ทราย เจริญปุระ : ค่อยๆ หลุดมือไป

“ไม่ได้จ้ะ มันอันตราย หมอก็ห้ามด้วย”

ฉันพูดแล้วก็กลั้นใจรอ นับหนึ่ง…สอง…

ฮือออออออ

นั่นไง

แม่ร้องไห้จริงๆ ด้วย

แต่จะว่าไปก็ไม่ได้ “ร้องไห้” แบบ “ร้องไห้” จริงๆ ที่มีน้ำตาหรอกนะ เป็นเพียงอาการเบะปากทำหน้าย่นยู่และส่งเสียงฮือออกมาดังๆ ยาวๆ

“ไม่ได้จริงๆ นะแม่ คราวที่แล้วที่แอบลองขับรถ แม่ก็ทำกระจกข้างหักไปอันนึงแล้ว ยังไม่ได้เอาไปซ่อมเลย มันอันตรายทั้งกับตัวแม่เองและคนอื่นด้วย หมอก็บอกว่าอย่าเพิ่งฝืนลอง พอลองไปแล้วยังขับไม่ได้ แม่ก็ใจเสียเปล่าๆ”

ฉันอยากจะคิดว่าฉันพูดประโยคนี้เป็นรอบที่ล้านแล้ว แต่จริงๆ มันยังไม่ถึงหรอก เพียงแต่มันบ่อยมาก มากเสียจนฉันยังรำคาญตัวเองเลยที่พูดอะไรซ้ำซาก

การสั่งห้ามไม่ให้แม่ทำอะไรๆ ตามที่แม่อยากทำและเคยทำได้เป็นเรื่องกระอักกระอ่วนใจอย่างยิ่ง

หลายคนอาจจะบอกว่าธรรมดาน่า ตอนเราเด็กๆ แม่ก็ต้องสอน ต้องพูด ต้องห้ามซ้ำๆ เหมือนกัน

ก็อาจจะจริง แต่มันไม่ใช่แบบนี้น่ะ

พ่อแม่ห้ามในสิ่งที่ลูกยังไม่เคยทำและอยากลองทำ

แต่นี่ฉันกำลังห้ามไม่ให้แม่ทำสิ่งที่แม่เคยทำได้มาทั้งชีวิตอยู่นะ

แถมยังมีข้อแม้ที่แตกต่างกันไปอีก ว่าถ้าเป็นฉันดื้อจะทำอะไรๆ ที่แม่ห้าม แม่ก็สามารถคาดโทษ หรือซัดเข้าซักผัวะ ไปจนถึงใช้มาตรการสูงสุดด้วยการเห็นฉันเป็นอากาศ ไม่พูดด้วยไม่สนใจได้เป็นเดือนๆ ซึ่งแม้แม่จะเคยทำกับฉันและน้องๆ มาครบทุกคนแล้ว

แต่ฉันทำแบบนั้นกับแม่ไม่ได้

ฉันอาจจะไม่ได้เข้าใจความรู้สึกของแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็พอจะนึกออกว่าหากฉันต้องหยุดทำอะไรๆ ที่เคยทำได้ด้วยตัวเอง ต้องรอให้มีคนมาทำให้ แล้วไอ้คนที่รอก็ไม่ค่อยจะว่างมันก็คงจะรู้สึกแย่ไม่ใช่น้อย

วันที่ฉันรู้สึกสิ้นศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ที่สุด ก็คือวันที่ฉันโดนบล๊อกคอรอผ่าตัดอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล มีพี่พยาบาลหลายคนรุมเข้ามาถอดเสื้อผ้าแล้วเช็ดตัวให้ จับฉันพลิกซ้ายพลิกขวา ตะแคงไปท่านั้นท่านี้ตามที่พี่เขาฝึกกันมา

ใช่ ฉันรู้ว่ามันจำเป็น รู้ด้วยว่าเป็นหน้าที่ของพยาบาล

แต่มันก็รู้สึกอดสูเหลือเกิน ว่ากับเรื่องแค่จะรักษาความสะอาดร่างกายตัวเอง อันเป็นเรื่องพื้นๆ ที่สุดที่ฉันควรจะทำได้ ฉันกลับทำไม่ได้ ต้องมานอนล่อนจ้อนล่อนเถร ตามองเพดานปริบๆ ให้พี่เขาล้วงควักร่างกายไปตามสะดวก

