ในประเทศ : 4 ปี คสช. รุกถอยหลัง

แม้รัฐและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพจะทำให้ม็อบกลุ่มคนอยากเลือกตั้งสลายตัวไป ไม่สามารถเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปทำเนียบได้สำเร็จ

แถมยังจับกุม 14 แกนนำไปดำเนินคดี

เช่นเดียวกับรัฐบาลโชว์ความเด็ดขาด ด้วยการห้ามและจับกุมแกนนำพรรคเพื่อไทยออกมาแถลงข่าวความล้มเหลวการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ครบวาระ 4 ปี

จนดูเหมือนว่าทุกอย่างราบคาบภายใต้การปกครองของรัฐบาลและ คสช.

ซึ่งเป็นอย่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศ

“คสช. ทำงานมาตลอด ถ้า 4 ปีไม่ดีจริงอยู่ไม่ได้”

โดยย้ำว่า คสช. พยายามทำงานทุกอย่างให้ประชาชน เศรษฐกิจก็ดีขึ้นเยอะ รัฐบาลทำทุกอย่าง คสช. ทำงานกันทุกคน ไม่มีใครเกียร์ว่าง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามตอบโต้กระแสความล้มเหลวในการบริหารงานเช่นกัน

ด้วยการอวดตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก

ที่เติบโตถึงร้อยละ 4.8 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี

พร้อมกับยืนยันว่า วาระครบรอบ 4 ปี วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลได้ทำอะไรไปเยอะแยะ

“ผมพอใจในส่วนของผม ใครไม่พอใจก็ไม่ทราบ แต่ได้เริ่มต้นเรื่องการปฏิรูปทำไปหลายอย่างด้วยกัน ทั้งเรื่องของกฎหมาย เพื่อจะทำให้เกิดการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ร.บ.ฉบับต่างๆ ออกมาแล้วก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า ระยะเวลาต่อจากนี้ไป หลังจากที่ได้ทำปฏิรูปขั้นต้นไปแล้ว โครงสร้างต่างๆ กฎหมาย วิธีการ งบประมาณ แผนงานต่างๆ ถือเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมต่างๆ ให้เกิดการปฏิรูป หลายอย่างเสร็จไปแล้ว แต่หลายอย่างก็ยังไม่เสร็จ ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูป”

“ผมพอใจในสิ่งที่ได้ทำตรงนี้”

 

มองจากแง่มุมข้างต้น ดูเหมือนรัฐบาลและ คสช. กำลังอยู่ในบทบาท “รุก”

แต่กระนั้น เอาเข้าจริง สิ่งที่รัฐบาลและ คสช. ทำไป ดูเหมือนจะได้เปรียบ

แต่กลับมี “ค่าใช้จ่าย” มหาศาล

อย่างน้อยที่สุด ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งมีจำนวนไม่ถึงพัน

แต่กลับส่งเสียง “ดัง” เพื่อทำให้คนทั้งประเทศและหลายประเทศได้ยินข้อเรียกร้องของพวกเขาในวันครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

คือ

1. การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่ คสช. เคยให้คำมั่นไว้

2. คสช. จะต้องยุติความพยายามใดๆ ที่จะสืบทอดอำนาจหรือเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง

3. จะต้องปลดอาวุธ คสช. โดยการยกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆ ของ คสช. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งรวมถึงประกาศหรือคำสั่งที่ขัดขวางการดำเนินการต่างๆ ของพรรคการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งโดยทันที

4. คสช. จะต้องยุติการดำรงอยู่ของตัวเอง และเปลี่ยนสถานะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลรักษาการโดยทันที เพื่อสร้างหลักประกันในการจัดการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม โปร่งใส และปราศจากการแทรกแซงจาก คสช.

