สมอง : ล้างก่อนเรียน เราจะ “ล้าง” หรือ un-learn สิ่งเก่าๆ ได้อย่างไร?

Reading in the Brain : The New Science of How We Read โดย สตานิสลาส ดีแฮน (Stanislas Dehaene) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับกระบวนการ un-learn ของสมองมนุษย์ ที่สำคัญ ศึกษาการอ่านออกเขียนได้ทั้งในแง่สมองและวัฒนธรรม

แต่เดิม เราเชื่อว่าสมองมนุษย์คล้ายกล้ามเนื้อ ถ้าออกกำลังบ่อยๆ จะแข็งแรง และทำให้คนคนนั้นจะฉลาดขึ้น

ในทัศนะนี้ มนุษย์เป็นผลของการอัดข้อมูลเข้าไปในสมอง และถ้าก้อนเนื้อนี้มีที่ไม่พอ ข้อมูลเก่าอาจจะต้องถูกโยนทิ้งไปบ้าง

แต่นั่นเป็นภาพที่คล้ายเครื่องจักรในศตวรรษที่ 19

ทุกวันนี้ เราเชื่อว่าสมองเป็นระบบประสาทหรือเน็ตเวิร์กมากกว่าชิ้นเนื้อธรรมดา ถ้าจะสร้าง Learning Machine หรือ Artificial Intelligence ก็ไม่ได้หมายถึงมีความสามารถแค่เรียนรู้ (ซึ่งสร้างได้แล้ว เช่น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์) แต่ต้องสามารถยุติการเรียนรู้ หรือ un-learn ได้

สิ่งที่ผู้เขียนค้นหาไม่ใช่ว่าสมองเรียนรู้อย่างไร แต่คือมันไม่เรียนรู้อย่างไร?
ในเรื่องของการอ่าน ผู้เขียนเริ่มจากคำถามง่ายๆ นั่นคือ ในสมัยก่อน สมองไม่ถูกเคยใช้ทำหน้าที่นี้เลย ทำไมเราจึงมีสมองสำหรับการอ่าน?

เราเพิ่งรู้จักตัวอักษรมาห้าพันปี ซึ่งใหม่มากสำหรับวิวัฒนาการของมุษย์ซึ่งกินเวลานับแสนปี แต่ทำไมเราจึงมีสมองส่วนนี้?

คำตอบของเขาคือ การอ่านเหมือนกับการมองเห็นและจดจำ นั่นคือ จำเป็นสำหรับการเอาชีวิตรอด และสมองที่ใช้อ่านตัวอักษร คือส่วนที่เคยมีบทบาทในการจดจำภาพหรือหน้าตาของผู้คน (รวมทั้งวัตถุสิ่งของและสถานที่) ซึ่งสามารถ recycle หรือเอากลับมาใช้

ในที่นี้ ล้างจึงไม่ได้แปลว่าลืมหรือลบสิ่งที่เรียนมา

แต่หมายถึงกระบวนการที่ทำให้สมองและประสาทยุติการทำงานแบบหนึ่งและเอากลับมาใช้ในอีกแบบหนึ่ง

02-14

ดีแฮนใช้หลายเทคนิค ทั้งการสัมภาษณ์คนหลายคนและการสแกนสมองมนุษย์หลายแบบ เขาเรียกคลังคำที่อยู่ในสมองว่า Letterbox ซึ่งระบุว่าอยู่ที่กลีบซ้าย ตรงส่วนหนึ่งของ occipito-temporal lobe และเดิมเรียกว่า visual word form area สิ่งนี้คือศูนย์การอ่าน ซึ่งไม่ใช่ชิ้นเนื้อที่อยู่อย่างโดดๆ แต่เป็นเส้นประสาทที่ทำงานแบบเครือข่ายและสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ Letterbox มีทั้งกลไกอินพุต/เอาต์พุต สามารถแยกองค์ประกอบของคำเป็นกราฟีม มอร์ฟีม และโฟนีม ทำหน้าที่เก็บถ้อยคำที่เป็นรูปภาพ หรืออ่าน visible language

เขาอ้างอิงการค้นพบของ Marc Changizi ที่บอกว่าระบบอักษรของทุกภาษาในโลกมีรูปร่างพื้นฐานคล้ายกัน แม้แต่ลิงก็เข้าใจรูปร่างอักษรบางตัว เช่น T, L, Y มนุษย์เพียงแต่สามารถเอาสมองส่วนนี้มาใช้ เพื่อสร้างและทำความเข้าใจกับภาษา