แต่มันก็เป็นอาการถดถอยของร่างกายเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ฉันยังมีความหวังว่าอีกสองวัน อีกสามวัน หรืออีกหนึ่งสัปดาห์ถัดไป ฉันก็จะสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้เหมือนเคย

แต่อาการของแม่นั้นนอกจากจะไม่มีวันดีขึ้นแล้ว ยังมีแต่จะเสื่อมถอยลง

สิ่งที่แม่เคยทำได้ค่อยๆ หลุดมือไปทีละน้อย และต้องอาศัยการพึ่งพิงคนอื่นมากขึ้นทุกที

หนังสือ “ตาย-เป็น” พูดถึงความแก่ชราและความเจ็บป่วยในยุคที่การแพทย์แข็งแกร่งจนทำให้ค่าเฉลี่ยอายุของมนุษย์ยืดยาวขึ้นเป็นอันมาก

การแพทย์ที่พยายามต่อสู้ขัดขืนสิ่งที่เป็นความจริงแท้ของชีวิตอย่างความเจ็บไข้และความตายอันหลีกเลี่ยงไม่พ้น จนเหมือนจะละเลยเพิกเฉยแง่มุมอื่นๆ ของชีวิต มุ่งมั่นที่จะทำการรักษาโรคภัยไข้เจ็บจนลืมไปว่าคุณภาพชีวิตและจิตใจของผู้ป่วย (บางทีก็ให้ค่ากับความต้องการของผู้ป่วยน้อยกว่าความต้องการของญาติผู้ป่วยด้วยซ้ำไป) นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยังหายใจได้ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ แต่เป็นการได้ใช้ชีวิตและมีความสุข มีศักดิ์ศรีอย่างที่ความเป็นมนุษย์สมควรได้รับ

การแพทย์ที่ช่วยต่อลมหายใจได้ แต่กลับทำร้าย-ทำลายทั้งร่างกายและจิตใจของคนจำนวนมากจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

ผู้เขียนเป็นศัลยแพทย์ที่เผชิญทั้งการตัดสินใจเรื่องความเป็นความตายทั้งของคนไข้และคนใกล้ชิด จึงเริ่มทำการสำรวจและศึกษา เพื่อค้นพบว่า แท้จริงแล้วยังมีหนทางของการแพทย์ที่อ่อนโยนมากกว่านั้น เพื่อช่วยให้มนุษย์ได้มีชีวิต และได้ตายโดยเปี่ยมคุณค่าและความหมาย

การมีลมหายใจบนเตียงในโรงพยาบาล ให้อาหารผ่านท่อโดยประคองอาการไว้ อาจไม่มีค่าเท่าการได้กินไอศกรีมรสที่ชอบสักคำสองคำ และเผชิญกับความเป็นจริงของโรคร้ายว่ามันไม่มีทางหาย และถึงแม้จะหาย เราก็อาจกลายสภาพเป็นอะไรที่เราไม่ต้องการ

อ่านไปแล้วฉันก็คิดถึงแม่

จากสถานภาพที่เคยสั่งการลูกได้ เป็นผู้ควบคุม ทำอะไรต่อมิอะไรได้ร้อยสีพันอย่างตามใจปรารถนา แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ร่างกายก็เสื่อมถอย สิ่งที่เคยทำได้ค่อยๆ น้อยลงเรื่อยๆ ไปทุกวัน

ฉันคิดว่าแม่นั้นรู้เหมือนที่ฉันรู้ ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาโลกที่ไม่มีใครจะหลีกหนีไปได้

แต่การรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการ “ยอมรับ” มันให้ได้นั้นก็ต่างกัน และมันก็กลายเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดทั้งสำหรับฉันและแม่

ในด้านหนึ่ง, ตัวฉันนั้นยอมรับได้อย่างรวดเร็ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นกับแม่ โดยฉันเป็นผู้เฝ้าดู

แต่สำหรับเจ้าตัวแล้ว แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าเลี่ยงไม่ได้ แม่ก็ดูจะหาหนทางยอมรับมันอย่างสง่างามไม่เจอเลย และฉันเองก็ไม่อยากให้แม่ร่วงโรยไปด้วยความข้องใจเช่นนี้ เราต่างมีข้อจำกัดกันทั้งคู่ และยังคงพยายามหาคำตอบที่ดีที่สุดให้ได้

