“เดอะ แฟ้บ โฟร์” พลังราชนิกุลรุ่นใหม่หนุนภาพลักษณ์สถาบัน

ผู้ที่สนใจติดตามและมีความชื่นชมในสถาบันผู้ปกครองเลือดสีน้ำเงิน คงได้รับชมบรรยากาศพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายแฮร์รี แห่งราชวงศ์อังกฤษ พระชันษา 33 ปี กับ น.ส.เมแกน มาร์เคิล นักแสดงสาวชาวอเมริกันเลือดผสม วัย 36 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทุกสำนักข่าวทั่วโลกได้ถ่ายทอดช่วงเวลาสำคัญของคู่บ่าวสาวและราชวงศ์อังกฤษ

ไม่เพียงเพราะเจ้าชายแฮร์รีเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระประมุขแห่งราชวงศ์อังกฤษ และรั้งตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่ 6 ในการสืบราชบัลลังก์เท่านั้น

เจ้าชายแฮร์รียังทรงเป็นเจ้าชายหนุ่มทรงเสน่ห์ ผู้มีวีรกรรมมากมายและครองหัวใจหญิงสาวอยู่จำนวนไม่น้อย ไม่แพ้พระเชษฐา เจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ผู้ทรงวางตัวได้อย่างน่าชื่นชมและเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะคนหนุ่มรุ่นใหม่

ที่สำคัญพิธีเสกสมรสครั้งนี้ยังถูกโฟกัสว่าเป็น “รักต่างฐานันดร” ในราชวงศ์อังกฤษอีกครั้ง หลังจากเจ้าชายวิลเลียมเสกสมรสกับเคท “ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์” พระชายา ที่เป็นหญิงสามัญชนเช่นกันในปี 2554

 

แต่ในกรณีของมาร์เคิล อาจมีข้อแตกต่างจากเคท มิดเดิลตัน อยู่มากสักหน่อย

โดยมาร์เคิลไม่เพียงเป็นสาวสามัญชน หากยังมีเลือดผสมหลายเชื้อชาติอยู่ในตัว มารดาเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ส่วนบิดาที่เป็นอดีตผู้กำกับแสงในฮอลลีวู้ด เป็นชาวดัตช์-ไอริช

ยิ่งไปกว่านั้น มาร์เคิลยังเป็นผู้หญิงที่ผ่านการหย่าร้างมาแล้ว

อีกทั้งยังมีอายุอานามมากกว่าเจ้าชายแฮร์รีถึง 3 ปี

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 2 ชั่วอายุคน ข้อแตกต่างเหล่านี้ จะเป็นอุปสรรคให้มาร์เคิลไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชานุญาตจากพระประมุขแห่งราชวงศ์อังกฤษ ผู้ยังทรงเป็นประมุขแห่งคริสตจักรเชิร์ชออฟอิงแลนด์ ให้ได้เสกสมรสกับเจ้าชายแฮร์รีอย่างแน่นอน

เนื่องจากมีการยึดธรรมเนียมราชประเพณีที่เป็นแบบแผนดั้งเดิมกันมาอย่างเคร่งครัด

 

มีตัวอย่างกรณีเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่มีพระประสงค์จะเสกสมรสกับร้อยเอกปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ ชายคนรักในช่วงต้นทศวรรษ 1950

แต่ทรงไม่ได้รับพระราชานุญาตภายใต้คริสตจักรเชิร์ชออฟอิงแลนด์ เนื่องจากร้อยเอกทาวน์เซนด์ไม่มีความเหมาะสมเพราะผ่านการหย่าร้างมาแล้ว

ก่อนหน้านั้นยังมีกรณีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ที่ทรงยอมสละราชสมบัติ เพื่อไปแต่งงานกับวอลลิส ซิมป์สัน หญิงม่ายชาวอเมริกัน

การยอมรับและอนุญาตให้เจ้าชายแฮร์รีเสกสมรสกับมาร์เคิลได้ จึงอาจเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นการ “เปลี่ยนแปลง” หรือการ “ปรับตัว” ของราชวงศ์อังกฤษได้เป็นอย่างดีในทางหนึ่ง

โอมาร์ ข่าน ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการ “รันนีเมด ทรัสต์” เชี่ยวชาญการศึกษาด้านชาติพันธุ์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่าหากมองในหลายแง่มุม ราชวงศ์อังกฤษกำลังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของสถาบันครอบครัวในอังกฤษยุคสมัยใหม่ที่ปัจจุบันกลายเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางด้านชนชาติและชาติพันธุ์

และการที่มาร์เคิลได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชนชาวอังกฤษและราชวงศ์อังกฤษยังเน้นย้ำให้เห็นว่าสถาบันได้มีความเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนภายใต้ยุคปกครองของควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

ขณะที่โรยาห์ นิกกาห์ ผู้สื่อข่าวสายราชสำนักของซันเดย์ไทม์ส บอกว่า ควีนอังกฤษและพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงทำได้อย่างดีมากในการปรับตัวให้เข้ากับกาลเวลาที่ผันเปลี่ยนไปสู่ยุคสมัยใหม่

ความสดใสและพลังของคนวัยหนุ่มสาวอย่างเจ้าชายแฮร์รีและมาร์เคิลยังจะช่วยเป็นตัวเร่งขับเคลื่อนให้การปรับตัวดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยดี

นักวิเคราะห์หลายคนยังมองว่าการโอบรับมาร์เคิลเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของราชวงศ์อังกฤษ ยังเป็นส่วนเติมเต็มพลังราชนิกุลรุ่นใหม่ ที่จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีและความนิยมชื่นชมในตัวสถาบันให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ที่ตอนนี้มีการให้ฉายาเรียกขานในวงสื่อว่า “เดอะ แฟ้บ โฟร์” (The Fab Four) หรือ 4 มหัศจรรย์ อันหมายถึง เจ้าชายวิลเลียม ดัชเชสเคท เจ้าชายแฮร์รี และมาร์เคิล

คุณลักษณะเฉพาะตัวของมาร์เคิล ทั้งในความเป็นผู้หญิงสดใส เปิดเผย พึ่งตนเอง และมีบทบาทเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่เคยทำงานให้กับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทำให้มาร์เคิลถูกมองว่าจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนชาวอังกฤษรู้สึกสัมผัสและเข้าถึงราชวงศ์ได้ง่ายมากขึ้น

และตัวเธอน่าจะทำงานเข้าขาได้เป็นอย่างดีกับสมาชิกเดอะ แฟ้บ โฟร์ ที่เหลือ

ซึ่งมาร์เคิลได้ร่วมทำงานด้วยแล้วในองค์กรการกุศลต่างๆ ที่เจ้าชายวิลเลียม ดัชเชสเคท และเจ้าชายแฮร์รีทรงร่วมเป็นองค์อุปถัมภ์อยู่

เชื่อว่าเดอะ แฟ้บ โฟร์ จะเป็นพลังขับเคลื่อนส่งเสริมภาพลักษณ์สถาบันอันเป็นที่เคารพรักของชาวอังกฤษได้อย่างแข็งแกร่งแน่นอน…