ไซเบอร์ วอทช์แมน : “อนาคตใหม่” เปิดตัว! การเผยโฉมที่ทั้งเด่นและด้อยไปพร้อมกัน

เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของอาทิตย์ที่แล้วก็ว่าได้ สำหรับการประชุมพรรคอนาคตใหม่ ที่จัดครั้งแรกอย่างเป็นทางการต่อหน้าสาธารณชน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

นับเป็นความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ถูกจับตามองด้วยเหตุผลต่างๆ มากมาย

ด้วยผู้เขียนแม้จะติดตามความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ซะส่วนใหญ่ แต่การเปิดตัวของพรรคอนาคตใหม่ที่ใช้เครื่องมือยุคใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย โลกออนไลน์ในการเชื่อมผู้คน โหมโรงก่อนนำไปสู่การประชุมใหญ่

ทำให้ผู้เขียนอยากสัมผัสบรรยากาศการประชุม การคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค และท่วงท่าในการปราศรัยต่อประชาชนของบรรดาว่าที่นักการเมืองพรรคนี้จริงๆ ว่า จะสามารถโน้มน้าวให้ผู้คนติดตามได้มากแค่ไหน

จากการติดตามตั้งแต่เช้าจนจบงาน ได้ทำให้เห็นความอลังการงานสร้าง ความเซอร์ไพรส์ต่อพี่น้องประชาชน และข้อสังเกตรวมถึงคำถามที่พรรคอนาคตใหม่ต้องนำกลับไปทบทวนบทเรียน

 

จากการรวบรวมทั้งจากผู้เขียนเอง และผู้ชมทั้งในที่ประชุมและชมผ่านถ่ายทอดสด จะเห็นได้ถึงความน่าประทับใจแต่ก็ยังเห็นบางจุดที่พรรคต้องกลับไปทบทวนเช่นกัน

อย่างแรกคือ รูปแบบการประชุม ต้องชมพรรคอนาคตใหม่ ที่เลือกสถานที่รองรับคนจำนวนมากอย่างยิมเนเซียมขนาดกลาง ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นสถานที่จัดการประชุมอย่างเป็นทางการ

เมื่อผู้คนนั่งรอบยิมและสนามหน้าเวทีปราศรัยจนเต็ม ก็ทำให้เห็นมวลประชาชนที่ได้แสดงออก บวกกับพิธีกรที่คอยชักชวนให้มีส่วนร่วม ทำให้การประชุมมีชีวิตชีวา ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย สังเกตได้จากแววตาและรอยยิ้มของผู้ร่วมงานประชุม

แต่สถานที่ก็มีข้อเสียในตัวของมันเอง นั้นคือ ความเป็นยิมเนเซียมเอง มีการออกแบบอาคารที่ไม่สะดวกสบายและอากาศร้อนง่ายเมื่อมีคนมากขึ้น ทำให้ประชาชน ผู้ปราศรัยต่างเหงื่อออกกันไม่น้อย

ส่วนดีของการประชุมครั้งนี้คือ ความรู้สึกที่เหมือนการประชุมพรรคในลักษณะ Convention แบบเดียวกับที่พรรคการเมืองในสหรัฐทำกัน ที่จัดเป็นสัดส่วน มีส่วนนิทรรศการที่เปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม การแบ่งโซนที่ชัดเจน ทำให้สามารถจัดการได้ง่าย

ซึ่งในช่วงเช้าที่มีการประชุมลงมติเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค จะมีการแบ่งกลุ่มคนประเภทต่างๆ ที่ชัดเจน ควบคุมง่าย ตั้งแต่สมาชิกพรรค ประชาชน ผู้สังเกตการณ์ จนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ

(น่าสังเกตว่าครั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐถูกจัดวางตำแหน่งที่เห็นได้ชัดมาก ไม่ปล่อยให้เดินสะเปะสะปะ แต่ช่วงบ่ายจะเดินกระจายตัวกันทั่วงาน พร้อมกับเก็บข้อมูลตั้งแต่ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว สังเกตได้ว่าขนทั้งกล้องบันทึกวิดีโอจนสมาร์ตโฟนและกล้อง DSLR แบบเลนส์ซูม)