นอกจากนั้น ผู้เขียนยังพูดถึงการสอนอ่านสองวิธี คือ หนึ่ง อ่านเสียง ซึ่งให้เสียงจะกระตุ้นประสาทและส่งสัญญาณไปที่สมอง

และสอง อ่านภาพ ซึ่งให้เห็นคำที่เขียนโดยตรง และใช้ประสาทอีกเส้นหนึ่งในการส่งสัญญาณ แต่ก็ไปจบที่ศูนย์แปลความหมายเหมือนกัน โดยทั่วไป สมองจะใช้สองวิธีนี้พร้อมกัน

ในแง่หนึ่ง งานของดีแฮนอาจจะพยายามตอบคำถามของระบบการศึกษาในโลกตะวันตก เช่น จะสอนอ่านด้วยวิธีไหนดี : สอนวิธีผสมเสียง (grapheme-phoneme) หรือสอนทั้งคำ (whole language)? ซึ่งถ้าอ้างผลการวิจัยของเขา ก็อาจจะบอกว่าวิธีแรกนั้นดีกว่า

สมองมีความยืดหยุ่นและการอ่านเป็นการรีไซเคิลสมอง คำถามที่เกิดขึ้นคือการรีไซเคิลทำให้เราสูญเสียความสามารถที่เคยมีหรือเปล่า?

Dyslexia หรือการเขียน “กลับข้าง” (เช่น p, q, d, b เป็น q, p, b, d) ซึ่งเป็นอาการของเด็กบางคน จึงเป็นเคสที่ผู้เขียนสนใจ และถือว่าเป็นตัวอย่างของการ Un-Learn

เด็กที่เป็น Dyslexia จะใช้สมองส่วนที่อ่านภาพมาอ่านตัวหนังสือ และถ้าความสามารถนี้ไม่หายไปไหน ก็จะทำให้เด็กเหล่านี้เก่งคณิตศาสตร์และทำงานที่เกี่ยวกับการมองภาพและพื้นที่ได้ดี

นี่ทำให้ตอนท้ายของการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง ดีแฮนบอกว่าเด็กที่มีอาการนี้เห็นสมดุลหรือ symmetry ได้ดีกว่าคนอื่น และพูดอย่างทีเล่นทีจริงว่าอาจจะเหมาะสำหรับอาชีพนักดาราศาสตร์

แม้แต่สมองก็ไม่ได้พัฒนามาตาม “ธรรมชาติ” การปรับตัวแสดงว่ามันมีข้อจำกัดมากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะเมื่อเจอกับวัฒนธรรม

วัฒนธรรมจะเป็นฝ่ายที่บีบให้มนุษย์ควานหาสมองส่วนที่มีความยืดหยุ่นและเอามาทำอย่างอื่น และกดดันให้พยายามเรียนรู้และสร้างสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือ คิดเลข จับเครื่องมือ หรือเล่นดนตรี

การมองว่าวัฒนธรรมเป็นเหมือนเกมตัวต่อหรือเลโก้ที่ประกอบสร้างขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคล้ายกับโครงสร้างนิยมหรือ Structuralist Anthropology ของ โคลด เลวี่ สโตรสส์

แต่สิ่งใหม่ที่ผู้เขียนค้นพบคือโครงสร้างที่เหมือนกันในหลายๆ วัฒนธรรมนั้น มาจากบทบาทของสมองมนุษย์นั่นเอง

ประโยชน์ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้มีหลายอย่าง เช่น อาจจะใช้อธิบายว่าทำไมเด็กจึงเรียนอ่านได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ และเมื่อเด็กอ่านได้ก็จะเขียนดีในที่สุด

หรือทำให้เห็นว่า การอ่านเป็นกิจกรรมที่มนุษย์เพิ่งรู้จักไม่นานมานี้

เหมือนการให้สมองไป “รับจ๊อบ” เพิ่มเติม ดังนั้น จึงไม่ควรทำหรือเคี่ยวเข็ญคนอื่นให้ทำมากเกินไป

แต่ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจเป็นพิเศษ คือพูดถึงสมองมนุษย์ที่ใช้ในการอ่านและเขียน อันเป็นกระบวนการสำคัญในการเรียนรู้ของมนุษย์ รวมทั้งทักษะที่เกี่ยวข้องทั้งในอดีตและอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพลิกหน้ากระดาษหรือเคาะหน้าจอ

สมองของเราสามารถ “ล้าง” หรือ un-learn สิ่งเก่าๆ ได้

และความเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะรวดเร็วขนาดที่ใช้เวลาเพียงชั่วอายุคน