5. กองทัพจะต้องยุติการสนับสนุน คสช. ในทุกประการโดยทันที เพื่อไม่ให้ คสช. มีขุมกำลังในการสืบทอดอำนาจเผด็จการได้อีก

ซึ่งในวันเดียวกัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงการณ์ “ขานรับ” เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอย่างทันทีว่า

“ระหว่างวันที่ 21 ถึง 22 พฤษภาคม สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของสหประชาชาติ สังเกตการณ์ชุมนุมอย่างสงบที่จัดโดย “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองและนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ได้จัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งปลายปี 2561

ผู้สังเกตการณ์ของสหประชาชาติได้ประสานงานและพูดคุยกับผู้จัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทน “เครือข่ายการสังเกตการณ์เลือกตั้งและการบันทึกการชุมนุมสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ทำงานร่วมอย่างใกล้ชิดได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์เช่นเดียวกัน

การชุมนุมครั้งนี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดขึ้นเพื่อรำลึกสี่ปีรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในตอนเย็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้นำของกลุ่ม และนักกิจกรรมจำนวน 11 คน พวกเขาจะถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจชนะสงคราม แกนนำ 5 คนได้ถูกร้องทุกข์โดย คสช. ว่าละเมิดคำสั่งที่ 5/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมเหล่านี้โดยพลัน ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้เรียกร้องรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องให้เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมอย่างสงบในฐานะที่เป็นรัฐภาคีกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและพลเมือง”

ขณะที่มีรายงานข่าว นายกฯ ได้ตัดสินใจเลื่อนการเดินทางไปเยือนกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม “เมืองหลวงของอียู” อย่างกะทันหัน

เนื่องจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอให้เลื่อนการเดินทางออกไป

เนื่องจากกังวลการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในประเทศ

รวมทั้งอาจถูกต่างประเทศตั้งคำถามถึงสถานการณ์ในประเทศ

นี่ย่อมเป็นสิ่งยืนยันว่า แม้รัฐบาลและ คสช. ใช้กำลังเหนือกว่า สยบม็อบคนอยากเลือกตั้งลงได้

แต่ “ภาพลักษณ์” ของรัฐบาลในห้วง 4 ปีการเถลิงอำนาจ กลับไม่ได้สดใสอย่างที่ควรจะเป็น

 

เช่นเดียวกับความเข้มงวดต่อพรรคเพื่อไทย โดยการดำเนินคดีกับ 8 แกนนำพรรค ที่ออกมาแถลงหรือมีส่วนร่วมวิจารณ์ความล้มเหลวของการยึดอำนาจครบ 4 ปี

ที่มิได้ทำให้เพื่อไทยหงอ

ตรงกันข้าม กลับทำให้รัฐบาลที่ตกเป็นข่าวมาตลอดว่ากำลัง “ดูด” นักการเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ “สืบทอดอำนาจ” ต่อไป ถูกมองว่ามีวาระทางการเมืองซ่อนเร้น

นั่นคือ มุ่งทำลายพรรคเพื่อไทย โดยใช้แง่ปมกฎหมาย

ทำให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้ที่ถูกดำเนินคดี ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง 4 ปีรัฐประหารอย่างมี “น้ำหนัก” เพิ่มขึ้น ว่า

“คสช. อ้างความจำเป็นในการระงับความขัดแย้งวุ่นวายเข้าทำรัฐประหารผ่านไป 4 ปี

แต่ คสช. ยังใช้เรื่องการระงับความขัดแย้งวุ่นวายนี้เป็นข้ออ้างในการอยู่ในอำนาจต่อไปอยู่อีก

ทั้งยังพยายามบอกกับสังคมว่า หากไม่มี คสช. เมื่อใดแล้ว ความขัดแย้งวุ่นวายก็จะกลับมาอีก

สิ่งที่อ้างว่าเป็นภารกิจสำคัญของ คสช. นั้นล้มเหลวหมดในทุกด้าน

ไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะสร้างความปรองดองในสังคมไทย

จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เห็นแตกต่าง เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ

รวมทั้งสร้างระบบที่พวกเขาจะอยู่ในอำนาจต่อไป โดยประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้

สังคมไทยจึงถลำลึกสู่ความขัดแย้งใหม่ที่หนักหนากว่าที่ผ่านมา คือ ความขัดแย้งระหว่าง คสช. และพวกฝ่ายหนึ่ง กับผู้สนับสนุนประชาธิปไตยและประชาชนทั่วไปอีกฝ่ายหนึ่ง

การปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งเป็นเพียงข้ออ้างสวยหรูเพื่อนำไปสู่การรัฐประหารและการอยู่ในอำนาจต่อไปไม่สิ้นสุดของ คสช.

