโยมของพระ วัด และสำนักสงฆ์ต่างๆ ก็เป็นผู้ถวายปัจจัยต่างๆ อันทำให้พระสามารถมีชีวิตอันเกินเลยความเป็นพระ

เช่น การจัดหาข้าวปลาอาหารอย่างดี อย่างวิเศษ (ในความรู้สึกของเรา) จนตอนนี้พระสงฆ์ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตสุขภาพ เป็นทั้งโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน จนกระทรวงสาธารณสุขต้องริเริ่มโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาล

และในขณะที่เรามีภาพฝันหรือภาพอุดมคติเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ ว่า วัด ความเป็นพุทธ ต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากกิเลส ตัณหา ความโลภ เต็มไปด้วยความเมตตา สมถะ การปฏิบัติธรรมอันลึกซึ้ง ความสำรวม

แต่ตัวเราเองที่เป็นพุทธมามกะนั่นแหละที่ชอบกิจกรรมหาเงินเข้าวัด ชอบสนับสนุนวัดที่การก่อสร้างอาคารสถานที่อันใหญ่โตโอ่อ่า

ชาวพุทธอย่างเรานั่นแหละที่ชอบจะไปปล่อยนก ปล่อยปลา ให้อาหารสัตว์ อาหารปลาในวัด เพราะเชื่อง่ายๆ ว่าได้บุญ

ชอบไปขอหวย ขอโชค ขอลาภ สะเดาะเคาะห์ (อันนี้ฉันหมายถึงตัวฉันเองด้วย)

ชอบจะไปให้พระดูหมอให้ ชอบจะไปให้พระรดน้ำมนต์ ชอบจะไปเข้าหาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เพื่อแสวงหาคอนเน็กชั่น ผลประโยชน์

และเมื่อมีเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น หรือเรื่องไม่ดีไม่งาม ไม่ถูกไม่ควรในวงการสงฆ์ขึ้นมา

สิ่งเดียวที่คนไทยและสังคมไทยคิดคือจะชำระพุทธศาสนาในประเทศไทยให้บริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นมาได้อย่างไร?

มากไปกว่านั้น เรายังมองเรื่องการแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสในวงการสงฆ์ คล้ายๆ กับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในวงการเมือง

คือ เพิ่มอำนาจกับหน่วยงานที่มี “อำนาจ” ทว่าไม่มีกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล เพื่อ “ชำระ” มลทินทั้งปวงออกจากวงการพุทธและวงการสงฆ์

จากนั้น เราก็เชื่อว่า มุ่งมั่นชำระไปเรื่อยๆ วันหนึ่งวงการนี้ก็จะใสสะอาดขึ้นมา พุทธเราก็จะบริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ (ระหว่างที่เราหวังให้พุทธเราบริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ เราก็ยังสนับสนุนให้วัดสร้างสิ่งก่อสร้างอัครฐานขึ้นเรื่อยๆ ยังไปสะเดาะเคราะห์เรื่อยๆ ยังแสวงหาเกจิอาจารย์ในทางคุณไสย สิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน)

นี่คือความความสัมพันธ์ของชาวไทยกับพุทธศาสนาที่ย้อนแย้งลักลั่นกันเหลือเกินว่า ตกลงเราต้องการพุทธศาสนาแบบไหนกันแน่

กล่าวในเชิงอุดมคติ รัฐสมัยใหม่นั้นพึงเป็นรัฐฆราวาส นั่นคือ แยกศาสนากับรัฐออกจากกัน

คำว่าแยกศาสนากับรัฐออกจากกัน

แปลว่า “รัฐ” จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ กับศาสนาใดๆ ทั้งสิ้นอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และเรื่องศาสนา ความเชื่อ เป็นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองโดยสิ้นเชิง และการจัดการองค์กรทางศาสนานั้นเป็นเรื่องของแต่ละศาสนาจะดูแลกันเอง รัฐจะไม่ยุ่งอะไร ยกเว้นเป็นประเด็นที่ไปกระทำการที่ผิดกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรือละเมิดหลักการรัฐฆราวาส

เมื่อเป็นรัฐฆราวาสแล้ว ลำดับต่อมา ฉันคิดว่ามันจะง่ายขึ้นสำหรับคนนับถือพุทธศาสนาในประเทศไทย ที่จะเลือกเป็นพุทธในแบบที่ถูกจริตของตนเอง

นั่นแปลว่า เราจะมีความหลากหลายในความเป็นพุทธ โดยไม่ต้องมีบรรทัดฐานที่เป็นมาตรฐานเดียวที่ถูกต้อง

เช่น บางคนอาจสมาทานศรัทธาของสายวัดป่า

บางคนสมาทานสายเกจิอาจารย์ บางคนสมาทานวัดและพระในสายนักพัฒนา ชอบการก่อสร้างถาวรวัตถุ บางคนชอบวัดในแนวที่มีกิจกรรมให้ทำเยอะๆ

เช่น วัดท่าไม้ ที่มีกิจกรรมการสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงอย่างหลากหลาย