แต่การจัดประชุมที่คล้าย Convention นี้เอง ทำให้มีคำถามที่ว่า งบประมาณที่ใช้เพื่อเนรมิตงานประชุมสุดอลังการนี้ ใช้ไปเท่าไหร่ ในการจัดรูปแบบงานให้น่าสนใจ การลงทะเบียน การวางกำลังอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่พรรคในการดูแลให้งานประชุมผ่านไปอย่างลุล่วง

ต้องรอดูว่าพรรคอนาคตใหม่จะมีการชี้แจงตรงส่วนนี้ให้สมาชิกพรรคและสาธารณชนให้ทราบหรือไม่

 

ส่วนต่อไปที่น่าสนใจคือ การประชุมพรรคครั้งนี้ จะเป็นการเลือกบุคคลทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งสมาชิกพรรคชุดแรกจำนวน 474 คน จะเป็นผู้ลงคะแนนเสียงคัดเลือก และกระทำกันอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนแม้จะไม่ให้ถ่ายทอดสดก็ตาม

แต่ผู้เขียนต้องชมตรงนี้ เพราะมันทำให้ได้เห็นบรรยากาศ วิธีการเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่ ไม่ต้องคัดเลือกแบบปิดลับ ที่พอเข้าช่วงหาเสียงก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

หลังจากสมาชิกพรรคลงมติคัดเลือก ทำให้ได้เห็นบุคคลที่เราคาดหวังและเซอร์ไพรส์ไม่น้อย

ไม่ว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตผู้บริหารไทยซัมมิท ที่วางมือจากธุรกิจเข้าสู่การเมือง ได้เป็นหัวหน้าพรรคโดยไม่ต้องเต็ง

เช่นเดียวกับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตนักวิชาการนิติศาสตร์ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับคณะนิติราษฎร์ ได้รับเลือกนั่งเลขาธิการพรรค

ส่วนโฆษกพรรค เสียงเฮได้ดังขึ้นเมื่อที่ประชุมเสนอ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการของช่องวอยซ์ทีวี ที่ตัดสินใจร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ แทบเรียกว่าไม่มีใครเหมาะกับงานตอบสื่อได้เท่าช่ออีกแล้ว

(มีนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข เป็นรองโฆษกพรรค พรรคอนาคตใหม่มีช่อ เรียกได้ว่าเป็นมวยคู่หยุดโลก เพราะด้วยความเป็นอดีตสื่อมวลชนทั้งคู่ เชื่อว่าในอนาคตคงได้เห็นลีลาฝีปากทั้งสองคนว่าจะดุเด็ดเผ็ดมันขนาดไหน)

แต่ไม่ใช่มีแค่นี้ พรรคอนาคตใหม่ยังสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการดึง พล.ท.พงศกร รอดชมพู อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ร่วมงานเป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 3

หรือนายสุรชัย ศรีสารคาม อดีตข้าราชการ เจ้าของไอเดียนำทะเบียนราษฎรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในยุครัฐบาลเปรม ซึ่งถือว่าก้าวหน้ามากในขณะนั้น เข้าร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพรรค ในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคภาคกลาง

และยังมีคณะกรรมการอื่นๆ อาทิ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1

ชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2

รณวิต หล่อเลิศสุนทร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 4

นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค

ไกลก้อง ไวทยาการ นายทะเบียนพรรค

เยาวลักษณ์ ภักดีประภา กรรมการบริหารภาคเหนือ

ชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารภาคอีสาน

เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ กรรมการบริหารภาคใต้ รวมถึงยังมีสุนทร บุญยอด กรรมการบริหารสายผู้ใช้แรงงาน

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง กรรมการบริหารสายคนรุ่นใหม่

จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ และนิรามาน สุไลมาน เป็นกรรมการบริหารในสัดส่วนตามกฎหมายพรรคการเมืองที่คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ

 

จากรายชื่อทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นสัดส่วนได้ว่ากรรมการบริหารชุดนี้ มีหลากหลายวัยที่เข้าร่วมงาน แต่หากมองในแง่ฐานะสังคมและอาชีพเดิมก่อนเข้ามา จัดว่าอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง-ปัญญาชน-นายทุนลูกใหม่ ที่เกิดและเติบโตในประเทศที่เจอทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมืองยุค รธน.40-ช่วงทศวรรษเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ มีสัดส่วนผู้ใช้แรงงานเพียง 1 คน แต่ยังไม่เห็นตัวแทนเกษตรกร หรือผู้ด้อยโอกาสเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหาร

จะเรียกได้ว่าเป็นพรรค “คนเมืองรุ่นใหม่” ก็ว่าได้

 

และส่วนสำคัญที่สุด ช่วงการปราศรัย แถลงวิสัยทัศน์ อุดมการณ์และนโยบายพรรคซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานประชุม ถ้าจะวัดเป็นคะแนน ผู้เขียนให้ 7.5 เต็ม 10 โดยตลอดเนื้อหาการปราศรัย แม้จะมีการยกประเด็นโจมตีรัฐบาล คสช. ที่เห็นว่าตลอด 4 ปี ได้สร้างปัญหากับประเทศมากกว่าสร้างความเจริญเติบโตอย่างที่พร่ำพูดกับสื่อ และชูด้วยความเป็นการเมืองใหม่แบบพรรคอนาคตใหม่

แต่การนำเสนอดูเหมือนไปไม่สุด นอกจากอธิบายที่ยังมองไม่เห็นในเชิงรูปธรรม สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกได้คือ นี่งานประชุมพรรคหรือเวที TED Talk กันแน่? ที่ว่าที่นักการเมืองของพรรควางบทบาทเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ แสดงวิสัยทัศน์ความคิดให้ผู้ร่วมงานได้คิดตาม แต่อย่างที่บอก ยังไปไม่สุดที่จะให้เป็นรูปร่างจับต้องได้ มันจึงเหมือนลักษณะความคิดที่ฟุ้งลอย

หรือในอีกแง่หนึ่ง อาจเป็นสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่สื่อก็ได้ ที่ว่าจะทำงานทางความคิด ผลักดันวิธีคิดให้คนเห็นปัญหารากเหง้าที่แท้จริง และเปลี่ยนความคิดเพื่อสอดรับกับสิ่งใหม่ จะแก้ไขปัญหาประเทศที่เรื้อรังจะต้องกลับไปที่วิธีคิด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อาจต้องนับถือความพยายามของพรรคอนาคตใหม่ที่จะสื่อสารกับประชาชนด้วย เพราะประเทศนี้ดำรงอยู่บนความเชื่อสูงสุดหนึ่งเดียวที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับความหลากหลายทางความคิด หรือไม่ยอมละทิ้งความคิดเก่าๆ ที่เข้ากันไม่ได้และรับสิ่งใหม่เข้ามา

อย่างไรก็ตาม การประชุมพรรคอย่างเป็นทางการนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ชิมลาง ให้พรรคอนาคตใหม่ ได้ฝึกการสื่อสารกับประชาชน เสนอนโยบายที่ทำให้เกิดขึ้นจริง (เข้าใจว่า ยังพูดถึงนโยบายไม่ได้ ด้วยคำสั่ง คสช. ที่ล่ามคออยู่ในขณะนี้) สร้างวิธีที่จะทำให้คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าในนิยามของพรรคอนาคตใหม่ สามารถอยู่ร่วมประเทศได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง

แต่ความคิดลบล้างผลพวงการรัฐประหารและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แทน ฉบับ 2560 อาจกลายเป็นชนวนครั้งใหม่ก็เป็นได้