“การประกาศตัวเป็นนักการเมืองที่มีอดีตเป็นทหาร การดำเนินการต่างๆ ทั้งการออกกฎหมายและคำสั่งที่มุ่งทำให้พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมและระบบพรรคการเมืองทั้งระบบอ่อนแอ การสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองเพื่อช่วยเหลือพรรคการเมืองที่สนับสนุนผู้นำ คสช. การใช้งบประมาณหว่านโปรยไปในพื้นที่ที่ต้องการดึงดูดพรรคการเมืองหรือนักการเมืองให้มาสนับสนุนตนเอง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่มีการปิดบังอำพรางอีกต่อไปแล้วว่าผู้นำ คสช. กำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป”

นายจาตุรนต์ระบุ

 

ขณะที่นักการเมืองหน้าใหม่อย่างนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เสรีภาพที่คนเรียกร้องอยากให้มีการเลือกตั้ง ถือเป็นเสรีภาพสูงสุด

เขาแค่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ถามว่ามันเกิน 4 ปีแล้ว จะเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว มันไม่มีความชอบธรรมหลงเหลืออยู่แล้ว

รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ อยู่ยาวกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียอีก ไม่มีความชอบธรรมอะไรที่ต้องอยู่ต่ออีกแล้ว

ทั้งหลายทั้งปวงที่พูดว่าติดกฎหมายเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นเพียงเหตุผลลวงตา เป็นเพียงเหตุผลทางเทคนิคที่สร้างขึ้นมาเพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไป

“ไม่มีเวลาให้ต่ออีกแล้ว ต้องเลือกตั้งให้เร็ววันที่สุด” นายปิยบุตรกล่าว

แม้กระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าถามว่ามี 3 คนที่พูด แล้ว 5 คนที่นั่งฟังจะเป็นอย่างไร ในทางกลับกัน ถ้าวันนั้นพรรคเพื่อไทยบอกว่า คสช. ทำงานมา 4 ปี ดีมากๆ จะผิดหรือไม่

“การวิจารณ์ผู้มีอำนาจในทางลบ ไม่ควรจะเป็นเรื่องกระทบความมั่นคง ยกเว้นมีการปลุกปั่นหรือปลุกระดม ดังนั้น ถ้าเขาวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ จะไปบอกว่าเขาทำกระทบความมั่นคงคงไม่ได้ ถ้าเขาสามารถพิสูจน์ว่าการแถลงข่าวสามารถเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวได้ก็ต้องพิสูจน์ การวิจารณ์ในทางลบแล้วบอกว่ากระทบความมั่นคง ผมว่ามันไม่เพียงพอและอันตราย ผมจึงบอกว่าเรื่องความมั่นคงต้องแยกเป็นส่วนหนึ่ง การชุมนุมเกิน 5 คนก็อีกส่วนหนึ่ง” นายอภิสิทธิ์ระบุ

ฝ่ายการเมืองที่แม้จะมีจุดยืนคนละข้าง แต่กรณีพรรคเพื่อไทย ต่างเห็นร่วมกันว่า รัฐบาลและ คสช. ล้ำหน้าไปจาก “มาตรฐาน” อันเป็นธรรม ไกลมาก

 

นี่จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมกำปั้นเหล็กที่ฟาดโครมเข้าสู่ “คนอยากเลือกตั้ง” และพรรคเพื่อไทย ที่ดูเหมือนเป็นการ “รุก”

แต่เป็นรุกแบบถอย

ถอยกลับเข้าไปสู่คลอง

ที่มิได้ให้ความมั่นใจว่า เรากำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ประชาธิปไตย” อันแท้จริงอย่างไร