บางคนชอบแบบวัดไผ่โรงวัว บางคนมาแนวธรรมชาติบำบัด เกษตรกรรมยั่งยืน ก็จะได้ไปในแนวสันติอโศกไปเลย

ทีนี้ สำนักไหนจะบริหารจัดการอย่างไรก็ดูแลกันเอง ตราบเท่าที่ไม่ไปก่ออาชญากรรม ไม่ทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือไม่หลอกลวงใคร มันก็น่าจะอิงกับสภาวะที่เป็นจริงมากกว่าไปเพ้อว่า ในความเป็นศาสนานั้นต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง

แต่ก็นั่นแหละ ฉันก็รู้อีกว่า มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะคนไทยแม้จะอยู่กับศาสนาแบบโลกย์ๆ แต่ก็ใฝ่ฝันถึงศาสนาแบบเหนือโลกย์ หรือผุดผ่องปราศจากมลทินอย่างไร้เงื่อนไข

และมองไม่เห็นมิติของความเป็นมนุษย์ในนักบวช

หันไปเปรียบเทียบกับประเทศที่คนไทยชื่นชมอย่างญี่ปุ่นบ้าง

ประเทศญี่ปุ่นนั้นรับพุทธศาสนามาจากเกาหลีตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 มีวัดพุทธที่สวยงาม เก่าแก่ อายุหลายร้อยปี เรียกได้ว่า การมีวัดอายุ 300 ปี 400 ปี 500 ปี ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปนั้นเป็นเรื่องสามัญธรรมดามาก

และที่อาจทำให้คนไทยงงๆ ก็คือ ประเทศที่มีวัดเก่าแก่เต็มบ้านเต็มเมืองนี้ ประชากรส่วนใหญ่ของญี่ปุ่น ระบุว่าตนเองไม่มีศาสนา และประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่เป็นรัฐฆราวาสในความหมายของรัฐฆราวาสจริงๆ

สถาปัตยกรรม ตัววิหาร อาคาร สวน ในวัด ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไปแล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องสนใจประวัติศาสตร์ หรือศาสนาใดๆ ลำพังการไปดื่มด่ำสวนญี่ปุ่น สวนเซน และงานสถาปัตยกรรมอันละเมียดละไมนั้นก็เป็นสุนทรียะอย่างยิ่ง

และมันก็น่าแปลกใจดีสำหรับฉันที่อยู่ญี่ปุ่นมาเกือบทศวรรษ และก็รู้ว่าคนญี่ปุ่นมองเห็นพุทธศาสนาว่ามีหน้าที่เฉพาะมาสวดศพเท่านั้น (และตอนนี้ก็จะใช้หุ่นยนต์มาทำหน้าที่นี้แทนแล้วด้วย)

เรื่องที่แปลกใจคือ คนไทยที่มาเที่ยววัดญี่ปุ่น มักจะมาด้วยแรงศรัทธา หรือแรงหวังผลในเชิงความศักดิ์สิทธิ์จากวัดญี่ปุ่นแบบค่อนข้างจริงจังมาก และหลายๆ คนก็ไม่รู้ว่า คนที่ใส่ชุดพระ ทั้งหญิงและชายที่ทำงาน หรือขายเครื่องรางในวัดนั้นก็คือนักเรียน นักศึกษา หรือเหล่าคนงานฟรีแลนซ์ทั้งหลายที่ทำงานพาร์ตไทม์เท่านั้น

หมดกะทำงานที่วัดก็อาจจะเปลี่ยนเสื้อผ้าไปขายของในเซเว่นฯ ต่อ อย่างนี้เป็นต้น

และล่าสุดที่เป็นข่าว น่าสนใจมากกับชีวิตพระสงฆ์ในญี่ปุ่นคือมีข่าวว่า

“พระสงฆ์วัยประมาณ 40 ปีรูปหนึ่งของวัดโคยะซัง ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาที่เป็นมรดกโลกในจังหวัดวะกะยะมาของญี่ปุ่น ได้ยื่นฟ้องร้ององค์กรที่ดูแลวัดว่า ทำร้ายจิตใจและไม่ให้ค่าแรง พร้อมเรียกร้องค่าชดเชยเป็นเงิน 8.6 ล้านเยน หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท พระรูปนี้ระบุว่า เริ่มทำงานให้วัดแห่งนั้นในปี 2008 ซึ่งหน้าที่รับผิดชอบในวัดมีค่อนข้างเยอะ จนเดือนธันวาคม ปี 2015 ก็เริ่มเป็นโรคซึมเศร้า และได้หยุดไปทำงานที่วัดตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2016 โดยพระสงฆ์รูปนี้ระบุว่า จะต้องตื่นก่อนตี 5 เพื่อเตรียมรับผู้เข้าชมวัดและต้องนอนใน “ชุคุโบ” ที่พักสำหรับคนที่ต้องการไปแสวงบุญที่วัดดังกล่าว รวมถึงต้องร่วมทำวัตรเช้า และยังต้องทำงานจนถึงดึกเพื่อรองรับผู้ที่เข้าเยี่ยมชมวัด และทำกิจของสงฆ์อื่นๆ”

https://voicetv.co.th/read/SJkHsEhAG

สําหรับฉัน ข่าวนี้ทำให้เราเห็นวัดและพระในโลกสมัยใหม่ที่อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงอย่างยิ่ง