ฉันไม่อยากขัดใจแม่ด้วยความเป็นห่วงเสียจนแม่ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่แม่ก็ยังเป็นแม่ที่ฉันไม่อยาก “สั่ง” ให้ทำหรือไม่ทำอะไร แม้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวแม่เอง แต่จะให้ฉันโอนอ่อนยอมตามแม่ทุกอย่างนั้นฉันก็ยังทำใจไม่ได้ และยังไม่พร้อมจะรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างเรื่องขับรถนี่ที่เราทั้งคู่ต่างรู้กันดีว่าแม่ไม่มีทางกลับไปขับรถได้อีกแล้ว แม่อาจจะขับไปชนใครต่อใคร อาจขับไปลงข้างทาง ฉันไม่อยากทำงานด้วยความกระวนกระวายรอข่าวร้ายที่อาจจะมาถึงได้ทุกวินาที

แต่แม่ก็คงต้องการที่จะยืนยันด้วยตัวเองว่ามัน “ไม่ได้” แล้วจริงๆ

ในหนังสือมีชุดคำถามของกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยที่เรียกว่าเป็น “ผู้ดูแลแบบประคับประคอง” ที่จะคอยเวียนมาที่บ้าน คอยปรับสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ป่วยโดยไม่ได้เน้นไปที่การรักษาให้หาย

เช่น หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว ว่าไม่มีวันหายขาด ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่ายังต้องการการรักษาแบบให้หายอย่างมีความหวัง (ฉายแสง รับยา ใช้เครื่องช่วยหายใจภายใต้ความดูแลใกล้ชิดของแพทย์ในโรงพยาบาล)

หรือยอมรับว่าอาการที่เป็นไม่มีวันหาย ขอเพียงแค่การดูแลแบบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยยังใช้ชีวิตได้ (หากปวดก็ได้รับยาแก้เฉพาะจุดเป็นครั้งคราว โดยใช้ชีวิตที่บ้าน)

โดยชุดคำถามนี้จะเป็นการถามเพื่อเน้นไปที่ความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก

ผู้ป่วยเข้าใจอย่างไรถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเขา

ผู้ป่วยกลัวอะไร

ถ้าอาการแย่ลง เป้าหมายในชีวิตคืออะไร

ผู้ป่วยยินดีและไม่ยินดีจะสูญเสียสิ่งใด

บางคนยินดีที่จะยอมรับอาการไปถึงจุดหนึ่ง ไม่ยินดีที่จะเป็นภาระให้ผู้อื่น บางคนขอให้มีสติสัมปชัญญะมากพอจะเห็นโลกรอบๆ บางคนขอแค่ยังดูรายการโทรทัศน์ที่โปรดปรานได้

ความต้องการของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าที่เราจะคิดแทนเขาได้ ผู้ป่วยหลายคนรู้จักตัวเอง และแน่นอนว่ารู้ดีกว่าญาติและผู้ดูแล เขาเข้าใจร่างกายของเขา และความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป ในขณะที่ญาตินั้นทำใจได้ยากกว่าว่าจะต้องเห็นคนที่รักกำลังตายลงช้าๆ

ฉันคิดว่ามันอาจจะกลับกันเล็กน้อยในกรณีของฉันกับแม่ ฉันยังนึกไม่ออกว่าจะทำให้แม่ยอมรับความจริงและเริ่มพูดคุยถึงสิ่งที่แม่ทำได้หรือไม่ได้จากความจริงนั้นๆ ได้อย่างไร

แต่ฉันก็คงต้องลอง

ชีวิตคือการแก้ปัญหาไปทีละวันอยู่แล้ว ความจริงมันไม่น่าฟังแต่มันก็เป็นความจริง หนทางที่เจ็บปวดน้อยที่สุดคือการยอมรับมันให้ได้เร็วที่สุดเพื่อจะหาหนทางก้าวเดินต่อไป

แม้มันจะไม่ง่ายเลยก็ตาม

“ตาย-เป็น : การแพทย์สมัยใหม่ ความตาย และความหมายของปลายทางชีวิต” (Being Mortal : Medicine and What Matters in the End) เขียนโดย At Gawande แปลโดย บวรศม ลีระพันธ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ openworlds, เมษายน 2559