วัดต่างๆ ของญี่ปุ่น บริหารโดยองค์กรที่ดูแลวัด (ไม่ขึ้นต่อหน่วยงานใดๆ ของรัฐและราชการ) คนที่จะมาเป็นพระ โดยมากสืบจากสายตระกูล และมักตกเป็นหน้าที่ของลูกชายคนหัวปี อีกภาพหนึ่งที่เราได้เห็นคือ “วัด” ในญี่ปุ่น เป็นองค์กรทางธุรกิจด้วย และสินค้าของเขา คือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ เช่น การฝึกนั่งสมาธิ หรือการทดลองการใช้ชีวิตแบบพระ การไปนอนแบบ “ชุคุโบ” นั้น ถ้าเข้าไปดูเว็บการท่องเที่ยวเมืองวะกะยามา จะอธิบายว่า

“ชุคุโบ (ที่พักของผู้จาริกแสวงบุญ) 52 แห่งขอเชิญคุณมาสัมผัสประสบการณ์ของโลกแห่งจิตวิญญาณ สัมผัสสวนอันงดงาม โชจิน เรียวริ (อาหารเจแบบพุทธ) และการทำวัตรเช้า บางวัดมีการคัดลอกพระสูตร การคัดลอกลายรูปองค์พระพุทธ และการนั่งสมาธิแบบที่เรียกว่า “อะจิคัง” ด้วย ซึ่งจัดขึ้นโดยไม่ได้มีตารางเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน ชุคุโบหลายแห่งไม่รับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต”

https://th.visitwakayama.jp/venues/venue_6/

จะเห็นว่า การให้บริการไปนอนวัด ปฏิบัติธรรมนั้น ที่ญี่ปุ่นทำเป็นธุรกิจ เปิดเผย

ในขณะที่ในเมืองไทยก็มีอะไรแบบนี้ แต่ทั้งคนไปวัด กับวัด มองว่า นี่เป็นกิจกรรม “บุญ” ไม่ใช่บุญธรรมดา แต่เป็นบุญแบบเอาไปฝากให้ใครต่อใครได้ด้วย

และเป็นสิ่งเดียวกับการทำความดี

การปรับตัวของวัดพุทธในญี่ปุ่นนั้นก็น่าสนใจ เพราะจากจำนวนประชากรที่ลดลง และชุมชนชนบท อันเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนวัดอย่างเป็นทางการนั้นมีประชากรเบาบางลงเรื่อยๆ ทำนายกันว่า ภายในปี 2040 จำนวน “เทศบาล” ของญี่ปุ่นจะหายไปครึ่งหนึ่ง และอีก 25 ปีข้างหน้า วัด 27,000 วัดจาก 77,000 วัด จะต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีทั้งพระและคนเข้าวัด

พระและวัดหลายวัดในญี่ปุ่นจึงปรับรูปแบบเพื่อเรียกคนเข้าวัด ตั้งแต่เรียกร้องให้การเป็นพระ ไม่จำเป็นต้องสืบทางสายตระกูลเท่านั้น บางวัดเปิด Temple Caf? บางวัดเปิดงานแสดงแสง สี เสียง เป็นเธียเตอร์โปรดักชั่น

บางวัดเปิด Vowz Bar คือ มีพระเปิดบาร์ พระเล่นดนตรี พระเป็นบาร์เทนเดอร์ เพื่อดึงคนให้หันมาสนใจศาสนามากขึ้น

ยกกรณีญี่ปุ่นมาให้เห็นการมีอยู่ของศาสนาที่ไม่เพ้อฝันถึงการอยู่เหนือโลกย์ เป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของ… ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์จากรัฐ พระออกมาขายเหล้า เปิดบาร์ ก็ไม่โดนจับ หรือมีใครกรี๊ดกร๊าดว่าโลกจะแตกเป็นแน่แท้ ทั้งมีความยืดหยุ่นอย่างน่าประหลาดใจ

และในท่ามกลางบรรยากาศแบบ “โลกย์ๆ” วัดญี่ปุ่นกลับมีสภาวะที่ชวนให้อยู่ในภวังค์แห่งความสงบอย่างลึกซึ้ง

ตรงกันข้ามกับการเรียกร้องใฝ่ฝันถึงความเคร่งครัดในกฎเกณฑ์ทั้งปวงของพุทธชาวไทย วัดแบบไทยๆ ของเรา กับเร่งเร้า ผัสสะ รูป รส กลิ่น เสียง จากสถาปัตยกรรมอันอลังการ มลังเมลือง เรืองรอง และยังมีข่าวไม่ชอบมาพากลออกมาเสมอ

หรือแท้จริงแล้วความลักลั่นย้อนแย้งทำอย่างหนึ่ง ทว่าฝันถึงอีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่แท้ทรู